Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 28 พ.ค. - 3 มิ.ย. 2557

$
0
0
แค่ 1 เดือนมีแรงงานไปทำงาน ตปท.กว่า 3.5 แสนคน ทำรายได้กว่า 7 พัน ล.บาท
 
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ในช่วงเดือนเมษายน 2557 พบว่า มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 358,005 คน ทำรายได้ส่งเงินกลับประเทศ จำนวน 7,451 ล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ส่งกลับในเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 6,363 ล้านบาท ซึ่งประเทศที่มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงาน 10 อันดับแรก ได้แก่ ไต้หวัน จำนวน 61,000 คน สิงคโปร์ จำนวน 34,000 คน อิสราเอล จำนวน 26,000 คน สาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 20,358 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำนวน 14,000 คน มาเลเซีย จำนวน 9,269 คน ญี่ปุ่น จำนวน 6,426 คน กาตาร์ จำนวน 6,000 คน ฮ่องกง จำนวน 2,845 คน และบรูไน จำนวน 2,269 คน
       
นายจีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีแรงงานแจ้งความประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศจำนวน 12,013 คน เป็นชาย 8,960 คน เป็นหญิง 3,053 คน ส่วนใหญ่จะเดินทางไปทำงานในตำแหน่ง คนงานอุตสาหกรรมทั่วไป จำนวน 1,635 คน คนงานทั่วไป จำนวน 1,120 คน ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ จำนวน 996 คน พนักงานโรงงาน จำนวน 876 คน ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการผลิต จำนวน 535 คน คนงานเกษตร จำนวน 432 คน ผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ จำนวน 409 คน กรรมกรหรือคนงานทำงานหนัก จำนวน 300 คน นวดแผนโบราณ จำนวน 295 คน คนงานผลิตสิ่งทอ จำนวน 256 คน และตำแหน่งอื่นๆ จำนวน 5,159 คน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-5-2557)
 
'แรงงาน'จ่อเสนอ คสช. แก้ปัญหาคนตกงาน ทบทวนค่าแรง 300
 
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 57 นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 พ.ค.นี้ ได้รับแจ้งว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้ารับฟังยุทธศาสตร์การดำเนินงาน (โรดแมป) ของกระทรวงแรงงาน ที่กระทรวงแรงงาน ในเวลา 09.30 น.
 
ทั้งนี้ ได้สรุปเรื่องเร่งด่วนเพื่อเตรียมนำเสนอแล้วใน 4 ประเด็น คือ การแก้ไขภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในเรื่องการถูกสหรัฐอเมริกาจัดอันดับ ให้เป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังด้านการค้ามนุษย์ การเฝ้าระวังสถานการณ์การจ้างงานและการเลิกจ้าง ซึ่งภายใน 6 เดือนข้างหน้า หากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว คาดว่าจะมีแรงงานถูกเลิกจ้างจำนวนมาก รวมทั้งขอให้เร่งฟื้นฟูธุรกิจด้านท่องเที่ยวและโรงแรม เพื่อช่วยให้ประเทศมีรายได้และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
        
นอกจากนี้ การขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าวหลายแสนคน ซึ่งทำงานในไทยครบ 4 ปี สามารถทำงานในไทยต่อไปได้ และการพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2558 ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้คงค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ไว้ 2 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2558 ว่าควรมีการทบทวนหรือไม่ ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังศึกษาข้อมูลต่างๆ เช่น สภาพเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ อัตราค่าครองชีพ โดยจะมีการคาดการณ์ไปจนถึงปี 2558 เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบว่าควรที่จะมีการทบทวนหรือไม่.
 
(ไทยรัฐ, 29-5-2557)
 
TTL ปิดรับออเดอร์สิ่งทอ-เลิกจ้างพนักงาน 1 ก.ค.
 
นายโชคดี บุญ-หลง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที ที แอล อุตสาหกรรม (TTL) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า ที่ประชุมกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2557 มีมติให้บริษัทหยุดรับคำสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. 2557 โดยยังคงดำเนินการผลิตตามคาสั่งซื้อที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งสามารถผลิตได้จากวัตถุดิบที่มีอยู่ และบริษัทได้กำหนดแผนรับผิดชอบต่อลูกค้าที่มีคาสั่งซื้อไว้ล่วงหน้าโดยการผลิตสินค้าดังกล่าวให้เสร็จก่อน 30 มิ.ย.2557
 
ทั้งนี้ บริษัทจะหยุดการผลิตและการดำเนินงานด้านสิ่งทอ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2557 เนื่องจากมหาอุทกภัยเมื่อเดือนต.ค. 2554 ซึ่งส่งผลให้เครื่องจักร อุปกรณ์และอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆในโรงงานถูกน้าท่วมได้รับความเสียหายมาก ทำให้ต้องปิดดำเนินงานของโรงงานที่ 2 ธัญบุรีถาวรและบริษัทประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสามารถซ่อมแซมแก้ไขได้บางส่วน ไม่สามารถผลิตได้อย่างเช่นอดีตที่ผ่านมา ประกอบกับค้าสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าลดลงมาก บริษัทจึงจำเป็นต้องปิดโรงงานที่ 1 และหยุดการผลิตดังกล่าว
 
คณะกรรมการบริษัทยังมีมติให้บริษัทประกาศเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2557 โดยจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานกับพิจารณาให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ และจะจ้างพนักงานชั่วคราวจำนวนหนึ่งสาหรับดาเนินการในส่วนสินค้าที่ต้องรับผิดชอบจากคาสั่งซื้อล่วงหน้าที่รับมากับการจัดการสินค้าและวัสดุคงเหลือต่างๆให้เสร็จ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาภายใน 6 เดือน
 
ปัจจุบันบริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอในการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายและให้การช่วยเหลือพิเศษแก่พนักงาน โดยบริษัทมีการสำรองเงินผลประโยชน์ระยะยาวของพนักงานไว้ส่วนหนึ่ง ปรากฎตามงบการเงินระหว่างกาล สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2557 ซึ่งเงินส่วนที่จ่ายเพิ่ม เป็นเงินนอกเหนือจากที่สำรองไว้เป็นเงินหมุนเวียนของบริษัทจึงไม่กระทบสภาพคล่องของบริษัทแต่อย่างใด
 
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีธุรกิจนาเข้าและส่งออกสินค้าผ่านบริษัท ควินเทตต์ ซึ่งบริษัทถือหุ้น 45% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด ดังนั้นการหยุดผลิตและเลิกจ้างพนักงานในส่วนธุรกิจสิ่งทอ มิได้เป็นการเลิกกิจการของบริษัท ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาสรรหาการดาเนินธุรกิจใหม่ในอนาคต โดยจะแจ้งความคืบหน้าของธุรกิจใหม่ให้ทราบเป็นระยะๆ และเชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้
 
นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทยังมีมติอนุมัติให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัท ควินเทตต์ ซึ่งบริษัทได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้น 45% ของทุนจดทะเบียนจำนวน 5 ล้านบาท โดยให้กู้เงินจำนวน 12.75 ล้านบาท กำหนดชำระคืน 3 ปี เป็นเวลา 36 เดือน อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี  โดยมีที่ดินมูลค่า 21.20 ล้านบาท เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งรายการดังกล่าวถือเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน
 
(โพสต์ทูเดย์, 29-5-2557)
 
เตือนนายจ้างนำแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เฉพาะด้านประมง ไปขึ้นทะเบียนครั้งที่2 ก่อนครบกำหนด 31 พฤษภาคมนี้
 
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขอเตือนนายจ้าง เรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเฉพาะด้านทะเลที่เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนปีละ2 ครั้งๆ ละ 3 เดือน ขอให้ไต๋กงหรือเจ้าของเรือไปขึ้นทะเบียนให้แล้วเสร็จก่อนครบกำหนด31 พฤษภาคมนี้ หากพ้นกำหนดจะมีมาตรการดำเนินการต่อไป ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย คือแรงงานต่างด้าวสัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่ลักลอบทำงานกับนายจ้างอยู่แล้วในกิจการประมงเพื่อจับสัตว์น้ำทางทะเล โดยมีจังหวัดเป้าหมาย 22 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชุมพร ตราด ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระนอง ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ทั้งนี้ การผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวทำงานในกิจการประมงทะเล ครั้งที่ 2 มีระยะเวลาการดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2557 โดยมีระยะเวลาการอนุญาตทำงานตั้งแต่วันอนุญาตถึงวันที่ 2 มีนาคม 2558
       
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการมาขอขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา (เฉพาะกิจการประมงทะเล 22 จังหวัด) ครั้งที่ 2 (ข้อมูลสะสมถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2557) มีนายจ้างมาขออนุญาตให้จ้างแรงงานต่างด้าว (โควตา) 4,722 คน กับนายจ้าง 112 ราย รวมทั้งขอรับรองสถานะแรงงานต่างด้าวเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติ แรงงานต่างด้าว 2,195 คน กับนายจ้าง 125ราย และพิจารณาอนุญาตทำงานตามมาตรา 13(2) ของแรงงานต่างด้าว 361 คน กับนายจ้าง 28 ราย
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-5-2557)
 
เร่งสอบไฟไหม้ รง.รีไซเคิลน้ำมัน จ่อฟันนายจ้างหากละเลยความปลอดภัย
 
(29 พ.ค.) นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2557 เวลา 00.30 น. ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่บริษัท เอส.เจ ออยส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ประกอบกิจการรีไซเคิลน้ำมันเครื่องเก่า มีลูกจ้าง 20 คน โดยจากการที่สำนักงานสวัสดิการฯเข้าไปสอบสวนการเกิดเหตุพบว่า โรงงานดังกล่าวมีอาคาร 2 อาคาร และหม้อต้มน้ำมันอยู่ภายนอกอาคารโดยก่อนเกิดเหตุมีเสียงดังคล้ายระเบิด 1 ครั้งจากหม้อต้มน้ำมันแล้วลุกลามไปยังโกดังเก็บน้ำมันในพื้นที่ของโรงงาน
       
ทั้งนี้ ขณะเกิดเหตุมีลูกจ้างอยู่ประมาณ 20 คน ซึ่งไม่ได้มีการปฏิบัติงาน แต่พักอาศัยอยู่ภายในพื้นที่โรงงาน ซึ่งทุกคนสามารถหนีออกมาได้ทั้งหมด ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตและสามารถควบคุมเพลิงเอาไว้ได้ในเวลา 03.30 น. 
       
อธิบดี กสร. กล่าวอีกว่า ส่วนค่าเสียหายอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งสำนักงานสวัสดิการฯจะเข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุและเชิญนายจ้างมาเพื่อให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หากพบว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานจะได้ดำเนินการตามกฎหมาย
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-5-2557)
 
รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้านเศรษฐกิจพร้อมคณะรับฟังโรดแมปเร่งด่วนจากกระทรวงแรงงาน 4 เรื่อง
 
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  พร้อมคณะ เดินทางมาที่กระทรวงแรงงานเพื่อรับฟังยุทธศาสตร์การดำเนินงาน (โรดแมป) ของกระทรวงแรงงาน ท่ามกลางการต้อนรับจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน
 
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ  ปลัดกระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอเรื่องเร่งด่วน 4 เรื่อง คือ 1.การแก้ไขภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเรื่องการถูกประเทศสหรัฐจัดอันดับเป็นประเทศเฝ้าระวังด้านการค้ามนุษย์ 2.การเฝ้าระวังสถานการณ์การจ้างงานและเลิกจ้างซึ่งภายใน 6 เดือนข้างหน้า หากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวคาดว่าจะมีแรงงานถูกเลิกจ้างจำนวนมาก รวมทั้งขอให้เร่งฟื้นฟูธุรกิจด้านท่องเที่ยวและโรงแรม จะช่วยให้ประเทศมีรายได้และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 3.การขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายหลายแสนคนซึ่งทำงานในไทยครบ 4 ปี สามารถทำงานในไทยต่อไปได้  
 
และ 4.การพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2558 ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้คงค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไว้ 2 ปี ตั้งแต่ 2557-2558 ว่าควรจะมีการทบทวนหรือไม่ ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังศึกษาข้อมูลต่างๆ เช่น  สภาพเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพโดยจะมีการคาดการณ์ไปจนถึงปี 2558  เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบว่าควรจะทบทวนมติบอร์ดค่าจ้างหรือไม่
 
(สำนักข่าวไทย, 30-5-2557)
 
ยกระดับช่างก่อสร้าง-พ่อครัว ส่งป้อนตลาดแรงงานสิงคโปร์
 
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมและขยายตลาดแรงงานไทยในสิงคโปร์ ว่า จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานสิงคโปร์ 914 คน ซึ่งกระทรวงจะขยายตลาดแรงงานในสาขาที่ตลาดแรงงานสิงคโปร์มีความต้องการ เช่น ช่างเชื่อม ช่างประกอบ รวมถึงพ่อครัว แม่ครัว และเร่งประชาสัมพันธ์ให้แรงงานที่ต้องการจะทำงานที่สิงคโปร์มีความรู้ความเข้าใจว่าการจะเป็นแรงงานช่างฝีมือระดับสูงในสิงคโปร์จะต้องผ่านการทดสอบฝีมือแรงงานโดยสำนักงานแรงงานในสิงคโปร์ของไทยจะให้ความช่วยเหลือกับแรงงานไทยที่เข้าสอบ เพื่อยกระดับมาตรฐานเป็นช่างฝีมือระดับสูง และประสบปัญหาสอบไม่ผ่าน เช่น การหาผู้ที่มีความรู้หรือผู้ที่เคยสอบผ่านมาช่วยแนะแนวทางการสอบ การหาแนวข้อสอบมาให้แรงงานไทยได้ลองทำ ส่วนการช่วยเหลือแรงงานที่ประสบปัญหาการเข้ามาทำงานใหม่ในสิงคโปร์ กระทรวงแรงงานได้ประสานงานหน่วยงานภาครัฐบาลและเอกชน รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ อาสาสมัครแรงงานให้ความช่วยเหลือ แนะนำคนงานในเรื่องการทำงานในประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ จะจัดทำทะเบียนคนงานที่ต้องการทำงานเพื่อให้ติดต่อกับบริษัทนายจ้างโดยตรงและการปรับปรุงทะเบียนบริษัทนายจ้างสิงคโปร์ที่มีประวัติการจ้างงานแรงงานไทย
       
ปลัด รง. กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการทำงานของแรงงานต่างชาติในภาคก่อสร้างที่เป็นช่างฝีมือชั้นสูง จาก 18 ปี เป็น 22 ปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ว่า การที่สิงคโปร์มีประกาศดังกล่าวออกมาเพราะมีการขยายตัวด้านงานก่อสร้าง ทั้งโครงการก่อสร้างพื้นฐาน และโครงการก่อสร้างสถานประกอบการต่างๆ โดยในปี 2557 มีโครงการในภาครัฐมีมูลค่า 19-22 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เป็นงานก่อสร้างตึกอาคารและงานวิศวกรรมโยธา ส่วนภาคเอกชนอยู่ระหว่าง 12-16 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ส่วนในปี 2558 และ 2559 จะมีมูลค่าประมาณ 25-34 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ต่อปี ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะส่งเสริมให้แรงงานไทยที่มีทักษะฝีมือด้านงานก่อสร้างเข้าไปทำงานที่สิงคโปร์ให้มากขึ้นด้วย
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 31-5-2557)
 
สธ.ปิ๊งไอเดียเสนอ รบ.ใหม่ ตั้ง พนง.สาธารณสุขต่างด้าว
 
นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายดูแลสุขภาพคนต่างด้าว ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 ที่ให้ สธ.เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวที่ไม่ ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ด้วยการขายบัตรสุขภาพคนต่างด้าวขึ้น เพื่อให้บริการดูแลสุขภาพพื้นฐานประจำปี โดยจำหน่ายในราคา 2,800 บาท รวมค่าตรวจสุขภาพ ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมาเมื่อปี 2556 จำหน่ายได้ประมาณแสนใบ ซึ่งถือว่าไม่มากนัก เนื่องจากตัวเลขที่ผ่านมาเมื่อปี 2554 มีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนในประเทศไทยจำนวน 1.9 ล้านคน โดยส่วนหนึ่งประมาณ 7-8 แสนคนขึ้นทะเบียนดูแลสุขภาพกับสำนักงานประกันสังคม แสดงให้เห็นว่าตัวเลขที่ขาดหายไป และไม่ได้ซื้อบัตรสุขภาพยังมีอยู่ ซึ่งน่าห่วง เนื่องจากหากเจ็บป่วยจะไม่ได้รับการรักษาและยังมีโอกาสแพร่กระจายโรคอีก
 
นพ.ชาญวิทย์กล่าวอีกว่า นอกจากในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ซื้อใบสุขภาพกับประกันสังคม จะสามารถใช้บริการการรักษาต่างๆ ได้ต่อเมื่อจ่ายเงินไปแล้ว 3 เดือน เนื่องจากต้องมีการจ่ายสมทบจากนายจ้างตามกฎระเบียบแรงงาน ซึ่งกรณีนี้น่ากังวล เพราะหากแรงงานเจ็บป่วยในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่สามารถรับการรักษาได้ ที่ผ่านมาแรงงานกลุ่มนี้ก็จะเข้ามารักษาในระบบของ สธ.แทน ซึ่งแพทย์ก็ต้องให้การรักษาตามหลักมนุษยธรรม แต่ก็มีแรงงานกลุ่มที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือไม่ได้ซื้อบัตรสุขภาพใดๆ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีปัญหาสุขภาพใดบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาหากมีการการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวจะพบว่ามี 1 ใน 100 คนมีปัญหาสุขภาพ ดังนั้น หากไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ปัญหาโรคติดต่อ การระบาดของโรคต่างๆ ก็น่ากังวลด้วย
 
"ที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการ ร่วมทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน ในการร่วมกันจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ แต่เมื่อมีการยุบสภา การบูรณาการจึงนิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ผมจะเสนอให้มีการปรับระเบียบให้แรงงานต่างด้าวดูแลกันเอง กล่าวคือ จัดตั้งพนักงานสาธารณสุขดูแลกลุ่มต่างด้าว หรือคล้ายๆ อสม. ซึ่งหากให้พวกเขาดูแลกันเองจะบริหารจัดการง่ายกว่า เนื่องจากพูดคุยกันรู้เรื่อง โดยหากรัฐบาลใหม่มีการประชุมเพื่อดูแลคนกลุ่มนี้ก็จะเสนอเรื่องดังกล่าว ด้วย"รองปลัด สธ.กล่าว
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 2-6-2557)
 
สปส.เล็ง 6 ทางเลือกรักษาเสถียรภาพกองทุนประกันสังคม
 
สำนักงานประกันสังคมเตรียมใช้ 6 ทางเลือก รักษาเสถียรภาพกองทุนประกันสังคม ผลจากการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ หลังคาดว่า 30 ปีข้างหน้าจะติดลบ
 
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการเตรียมการแก้ปัญหาเงินกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมจะติดลบในอนาคต เนื่องจากต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพว่า ปีนี้ สปส. เริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพเป็นปีแรก โดยประมาณการจะมีผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญและบำเหน็จชราภาพรวมทั้งสิ้นกว่า 130,000 คน จะต้องจ่ายเงินกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมออกไปกว่า 4,700 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ สปส. ประมาณการว่าในปี 2587 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า กองทุนชราภาพจะอยู่ในภาวะติดลบ ซึ่งคณะทำงานศึกษากำหนดรูปแบบจำลองการพัฒนาบำนาญชราภาพในระบบประกันสังคมของ สปส. ได้สรุปทางเลือกการแก้ปัญหาไว้ 6 ทางเลือก อาทิ การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพในส่วนผู้ประกันตนร้อยละ 1 และนายจ้างร้อยละ 0.5 ทุกๆ 3 ปี, การเพิ่มอายุผู้ที่มีสิทธิรับบำนาญ 2 ปีทุกๆ 4 ปี จนอายุเกษียณอยู่ที่ 62 ปี, เพิ่มระยะเวลาการเกิดสิทธิรับบำนาญจาก 15 ปี เป็น 20 ปี
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 6 ทางเลือกเป็นเพียงผลการศึกษาเบื้องต้น ยังไม่มีข้อสรุป จะต้องนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาและกำหนดแนวทางการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพพิจารณา เมื่อผ่านการพิจารณาแล้วก็จะเสนอต่อบอร์ด สปส.
 
นอกจากนี้จะต้องนำมาตรการดังกล่าวไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง รวมทั้งนักวิชาการ เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับมาตรการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา
 
(สำนักข่าวไทย, 2-6-2557)
 
คสช. หนุน สอศ. เดินหน้าโครงการอาชีวะอาสาพัฒนา เปลี่ยนหมู่บ้านเป็นห้องปฏิบัติการนำเด็กช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง ไฟฟ้าไปช่วยสร้างซ่อมแซมแก่คนยากจนในทุกจังหวัด 
 
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะเร่งดำเนินการเรื่องต่างๆ ตามนโยบายของ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา โดย พล.ร.อ.ณรงค์ ได้มอบให้ทบทวนวิธีการเสริมสร้างค่านิยมในการเรียนต่อสายอาชีพ เพราะที่ผ่านมาเด็กเรียนต่อสายอาชีวะน้อยมาก ทั้งที่ตลาดแรงงานต้องการสูง สอศ. จึงต้องสร้างความคิดให้เด็กเกิดความภูมิใจเมื่อมาเรียนสายอาชีพ และต้องทำให้เห็นว่าเรียนอาชีวะแล้วดูดี มีรายได้สูง ได้รับการยอมรับจากสังคม รวมทั้งต้องดึงคนเก่งเข้ามาเรียนให้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ขยายโครงการทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะช่วยจูงใจให้เด็กเรียนอาชีวะมากขึ้น
       
“ขณะเดียวกัน ยังให้ สอศ. เดินหน้าโครงการอาชีวะอาสาพัฒนา ซึ่งเป็นโครงการที่จะใช้หมู่บ้านเป็นห้องปฏิบัติการของเด็ก โดยให้เด็กสาขาช่างเชื่อม ก่อสร้าง และไฟฟ้าเข้าไปก่อสร้างบ้านให้แก่คนที่ยากจนที่สุดในทุกจังหวัดๆ ละ 1-2 หลังตามสภาพ ทั้งนี้ พล.ร.อ.ณรงค์ เห็นว่าเป็นโครงการที่ดี ซึ่งจะทำให้เด็กมีจิตอาสา โดยได้ขอให้เริ่มดำเนินโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปีนี้ โดยการสร้างบ้านให้แก่ประชาชนในจังหวัดเชียงรายที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว” นายอภิชาติ กล่าวและว่า ขณะเดียวกัน ยังได้มอบให้ สอศ. ไปศึกษาแนวทางเรื่องการป้องกันการทะเลาะวิวาทของเด็กอาชีวศึกษา ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และทีมงาน ซึ่งได้ดำเนินการในบางพื้นที่ โดยให้นำวิธีการมาปรับใช้ และต่อยอด เช่น การนำเด็กมาอบรมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นคุณค่าตัวเอง ไม่ให้เด็กทำผิดซ้ำอีก เป็นต้น
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-6-2557)
 
ก.แรงงานเมินถกขึ้นค่าจ้าง ถอดนโยบายเร่งด่วน คสช. 11 ข้อ
 
(3 มิ.ย.) นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผลการเข้าร่วมประชุมติดตามการปฏิบัติงาน เพื่อขับเคลื่อนกลุ่มงานบริหารราชการแผ่นดิน กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มอบหมายให้กระทรวงแรงงานเตรียมความพร้อมกำลังแรงงานรองรับการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ซึ่งได้เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดทั้ง 5 หน่วย เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2557 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2557 ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นผู้รับผิดชอบหลัก พร้อมให้ศูนย์และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศเร่งพัฒนาแรงงาน ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงแรงงานจะพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับเออีซี ที่เน้นการพัฒนาทักษะฝีมือ ภาษา และเทคโนโลยี ว่ามีประเด็นใดต้องปรับปรุงเพิ่ม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ คสช.
        
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า ในส่วนของงบประมาณปี 2558 จะต้องเสนอความเห็นชอบต่อหัวหน้า คสช. ภายในเดือนมิถุนายน 2557 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ซึ่งจะเร็วกว่าปกติ และจะเป็นตัวที่ช่วยให้สามารถดำเนินการภารกิจได้เร็วตามไปด้วย นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์นโยบายของ คสช. ยังพบว่ามีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานที่จะต้องเร่งดำเนินการทั้งหมด 11 ข้อ คือ 1. สนับสนุน คสช. เรื่องสร้างความปรองดองในชาติ โดยทำโครงการกระทรวงแรงงานพบประชาชน 2. ประชาสัมพันธ์ในสังคมโลกเข้าใจประเทศไทย โดยจะทำคำชี้แจงโดยส่งให้เอกอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ไปสร้างความเข้าใจในต่างประเทศ เรื่องประชาธิปไตยของไทย 3. การแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะนายจ้าง ลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ 
        
4. ดำเนินการทุกวิถีทางให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้ง 5. การใช้จ่ายงบประมาณปี 2557 6. การทำงบประมาณปี 58 7. การขับเคลื่อนงานบริหารราชการแผ่นดิน ตามแนวปฏิบัติของกระทรวงแรงงาน ให้รวดเร็ว โปร่งใส 8. ส่งเสริมปัจจัยการผลิต แรงงานทั้งในและต่างประเทศ แก้ขาดแคลนแรงงาน 9. ส่งเสริมการมีงานทำตามชนบทและแนวชายแดน ป้องกันแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าเขตเมือง 10. การตั้งคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องกับนโยบาย คสช 11. การส่งเสริมการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์
        
“เรื่องที่ กระทรวงแรงงาน ได้เสนอต่อ คสช. ไปแล้วมี 2 เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษ หากผ่านความเห็นชอบของ คสช. ก็จะสามารถให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในลักษณะมาเช้าเย็นกลับ และตามฤดูกาลได้ อีกทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ ส่วนเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ทาง คสช. ยังไม่มีการพิจารณา เนื่องจากผลสำรวจพบว่าค่าจ้างปัจจุบันยังสูงกว่าค่าจ้างตามอัตภาพ จึงยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข” ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-6-2557)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles