Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

มติบอร์ด สปสช. เห็นชอบช่วยเหลือ รพ.-รพ.สต.ได้รับกระทบแผ่นดินไหว

$
0
0

7 พ.ค.2557 นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. ในวันนี้มีวาระด่วนคือการพิจารณาให้ความช่วยเหลือหน่วยบริการที่ได้รับความเสียหายจากเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมีขนาดความแรง 6.3 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางที่จังหวัดเชียงราย และมี After shock ต่อเนื่อง ส่งผลทำให้สถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขได้รับความเสียหาย 7 แห่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลแม่ลาว โรงพยาบาลพาน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ร่องคาน อ.พาน และ รพ.สต.อีก 1 แห่ง ใน อ.แม่ลาว และที่จังหวัดเชียงใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลฝาง

นพ.จรัล กล่าวว่า รายละเอียดความเสียหายของหน่วยบริการนั้น เบื้องต้นได้รับรายงานจากที่ประชุมทราบว่าที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และโรงพยาบาลแม่ลาว โครงสร้างหลักไม่ได้รับการกระทบกระเทือนจากแรงสั่นสะเทือน แต่มีผนังอาคารได้ความเสียหายและปรากฏรอยร้าว  ขณะที่โรงพยาบาลพาน อาคารหลังเก่าพัง โดยทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมีดำเนินการซ่อมปรับปรุงเพื่อให้สามารถรองรับการบริการผู้ป่วยได้ดังเดิม

ทั้งนี้ในการช่วยเหลือหน่วยบริการที่ได้รับผลกระทบนั้น สปสช.สามารถดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการในกรณีฉุกเฉิน กรณีโรคระบาดหรือภัยพิบัติ พ.ศ. 2555” ได้ ซึ่งมีการกันงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการดำเนินการ ปัจจุบันมีจำนวน 870 ล้านบาท จึงได้มีการนำเสนอต่อ บอร์ด สปสช.เป็นวาระด่วน เพื่อให้มีการช่วยเหลือหน่วยบริการ ทั้งกรณีที่มีประชาชนเข้ารับบริการข้ามสิทธิ์ รวมถึงการปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารสถานที่โดยเร็ว ซึ่งทางบอร์ด สปสช.ได้เห็นชอบตามที่เสนอ พร้อมให้รีบดำเนินการช่วยเหลือโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่องานบริการรักษาพยาบาลประชาชน

“เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีความร้ายแรงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย และได้สร้างความเสียหายอย่างมาก โดยเฉพาะอาคารสถานที่ต่างๆ ที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงหน่วยบริการรักษาพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ทั้งโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ด้วยเหตุนี้บอร์ด สปสช.จึงได้เห็นชอบให้ทำการช่วยเหลือเป็นการด่วน เพื่อให้หน่วยบริการสามารถกลับมาบริการผู้ป่วยได้ดังเดิม ซึ่งการช่วยเหลือนี้เฉพาะแค่การซ่อมแซมเท่านั้น ไม่รวมถึงการก่อสร้างใหม่” นพ.จรัล กล่าว และว่า จากนี้จะมีการประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อช่วยเหลือต่อไป

 

มติบอร์ด สปสช.ดีเดย์ 1 ต.ค.57 ยกเลิกสสจ.เป็น สปสช.สาขาจังหวัด

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในวันนี้ ซึ่งมีนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีการพิจารณา “บทบาทของสำนักงานหลักประกันสุขภาพสาขาจังหวัด” (สปสช.สาขาจังหวัด) เพื่อให้เป็นไปตามหลักการในการแยกผู้ซื้อและผู้ขายบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพออกจากกัน ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพชาติ พ.ศ. 2545 และเป็นไปตามข้อเสนอของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เสนอให้ทบทวนการมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำาหน้าที่เป็น สปสช.สาขาจังหวัด เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์ของเงินกองทุนที่กฏหมายบัญญัติไว้ นอกจากนี้ยังเป็นไปตามข้อเสนอของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่เสนอให้ยกเลิกเงินที่จัดสรรผ่านบัญชี6 ของ สสจ. ในฐานะเป็น สปสช.สาขาจังหวัด

เลขาธิการ สปสช.เปิดเผยต่อว่า ที่มาของการมอบให้ สสจ เป็น สปสช.สาขาจังหวัด ตั้งแต่เริ่มมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใหม่ๆ นั้น เป็นไปตามมาตรา 25 วรรค 2 และ 3 พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดให้บอร์ด สปสช. มีอำนาจมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนทำหน้าที่สำนักงานสาขาของ สปสช. ประกอบกับ ในวาระแรกเริ่ม มีภารกิจต้องขึ้นทะเบียนประชาชนให้เข้าถึงสิทธิและประสาน หน่วยบริการในพื้นที่โดยเร่งด่วน แต่เวลานั้น สปสช. ยังไม่มีสาขาในพื้นที่ และเห็นว่า สสจ. เป็นหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขที่มีความเข้าใจระบบสุขภาพอย่างดี  จึงได้มอบหมายหน้าที่ให้เป็นสาขาจังหวัด และกำหนดว่าในอนาคตหาก สปสช. มีสาขาในพื้นที่แล้ว หรือมีหน่วยงานอื่นที่เหมาะสมกว่า ก็ให้สามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เป็นไปตามหลักการแยกผู้ซื้อออกจากผู้ให้บริการสาธารณสุขตามที่กฎหมายกำหนดไว้

“เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ระบบหลักประกันสุขภาพมีความพร้อมมากขึ้น กลไก สปสช.สาขาเขต และหน่วยบริการในพื้นที่ มีความเข้าใจการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากขึ้น ทำให้ภารกิจบางอย่างของ สปสช.สาขาจังหวัดลดลง ประกอบกับมีข้อแนะนำ ทักท้วงเกิดขึ้นทั้งจาก สตง. และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งนักวิชาการ บอร์ด สปสช. ประชุมเมื่อวันที่ 7 พค.นี้ จึงมีมติให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง ที่ให้ สสจ เป็นสำนักงานสาขาจังหวัดของ สปสช.และยกเลิกบัญชี 6ของ สปสช.สาขาจังหวัดตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 รวมทั้งมอบหมายให้ สปสช เตรียมความพร้อม และเพิ่มศักยภาพของ สปสช.สาขาเขตเพื่อรองรับภารกิจเพิ่มเติมและพัฒนารูปแบบการทำงานร่วมกับ สสจ.เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบบริการและประชาชนในพื้นที่” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 เมย. ที่ผ่านมา นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ได้ลงนามในคำสั่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ 120/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่าง ของบอร์ด สปสช. ซึ่งมีสาระสำคัญคือแยกบทบาทของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะกำกับดูแลหน่วยบริการในพื้นที่ ออกจากการเป็นประธานอนุกรรมการทุกคณะของ สปสช. ตามหลักการแยกให้บริการออกจากผู้รับบริการสาธารณสุข ทำให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นประธานอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ (บอร์ดเล็ก) และประธานอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ ของ สปสช. อีกต่อไป นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบบริหารหลักประกันสุขภาพในส่วนกลาง ก่อนที่บอร์ด สปสช.จะมีมติยกเลิก สสจ.ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นสาขาจังหวัดของ สปสช.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles