สื่อต่างชาติหลายแห่งต่างมองปรากฏการณ์ถอดถอนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากรักษาการนายกฯ ว่าเป็นการรัฐประหารอีกรูปแบบหนึ่ง และคิดว่าความวุ่นวายในประเทศจะไม่จบลงง่ายๆ ขณะประชาชนสูญสิ้นศรัทธาต่อองค์กรอิสระที่ไม่อิสระจริง แต่ถูกนำไป 'เดิมพัน'โดยฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย
แฟ้มภาพ: ประชาไท
9 พ.ค. 2557 หลังจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี สื่อต่างประเทศหลายแห่งก็ได้วิเคราะห์และกล่าวถึงสถานการณ์นี้
นิวแมนดาลา: รัฐประหารในชื่ออื่น
โดยเว็บไซต์นิวแมนดาลา ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น "รัฐประหารในชื่ออื่น" (a coup by any other name) ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงไม่พอใจคิดว่าระบบกฎหมายในประเทศถูกใช้เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่ง จอห์น แบล็กซ์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียเห็นด้วยในเรื่องนี้
"โดยใจความสำคัญแล้ว นี่คือการพยายามรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ (constitutional coup)"แบล็กซ์แลนด์กล่าว เขาบอกอีกว่าเหตุที่ศาลเป็นผู้ตัดสินให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งนั้น เนื่องจากกลุ่มผู้ประท้วงล้มเหลวไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลได้เอง ขณะที่ฝ่ายทหารก็ปฏิเสธที่จะแทรกแซงเนื่องจากกลัวว่าจะเกิดผลเสียในระดับหายนะ ทำให้ฝ่ายกองทัพพยายามไม่แสดงออกให้เห็นว่าพวกเขาอยู่ข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป
อย่างไรก็ตามแม้ว่ารัฐมนตรีจะไม่ถูกถอดถอนทั้งหมดและมีการให้ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีแทน แต่แบล็กซ์แลนด์ก็บอกว่าเรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ เพราะยังมีความพยายามกำจัดรัฐบาลผ่านทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายต่อต้านทักษิณ
บทความนิวยอร์กไทม์: การเดิมพันอันตรายกับองค์กรที่ "อิสระแต่ในนาม"
ทางด้านไมเคิล มอนเตซาโน เขียนบทความในเว็บไซต์นิวยอร์กไทม์ว่า ประเทศไทยประสบกับ "การรัฐประหารโดยศาล"เป็นเวลา 3 ครั้งในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา และการสั่งให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งโดยอ้างเรื่องการใช้อำนาจในทางที่ผิดก็มีความถูกต้องตามตัวบทกฎหมายน้อยมาก
มอนเตซาโนกล่าวอีกว่าการที่ศาลใช้อำนาจถอดถอนนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งแสดงให้เห็นว่าฝ่ายตรงข้ามของเธอทำทุกอย่างโดยไม่เลือกวิธีการ คือไม่ใช้วิธีการทางการเมืองแต่ยังอาศัยองค์กรอิสระซึ่ง "อิสระแต่ในนาม"
มอนเตซาโนระบุในบทความว่าถึงแม้การถอดถอนยิ่งลักษณ์จะไม่กระทบต่อสถานะรัฐบาลรักษาการของพรรคเพื่อไทยในตอนนี้ แต่ก็ทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อการเลือกตั้งในเดือน ก.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งแม้ว่ากลุ่มสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทยจะอ้างว่าควรมีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่มอนเตซาโนคิดว่าพวกเขาต้องการโค่นล้มพรรคเพื่อไทยและแต่งตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งเพื่อจัดการปฏิรูป
ผู้เขียนบทความในนิวยอร์กไทม์มองว่า สิ่งที่ฝ่าย 'เสื้อเหลือง'กำลังกระทำเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงอันตราย พวกเขาวางเดิมพันด้วยการทำให้องค์กรอิสระต่างๆ เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แล้วจะสร้างองค์กรเหล่านี้ขึ้นมาใหม่หลังจากเอาชนะเสื้อแดงได้แล้ว และสิ่งที่อันตรายกว่านั้นคือการที่พวกเขาพยายามดึงเอาสถาบันกษัตริย์ลงมาด้วย
ในแง่กองทัพ แม้ว่าทุกวันนี้จะไม่มีใครต้องการเห็นกองทัพเข้ามามีบทบาทนำในการเมืองไทยอีกแล้ว แต่มอนเตซาโนมองว่ากองทัพยังคงเป็นสถาบันที่มีความเข้มแข็งมากในไทย ความเข้มแข็งส่วนหนึ่งมาจากการปฏิเสธที่จะเข้าแทรกแซงวิกฤติในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ขณะเดียวกันฝ่ายผู้นำทหารก็ต้องพยายามรักษาความเป็นเอกภาพของกองทัพเอาไว้เพราะมีทหารจำนวนมากที่มาจากภูมิภาคซึ่งสนับสนุนเสื้อแดง
มอนเตซาโนมองว่าอนาคตประเทศไทยหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับ "ความเป็นอิสระ"ขององค์กรและสถาบันต่างๆ รวมถึงความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อองค์กรและสถาบันเหล่านั้น แต่การแสดงท่าทีเลือกข้างของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการทำลายความชอบธรรมขององค์กรตนเอง และประชาชนจะยังรู้สึกไม่เชื่อใจองค์กรนี้ไปอีกนานแม้ว่าจะสิ้นสุดวิกฤติไปแล้ว
แฟ้มภาพ: ประชาไท
วอลล์สตรีทเจอนัล: การดิ้นรนเฮือกสุดท้ายโดยยอมทำให้ตัวเองเสื่อมเสีย
ทางด้านวอลล์สตรีทเจอนัลก็ระบุในรายงานเช่นเดียวกับนิวแมนดาลาว่าการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทยเป็น "การรัฐประหารโดยศาล"
ในรายงานของวอลล์สตรีทเจอนัลระบุว่า "นี่เป็นครั้งที่ 3 แล้วในรอบทศวรรษที่องค์กรซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้และถูกควบคุมโดยกลุ่มอำมาตย์ได้ถอดถอนผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งด้วยเหตุผลที่น่าสงสัย"
"การแทรกแซงของศาลเป็นการให้รางวัลกับนิสัยแย่ๆ ของพรรครอยัลลิสต์อย่างประชาธิปัตย์ที่มีชื่อฟังดูย้อนแย้งกับสิ่งที่เป็น"วอลล์สตรีทเจอนัลระบุในรายงาน
วอลล์สตรีทเจอนัลยังกล่าวคล้ายกับสื่อต่างประเทศอื่นๆ ว่ารักษาการนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งต่อจากยิ่งลักษณ์ก็อาจจะถูกถอดถอนโดย ป.ป.ช. และสิ่งที่อันตรายคือความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามกลางเมืองโดยพวกสุดโต่งจากทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ตาม รายงานของวอลล์สตรีทเจอนัลชี้ว่าสิ่งที่น่าจะเป็นทางออกในช่วงระยะใกล้เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดคือการต่อรองเจรจาตามที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เปิดทางให้และดูเหมือนยิ่งลักษณ์จะยอมรับการต่อรองนี้ โดยมีการรักษาสิทธิพิเศษของฝ่ายอำมาตย์และให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับผลประโยชน์บางส่วนก็อาจจะเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งจะถูกพักไว้บ้างสองสามปี แต่สันติภาพที่แท้จริงก็ยังไม่เกิดเพราะทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่ลงรอยกัน
"การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในสัปดาห์นี้เป็นการดิ้นรนสุดท้ายของระบอบเก่า ทำให้ชื่อเสียงตัวเองเสื่อมเสียเพื่อสกัดกั้นพลังของประชาธิปไตย คงได้แค่หวังว่าจะมีผู้นำที่ฉลาดกว่านี้ปรากฏตัวจากฝ่ายอนุรักษ์เพื่อที่จะตระหนักและเลิกโค่นล้มประชาธิปไตยเสียที"วอลล์สตรีทเจอนัลระบุในรายงาน
เรียบเรียงจาก
A coup by any other name…, New Mandala, 08-05-2014
http://asiapacific.anu.edu.au/news-events/all-stories/coup-any-other-name%E2%80%A6#.U2yYD4GSzjJ
The Travails of Thailand, New York Times, 09-05-2014
http://www.nytimes.com/2014/05/10/opinion/the-travails-of-thailand.html
Thailand's Aristocratic Dead-Enders, The Wall Street Journal, 07-05-2014
http://online.wsj.com/news/articles/SB10001424052702304431104579547340574302518?mg=reno64-wsj