Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ส่องสัจนิยมมหัศจรรย์ รำลึกมาเกซ-100 ปีแห่งความโดดเดี่ยวกับสังคมไทย

$
0
0

 


กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ

6 พ.ค.2557 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงาน รัฐศาสตร์ภาคประชาชน ตอน สัจนิยมมหัศจรรย์ : การเมือง การปลดปล่อย และวรรณกรรม การเสวราเพื่อเป็นเกียรติแก่การจากไปของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (1927-2014) และการย้อนรำลึกถึงพัฒนาการของสัจจนิยมมหัศจรรย์ในสังคมไทยและทั่วโลก โดยมีวิทยากรได้แก่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.), สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาลแะมานุษยวิทยา มธ., ดำเนินรายการโดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ทั้งนี้ มาเกซ เป็นชาวโคลัมเบีย เป็นนักข่าวผู้ผันตัวมาเป็นนักเขียน โด่งดังในการเขียนงานแนว สัจนิยมมหัศจรรย์ หรือ magical realism นิยายชื่อดังของเขาได้แก่ 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว, รักเมื่อคราวห่าลง ฯลฯ เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 20 เขาเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมาด้วยวัย 87 ปี


ที่มา:  ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)

สุรเดช ซึ่งสอนวรรณกรรมละตินอเมริกา ได้กล่าวถึงพื้นฐานวรรณกรรมประเภทสัจนิยมมหัศจรรย์ ว่า เริ่มต้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 โดยมีพัฒนาการมาจากการเขียนแนวอื่นๆ อย่างแฟนตาซี สืบสวนสอบสวน หรือสยองขวัญ โดยเล่นกับความลังเลเคลือบแคลงของผู้อ่านที่ไม่สามารถตีความเนื้อหาในแบบใดแบบหนึ่งได้ชัดเจน และเป็นแนวที่ต่อต้านแนวสัจนิยม ธรรมชาตินิยม อันเป็นผลผลิตจากยุค enlightenment โดยภาวะหลังสงครามโลกทำให้เริ่มมีการตั้งคำถามกับวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ระบบเหตุผล เทคโนโลยี ว่าสามารถอธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

ผู้ให้คำนิยามแนวการเขียนแบบสัจนิยมคนแรกคือ  Amaryll Chanady ซึ่งพูดถึงองค์ประกอบไว้ว่า เป็นการปะทะกันของความแตกต่างสองขั้ว เช่น อารยะกับอนารยะ และต้องมีการสลายความขัดแย้งระหว่างมุมมองสองขั้ว นอกจากนี้ผู้เขียนยังต้องละเว้นที่จะแสดงวิจารณญาณตัดสิน ต่อมา มีผู้พยายามนิยามมันอีกและเป็นคำนิยามที่ได้รับการยอมรับจนปัจจุบันคือ Wendy B.Faris ซึ่งเห็นว่า ตัวบทต้องมีองค์ประกอบของความมหัศจรรย์เหนือจริง ไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผล แต่ต้องอยู่ในบริบทที่เป็นโลกธรรมดาสามัญ ฉากต่างๆ ต้องพรรณนาอย่างค่อนข้างลึก จับต้องมองเห็นได้ชัดเจน เรื่องเล่าต้องเชื่อมโยงพรมแดนต่างๆ  ไม่ว่าเวลา สถานที่ หรืออัตลักษณ์ ทำให้ผู้อ่านอาจเกิดความคลางแคลงสงสัย

อย่างไรก็ตาม มาเกซไม่ใช่นักเขียนคนแรกที่เขียนงานแนวนี้ แต่เขาเป็นผู้ที่ทำให้งานแนวนี้เป็นที่นิยม เพราะเขาทำให้มันอ่านง่ายขึ้น อย่างเช่นเรื่อง 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยวนั้น มีลักษณะเหมือนนิยาย อ่านแล้วได้อรรถรส ไม่เคร่งเครียดเหมือนนักเขียนแนวเดียวกันคนก่อนๆ

“สัจนิยมมหัศจรรย์โดยตัวมันเองเป็นวาทกรรมแบบผสมผสาน มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ establish (สถาปนา) สัจนิยมได้แล้ว และมันจะนำสู่การตั้งคำถาม ทำให้เราไม่ด่วนสรุป” สุรเดชกล่าว


ที่มา : TCIJ

สุชาติ หรือ สิงห์ สนามหลวงกล่าวถึงความเป็นมาเมื่อนิยายเรื่อง 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยวเข้ามาในเมืองไทย โดยเขาเท้าความย้อนไปถึงช่วงหลัง 14 ตุลา 16 เขาเขียนเรื่องสั้นชุดความเงียบและมีแนวการเขียนที่ต่างไปจากแนวเพื่อชีวิต ซึ่งปัญญาชนนักเขียนกลุ่มซ้ายจัดซึ่งมีบทบาทสูงในสังคมเวลานั้นได้วิจารณ์งานของสุชาติว่าเป็นงานที่ซับซ้อน อ่านไม่รู้เรื่อง และใช้คำวิจารณ์ของจิตร ภูิมิศักดิ์ ที่เคยกล่าวถึงแนวการเขียนแบบนี้ไว้ว่า เป็นโรคประจำศตรวรรษ คือ เบื่อ เหงา เศร้าและมองไม่เห็นชัยชนะของประชาชน โดยเขายกตัวอย่างสำนวนในงานเขียนของเขา เช่น ตื่นเช้ามาเปิดลิ้นชักแล้วพบศพในลิ้นชัก หรือ ขึ้นลิฟท์กดไปชั้น 7 แล้วพบว่าไม่มีชั้น 7 เป็นต้น ใ่นช่วงนั้นงานวรรณกรรมไทยนั้นมุ่งเน้นแนวสัจสังคม (social realism) และมักมีการแปลวรรณกรรมของนักเขียนรัสเซียเป็นหลัก

ในทัศนะของสุชาติ แม้เขาจะเคลื่อนไหวกับขบวนการเพื่อชีวิต แต่งานเขียนของเขาต่างออกไป และเห็นว่างานเขียนแนวสัจสังคมนั้นหากทำได้ ‘ไม่ถึง’ ก็จะกลายเป็นงานโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ได้เช่นเดียวกัน และงานแนวเพื่อชีวิตในช่วงนั้นก็เป็นแนวจัดตั้งเสียมาก

สำหรับงานแนว magical realism ที่ปัจจุบันเรียกกันว่า สัจนิยมมหัศจรรย์ นั้น แรกเริ่มเดิมทีตัวสุชาติเรียกแนวทางนี้ว่า อรรถนิยมมายา เนื่องจากเสนีย์ เสาวพงศ์ ได้ทักท้วงว่า สัจจะ นั้นหมายถึง truth ไม่ใช่ reality ส่วนงานของมาเกซนั้นเข้ามาในช่วงประมาณปี 2518 ซึ่งการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายค่อนข้างเข้มข้น มีการจัดตั้งทั้งทางลับและเปิดเผย งานวรรณกรรมฝ่ายซ้ายหรือวรรณกรรมเพื่อชีวิตในช่วงนั้นก้าวร้าวพอสมควร อะไรก็ได้ที่เน้นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ การต่อสู้ของประชาชน เป็นช่วงที่ขาดความสร้างสรรค์ และเป็นห้วงยามก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ซึ่งทำให้หลายอย่างพลิกผัน

สุชาติเล่าว่าเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ต่างชาติของเขาแนะนำให้รู้จักงานเขียนของนักเขียนละตินอเมริกาหลายคน ตัวเขาเองเจอหนังสือ 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยวในร้านหนังสือ จึงซื้อมาลองอ่าน ซึ่งพบว่าเป็นหนังสือที่อ่านยาก อ่านไปได้เพียงครึ่งเล่มก็เกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 รัฐบา่ลธานินท์ กรัยวิเชียร ประกาศจะปฏิรูปประเทศใช้เวลา 12 ปี หนังสือหลายเล่มกลายเป็นหนังสือต้องห้าม หลังเหตุการณ์นักศึกษา ปัญญาชน หนีตายกัน บางส่วนเข้าป่า ส่วนสุชาติหลบอยู่ในเมือง ในการเดินทางครั้งหนึ่งเขาเลือกจะพกหนังสือ 1 เล่มติดตัวและเพื่อเลี่ยงการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่เขาจึงเลือกหนังสือที่ยังอ่านไม่จบ ชื่อหนังสือไม่โยงการเมืองและเข้ากับสภาพจิตใจของเขาตอนนั้น นั่นคือ 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยวของมาเกซ และทำให้เขาสามารถอ่านเรื่องนี้จนจบ  

“ที่ผมชอบงานแนวนี้ เพราะสัจนิยมมหัศจรรย์สามารถตอบคำถามโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบสัจนิยมได้ โดยมีลักษณะผสมผสานความจริง ความเหนือจริง ตำนาน สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมค้นพบส่วนต่อขยายของวรรณกรรมเพื่อชีวิต” สุชาติกล่าวและว่าส่วนต่อขยายนี้น่าจะสำคัญกับงานเขียนชาวบ้านของไทย ซึ่งน่าตั้งคำถามว่าทำไมมันจึงไม่งอกงาม ทั้งที่เรื่องสั้นเรื่องแรกของไทยที่มีความเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์มากคือ ชายหาปลาทั้งสี่ (2417) และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย

“มันผสมกันลงตัว ด้วยการเล่าเรื่องที่ซับซ้อน พลังของ magical realism คือ ทำให้เราคิดต่อได้ มันเป็นปลายเปิด งานศิลปะต้องทำปลายเปิดไว้ ทำปลายปิดเมื่อไรมีปัญหา” สุชาติกล่าว

“ 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว มีความสร้างสรรค์ หลุดจากหล่มเพื่อชีวิตแบบเก่า ผมเคยเขียนบทนำไว้ว่า ถึงจะเรียกตัวเองว่าเพื่อชีวิต แต่หากเป็นเพื่อชีวิตในลักษณะเก่าๆ คุณก็จะ ‘น้ำเน่า’ ได้ เพื่อชีวิตก็น้ำเน่าได้” สุชาติกล่าวและว่า หลังจากนั้นเมื่อเขาได้มีโอกาสทำวารสารโลกหนังสือ และทำรางวัลช่อการะเกดก็ได้ค้นพบนักเขียนที่มีแนวการเขียนใหม่ๆ และสร้างสรรค์มากมายหลายคน  


ที่มา : TCIJ

ชูศักดิ์ กล่าวว่า งานเขียนแนวสัจนิยมหัศจรรย์นั้นไม่เหมือนตำนานพื้นบ้าน เพราะตำนานพื้นบ้านนั้นยังเล่าเรื่องแบบตำนาน ในขณะที่สัจนิยมมหัศจรรย์นั้นเป็นลูกผสม อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นผู้บุกเบิกให้งานแนวนี้เป็นที่รู้จัก โดยสุชาติเคยเขียนคำนำในหนังสือ 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยวที่ได้รับการแปลเป็นไทยครั้งแรกด้วย ซึ่งนับเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เรารู้ว่างานชิ้นนี้เข้ามาในบริบทสังคมไทยช่วงไหน และยังมีความสำคัญอีกในแง่ที่ทำให้เรามองงานแนวสัจนิยมมหัศจรรย์เชื่อมกับการเมืองมากเป็นพิเศษ สุชาติอ่านเรื่องนี้ในบริบทที่การเมืองไทยขัดแย้งหนัก และ 6 ตุลาก็เป็นจุดเปลี่ยนไม่เฉพาะด้านการเมืองแต่วรรณกรรมด้วย เพราะเป็นช่วงสุญญากาศของวรรณกรรมไทย หลังจากก่อนหน้านั้นเป็นช่วงที่วรรณกรรมแนวขวาจัดต่อสู้กับแนวซ้ายจัดอย่างเข้มข้น จุดนี้เป็นโอกาสให้มีการเปิดพื้นที่ให้แนวอื่นๆ ได้เกิดขึ้นในสังคมด้วย

ชูศักดิ๋กล่าวด้วยว่า นโยบาย 66/23 เป็นการโละทิ้งอุดมการณ์สังคมนิยม กระแสที่สุชาติสร้างไว้ทำให้งานเพื่อชีวิตถูกวิจารณ์ ตรวจสอบครั้งใหญ่ หลังจากนั้นเกิดวรรณกรรมหลากหลายแนว เช่น แนวสัญลักษณ์นิยม แนวอัตวิสัยนิม ธรรมชาตินิยม แนวกระแสสำนึก แนวทดลอง แนวอภิเรื่องเล่า

คำถามคือทำไมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ถึงติดตลาดมากกว่า ชูศักดิ์ตอบคำถามนี้ว่า ช่วงทศวรรษ 2520 นั้นวรรณกรรมเพื่อชีวิตตกต่ำลงมากประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวเกิดการะแสวัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น เดิมที่เคยดูถูกว่าชาวบ้านงมงาย ก็กลับนิยามสถานะความเชื่อชาวบ้านใหม่ว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำให้การเขียนแนวนี้ได้รับความนิยมไปด้วย

ในทางทฤษฎีมีปัญหาประเด็นหนึ่งที่สำคัญว่า ในละตินอเมริกายุคแรกๆ นั้น ความจริงที่เกิดขึ้นล้วนมีแต่เรื่องมหัศจรรย์หรือเรื่องไม่น่าเป็นไปได้ในสายตาตะวันตก  ดังนั้นมันจึงเป็น ความจริง ไม่ใช่ ความมหัศจรรย์ ในความคิดของชูศักดิ์ เห็นว่า ความจริงอันมหัศจรรย์นั้นไม่ได้มีเฉพาะในละตินอเมริกา แต่ที่ถูกนิยามให้เป็นสัจนิยมมหัศจรรย์นั้นเป็นเพราะวิธีการนำเสนอเรื่องมากกว่า อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าวิธีการนำเสนอแบบสัจนิยมหัศจรรย์ที่พยายามจำกัดความกันนั้นเป็นการตีกรอบและกลายเป็นสูตรมากเกินไป

“สิ่งที่ทำให้สัจนิยมมหัศจรรย์ไทยแตกต่างจากของละตินอเมริกา เพราะเรายึดถือ มุ่งเน้นมิติทางการเมือง และสารทางการเมืองมากไปหน่อย อันนี้เป็นจุดที่ทำให้แนว magical realism ของไทยมีกลิ่นที่แปลกไปจากของมาเกซ” ชูศักดิ์กล่าว

เขายังกล่าวถึงข้อสังเกตของเขาที่ว่าเหตุใดสัจนิยมมหัศจรรย์จึงแตกต่างจากตำนานพื้นบ้านด้วยว่า สัจนิยมมหัศจรรย์เอาอุปลักษณ์มาทำเป็นเรื่องจริง เป็นความหมายตามตัวอักษรและอธิบายมันทุกด้าน จึงไม่เหมือนกับตำนานพื้นบ้านไทย ที่ทำให้ความมหัศจรรย์กลายเป็นเพียงอุปลักษณ์ ทำให้ไม่เข้มข้น แหลมคมเท่าสิ่งที่มาเกซทำ


ที่มา: TCIJ

ยุกติ กล่าวว่า งานทางมานุษยวิทยาเองก็มีลักษณะเป็นงานเขียนเชิงสัจนิยมมหัศจรรย์ได้เช่นเดียวกัน เขายกตัวอย่างหนังสือ HMONG/MIAO in Asia ของนิโคลาส แท็ปป์ (Nicholas Tapp) ว่าผู้เขียนได้เก็บประวัติศาสตร์บอกเล่าของม้ง โดยตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของม้ง คือ ผู้นำกบฏคนหนึ่งในตอนต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งก่อกบฏจนฝรั่งเศสแทบจะปราบไม่ได้ ท้ายที่สุดไม่มีใครรู้ว่าเขาผู้นั้นโดนจับหรือโดนฆ่า แต่มีคำบอกเล่ากันว่า ผู้นำได้หนีการไล่ล่าจนถึงน้ำตก จากนั้นแยกเป็น 2 ตัว คนหนึ่งถูกฆ่า ส่วนอีกคนหนึ่งหายตัวไป 

ยุกติกล่าวด้วย งานเขียนทางมานุษยวิทยามีลักษณะ magical realism จากคำบอกเล่ามากมาย นักมานุษยวิทยาจัดการกับสัจนิยมมหัศจรรย์ที่พบเจอ 2 แบบคือ ทำความเข้าใจมันอย่างเบ็ดเสร็จ กับอีกแบบคือ คิดว่ามันเป็นเรื่องทางสังคม เพราะต้องมีความเข้าใจตรงกันในสังคมจึงจะเข้าใจความมหัศจรรย์นั้นร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังมีคำถามอีกว่า การผลิตซ้ำงานเขียนในยุคก่อนสมัยใหม่ (premodernism) ซึ่งเต็มไปด้วยลักษณะของสัจนิยมมหัศจรรย์นั้นเป็น modernism อย่างหนึ่งหรือไม่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles