เมื่อวันที่ 22 เม.ย.56 โครงการวิจัยการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการลุ่มแม่น้ำสายบุรี ระยะที่ 2 ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดสัมมนานโยบายสาธารณะเรื่อง “การบริหารจัดการที่ดิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ร่วมร่างข้อเสนอต่อประชาชนและภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาการบริหารจัดการที่ดินสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ห้องประชุมมะเดื่อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี
ในการจัดสัมมนา มีการนำเสนอหนังสือบทวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการที่ดินแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชื่อว่า “แผ่นดินร่ำไห้ ที่ลุ่มน้ำสายบุรี” ซึ่งเป็นผลงานในโครงการวิจัยดังกล่าวที่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 7 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน 2555
ในงานวิจัยดังกล่าวมีข้อค้นพบปัญหาเกี่ยวกับที่ดินในพื้นที่ 6 กลุ่มปัญหา ได้แก่ 1.ปัญหาในเขตที่ดินจัดสรรนิคมสร้างตนเองของรัฐในพื้นที่ ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ที่มีปัญหาเกี่ยวกับแนวเขตที่ดินไม่ชัดเจน ทั้งแนวเขตนิคมฯและแนวเขตแปลงที่ดินที่จัดสรรให้ประชาชน
2.ปัญหาที่ดินในเขตเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดีในพื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส มีปัญหาเขตป่าไม้ทับที่ดินราษฎรใน 5 ตำบล 15 หมู่บ้าน เนื้อที่ประมาณ 16,597 ไร่ ประชาชน 3,213 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน
3.ปัญหาที่ดินพรุสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และ อ.รามัน จ.ยะลา ที่มีน้ำท่วมขังนานเนื่องจากนโยบายการพัฒนาพรุของรัฐด้วยการสร้างคันดินรอบพรุและการสร้างอ่างเก็บน้ำ
4.ปัญหาที่ดินชายฝั่งทะเลพื้นที่ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งมีแนวเขตไม่ชัดเจน ไม่สามารถออกสิทธิ์ได้ การระบายน้ำเปรี้ยวจากพรุบาเจาะทำลายระบบนิเวศในลำคลอง
5.ปัญหาที่ดินภายใต้แผนการสร้างอ่างเก็บน้ำของรัฐพื้นที่ ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา ชาวบ้านกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่สวนยาง สวนผลไม้ในพื้นที่ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนสุสานและแหล่งวัฒนธรรมของชุมชน
และ 6.ปัญหาการกว้านซื้อที่ดิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหานี้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เริ่มตั่งแต่ที่ดินชายทะเลขยายมาในเมืองพื้นที่ระหว่างเมือง ทำให้ประชาชนสูญเสียที่ดินทำกิน
พื้นที่ปัญหาที่ดินดังกล่าวทั้ง 6 กลุ่ม นำไปสู่ปัญหาสูญเสียที่ดิน การมีที่ดินแต่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ที่ดินเสื่อมสภาพ ตลอดจนเรื่องความมั่งคงในการถือครองและใช้ที่ดินของประชาชน ซึ่งครอบคลุมปัญหาที่ดินส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในบทวิเคราะห์ยังระบุด้วยว่า สำหรับปัญหาการกว้านซื้อที่ดินพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการกักตุนเพื่อเก็งกำไรของกลุ่มนายทุน แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ การกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากดังกล่าวมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2530 ในยุคเริ่มมียุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาเทิร์นซีบอร์ด) ต่อมาเป็นยุคที่มีนโยบายขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน และช่วงนโยบายการตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จากนั้นยุคการขยายตัวของเขตเมืองในปัจจุบัน
บางแห่งเป็นชุมชนดั้งเดิม ที่ชาวบ้านยังอาศัยอยู่ แต่ถูกนายทุนกว้านซื้อไปแล้วทั้งหมู่บ้าน เช่น ที่เกาะเจะมูดอ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งผู้ซื้อเป็นนักการเมืองจากภาคเหนือ
นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยประจำโครงการ กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมร่างข้อเสนอในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ปัญหา โดยให้ชาวบ้านแต่ละพื้นที่เสนอวิธีการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับพื้นที่ๆนั้น
“โดยเฉพาะคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบทั้งเรื่องที่ดินและจากสถานการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้น จึงได้จัดโครงการวิจัยนี้เพื่อลงไปสำรวจพื้นที่ตามที่ชาวบ้านร้องเรียน ซึ่งชาวบ้านบางส่วนยังรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ เนื่องจากไม่ให้ความสนใจและไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง” นายเพิ่มศักดิ์กล่าว
ผศ.นุกูล รัตนดากุล ที่ปรึกษาพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ. นักวิจัยประจำโครงการ กล่าวว่า ปัญหาการไม่ได้รับความเป็นธรรมของชาวบ้านในเรื่องดังกล่าว อาจมีส่วนทำให้เกิดเหตุไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าชาวบ้านได้รับความเป็นธรรม ความเสมอภาค ได้รับการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ เช่น ที่ดิน น้ำ อย่างทั่วถึง บางทีปัญหาความรุนแรงในพื้นที่อาจลดลงก็ได้