เพื่อนนักกิจกรรมร่วมจัดงาน “เราทุกคนคือบิลลี่” ใจกลางกรุงฯ เพื่อกระตุ้นสังคมตระหนักถึงบุคคลสูญหายโดยรัฐมีเกี่ยวข้อง ระดมทุนช่วยเหลือครอบครัวบิลลี่นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง หวังคนชายขอบได้รับการยอมรับในวิถีวัฒนธรรมทางชาติพันธุ์
11 พ.ค. 2557 เวลา 14.30 น. ที่ห้องอเนกประสงค์ และโถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กลุ่มดินสอสี ชิ สุวิชาน โฮปแฟมิลี่ คีตาญชลี และพี่น้องเครือข่ายกะเหรี่ยงทั่วประเทศร่วมกันจัดงาน “เราทุกคนคือบิลลี่ – WE ALL BILLY” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนช่วยเหลือครอบครัวบิลลี่แกนนำและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 กิจกรรมครั้งนี้ยังจัดขึ้นเพื่อต้องการกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงการสูญหายของบุคคลที่มีเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง สานต่อความฝันของบิลลี่ในการสร้างสรรค์ชุมชนโป่งลึก-บางกลอย และที่สำคัญยังต้องการส่งเสียงแทนบิลลี่และคนชายขอบที่ไร้สิทธิไร้เสียงในวิถีชีวิตคนกับป่าของกลุ่มชาติพันธุ์ให้สังคมเมืองยอมรับมากขึ้นอีกด้วย ภายในจัดเวทีเสวนาเรื่อง "บิลลี่หาย เปิดมุมมองของกฎหมาย ความเท่าเทียม สิทธิชุมชน วิถีคนกับป่า"
เวทีเสวนา “เรื่อง "บิลลี่หาย เปิดมุมมองของกฎหมาย ความเท่าเทียม สิทธิชุมชน วิถีคนกับป่า"
ดำเนินรายการโดย ณาตยา แวววีรคุปต์ ไทยพีบีเอส
วราภรณ์ อุทัยรังสี ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนกล่าวถึงความเป็นมาและความคืบหน้าของการฟ้องศาลกรณีบิลลี่หายตัวว่า ญาติและภรรยาของบิลลี่เป็นผู้ไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอร้องให้ปล่อยตัวบิลลี่เมื่อ 24 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา การยื่นขอปล่อยตัวครั้งนี้ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 ที่ระบุว่า ถ้าเกิดพบว่าบุคคลใดถูกคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตัวผู้เสียหาย ญาติ พนักงานอัยการ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ปล่อยตัวได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องไปแล้ว ศาลจะต้องเรียกตัวผู้ถูกควบคุมมาศาลเพื่อไต่สวน เบื้องต้น ศาลได้ไต่สวนเป็นที่เรียบร้อย โดยจากคำให้การของพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่จับตัวบิลลี่ในป่าก่อนเกิดเหตุส่วนใหญ่ก็เหมือนกับที่มีการให้สัมภาษณ์ตามสื่อ ยังไม่มีอะไรใหม่
วราภรณ์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการยื่นฟ้องศาลปกครองในกรณีเผาบ้านเรือนของชาวบ้านเมื่อปี 54 หลังจากนั้นก็มีเครือข่ายกะเหรี่ยงเข้าไปให้ความช่วยเหลือแล้วมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรรมการสิทธิ สภาทนายความก็เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีการเผาบ้าน ไล่รื้อจริงๆ จึงมีการยื่นฟ้องต่อกรมอุทยานฯ และกรมทรัพยากรฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของ หัวหน้าอุทยานฯ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ศาลจะนัดไต่สวนชาวบ้านอีกวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 นี้ ซึ่งบิลลี่เป็นผู้ประสานงานคนสำคัญในการเตรียมข้อมูลก่อนขึ้นศาล
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีบิลลี่ว่า เรื่องของบิลลี่นั้นวางอยู่สองเรื่องใหญ่ในสังคม เรื่องแรกคือการจัดการทรัพยากร ส่วนเรื่องที่สองคือเรื่องความเข้าใจของเราต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขา สองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ผมคิดว่าสำคัญมาก เรื่องแรกคือการจัดการทรัพยากร ตัวเลขที่อ่านครั้งสุดท้ายพบว่าในเมืองไทยมีคนที่อยู่ในป่าอย่างผิดกฎหมายประมาณ 1.5 ล้านครอบครัว ซึ่งครอบครัวหนึ่งจะเฉลี่ย 4 - 6 คน ซึ่งทั้งหมดก็ประมาณ 6 ล้านกว่าคน การอยู่แบบผิดกฎหมายนี้ไม่ใช่อยู่ดีๆ คนในเมืองจะเข้าไปอยู่ในป่าหรืออพยพเข้ามาใหม่ แต่ส่วนใหญ่แล้วคนเหล่านี้อยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้ว ระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเรานั้นรัฐจะพยายามริบเอาอำนาจจากท้องถิ่นและชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เห็นได้จากการกำหนดเรื่องการจัดการทรัพยากรไว้ในนโยบายและกฎหมาย อาทิ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยหน่วยงานรัฐมักจะอ้างกฎหมาย เพื่อเข้าไปจัดการทรัพยากรของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านอยู่แบบไม่ถูกกฎหมาย ฉะนั้นใจกลางของปัญหาคือระบบจัดการทรัพยากรธรรมชาติของรัฐไม่เปิดให้ท้องถิ่นหรือชุมชนเข้าไปมีอำนาจ เป็นต้น
เรื่องที่สองคือ ทัศนคติที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์หรือชาวเขา พวกเขามักจะถูกสร้างให้เป็นผู้ทำปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอดีตคือเรื่องความมั่นคง ชาวเขาถูกสร้างภาพให้เป็นคอมมิวนิสต์ ผู้ที่ทำลายป่าและค้ายาเสพติด โดยชาวเขาจะถูกมองในฐานะที่ต่ำกว่าคนในสังคมและถูกเลือกปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้ ผมเคยให้เด็กนักศึกษาไปสังเกตการณ์ในชั้นศาล พบว่าเวลาชาวเขาขึ้นศาล จะไม่มีล่ามของชาวเขาที่ขึ้นทะเบียนกับศาล มีแต่เพียงล่ามจำเป็น จึงทำให้การสื่อสารระหว่างชาวเขากับผู้พิพากษาค่อนข้างจะลำบากอาจทำให้เกิดการผิดผลาดในเรื่องข้อมูลได้ เพราะภาษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะต่อสู้ในชั้นศาล ดังนั้นสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้ถึงการมองชาวเขาหรือชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกเลือกปฏิบัติ
รศ.สมชาย ยังกล่าวอีกว่า กรณีเช่นการหายตัวของบิลลี่ ไม่ค่อยมีในภาคเหนือ ไม่เคยได้ยินว่ามีชาวเขาถูกอุ้มหายในกรณีป่าไม้ที่ดินเลย โดยสมชายให้เหตุผลว่า การสร้างเครือข่ายระหว่างชาวเขาด้วยกันเองหรือการสร้างเครือข่ายนอกกลุ่ม เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจาก ถ้ามีเรื่องที่เกิดในป่าขนาดไหนมันถูกนำมาไว้กลางแจ้ง มันมีไฟส่องมา จึงทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถทำอะไรกับชาวเขาได้ ส่วนในพื้นที่แก่งกระจานควรที่จะให้ความสำคัญกับการทำให้เครือข่ายที่มีการเคลื่อนไหวมีการเชื่อมร้อยเอาคนกลุ่มต่างๆ ที่ทำงานในประเด็นเดียวกันมาร่วมกันทำงานขับเคลื่อน
สุฤทธิ์ มีบุญ หรือ ลุงทอง ชนเผ่าจิตอาสาเทือกเขาตะนาวศรี ผู้ที่เคยร่วมงานกับบิลลี่ กล่าวว่า คนเมืองชอบมองคนที่อาศัยอยู่ในป่าเขาว่าเป็นคนทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แต่จริงๆ แล้วคนที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดโดยไม่รู้จักพอคือคนเมือง
สุฤทธิ์ บอกว่า อยากให้สังคมเมืองเข้าใจชนเผ่าชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ตามป่าเขาว่า คนที่นั่นจะมีความเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกล้วนมีเจ้าของ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจที่เหนือธรรมชาติดูแลอยู่ คนกะเหรี่ยงจะเชื่อสิ่งเหล่านี้จึงทำให้ผู้ที่อยู่ในป่าอยู่ด้วยความเคารพต่อสัตว์ป่า ต้นไม้ โดยไม่ทำลายป่า ชาวกะเหรี่ยงไม่ได้ทำลายป่า และการทำการเกษตรก็เป็นการทำแบบไร่หมุนเวียน ไม่ใช้สารเคมี และการจะทำอะไรกับป่ากับพื้นดินนั้นคนกะเหรี่ยงต้องมีการทำพิธีกรรมเพื่อขอขมาก่อน ดังนั้นจึงอยากให้คนพื้นราบเข้าใจคนกะเหรี่ยงมากกว่านี้
สุฤทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า อยากให้คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในชนเผ่าไม่ทิ้งโคตรเหง้าตัวเอง ชนเผ่าของผมเรียนจบสูงมาก ผมอยากให้คนพวกนี้กลับมาดูแลบ้านเกิด ดูแลพวกเราที่ถูกรังแกจากรัฐให้มากกว่านี้
ด้าน อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวถึงบทเรียนจากกรณีที่ สมชาย นีละไพจิตร สามีของตนผู้เป็นทนายความสิทธิมนุษยชนที่ถูกอุ้มหายไปเมื่อ 10 ปีก่อน เพื่อเปรียบเทียบกับกรณีการหายตัวของบิลลี่ ว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าสองคดีนั้นเหมือนกัน เพราะยังไม่มีกระบวนการติดตามหาตัวบิลลี่อย่างจริงจัง
“ดิฉันเองรู้สึกเสียใจมากเมื่อท่านกรมคุ้มครองสิทธิฯ ตอบข้อซักถามของคณะกรรมการการซ้อมทรมานที่กรุงเจนีวาเมื่ออาทิตย์ที่แล้วว่า กรณีบิลลี่ก็คล้ายกับคดีสมชายเพราะไม่มีศพ เพราะดิฉันมองว่ามันเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเหมือนกับคดีสมชาย เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการค้นหาตามกระบวนการติดตามหาตัวบุคคลที่สูญหายอย่างเต็มที่และจริงจัง เราต้องตามหาตัวบิลลี่ให้ได้ก่อนไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม ก่อนที่จะบอกว่าเหมือนหรือคล้ายกับกรณีไหน’’
อังคณา กล่าวว่า เมื่อสิบปีที่แล้วการที่สมชายถูกอุ้มหายในใจกลางกรุงเทพฯ ตอนนั้นสังคมไทยยังไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องการบังคับให้บุคคลสูญหาย สังคมยังมีความหวาดกลัวต่อการวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ตามที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่พอสิบปีผ่านไป ส่วนตัวรู้สึกดีใจที่เห็นสังคมไทยเริ่มจะทนไม่ไหวกับการหายตัวไปของบุคคลใดอีกแล้ว สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงในประเด็นการอุ้มหายนี้มากขึ้น
อังคณา กล่าวว่า กรณีที่อาจารย์สมชายพูดว่าในพื้นที่ภาคเหนือไม่มีการบังคับให้บุคคลสูญหายแต่เท่าที่มูลนิธิได้ทำวิจัยกลับพบว่า ชนเผ่ามูเซอดำ คือกลุ่มหนึ่งที่ถูกรัฐจับตาดูและมองว่าเป็นกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด แล้วมีหลายกรณีที่บุคคลเหล่านี้ถูกจับกุมและซ้อมทรมาน กรณีนี้สหประชาชาติก็ให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เรื่องการบังคับสูญหายนี้ มันไม่ใช่เป็นอคติของเจ้าหน้าที่รัฐกับบุคคลหรือชนเผ่า ชาติพันธุ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งที่ยังใช้วิธีการอุ้มหรือฆ่านี้เพื่อจัดการกับบุคคลที่เห็นต่าง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม คนที่ถูกทำให้หายไป มักถูกใส่ร้ายว่าเป็นโจร เป็นคนบุกรุกป่า ค้าขายยาเสพติด โดยรัฐพยายามที่จะสร้างภาพลบให้กับบุคคลที่หายไปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของเจ้าหน้าที่ ในขณะเดียวกัน รัฐ เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยมองย้อนกลับไปเลย ครอบครัว ลูก เมีย ชุมชนของคนที่ถูกรัฐใส่ร้ายป้ายสี เขาจะอยู่อย่างไรในสังคม คนเหล่านี้ถูกสังคมมองว่าเป็นญาติพี่น้องหรือลูกกับทนายโจร คนค้ายาเสพติด ทำสิ่งผิดกฎหมาย เรื่องพวกนี้ทำไมไม่เคยคิดถึง
ดังนั้นญาติหรือภรรยาของบิลลี่จึงต้องสามารถขอเข้าไปดูในแต่ละสถานที่ที่คาดว่าบิลลี่อยู่ได้ เจ้าหน้าที่จะต้องยอมรับและรับฟังพยานต่างๆ เพื่อทำการค้นหาตามคำขอของพยานและอย่างน้อยที่สุดผู้ที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ควรอยู่ในพื้นที่ ทำยังไงก็ได้ให้คนเหล่านี้ออกไปนอกพื้นที่ เพื่อพยานต่างๆ มีความมั่นใจในการให้การได้อย่างปลอดภัยและสามารถเข้าไปค้นหาในที่ที่เราคิดว่าบิลลี่อยู่ที่นั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพไหนก็ตาม ที่สำคัญเราน่าจะศึกษาและอุปสรรคในกรณีสมชายมาเป็นบทเรียนในกรณีบิลลี่
อังคณา ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่เราเรียกร้องมาโดยตลอดคือการให้มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองบุคคลทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใด ต่างเชื่อชาติ ต่างศาสนา เห็นด้วยหรือเห็นต่างกับรัฐก็ตาม และการนิยามคำว่า “เหยื่อ” ไม่ใช่เฉพาะบุคคลที่สูญหายแต่เหยื่อตามอนุสัญญาจะหมายถึงครอบครัว ประจักษ์พยาน พยานแวดล้อม ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองและต้องมีองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบและหาข้อเท็จด้วย ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะไม่ให้คนรุ่นหลังรับชะตากรรมเช่นนี้อีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมมากมาย อาทิ นิทรรศการภาพถ่ายวิถีชีวิตกะเหรี่ยง “คนกับป่า” การแสดงดนตรี การท่องบทกวี ปกาเกอะญอ ซุ้มกิจกรรมขายของที่ระลึก และการฉายหนังสั้น "วิถีชีวิต The way of lives"ผลงานของบิลลี่และชาวบ้านโป่งลึกบางกลอยร่วมกับมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ต้องการสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานหลังจากการถูกไล่ รื้อ เผาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเมื่อปี 2554
นิทรรศการรูปถ่ายวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน
การแสดงดนตรีจากคณะ “คีตาญชลี”
การจำหน่ายของที่ระลึกเพื่อสมทบทุนช่วยเหลือครอบครัวบิลลี่