5 มิ.ย.2557เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา นางผานิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีหนังสือส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเสนอเห็นควรให้ยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2547 หรือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องตามกฎหมาย และจะทำให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับประโยชน์ในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในราคาที่เป็นธรรมมากขึ้น จึงควรพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายต่อไป โดยมีการระบุว่าหากไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงตามข้อเสนอแนะผู้ตรวจการแผ่นดิน จะส่งเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณา
ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวมีผู้ร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อเดือน เม.ย.56 ขอให้พิจารณาและสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีรัฐเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมเข้ากับราคาน้ำมันขายปลีกในท้องตลาดทำให้ประชาชนผู้บริโภคตกเป็นผู้ที่ต้องรับภาระกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งผู้ตรวจฯได้มีการพิจารณาจนแล้วเสร็จก่อนหน้านี้ แต่ระหว่างการยกร่างหนังสือ เพื่อส่งข้อเสนอแนะดังกล่าวให้กับนายกรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณายกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเกิดการรัฐประหารขึ้นก่อนคณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลง ผู้ตรวจฯ จึงได้มีหนังสือดังกล่าวส่งไปยัง คสช.
สำหรับหนังสือที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปยัง คสช.ระบุเหตุผลประกอบข้อเสนอให้ คสช.พิจารณา อาทิ การจัดตั้งกองทุนน้ำมันตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ไม่สอดคล้องกับมาตรา 12 ของพ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491 ที่ระบุว่า การจ่ายเงินเป็นทุนหรือเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อการใดๆ ให้กระทำได้แต่โดยกฎหมาย โดยโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติประกอบด้วยราคาน้ำมันเชื้อเพลิง หรือก๊าซธรรมชาติ LPG ภาษี และ เงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน เป็นผู้เรียกเก็บจากผู้ค้าน้ำมัน ผ่านหน่วยงานบริหารการจัดเก็บภาษี ทำให้ผู้ค้าน้ำมัน ผลักภาระเงินที่จะต้องส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯดังกล่าว ไปยังประชาชนผู้บริโภคในรูปของราคาขายปลีกที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากประชาชนผู้บริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเรียกเก็บผ่านผู้ค้าน้ำมัน โดยหน่วยงานบริหารการจัดเก็บภาษีของรัฐ คือกรมสรรพสามิต กรมศุลกากรซึ่งเงินดังกล่าวมีลักษณะเป็นรายได้ของรัฐที่รัฐบาลบังคับเก็บจากผู้บริโภคโดยไม่มีสิ่งตอบแทนโดยตรง เงินส่งเข้ากองทุนดังกล่าวจึงเป็นการนำเงินไปใช้จ่ายในการอุดหนุนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการเพียงบางราย การเรียกเก็บเงินและการจ่ายเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจึงเป็นการดำเนินการไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับและให้อำนาจไว้ ขณะที่ตามหลักการคลังมหาชน การเก็บเงินจากประชาชนของภาครัฐนั้น จะต้องใช้ฐานอำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
หนังสือดังกล่าวยังระบุอีกว่าที่นายกฯอ้างว่าออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ.2516 แต่เมื่อพิจารณาแล้วพ.ร.ก.ฉบับนี้แล้ว ไม่พบว่ามีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจในเรื่องนี้ การมีคำสั่งนายกฯครั้งนี้จึงเป็นการออกคำสั่งที่มีเนื้อหาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขณะเดียวกันการจะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนี้ต้องออกเป็นกฎหมายในลำดับชั้นเดียวกัน