หมายเหตุประเพทไทย สัปดาห์นี้ ยังคุยกันต่อถึงเรื่องละครโทรทัศน์ กับ อรรถ บุนนาค และพิธีกรรับเชิญ ‘พรชัย วิทยเลิศพันธุ์’ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องป๊อปคัลเจอร์
ละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นที่เดิมเคยมีลักษณะเป็นละครน้ำเน่า แต่หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ละครโทรทัศน์ในญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เป็นละครที่มีพล็อตเรื่องก้าวหน้าและมีความหลากหลาย การดำเนินเรื่องกระชับ รวดเร็ว เนื้อหาหนักแน่น และมุ่งเน้นไปที่ความเป็นมืออาชีพในสาขาวิชาชีพของตัวละคร เช่น แพทย์ นักสืบ ผู้สื่อข่าว ซึ่งเนื้อเรื่องมีความเป็นเหตุเป็นผล สมจริง เนื่องจากการเขียนบทต้องผ่านการทำวิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างดี และอาชีพนักเขียนบทละครในญี่ปุ่นได้รับค่าตอบแทนสูง ส่วนตัวละครโทรทัศน์ก็ได้รับความนิยมสูงเช่นกัน
ละครโทรทัศน์ญี่ปุ่น นอกจากทำหน้าที่ให้ความบันเทิงที่เป็นสาระแล้ว ยังนำเสนอภาพปัญหาภายในสังคมญี่ปุ่นและทางออกที่สร้างสรรค์อีกด้วย เช่น ปัญหาเด็กที่กำพร้าที่ถูกทอดทิ้งในสถานรับเลี้ยงเด็ก ในเรื่อง ‘Ashita Mama Ga Inai’ หรือปัญหาการท้องในวัยเรียนในเรื่อง ‘14 Sai no Haha’ หรือแม้กระทั่งการส่งเสริมอาชีพที่กำลังสูญหายและการท่องเที่ยวชนบท อย่างเรื่อง ‘Ama chan’ ที่ตัวละครเอกเป็นนักเรียนหญิงวัย 14 ปีจากโตเกียว แต่กลับหลงรักอาชีพ ‘ama’ หรือนักดำน้ำงมหอยและสัตว์น้ำทะเล ซึ่งเป็นอาชีพที่กำลังสูญหายไปของเมืองอิวาเตะ ซึ่งเป็นเมืองชนบทชายทะเลที่สวยงามห่างไกลจากโตเกียว ละครเรื่อง Ama chan สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับเมืองอิวาเตะได้เป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลจากการนำเสนอความบันเทิงผ่านละครโทรทัศน์ และเป็นการนำอำนาจแห่งความไร้สาระมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ