Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ความเคลื่อนไหว ส.ว.เลือกตั้ง-สรรหา-ทปอ. ประเด็นนายกมาจากไหน

$
0
0

วงหารือ ส.ว.-ทปอ. จ่อตั้งรัฐบาลใหม่ ชี้รัฐบาลเดิมมีอำนาจจำกัด กลุ่ม 40 ส.ว.เล็งเลือก 'นายกเฉพาะกิจ'ด้าน 'วุฒิสภาเลือกตั้ง'ค้านแนวคิดนายก ม.7 แจงการหารือของสุรชัยไม่ใช่ข้อสรุปของทั้งวุฒิสภา

15 พ.ค.2557 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภาพร้อมด้วย นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาตร์ หรือ นิด้า ศาสตราจารย์นนายแพทย์รัชตะ รัชตพนาวิน ประธานอธิการบดีแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงผลการหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. เพื่อแก้วิกฤติประเทศว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าทางออกของประเทศไทยจะต้องอยู่ภายใต้หลักการที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และยุติปัญหา พร้อมย้ำให้มีความเป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ใต้การบังคับบัญชาการของใคร และฝากไปยังประชาชนให้มั่นใจว่าบทสรุปการหารือจะอยู่บนหลักการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และประชาชนมีส่วนร่วม

นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือว่า ในระหว่างรอผลสรุปจากวุฒิสภาขอให้ยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ขอให้นักกฎหมายหยุดหยิบยกเงื่อนไขทางกฎหมายขึ้นมาปฏิเสธข้อเสนอของอีกฝ่าย แต่ให้ใช้หลักนิติศาสตร์ร่วมกับรัฐศาสตร์แก้ปัญหา

ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริง โดยเฉพาะประเด็นนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 ที่ส่วนตัวไม่เคยบอกว่าจะดำเนินการ เพราะอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นจากสาธารณะ

นายสุรชัย กล่าวต่อว่า วุฒิสภายังต้องการรับฟังความเห็นจากรัฐบาล และแกนนำ นปช. โดยยินดีไปหารือทุกสถานที่และทุกเวลา ซึ่งในเบื้องต้นได้ประสานทางโทรศัพท์ไปยังนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายนิวัฒน์ธำรงระบุว่าพร้อมหารือ แต่ยังไม่ได้มีการติดต่อยืนยันที่ชัดเจนกลับมา

ขณะที่ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง พร้อมขอให้ฝ่ายที่มีความเห็นต่างได้เข้าร่วมเพื่อหาทางออกร่วมกัน

ส่วนข้อเสนอเรื่องรัฐบาลคนกลางนั้นที่ประชุมอธิการบดีเห็นว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันมีอำนาจจำกัด จึงควรมีรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศ แต่กลไกที่จะได้มาจะต้องหารือกันให้รอบคอบภายใต้รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ขอยืนยันว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐบาลเฉพาะกาลหรือไม่ เนื่องจากยังต้องรอข้อสรุปจากการหารือร่วมกัน

ด้านนายสมชาย แสวงการ กล่าวว่า ในระหว่างวุฒิสภาทำหน้าที่ยังคงมีการคุกคาม ข่มขู่ โดยตลอด จึงเรียกร้องไปยัง ศอ.รส.และรัฐบาล ให้ยุติวิธีการดังกล่าว

 

กลุ่ม 40 ส.ว.เล็งเลือกนายกเฉพาะกิจ

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะทำงานประชาสัมพันธ์ และคณะกรรมการด้านประสานงานองค์กร กล่าวภายหลังการหารือหัวหน้าส่วนราชการ และตัวแทนเหล่าทัพ 25 หน่วยงาน รวมทั้งกลุ่มสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมเพื่อร่วมหาทางออกประเทศว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าควรมีนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจเต็มมาแก้ปัญหา ทั้งนี้ หน่วยงานความมั่นคงไม่ได้พูดถึงการตั้งนายกฯตามมาตรา 7 เพียงแต่พูดถึงกระบวนการในการสรรหาบุคคลว่า จะต้องทำอย่างไร ซึ่งอาจจะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติขั้นพื้นฐาน โดยในวันที่ 16 พ.ค. ในช่วงเข้าคณะทำงาน จะมีการเดินทางไปพบคณะกรรมการกฤษฎีกาและจากนั้นจะกลับมาประชุมที่รัฐสภา เวลา 13.30 น.

“เราจะต้องหาวิธีตามกฎหมายและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งไม่ใช่นายกฯคนกลาง แต่ต้องมีนายกฯอำนาจเต็มเพื่อมาแก้ปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งกรอบเวลานั้นยังไม่ได้มีการพูดกัน แต่เบื้องต้นนั้นมี 2 ขั้นตอนของกระบวนการว่า จะได้มาอย่างไรอธิบายได้ด้วยข้อกฎหมายใดและการสรรหาตัวบุคคล ซึ่งหลายท่านได้เสนอว่ามีการกำหนดคุณสมบัติพื้นฐานโดยอาจจะมีการเสนอชื่อจากภาคส่วนต่างๆ แล้วนำมาคัดสรรในที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป” พล.อ.อ.วีรวิทกล่าว

เมื่อถามว่า ที่วุฒิสภาจะตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจขึ้นมา จะเป็นรัฐบาลซ้อนรัฐบาลหรือไม่ พล.อ.อ.วีรวิท กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ แต่เป็นรัฐบาลที่ทำหน้าที่อยู่ในตำแหน่งตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 และในวรรคท้ายของมาตรา 180 ระบุว่า จะต้องให้มีดำเนินการตามมาตรา 172 ภายใน 30 วัน เมื่อกระบวนการหานายกฯใหม่ เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากได้รับการโปรดเกล้าฯรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ถือว่าสิ้นสุดลง จึงถือว่าดำเนินการได้ไม่เป็นการทับซ้อน

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหาในฐานะทีมโฆษกฯคณะทำงาน แถลงว่า ล่าสุดได้รับการประสานจาก นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ว่า จะมาร่วมหารืออาจจะเป็นวันที่ 17 พ.ค. ในช่วงบ่าย ส่วนสถานที่ยังขอหารืออีกครั้ง เนื่องจากทางฝั่งรัฐบาลมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัย โดยในวันที่ 16 พ.ค. (พรุ่งนี้) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา จะแถลงสรุปแนวทางหาทางออกในเบื้องต้นก่อน แล้วจะนำข้อเสนอที่ได้จาก นายนิวัฒน์ธำรง มาประกอบ แล้วจะมาแถลงภายหลังอีกครั้ง ในส่วนของกลุ่ม นปช. ยืนยันว่าคณะทำงานพร้อมรับฟัง หากไม่สะดวกมาหารือก็สามารถพูดคุยทางโทรศัพท์กันได้ ส่วนที่มีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะโทรมาพูดคุย ตนก็ยินดี ทั้งนี้ขอยืนยันว่าข้อสรุปของคณะทำงาน คงไม่เป็นมติ เพราะเป็นแค่การหารือนอกรอบ และก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันกับวุฒิสภา

ขณะที่ น.พ.เจตต์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่า วุฒิสภา จะเลือกนายกฯเฉพาะกิจ ส่วนแนวทางที่จะนำมาสู่เป้าหมายดังกล่าวมี 2 ทาง คือ ตามมาตรา 7 และกฎหมายเทียบเคียงคือ มาตรา 180 วรรคท้าย ที่ให้สรรหานายกฯตามาตรา 172 มาตรา 173 โดยอนุโลมได้ และขอยืนยันว่า เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ 


'วุฒิสภาเลือกตั้ง'ค้านแนวคิดนายก ม.7 แจงการหารือของสุรชัยไม่ใช่ข้อสรุปของทั้งวุฒิสภา

กลุ่มวุฒิสภาเลือกตั้งนำโดย นายตรี ด่านไพบูลย์ ส.ว.ลำพูน พร้อมสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง แถลงถึงสถานการณ์ทางออกของประเทศไทยในขณะนี้ โดยเสนอว่า ความขัดแย้งทางการเมืองขระนนี้ต้องไม่ดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และยังเชื่อว่าวุฒิสภามีบทบาทหลักในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง แต่วุฒิสภาจะต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายอย่างรอบด้านก่อน นอกจากนี้ยังเห็นว่าแนวคิดการนำเสนอนายกฯมาตรา 7 เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน โดยยังเรียกร้องให้รัฐบาลและ กกต.ร่วมกันจัดการเลือกตั้งให้ได้โดยเร็วที่สุด

ส่วนเรื่องการปฏิรูปการเมืองนั้นเห็นว่าการปฏิรูปต้องดำเนินการโดยมีทุกภาคส่วนเข้าร่วม โดยอาจใช้เวลา 1 ปี โดยในขณะนี้ซึ่งสถานการณ์ยังไม่เป็นที่ยุติ ก็ให้มีรักษาการนายกรัฐมนตรีดูแลความสงบเรียบร้อยและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

ทั้งนี้นายตรียืนยันว่าการแถลงในครั้งนี้ เป็นการรวมกลุ่มกันของส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยกับการพยายามหาทางออกของประเทศ โดยไม่ฟังความเห็นที่หลากหลาย ในส่วนสมาชิกในกลุ่มของตนนั้น ขณะนี้ประเมินว่าน่าจะมีประมาณ 50 คน ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้แล้ว ส่วนการนัดหารือนอกกรอบในวันพรุ่งนี้นั้น เห็นว่าการนำวุฒิสภาไปแสดงความเห็นที่เปิดเผย เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะเกิดการไม่ยอมรับของประชาชนได้ง่าย เชื่อว่า เป็นการเริ่มต้นที่ผิดทาง ไม่ใช่การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ยั่งยืน ตนจึงตัดสินใจไม่เข้าร่วม

โดยกลุ่มตนเชื่อว่าทางออกของประเทศคือแนวทางประชาธิปไตย และ ส.ว.ควรดำรงตนอย่างเป็นกลาง ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ยืนยันว่ากรณีการหารือของนายสุรชัย จะไม่ใช่ข้อสรุปของทั้งสภา โดยในสถานการณ์เช่นนี้ หาก ส.ว.ก้าวผิด ก็ทำให้ประเทศเสียหาย ความขัดแย้งต้องรับฟังทุกฝ่าย วุฒิสภาต้องรับฟังความเห็นอย่างทั่วถึง โดยขณะนี้ ตนเห็นว่าวุฒิสภาที่เพิ่งมาจากการเลือกตั้งไม่ค่อยมีสิทธิเสียงเท่ากับ ส.ว.สรรหา วุฒิสภาต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หากไม่ถามความเห็นทุกฝ่าย ก็อย่าอ้างว่าเป็นความเห็นของทั้งวุฒิสภา
 

 

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, ข่าวสดออนไลน์ และมติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles