Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 7-13 พ.ค. 2557

$
0
0

ควัก 1.7 พันล้านจ่ายทดแทนลูกจ้างบาดเจ็บจากการทำงาน
 
นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สปส. ได้สรุปข้อมูลสถิติการประสบอันตรายและการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานตั้งแต่ปี 2552-2556 มียอดผู้บาดเจ็บจากการทำงานมีจำนวนกว่า 191,614 ราย โดยจังหวัดที่พบการบาดเจ็บมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ถึงร้อยละ 28.67 สมุทรปราการ ร้อยละ 15.83 และชลบุรี ร้อยละ 6.93
 
“ช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้นสาเหตุหลักที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานส่วนใหญ่โดนวัตถุสิ่งของตัด บาด ทิ่มแทงกว่าร้อยละ 23.05 รองลงมาเป็นการถูกกระแทก ถูกชน ร้อยละ 15.03 โดนสารเคมีเข้าตาถึงร้อยละ 14.26 ส่วนกิจการที่มีลูกจ้างประสบอันตรายสูงสุดคือ กิจการก่อสร้างคิดเป็นร้อยละ 7.82 ต่อปี รองลงมากิจการผลิตเครื่องดื่ม อาหาร ร้อยละ 5.69 และกิจการค้าเครื่องไฟฟ้า ยานพาหนะร้อยละ 5.45 โดยภาพรวมแล้วอัตราการประสบอันตรายต่อลูกจ้าง 1,000 ราย มีแนวโน้มเฉลี่ยลดลงถึงร้อยละ 10.18 ต่อปี โดยในปี 2552 อัตราการประสบอุบัติเหตุอยู่ที่ 18.82 รายต่อพันราย และลดลงอยู่ที่อัตรา 12.55 รายต่อพันราย ในปี 2556” นายอารักษ์ กล่าว
 
รองเลขาธิการ สปส. กล่าวด้วยว่า ส่วนสถานะของกองทุนเงินทดแทน ในส่วนของรายรับรายจ่ายนั้นจากสถิติพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กองทุนเงินทดแทนของ สปส.มีรายรับจากการเก็บเงินสมทบรวมกว่า 5,473 ล้านบาท ขณะที่มีรายจ่ายกว่า 2,073 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการจ่ายเงินทดแทนกว่า 1,752 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 84.52 ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็นค่าทดแทนกว่า 963 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลกว่า 766 ล้านบาท ค่าทำศพกว่า 19 ล้านบาท
 
(บ้านเมือง, 7-5-2557)
 
เดินหน้าเพิ่มทักษะแรงงานต่างด้าว เอื้อการทำงานภาคบริการ-อุตสาหกรรม
 
นายวีรศักดิ์ ลดาคม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อตรวจติดตามและประเมินผลการฝึกอบรมหลักสูตรการซ่อมจักร ที่บริษัท ที.เค.แม่สอดการ์เม้นท์ จำกัด และการฝึกหลักสูตรการยกระดับฝีมือ การขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ ที่ห้างหุ้นส่วนแม่สอด เซรามิค จำกัด ตามโครงการสร้างทักษะแรงงาน/วิชาชีพ (ลาว กัมพูชา เมียนมาร์) โดย กพร. ร่วมกับ กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ จัดขึ้น ว่า สิ่งที่ต้องการคือส่งเสริมทั้งภาคบริการและอุตสาหกรรม การที่ไทยขาดแคลนแรงงานทำให้บางอุตสาหกรรมต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ขณะเดียวกัน ในบางอุตสาหกรรมก็นำแรงงานต่างด้าวมาทำงานและจำนวนมาก ซึ่งการที่เราเพิ่มทักษะให้แก่แรงงานต่างด้าวจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทย ทำให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาแรงงานไทยที่อยู่ในระดับหัวหน้างานด้วย โดยหวังว่าจะมีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
       
นายวีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการเยี่ยมชมสถานประกอบการเห็นว่าหากแรงงานไร้ฝีมือก็อยากจะให้ตากเป็นเขตอุตสาหกรรมพิเศษ เพื่อให้ได้ค่าจ้างที่เพิ่มตามระดับความสามารถ แต่หากแรงงานมีฝีมือก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ได้ค่าตอบแทนตามฝีมือของตัวเองและยังสามารถต่อยอดในตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ นอกจากนี้ อยากจะขยายศูนย์ฝึกอบรมที่จ.สงขลา และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ให้มีการฝึกอบรมให้ได้จำนวนมากกว่านี้แต่ติดขัดในเรื่องของงบประมาณ
       
ด้าน นายชัยยุทธ เสณีตันติกุล ผู้จัดการห้างหุ้นส่วน จำกัด แม่สอด เซรามิค อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมการผลิตเซรามิก การจ้างแรงงานหนึ่งคนที่มีศักยภาพ ราคาสูง ยังดีกว่าการเปลี่ยนแรงงานบ่อยแต่ราคาถูก เพราะช่วยลดต้นทุนการสูญเสียของชิ้นงานได้ ตลาดการส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ส่วนคู่แข่งของไทยคือจีน เพราะราคาถูกกว่าไทย และรัฐบาลส่งเสริม เราจึงพัฒนาการออกแบบ ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อแข่งขันกับจีน โดยคำนึงถึงความต้องการในต่างประเทศ รวมทั้งมาตรฐานและคุณภาพของไทยจึงยังสามารถแข่งขันได้ ส่วนการทำงานแรงงานต่างด้าวกับแรงงานไทยสามารถทำงานอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหา ส่วนแรงงานในโรงงานแห่งนี้นั้นมีทั้งหมด 900 คน แบ่งเป็นแรงงานพม่าร้อยละ 70 และแรงงานไทยร้อยละ 30 แต่ก็พยายามจะนำแรงงานท้องถิ่นมาทำงานให้มากขึ้น รวมทั้งดูแลแรงงานให้มีสวัสดิการที่ดี มีคุณภาพชีวิตและมีความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อไม่ให้มีปัญหาในเรื่องการค้ามนุษย์
       
นายชัยยุทธ กล่าวต่อไปว่า อัตราการว่างงานใน อ.แม่สอด คิดเป็นร้อยละ 0.8 หรือประมาณ 2,000 คน จากจำนวนวัยแรงงาน 300,000 คน ขณะที่ประชากรในพื้นที่มีทั้งหมด 500,000 คน ซึ่งในพื้นที่ยังขาดแคลนแรงงานด้านช่าง เช่น ช่างกลึง วิศวะ ช่างไฟฟ้า ช่างกล เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังขาดแคลนแรงงานระดับล่างเป็นจำนวนมาก เนื่องจากแรงงานพม่ากลับบ้านและบางส่วนมีค่านิยมไปทำงานในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าที่เข้ามาทำงานในไทยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 จะเดินทางเข้าทางด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งช่วงเดือนเมษายนจะเป็นฤดูกาลเคลื่อนย้ายแรงงานของแรงงานพม่าและกะเหรี่ยง เพราะเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์
       
“ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ อยู่ในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 40,000 - 50,000 คน ภาคบริการกว่า 10,000 คน และแรงงานภาคการเกษตร 20,000-30,000 คน ซึ่งกลุ่มนี้มักไม่อยากเข้าสู่ระบบเพราะเป็นการมาทำงานตามฤดูกาล แต่ด้วยกฎหมายที่ไม่เปิดให้แรงงานไม่ขึ้นทะเบียนถูกต้องมาทำงาน จึงมีบางส่วนยอมเข้าสู่ระบบแต่บางส่วนก็ยังลักลอบทำงานอยู่ จึงอยากให้รัฐบาลผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้อนุญาตแรงงานต่างด้าวมาทำงานแบบมาเช้าเย็นกลับได้” นายชัยยุทธ กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 8-5-2557)
 
เตือนไทยเสี่ยงโดนรัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการคว่ำบาตร เพื่อเป็นการลงโทษที่ล้มเหลวในการคุ้มครองแรงงาน
 
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 10 พ.ค.ว่า กลุ่มและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานต่างๆ ถึง 19 องค์กร รวมทั้งกลุ่มจับตาด้านสิทธิมนุษยขน หรือ "ฮิวแมน ไรท์ วอทช์"และสหพันธ์แรงงานสากล เตือนประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับการโดนรัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการคว่ำบาตร เพื่อเป็นการลงโทษที่ล้มเหลวในการคุ้มครองแรงงาน ที่ตกเป็นเหยื่อการลักลอบค้ามนุษย์
 
กลุ่มและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานสากลเหล่านี้ ได้ทำหนังสือส่งถึง นายจอห์น แคร์รี รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุประเทศไทยไม่ได้มาตรฐานระดับต่ำสุด อีกทั้้งยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ที่จะพัฒนาให้ได้มาตรฐานในการคุ้มครองแรงงาน ที่ตกเป็นเหยื่อการลักลอบค้ามนุษย์
 
องค์กรเหล่านี้ ยังชี้ว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นพันธมิตรที่มีความสำคัญของสหรัฐฯ แต่สมควรที่จะถูกลดระดับกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ลงมาอยู่ในระดับที่ 3 คือ ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย และล้มเหลวในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ซึ่งกลุ่มนี้มีโอกาสเผชิญหน้ากับมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ
 
สำหรับการลดระดับไทยมาอยู่ระดับ 3 นั้น อาจทำให้ไทยยังต้องเผชิญหน้ากับการถูกคัดค้านไม่ให้ได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่างๆ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และ ธนาคารโลก รวมถึงการระงับความช่วยเหลือ หรือการถอนตัวให้ความช่วยเหลือของกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ
 
ตามรายงานของกลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากล ยังอ้างข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า รัฐบาลไทยได้ขายผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยมุสลิมชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนที่หลบหนีมาจากประเทศพม่า ให้แก่ขบวนการค้ามนุษย์อีกด้วย
 
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้จัดอันดับกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ประจำปี เป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 กลุ่มประเทศดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ได้ตามมาตรฐาน ระดับที่ 2 กำลังดำเนินการพยายามให้เข้าข่ายมาตรฐาน และระดับที่ 3 ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย และล้มเหลวในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ซึ่งกลุ่มนี้มีโอกาสเผชิญหน้ากับมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ โดยจีน รัสเซีย และอุซเบกิสถาน ได้ตกมาอยู่ระดับที่ 3 เมื่อปีก่อน ขณะที่ ไทย และมาเลเซีย ได้หล่นมาอยู่ระดับ 3 ในปีนี้
 
(ไทยรัฐ, 10-5-2557)
 
จ่อตกงานระนาว กลุ่มอุตสาหกรรม “รถ-เครื่องนุ่งห่ม-เครื่องใช้ไฟฟ้า”
 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงสถานการณ์ด้านแรงงานว่า ขณะนี้มีสัญญาณส่อว่าจะมีการเลิกจ้างแรงงานเกิดขึ้นโดยเห็นได้จากยอดผลิตของบริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ ลดลงและทุกบริษัทชะลอตัวในการลงทุนธุรกิจใหม่ๆเนื่องจากกังวลกับสถานการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะ 3 อุตสาหกรรมใหญ่ที่ต้องจับตาดูคือ รถยนต์ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งต้องพึ่งพาตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยตลาดในประเทศนั้นมียอดขายลดลง ขณะที่ตลาดต่างประเทศเช่น ยุโรป อเมริกานั้นยอดการสั่งสินค้าก็ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ ยังพบว่านายจ้างปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการต่างๆ ด้วย
 
“เราต้องรอดูสัญญาณด้านการเมืองและเศรษฐกิจไปอีก 3 เดือน ถ้าการเมืองนิ่งก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากการเมืองไม่นิ่ง ประชาชนไม่มีกำลังในการซื้อเพราะลูกจ้างไม่มีโอที จะทำให้ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ส่วนชาวนาก็ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าว จะส่งผลให้เศรษฐกิจฝืดเคืองและอุตสาหกรรมต่างๆ เติบโตลดลง จะเกิดการเลิกจ้างขึ้นได้” นายชาลี กล่าว
       
ประธาน คสรท. กล่าวอีกว่า ตนได้เสนอให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ช่วยตรวจสอบดูว่าเวลานี้มีบริษัทใดบ้างที่มีสัญญาณขาดสภาพคล่อง จะดำเนินธุรกิจต่อไปไม่รอดรวมทั้งขอให้ดูแลให้การปลดออก เลิกจ้างคนงานเป็นทางออกสุดท้ายในการแก้ปัญหา โดยมาตรการแก้ปัญหาเบื้องต้น หากธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ ก็ขอให้นายจ้างร่วมกับลูกจ้างหารือกันว่าจะลดต้นทุนส่วนใดการผลิตส่วนใดได้บ้าง ถ้าหาทางลดต้นทุนการผลิตส่วนต่างๆ ไปหมดแล้ว สถานการณ์ของบริษัทยังไม่ดีขึ้น ก็จะต้องหารือร่วมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างว่าจำเป็นต้องลดสวัสดิการบางส่วนลงชั่วคราวหรือไม่เพื่อรักษาลูกจ้างเอาไว้
       
“เมื่อถึงที่สุดแล้วธุรกิจไปไม่ไหวจริงๆจำเป็นต้องปลดออกเลิกจ้าง ทาง กสร. ก็ต้องดูแลให้ลูกจ้างได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน” นายชาลี กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-5-2557)
 
ผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปี ยื่นขอรับเงินบำเหน็จชราภาพกว่า 40,000 คน
 
สปส.เผยผู้ประกันตนยื่นขอใช้สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพกว่า 40,000 คน จ่ายเงินกองทุน 1,800 ล้านบาท เงินบำนาญกว่า 7,800 คน เฉลี่ยได้รับคนละกว่า 2,700 บาทต่อเดือน
 
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพว่า สปส. คาดการณ์ว่าในปีนี้มีผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ซึ่งอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และเกษียณอายุจากการทำงานที่มีสิทธิได้รับเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพทั้งหมด 139,953 คน จะต้องจ่ายเงินกองทุนออกไปทั้งหมด 4,776 ล้านบาท แยกเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ 103,093 คน จ่ายเงินกองทุน 4,115 ล้านบาท และเงินบำนาญชราภาพ  36,860 คน จ่ายเงินกองทุน 661 ล้านบาท
 
รองเลขาธิการ สปส. กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายนที่ผ่านมามีผู้ประกันตนมายื่นขอใช้สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพ 46,543 คน จ่ายเงินกองทุน 1,852 ล้านบาท และปีนี้เป็นปีแรกที่ สปส. เริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีผู้ประกันตนมายื่นใช้สิทธิตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 7,829 คน โดยผู้ประกันตนมายื่นใช้สิทธิรับเงินบำนาญชราภาพเพียงครั้งแรกเท่านั้น ไม่ต้องยื่นใช้สิทธิทุกเดือน หลังจากนั้น สปส. จะนำเงินบำนาญชราภาพเข้าบัญชีธนาคารทุกเดือน โดยขณะนี้มีธนาคารที่มีความร่วมมือระหว่างกัน  9 แห่ง เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนมายื่นใช้สิทธิหลังจากวันที่ 10 ของเดือนที่มายื่นใช้สิทธิ  สปส. จะโอนเงินบำนาญชราภาพเข้าบัญชีของผู้ประกันตนในเดือนถัดไป ซึ่งขณะนี้ผู้ประกันตนที่มายื่นใช้สิทธิโดยเฉลี่ยจะมีฐานเงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 12,000-13,000 บาท และได้รับเงินบำนาญชราภาพคนละกว่า 2,700 บาทต่อเดือน
 
(สำนักข่าวไทย, 13-5-2557)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles