15 พ.ค. 2557 นักวิชาการกลุ่มติดตามการจัดการสาธารณะ ซึ่งประกอบไปด้วย วสันต์ ลิมป์เฉลิม, ชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์ และนายวัชรพล ยงวณิชย์ และ พงษ์พัต วัฒนพงศ์ศิริ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ออกแถลงการณ์ เรื่อง "ขอสนับสนุนการให้ประชาชนเป็นคนกลาง โดยใช้การเลือกตั้งอย่างสันติ" สนับสนุนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามแนวทาง “ประชาชนคือคนกลาง” เรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้ง และใช้กระบวนการเลือกตั้งเป็นกลไกในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ ย้ำการดำเนินการเพื่อแก้ไขความขัดแย้งใดๆ ก็ตาม ขอให้ยึดกฎเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ และหลักการพื้นฐานทางประชาธิปไตย ไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดสูญญากาศ หรือการประดิษฐ์ข้ออ้างต่างๆ เรื่อง “ข้อยกเว้น” มาแทนที่ “ข้อเท็จจริง”
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
แถลงการณ์กลุ่มติดตามการจัดการสาธารณะ
เรื่อง ขอสนับสนุนการให้ประชาชนเป็นคนกลาง โดยใช้การเลือกตั้งอย่างสันติ
15 พฤษภาคม 2557
ถึง ประชาชนชาวไทยทุกท่าน
ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาถึงหน้าผาแห่งความรุนแรง อันปรากฏให้เห็นทั้งความรุนแรงทางตรงอย่างเปิดเผย ที่มีผู้คนบาดเจ็บ ล้มตาย และอันตรายเชิงกายภาพจำนวนไม่น้อยที่รายล้อมอยู่รอบความขัดแย้ง ตลอดจนไปถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่สถาบันทางการเมืองที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาความขัดแย้งกลับแปรปรวนกลายเป็นกลจักรในการสร้างความขัดแย้งเสียเอง โดยหากอธิบายอย่างต่ำที่สุดสถาบันทางการเมืองที่สำคัญๆ ได้เริ่มเข้ามาบีบขับและกดทับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะแสดงออกผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นระเบียบในระดับสามัญสุดของระบอบประชาธิปไตย
ความขัดแย้งทางการเมืองภายใต้ภาวะมวลชนเผชิญหน้า และจิตวิทยามวลชนที่ถูกเพาะบ่มในระลอกแห่งความขัดแย้งซึ่งทับถมมาในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าสุกงอมเพียงพอที่จะทำให้เกิดการปะทะและสุ่มเสียงที่อาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างประชาชนผู้มีความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน การเสนอทางออกจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจำนวนหนึ่งที่ปรากฏออกมา ดูจะถอยห่างและหลีกหนีออกไปจากหลักการพื้นฐานตามระเบียบและขนบทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะข้อเสนอที่ทำให้ข้อยกเว้นมีพลังอำนาจเหนือหลักกฎหมายและหลักประชาธิปไตย ด้วยการให้มีนายกรัฐมนตรี ที่เข้าสู่อำนาจโดยไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งอาจมีชื่อเรียกต่างกรรมต่างวาระกันออกไป อาทิ นายกคนกลาง นายกมาตรา 7
ภายใต้สภาวะที่ความชอบธรรมของเกือบทุกสถาบันทางการเมืองต่างถูกทำลายลงไปพร้อมกับการปะทุของความขัดแย้ง ทำให้ประเมินในระดับต่ำสุดได้ว่า ความเชื่อใจกันของผู้คนในสังคมไม่เพียงพอที่จะแสวงหาความเป็นกลาง หรือสร้างความเป็นกลางในระดับบุคคล เพียงแค่การมีนายกคนกลางเพื่อแก้ไขความขัดแย้งให้ยุติลงได้ ด้วยเหตุว่าความขัดแย้งทางการเมืองในรอบนี้ต่างร้อยรัดกลุ่มพลังทางสังคมการเมืองต่างๆ ที่มีสำนึกทางการเมืองร่วมกัน และใช้สำนึกทางการเมืองที่มีร่วมกันนั้นสร้างปทัสถานทางการเมืองคนกลุ่มฝ่ายตนเองขึ้นมาแล้ว จึงไม่สามารถใช้แค่เพียงตัวบุคคลที่สมมติตนว่าเป็นกลางมาแก้ไขความขัดแย้งที่มีมูลเหตุในระดับรากฐานทางสังคมได้
เพื่อให้สังคมไทยไม่แตกยับลงภายใต้วิกฤติทางการเมืองในรอบนี้ กลุ่มติดตามการจัดการสาธารณะจึงขอเรียกร้อง ดังนี้
1. ขอสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามแนวทาง “ประชาชนคือคนกลาง” (“Let the people decide”) ของกลุ่มภาคีเครือข่ายภาคประชาชนที่สนับสนุนให้ประชาชนมีอำนาจในการกำหนดทิศทางการออกจากความขัดแย้ง
2. ขอเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้ง และใช้กระบวนการเลือกตั้งเป็นกลไกในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และขอให้ทุกฝ่ายยึดรัฐธรรมนูญที่กำหนดอย่างชัดแจ้งในมาตรา 195 เกี่ยวกับการออกกฎหมาย ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโอการ
ดังนั้น นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี จึงสามารถทำหน้าที่ทูลเกล้าฯ ร่างพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งได้ โดยรัฐบาลชุดอื่นในอดีต ก็เคยปฏิบัติโดยรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในพระราชกฤษฎีการการเลือกตั้ง
3. การดำเนินการเพื่อแก้ไขความขัดแย้งใดๆ ก็ตาม ขอให้ยึดกฎเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ และหลักการพื้นฐานทางประชาธิปไตย ไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดสูญญากาศ หรือการประดิษฐ์ข้ออ้างต่างๆ เรื่อง “ข้อยกเว้น” มาแทนที่ “ข้อเท็จจริง”
กลุ่มติดตามการจัดการสาธารณะ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
นายวสันต์ ลิมป์เฉลิม
นายชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์
นายวัชรพล ยงวณิชย์
นายพงษ์พัต วัฒนพงศ์ศิริ