กรณีคลิป พขร.รฟท.ใช้มือดันที่ปัดน้ำฝนรถไฟ การรถไฟชี้แจงเป็นรถขบวนท้องถิ่น 446 ที่ปัดน้ำฝนเสีย 1 ตัว ซึ่งได้ซ่อมแล้วและสามารถใช้งานปกติ ส่วนพนักงานผู้โพสต์คลิปยอมรับว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ และถูกตักเตือน-คาดโทษ
12 มิ.ย. 2557 - เว็บไซต์การรถไฟแห่งประเทศไทยรายงานว่า กองประชาสัมพันธ์ ศูนย์ประชาสัมพันธ์และบริการท่องเที่ยว การรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา กรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอที่ใช้ที่ปัดน้ำฝนของรถไฟ จากกรณีที่มีการโพสต์คลิปวีดีโอการทำงานของพนักงานขับรถขบวนหนึ่งในขณะปฏิบัติงานในช่วงฝนตกหนัก โดยใช้มือข้างหนึ่งควบคุมที่ปัดน้ำฝน และมืออีกข้างหนึ่งยังขับรถไฟอยู่ เกิดความลำบากในการทำงาน ผ่านโลกโซเชียลมีเดียและเกิดการแพร่กระจายของสื่อไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งคลิปวีดีโอดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และไม่มั่นใจต่อการให้บริการของการรถไฟ เป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท. โดยนายเชิดสกุล บัวขาว วิศวกร 8 รักษาสารวัตรงานซ่อมรถจักรดีเซล บางซื่อ พร้อมด้วยทีมวิศวกรของฝ่ายการช่างกล การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงของเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขบวนรถดังกล่าวเป็นขบวนรถท้องถิ่นที่ 446 ใช้รถจักรดีเซล เลขที่ 4409 ห้องขับที่ 2 เดินทางจากสถานีชุมทางหาดใหญ่-สถานีชุมพร ระหว่างทางเกิดฝนตกหนัก พนักงานขับรถจึงทำการเปิดเครื่องปัดน้ำฝนอัตโนมัติ ปรากฏว่าเครื่องไม่ทำงาน พนักงานจึงได้เปลี่ยนมาใช้ระบบควบคุมด้วยมือแทน เมื่อขบวนรถถึงกลับกรุงเทพฯ หน่วยซ่อมบำรุงได้ตรวจสอบและพบว่า วาล์ว ปิด-เปิด ควบคุมการทำงานของเครื่องปัดน้ำฝนชำรุด 1 ตัว ซึ่งที่ปัดน้ำฝนในรถจักรทั้ง 2 ด้านมีทั้งหมด 4 ตัว ซึ่งหน่วยซ่อมได้ทำเปลี่ยนและสามารถใช้งานได้ตามปกติแล้ว ทั้งนี้ ระบุว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อผู้โดยสาร
สำหรับผู้โพสต์คลิปวีดีโอดังกล่าว ด้านนายปลื้ม เพชรทองเกลี้ยง หัวหน้ากองเทคนิคศูนย์ลากเลื่อน ฝ่ายการช่างกล การรถไฟ ชี้แจงว่า ได้นำหัวรถจักรหมายเลข 4409 ซึ่งปรากฏภาพในสื่อสังคมออนไลน์มาให้สื่อตรวจสอบ ยืนยันว่า หัวรถจักรทุกคันของการรถไฟฯ มีที่ปัดน้ำฝนระบบอัตโนมัติ แต่ถูกออกแบบให้มีระบบแมนนวล หรือใช้มือร่วมด้วย ถ้าหากระบบอัตโนมัติขัดข้อง และจากการสอบสวนเจ้าหน้าที่หัวรถจักรดังกล่าวรายงานว่าหัวรถจักรต้องใช้งานต่อเนื่อง 3 วัน เมื่อระบบปัดน้ำฝนขัดข้อง จึงให้ช่างเครื่องมาช่วยปัดน้ำฝน ซึ่งเป็นเหตุเฉพาะหน้า
ทั้งนี้ ช่างเครื่องคนดังกล่าวยอมรับว่าโพสต์ภาพในสื่อออนไลน์เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยถูกตักเตือนและคาดโทษแล้ว ทั้งนี้ รฟท. ยืนยันว่าหัวรถจักรทุกคัน จะตรวจตามมาตรฐานความปลอดภัย ได้แก่ อุปกรณ์หลัก 7 ประเภท และอุปกรณ์เสริม 3 ประเภท ซึ่งรวมไปถึงที่ปัดน้ำฝนด้วย