ธุรกิจแบงก์สู่ยุคบูมเปิดรับพนักงานครั้งใหญ่ คาดไม่ต่ำกว่า 7 พันคน
นายสุรศักดิ์ ดุษฎีเมธา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีที่ธนาคารรับพนักงานมากที่สุดตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คือ 4,500 คน โดยในจำนวนนี้เป็นการรับพนักงานใหม่ 1,000 คน ที่เหลือ 3,500 คน รับทดแทนพนักงานที่ลาออก เนื่องจากทรัพยากรบุคคลธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันสูง
นายสุรศักดิ์ เปิดเผยว่า การรับพนักงานส่วนใหญ่ยังเน้นไปที่งานในสาขา ตามแผนการขยายสาขาของธนาคาร รวมทั้งการขยายสาขาบนรถไฟฟ้าที่ให้บริการหลังเวลาทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป โดยปีก่อนธนาคารรับพนักงานกว่า 3,000 คน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขณะนี้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานเพศชาย ซึ่งน่าจะคล้ายกับธุรกิจอื่นๆ พนักงานส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิง ถือเป็นโจทย์ใหญ่การทำธุรกิจของธนาคาร หากพนักงานสาขามีแต่เพศหญิง แล้วมีงานที่ต้องใช้แรงอาจเกิดปัญหา รวมทั้งหากพนักงานมีการลาคลอดพร้อมกันจะวางแผนอย่างไร ซึ่งปัจจุบันพนักงานหญิงในสาขามีถึง 70-80% สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ต้องคำนึงถึง
ด้านนายกรพัฒน์ บุญเสริมสมบัติ ผู้จัดการอาวุโส สายทรัพยากรบุคคลสัมพันธ์ กลุ่มลูกค้าบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปีนี้ธนาคารเปิดรับพนักงาน 2,500 คน เพิ่มจากปีก่อนรับ 2,300 คน ซึ่งหลังจากมีการเปิดรับสมัครพนักงานเป็นระยะ ปรากฏว่าปัญหาหนึ่งคือ ผู้สมัครเพศชายมีจำนวนน้อยมากอยู่ที่ 5-10% ของจำนวนผู้สมัครทั้งหมด
นายกรพัฒน์ เปิดเผยว่า ทัศนคติของแรงงานเพศชายส่วนใหญ่เมื่อศึกษาจบจะเลือกเข้าทำงานกับบริษัท มากกว่าหันสู่ธุรกิจธนาคาร ยกเว้นกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังพอหาพนักงานเพศชายได้
นายกรพัฒน์ เปิดเผยว่า ทางแก้ปัญหาของธนาคารขณะนี้คือ การเข้าร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อเปิดรับนักศึกษาฝึกงานระหว่างศึกษา และรับเข้าทำงานหลังจบการศึกษา โดยมุ่งไปที่คณะวิชาเศรษฐศาสตร์การเงินการธนาคาร และบริหารธุรกิจ
อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องทัศนคติต่อการเลือกเรียนในคณะที่จบมามีงานทำเฉพาะทางนั้น ถือว่าเป็นปัญหาระดับโครงสร้างของประเทศ เพราะคนรุ่นใหม่มักเลือกเรียนสาขาศิลปศาสตร์
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-4-2556)
“เผดิมชัย” วอนนายจ้างหารือปัญหาขาดทุน-ลดจำนวนการเลิกจ้าง
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเฝ้าระวังการเลิกจ้างหลังเทศกาลสงกรานต์ว่า หากมีการเลิกจ้างจะต้องได้รับแจ้งข้อมูลการปิดกิจการสถานประกอบการ จากกระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หรือหากปิดกิจการโดยไม่ได้แจ้งก็จะต้องมีลูกจ้างมาร้องเรียน เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยการเลิกจ้างอยู่แล้ว ทั้งนี้ ขอให้นายจ้างที่จะปิดกิจการไม่ว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ค่าเงินบาทแข็งตัว การขาดทุนสะสม หรือไม่มียอดการสั่งซื้อ เป็นต้น เข้ามาปรึกษากับกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะของรัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการ แต่ขอให้นำเสนอปัญหาที่แท้จริงเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด
สำหรับข้อมูลของศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการให้พร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้น ต่ำ กระทรวงแรงงาน พบว่าตั้งแต่ปลายสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน (6 เม.ย.) จนถึงขณะนี้ไม่มีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการอันเนื่องมาจากผลกระทบการปรับค่า จ้างขั้นต่ำ 300 บาท มีเพียงการแจ้งขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานจำนวน 766 คน ในสถานประกอบการ 645 แห่ง เนื่องจากนายจ้างเพิ่งแจ้งผลการเลิกจ้าง ขณะที่ยอดสะสมตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงวันที่ 5 เมษายน พบว่ามีสถานประกอบการ 3 แห่งปิดกิจการ จำนวนลูกจ้าง 333 คน
นอกจากนี้ยังมีสถานประกอบการที่ยังไม่ปิดกิจการแต่เลิกจ้างจำนวน 38 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 1,053 คน ส่วนการเลิกจ้างปิดกิจการอีก 23 แห่ง ลูกจ้าง 1,629 คน เกิดจากผลกระทบอื่นๆ ส่วนยอดการขึ้นทะเบียนว่างงานสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-5 เมษายน มีผู้ประกันตน 25,183 คน ในสถานประกอบการ 20,492 แห่ง
(สำนักข่าวไทย, 18-4-2556)
สปส.แก้แนวปฏิบัติเลิกจ้าง-รับบำเหน็จ
นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงความคืบหน้าในเรื่องการแก้ปัญหากรณีแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 ที่อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งถูกเลิกจ้างแล้วได้รับเงินบำเหน็จชราภาพไม่ครบตามสิทธิที่ควรได้ เนื่องจากนายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมว่า ล่าสุด นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการ สปส.ได้ลงนามในร่างแก้ไขแนวปฏิบัติการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพของ สปส.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งแนวปฏิบัติใหม่นั้น เมื่อผู้ประกันตนยื่นขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ เจ้าหน้าที่จะต้องจ่ายเงินให้ครบถ้วนตามสิทธิที่ควรได้รับตามที่ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนด รวมทั้งเงินส่วนที่เป็นดอกผลจากการนำเงินของผู้ประกันตนไปลงทุนด้วย แต่จะต้องมีการคำนวณและจะจ่ายให้กับผู้ประกันตนในภายหลัง ซึ่งผู้ประกันตนจะมาติดต่อรับเงินเองที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ หรือให้โอนผ่านบัญชีธนาคารก็แล้วแต่ความสะดวก
"สปส.จะแจ้งแนวปฏิบัติดังกล่าวไปยังสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศภายใน เดือนเมษายนนี้ และตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ขอให้ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างและมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ หรือได้รับไม่ครบตามสิทธิ เนื่องจากนายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบ สามารถยื่นเรื่องรับเงินได้ที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่"รองเลขาธิการ สปส. กล่าว และว่า ส่วนปัญหานายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบกว่า 4,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้เหลือเงินที่นายจ้างค้างจ่ายอีกกว่า 3,650 ล้านบาท ซึ่งแต่ละปีเฉลี่ย 3-4,000 ล้านบาท โดยปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้นายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบเป็นจำนวนมาก เพราะ สปส.คิดค่าปรับการจ่ายเงินล่าช้าในอัตราที่สูง ทำให้นายจ้างไม่อยากชำระเงินสมทบที่ค้างส่ง
นายอารักษ์กล่าวอีกว่า สปส.ได้เสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคมโดยกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าปรับไม่เกิน เงินต้นที่ค้างชำระ เช่น ค้างชำระเป็นเงิน 2 แสนบาท คิดค่าปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จากปัจจุบันคิดค่าปรับ 3-4 แสนบาท ซึ่งขณะนี้ร่างแก้ไขกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ซึ่งเป็นวาระที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร และคาดว่าหากแก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จ ปัญหาการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างจะลดลง
(ประชาชาติธุรกิจ, 18-4-2556)
สภาวะสุขภาพแรงงานไทยพบอุบัติเหตุจากการทำงานมากถึงร้อยละ 93
20 เม.ย. 56 - สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เผยสภาวะสุขภาพแรงงานไทย ในภาคอุตสาหกรรมพบเจ็บป่วยเฉลี่ย 200,000 คนต่อปี เป็นการบาดเจ็บอุบัติเหตุมากที่สุด ถึงร้อยละ 93 รองลงเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ และมีแรงงานเจ็บป่วยถึงขั้นพิการ 4 คน ขณะที่สูญเสียอวัยวะถึง 1,630 คน แนะทุกภาคส่วนร่วมดูแล วางมาตรการการทำงาน เพื่อความปลอดภัย
นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรค และสุขภาพในกลุ่มแรงงานว่า จากข้อมูลกองทุนเงินทดแทน ปี 2554 มีแรงงานภาคอุตสาหกรรม เจ็บป่วยและเข้ารับการรักษาพยาบาลมากถึงเกือบ 200,000 คนต่อปี โดยพบมีการบาดเจ็บจากการทำงาน หรืออุบัติเหตุมากถึง 129,000 คน คิดเป็นร้อยละ 93 รองลงมา เป็นโรคจากการทำงาน ทั้งแบบเรื้อรัง และเฉียบพลัน ในกลุ่มอาการจากโรคกระดูก และข้อ เช่น อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ผิวหนัง แต่หากเป็นแรงงานในกลุ่มภาคการเกษตร จะได้รับการเจ็บป่วย จากสารเคมี กำจัดศัตรูพืช
นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลยังพบว่า แรงงานที่มีการบาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุระหว่าง 20-30 ปี การบาดเจ็บ เนื่องจากไม่เชี่ยวชาญในการงาน ขาดทักษะ และประมาท ส่วนกลุ่มอายุการทำงานมากกว่า 30 ปีขึ้น เริ่มมีความชำนาญ ทำงานเป็นเวลานานก็จะพบปัญหาโรคเรื้อรัง ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงที่สุด ในกลุ่มแรงงาน ได้แก่ การผ่าตัดจากการบาดเจ็บ และอุบัติเหตุ ซึ่งพบในชายมากกว่าหญิง และพบว่ามีการบาดเจ็บถึงขึ้นทุพพลภาพ จำนวนทั้งสิ้น 4 คน สูญเสียอวัยวะ 1,630 คน ต้องหยุดงานเกิด 3 วัน 35,000 คน
นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า การป้องกันโรคในกลุ่มแรงงานนั้น ต้องอาศัยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการ นายจ้าง และตัวพนักงาน เริ่มจากการกำหนดระเบียบแบบแผนการทำงาน มีการอบรมให้พนักงานเกิดความเชี่ยวชาญในงาน เครื่องจักร มีการวางมาตรฐานการทำงาน เช่น งานที่มีความเสี่ยง ต้องปฏิบัติงานกี่ชั่วโมง หยุดงานกี่ชั่วโมง เพื่อให้เกิดการพักร่างกาย เช่น ในงานที่ความร้อนจัด เสียงดังมาก และในโรงงานควรมีห้องปฐมพยายาม และแพทย์ประจำ เพื่อให้ความช่วยเหลือ หากมีการเจ็บป่วยขึ้นทันที เพราะหากให้พนักงาน ระมัดระวังตัวเองเพียงอย่างเดียว ก็ถือว่าเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ส่วนการเจ็บป่วยของพนักงานบริษัท มักพบในรูปแบบของออฟฟิศซินโดรม เช่น การปวดเมื่อยจากการทำงาน สำหรับการรณรงค์ในวันแรงงานปีนี้ จะเน้นเรื่องโรคกระดูกและข้อมากขึ้น เพื่อให้แรงงานรู้จักดูแลตนเอง
(สำนักข่าวไทย, 20-4-2556)
เผยผลสำรวจ แรงงานไทยไร้สุข ทำงานเกินเงินเดือน
เว็บไซต์หางานจ็อบสตรีทดอทคอม เผยผลสำรวจลูกจ้างจากกลุ่มตัวอย่าง 4,621 คน พบว่า 62% ไม่มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดยลูกจ้าง 30% จากจำนวน 2,870 คน ระบุถึงเหตุผลหลักที่ทำให้ไม่มีความสุข และส่วนใหญ่อยากเปลี่ยนงาน คือ เงินเดือนน้อยเกินไป...
นางสาวฐนาภรณ์ สถิตพันธุ์เวชา ผู้จัดการสาขาประเทศไทย บริษัท จ็อบสตรีท (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จ็อบสตรีทดอทคอมได้จัดทำแบบสำรวจ “ความสุขของแรงงานไทยในปัจจุบัน” โดยเก็บผลสำรวจในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา (ตั้งแต่วันที่ 11–18 เมษายน 2556) จากกลุ่มตัวอย่างลูกจ้างจำนวน 4,621 คน พบว่า ลูกจ้าง 62% หรือจำนวน 2,870 คน ไม่มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ สาเหตุหลักมาจาก เงินเดือนที่น้อยเกินไป, ขอบเขตของงานที่ไม่ชัดเจนและไม่ตรงกับความถนัด และความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับหัวหน้างานตามลำดับ และเมื่อสอบถามถึงทางออกที่พวกเขาจะเลือกทำ เพื่อให้ความสุขกลับคืนมา 58% เลือกที่จะมองหางานใหม่ ในขณะที่ 37% เลือกที่จะหาความสุขอื่นๆ นอกเวลางาน เช่น พักผ่อนหย่อนใจ ทำงานอดิเรก ส่วนที่เหลือ เลือกที่จะพูดคุยกับเพื่อนที่คอยให้กำลังใจ หรือคุยกับนายจ้างเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น
ผจก.สาขาประเทศไทย บ.จ็อบสตรีท กล่าวต่อว่า หากวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ลูกจ้างไม่มีความสุขในการทำงาน โดยแบ่งตามระดับตำแหน่งงาน กลุ่ม Fresh/Entry Level, Junior Executive และ Senior Executive หรือลูกจ้างอายุโดยเฉลี่ยระหว่าง 21–34 ปี ระบุถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไม่มีความสุข คือ เงินเดือนน้อยเกินไป ในขณะที่กลุ่ม Manager และ Senior Manager หรือลูกจ้างที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ให้ความสำคัญกับงานที่รับผิดชอบมากกว่าเงินเดือน โดยระบุถึงปัจจัยที่ทำให้ไม่มีความสุข คือ ขอบเขตของงานที่ไม่ชัดเจนและการทำงานที่ไม่ตรงกับความถนัด
จากผลการสำรวจระบุว่า สำหรับลูกจ้าง 38% ที่ระบุว่ามีความสุขดีกับงานปัจจุบัน พบว่าเกิดจากปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ 49% มีความสุขกับประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานและโอกาสที่ได้ทำงานท้าทาย 24% มีความสุขที่มีเพื่อนร่วมงานดีๆ และ 14% มีความสุขที่หัวหน้างานไว้วางใจและเห็นคุณค่าของงานที่ทำอยู่ โดยหากวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ลูกจ้างมีความสุข โดยแบ่งกลุ่มตามระดับตำแหน่งงาน กลุ่ม Fresh/Entry Level และ Junior Executive หรือกลุ่มอายุระหว่าง 21–29 ปี โดยเฉลี่ย จะมีความสุขเมื่อมีเพื่อนร่วมงานที่ดี ในขณะที่กลุ่ม Senior Executive, Manager และ Senior Manager หรือลูกจ้างที่มีอายุโดยเฉลี่ย 30 ปีขึ้นไป จะมีความสุขกับประสบการณ์จากงานที่ได้ทำและโอกาสที่ได้ทำงานที่ท้าทาย
นางสาวฐนาภรณ์ กล่าวอีกว่า จากผลสำรวจพบว่า รายได้เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบทำให้ความสุขของคนทำงานลดลง ในขณะที่กลุ่มลูกจ้างที่ตอบว่า มีความสุขดีกับงานปัจจุบัน กลับมีเพียง 13% ที่พอใจกับรายได้ที่ได้รับ เมื่อให้ลูกจ้างให้คำจำกัดความเงินเดือนที่ได้รับในปัจจุบัน 65% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ทำงานเกินเงินเดือน และเงินเดือนไม่พอใช้ มีเพียง 9% เท่านั้นที่ตอบว่า เงินเดือนที่ได้รับเพียงพอและทำให้มีสถานะทางการเงินที่ดี ที่เหลืออีก 26% คิดว่าเป็นรายได้ที่สมเหตุผล นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญรองลงมาจากเรื่องเงินเดือนที่มีผลกระทบต่อความสุขของคนทำงาน คือ ขอบเขตและลักษณะของงานที่ทำ โดยพบว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า งานที่ทำอยู่เป็นงานที่จำเจและน่าเบื่อ และอีก 50% ได้ทำงานที่ท้าทายและใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมาทั้ง 2 ข้อนี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนทำงานตัดสินใจที่จะมองหางานใหม่ เพื่อเรียกความสุขในการทำงานคืนกลับมา
เนื่องในวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันเมย์เดย์ (May Day) หรือคนไทยรู้จักกันดีว่า วันแรงงานแห่งชาติ เป็นวันหนึ่งที่เราจะให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานเป็นพิเศษ ในฐานะที่เป็นแรงสำคัญในการผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาและเจริญ ก้าวหน้า จ็อบสตรีทดอทคอมจึงสอบถามถึงสิ่งที่ลูกจ้างอยากเรียกร้องจากนายจ้างให้มีการ เปลี่ยนแปลงเพื่อให้ชีวิตการทำงานในฐานะแรงงานไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมี ความสุขมากขึ้น และพบว่ามี 3 ประเด็นที่ลูกจ้างอยากฝากไปถึงนายจ้างดังนี้
อับดับ 1 ต้องการให้นายจ้างเพิ่มเงินเดือน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ
อับดับ 2 ต้องการความก้าวหน้าในการทำงาน
อันดับ 3 ต้องการชีวิตที่สมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว
นางสาวฐนาภรณ์ กล่าวด้วยว่า เนื่องในเดือนแห่งวันแรงงาน เดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ จ็อบสตรีทดอทคอมเว็บไซต์จัดหางานที่มุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทำ งานให้ดีขึ้น ได้จัดกิจกรรม Resume and Career Clinic ขึ้น โดยจะให้คำแนะนำด้านการเขียนเรซูเม่และคำปรึกษาด้านอาชีพ เพื่อช่วยผู้ที่กำลังหางานนำไปใช้ปรับปรุงเรซูเม่ให้โดดเด่นและมีโอกาสถูก เรียกสัมภาษณ์งานมากขึ้น กิจกรรมนี้จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม–ตุลาคมนี้ ที่สถานี MRT สุขุมวิท บริเวณประตูทางออก 3 (ทางเชื่อม BTS) ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมฟรี สำหรับผู้ลงทะเบียนล่วงหน้า 200 ท่าน/คน จะได้รับ SMS เพื่อไปรับหนังสือ “คู่มือล่างานอย่างมืออาชีพ” ที่หน้างานฟรีอีกด้วย.
(ไทยรัฐ, 22-4-2556)
ปชช.ติดหนี้กองทุนแรงงาน 300 ล.กพร.ออกเกณฑ์ประนอมหนี้
นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 นั้นได้มีกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานอยู่ก่อนแล้วและกองทุนนี้มีเงินอยู่ประมาณ 700 ล้านบาท โดยในช่วงปี พ.ศ.2541-2545 กองทุนได้ปล่อยเงินกู้ยืมให้แก่ประชาชนเพื่อนำไปอบรมพัฒนาทักษะวิชาชีพรายละ 2-5 หมื่นบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี และมีประชาชนมายื่นกู้ทั้งหมดกว่า 2.8 หมื่นคน ขณะนี้ผู้กู้ได้ชำระเงินคืนกองทุนมาแล้วประมาณ 400 ล้านบาท ยังมีประชาชนค้างชำระหนี้วงเงินรวมกว่า 300 ล้านบาท
นายนคร กล่าวอีกว่า ก่อนที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กู้ที่ยังไม่ได้ชำระเงินคืน เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานได้กำหนดหลักเกณฑ์การประนอมหนี้เงิน กู้ยืมกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้กู้ยืมเงินกองทุน โดยเกณฑ์ดังกล่าวมีข้อกำหนดดังนี้ หากผู้กู้ขอประนอมหนี้โดยชำระหนี้คืนทั้งหมดในคราวเดียว จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 1 ต่อปีและเบี้ยปรับร้อยละ 15 ต่อปี หรือหากขอผ่อนชำระหนี้ภายใน 3 ปี ก็ให้ชำระหนี้คืนเฉพาะเงินต้นและดอกเบี้ยโดยไม่ต้องจ่ายเบี้ยปรับ
“การออกเกณฑ์การประนอมหนี้เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ เชื่อว่าจะช่วยจูงใจให้ประชาชนชำระหนี้กองทุนมากขึ้น เพราะเบี้ยปรับร้อยละ 15 ต่อปีถือว่าสูงมาก ทั้งนี้ ผู้กู้ที่ค้างชำระเงินกู้ติดต่อได้ที่กองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานของ กพร.และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคและศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด” อธิบดี กพร.กล่าว
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22-4-2556)