เสื้อแดงแปรอักษร 'We Vote'เวลา 18.05 น. ภาพจากเฟซบุกแฟนเพจ 'uddthailand'
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา บนถนนอุทยาน(ถนนอักษะ) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ได้จัดชุมนุมเป็นวันแรก โดยใช้ชื่อการชุมนุมว่า “รวมพลปราบกบฏ” เรีกยร้องให้มีการเดินหน้าเลือกตั้ง 20 ก.ค.นี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประธานศาลฏีกา, ศาลปกครองสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธขอเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ที่ให้ประธานทั้ง 3 ศาล ประชุมร่วมกับประธานวุฒิสภาเพื่อแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
เวลา 18.10 น. นายจตุพร พรมพันธุ์ ประธาน นปช. ปราศรัยเรียกร้องให้ประธานศาลฏีกา ประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธข้อเสนอที่ให้ประมุขทั้ง 3 ศาลประชุมร่วมกับประธานวุฒิสภาเพื่อแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีทันที เพราะเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ
โดย นายจตุพร อ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 171 ที่บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าทีบริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 172 คือต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้รับสนองพระราชโองการแต่งตั้งนายกฯ มีตำแหน่งเดียวคือประธานสภาผู้แทนฯ ไม่ใช่ประธานวุฒิสภา หรือประธานทั้ง 3 ศาล
ประธาน นปช. ยังปราศรัยประณามกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำ กปปส. บีบบังคับช่องฟรีทีวีให้ถ่ายทอดการอ่านแถลงการณ์ของตัวเองด้วย พร้อมทั้งยังวิจารณ์กระบวนการเลือกประธานวุฒิสภาด้วยว่า เป็นการเลือกกันแบบผิดๆ เนื่องจากกระบวนการเลือกไม่ได้อยู่ในระเบียบวาระ รวมทั้งระหว่างการประชุมก็มีกลุ่มนายสุเทพมาชุมนุมกดดัน
นายจตุพร กล่าวด้วยว่า นายสุเทพคาดว่าเมื่อมีประธานวุฒิสภาแล้วจะเป็นคนทูลเกล้าแต่งตั้งนายกฯ ตามมาตรา 7 ทั้งที่ลืมไปว่าคนที่จะทูลเกล้าแต่งตั้งประธานวุฒิฯ นั้นคือรักษาการนายกฯ
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า “ผมไม่ได้เรียกร้อง ให้ประธานศาลเข้าข้างใครนะครับ ผมไม่ได้เรียกร้องให้ประธานศาลเอาตามสุเทพ ไม่ได้เรียกร้องประธานศาลให้เอาตาม นปช. แต่ผมเรียกร้องให้ประธานศาลเอาตามกฏหมาย เอาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฏหมายบัญญํติไว้อย่างเราท่านปฏิบัติตามนั้น ไม่มีปัญหา”
“วันนี้ประเทศไทยไม่ใช่ไม่มีทางออก ทางออกมันมี คือเดินหน้าตามกติกาไปสู่การเลือกตั้งวันที 20 ก.ค. เท่านี้สันติภาพก็รอคอยเราอยู่ไม่ไกล แต่ถ้าผิดไปจากนี้ ผมก็เรียนได้เลยนะครับว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดง คราวนี้ ส่วนใหญ่ก็จะปักหลักอยู่ที่อักษะ อาจจะมีกิจกรรมเคลื่อนไหวบ้าง แต่โดยหลักการก็จะไม่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปจำนวนทั้งหมด เพราะจะกลายเป็นการเผชิญหน้ากับกลุ่มนายสุเทพ แต่ถ้าหาก มีการเสนอชื่อ นายกมาตรา 7 อย่างที่สุเทพ ประกาศออกมา นปช.จะยกระดับการต่อสู้ถึงที่สุดทันที ไม่มีทางที่เราจะกลับบ้านก่อนแล้วค่อยกลับมาสู้ใหม่ แต่เราจะขอไปดูหน้าคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีและคนจะเสนอชื่อนายกฯ นอกกฏหมาย” นายณัฐวุฒิ กล่าว
“มาวันนี้เราขอเป็นอย่างน้อย 2 อย่าง หนึ่ง เราขอเป็นประชาชนเต็มขั้นที่มีสิทธิเสรีภาพสมบูรณ์ เท่าเทียมกัน สอง เราขอเป็นคนเสื้อแดง ที่กอดคอต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจนถึงที่สุด ถ้าเป็น 2 อย่างนี้ไม่ได้เราขอเป็นอย่างที่ 3 คือเป็นไงเป็นกัน เป็นไงเป็นกัน นายกเถื่อนมาไม่มีกลับบ้าน ไม่มีประกาศเลิกการชุมนุม ไม่มีประกาศยุติการต่อสู้ นายกเถื่อนมาก็จะอยู่ในกรุงเทพจนกว่านายกเถื่อนจะไป” เลขาธิการ นปช. ปราศรัยทิ้งท้าย
โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ขณะปราศรัย ภาพโดยเพจ 'uddthailand'
นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความ นปช. ปราศรัยด้วยว่า ยินดีที่เสื่อแดงมีความอดทนอดกลั้นหลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อสถานภาพนายกฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพราะทราบดีว่าศตรูของประชาธิปไตยพยายามยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงเพื่อที่จะให้ทหารออกมา การไม่อดทนอดกลั้นก็เป็นเรื่องยากที่เราจะได้รับชัยชนะ และเวลานี้เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่รัฐบาลจะลงนามยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศชั่วคราวเพื่อนำตัวทหารที่กระทำความผิดในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมาลงโทษ
ทนาย นปช. ยังกล่าวถึงการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อไม่นานมานี้ของ อิซ่า อะลิซาเบตตา โพเลงกี น้องสาว ฟาบิโอ ช่างภาพชาวอิตาลีที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พ.ค. 2553 ว่า พวกเราเป็นหนี้บุญคุณเธอที่ได้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและการคุ้มครองนักข่าวในไทย ซึ่งก่อนที่เธอจะเสียชีวิตได้ร่างโครงการจัดสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกเหยื่อความรุนแรงทางการเมืองที่เสียชีวิตในปี 53 ดังนั้นพวกเราต้องขอให้รัฐบาลสร้างสาวรีย์ดังกล่าวด้วย และล่าสุด กปปส. ได้มีการรุมทำร้ายนักข่าว ดังนั้นเสื้อแดงควรปกป้องผู้สื่อข่าวเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงรัฐบาลควรอนุญาติให้นักข่าวสามารถสวมใส่เสื้อเกราะได้เพื่อป้องกันตัวเอง
อัมสเตอร์ดัม กล่าวด้วยว่า เราต้องไม่ลืมนักโทษทางการเมืองที่ยังติดอยู่ในคุกด้วย และเราต้องแก้ไขกฏหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย พรรคประชาธิปัตย์มักใช้กฏหมายนี้ในการทำลายเสรีภาพให้การแสดงความคิดเห็นและประชาธิปไตย
ทนาย นปช. กล่าวด้วยว่า อีก 2-3 อาทิตย์ ตนจะเคลื่อนไหวเพื่อร้องขอให้สหภาพยุโรปเพื่อหามาตราการกดดันกับผู้ที่ทำลายหลักนิติธรรมในประเทศไทย รวมถึงประท้วงไปยังองค์กรพรรคการเมืองเสรีนิยมสากลที่ยังให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีแนวทางแบบเผด็จการฟาศซิสต์ในประเทศไทย อย่างไรก็ตามยังมีคนในพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นคนที่ กปปส. ไม่ชอบ ดังนั้นพวกเราควรสนับสนุนคนเหล่านั้นมาเป็นฝ่ายเรา ที่ต้องการความเป็นธรรมและเท่าเทียม เช่นเดียวกับเรา และเราต้องการเห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง
น.ส.สุดา รังกุพันธ์ แกนนำกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ได้กล่าวรำลึกการเสียชีวิตของ ไม้หนึ่ง ก. กุนที ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ผ่านบทกวี 'ย่ำรุ่งมิถุนายน' ของไม้หนึ่งฯ ที่ น.ส.สุดา กล่าวว่าเป็นกวีที่สรุปการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 จนถึงขณะนี้
"แทงลึกลงหมุดสุดแผ่นดินปักพินเป็นของปวงชนสยามคณะราษฎรปลุกวีรกรรม24 มิถุนากระทำการหมุดเหล็กตอก 2475ตรึงปักนัคราเป็นหลักฐานเบิกทางตีนตัดถนนต้นตำนานปณิธาน “ประชาธิปไตย”รุกรับกับปฏิกิริยาชนะแล้วรวนกระแสมาแพ้พ่ายซากโบราณกลับฟื้นสุดลมหายใจเกิดอสูรภายแฝงเร้นรัฐแทรกสนิมซึมกัดหมุดเหล็กกร่อนปกครองประชากรโดยอสัตย์เศรษฐกิจล้าหลังโทมนัสไม่สามารถอภิวัฒน์ตามโลกาทุกชุมชนมีแต่เครือข่ายอำมาตย์ทุนขวาจัดเสริมด้วยซ้ายไร้เดียงสาแต่งวิเคราะห์สังคมจมมายาว่าชนชั้นศักดินาไม่ดำรงคือฝูงทาสคงจงรักกับนายทาสม้วนรัดชาติชูโมหะจริตหลงชีวทรรศน์กระบวนทรรศน์ไม่ซื่อตรงทั้งประเทศกลายเป็นผงรอฝ่าตีนราษฎรปักหมุดหมายมากี่ปีการกดขี่ไม่เห็นจะจบสิ้นยังยากจนทนทุกข์ขลุกโคลนดินต้องพออยู่พอกินนั้นเพื่อใคร?มาเถิดมา พี่น้อง ผองคนทุกข์ไม่รบรุกคงไม่อาจเห็นฟ้าใหม่ร่วมกันสู้สู่อุษาแสงอุทัยทวงประชาธิปไตยของปวงชนมาเถิดมา พี่น้อง ผองคนทุกข์ไม่รบรุกคงไม่อาจเห็นฟ้าใหม่ร่วมกันสู้สู่อุษาแสงอุทัยปักหมุดใหม่อีกอันให้ถาวร!
ประมวลภาพ :