ผู้บริโภคร้องเรียนทวงเงินประกันค่าใช้โทรศัพท์จากบริษัทมือถือ แต่กลับโยนภาระให้ฟ้องร้องเอาเอง ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผย กสทช. เดินเรื่องช้าทำผู้บริโภคเอือม
6 พ.ค. 2557 - กรณีเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการโทรคมนาคม เกิดขึ้นเนื่องจากนายวัฒน์ (นามสมมติ) ได้ทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์มือถือ หมายเลข 907-XXXX กับบริษัทผู้ให้บริการรายหนึ่งตั้งแต่ปี 2538 โดยได้ชำระเงินประกันการใช้โทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวจำนวน 3,000 บาท และค่าขอใช้เลขหมายอีก 1,000 บาท ต่อมานายวัฒน์ทำโทรศัพท์มือถือหาย กระทั่งภายหลังมีพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งมีบทบัญญัติมาตรา 58 ที่ห้ามเรียกเก็บเงินประกันหรือเงินอื่นที่มีลักษณะเป็นการเรียกเก็บล่วงหน้า นายวัฒน์จึงได้ติดต่อกับบริษัทเพื่อขอเงินประกันคืน แต่ทางบริษัทปฏิเสธ โดยอ้างว่าได้คืนเงินให้กับเจ้าของหมายเลข ณ เวลานั้นแล้ว นายวัฒน์จึงไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้เพื่อเป็นหลักฐาน และดำเนินการร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 เพื่อขอให้บริษัทคืนเงินประกันการใช้โทรศัพท์มือถือ เงินค่าขอใช้เลขหมาย พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงาน กสทช. พบว่า หลังจากที่นายวัฒน์ทำโทรศัพท์มือถือหาย มีการโอนลอยหมายเลขโทรศัพท์ไปยังผู้ใช้บริการรายใหม่ ซึ่งนายวัฒน์ไม่เคยรู้จักและไม่ใช่ผู้โอนสิทธิ์ แล้วเมื่อบริษัทมีนโยบายคืนเงินประกัน ก็ได้คืนให้กับผู้ใช้บริการรายใหม่ และปฏิเสธการคืนเงินแก่นายวัฒน์
ในการดำเนินการเรื่องร้องเรียน สำนักงาน กสทช. ได้นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมพิจารณา ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า บริษัทต้องคืนเงินประกันจำนวน 3,000 บาทให้กับผู้บริโภค พร้อมดอกเบี้ยจากการค้างชำระในอัตรา 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ส่วนเงินค่าขอใช้เลขหมายจำนวน 1,000 บาท บริษัทไม่ต้องคืน เพราะมิได้มีลักษณะเป็นเงินประกันหรือเงินอื่นที่มีลักษณะเป็นการเรียกเก็บล่วงหน้าตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่สำนักงาน กสทช. เสนอกรณีนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา กทค. กลับมีมติให้บริษัทคืนเฉพาะเงินประกัน ส่วนดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องไปเรียกร้องเอง เพราะเป็นเรื่องทางแพ่ง กทค. ไม่มีอำนาจวินิจฉัย มีเพียงนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กทค. เสียงข้างน้อยที่ยืนความเห็นเช่นเดียวกับคณะอนุกรรมการฯ และสำนักงาน โดยระบุว่า บริษัทต้องคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย เพราะเงินประกันดังกล่าวเป็นเสมือนค่าธรรมเนียมการใช้บริการโทรคมนาคม ดังนั้นไม่ว่าก่อนหรือหลังที่มีพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ก็ถือเป็นอำนาจของ กสทช. ที่ต้องกำกับดูแล เพียงแต่กรณีนี้ได้เก็บเงินของผู้บริโภคไปแล้ว ภายหลังมีกฎหมายห้าม บริษัทก็ต้องคืนเงิน ซึ่งเมื่อไม่สามารถคืนเงินได้ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ก็ต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกับเวลาที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์ผิดนัดชำระค่าบริการ
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า เรื่องนี้คล้ายกับการคิดค่าบริการพรีเพดที่บริษัทเก็บเงินล่วงหน้าไป 3,000 บาท ซึ่งบริษัทไม่มีสิทธิ์ยึดเงินของผู้ใช้บริการไป แล้วเมื่อบริษัทหยุดให้บริการ เมื่อคืนเงินให้กับผู้ใช้บริการในภายหลัง ก็ต้องจ่ายคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย เพราะแทนที่ผู้ใช้บริการจะสามารถนำเงิน 3,000 บาทไปใช้ประโยชน์ของตน แต่ก็ไม่ได้ใช้ ในขณะที่ผู้ใช้บริการรายอื่นๆ ได้เงินคืนกันไปแล้ว ดอกเบี้ยจึงไม่ใช่ค่าเสียหายซึ่งอยู่นอกอำนาจ กทค.
“กรณีนี้ สมมติผู้บริโภคเรียกค่าเสียหาย 3 ล้านบาท อย่างนั้นถึงจะเข้าลักษณะว่าเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเอง ไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช. ที่ต้องวินิจฉัย แต่ดอกเบี้ยเป็นส่วนของสิทธิที่เสียหายไปจากการจ่ายล่าช้า เวลาผู้บริโภคจ่ายค่าบริการล่าช้า กสทช. ยังรับรองสิทธิของบริษัทในการคิดดอกเบี้ยเลย นี่เป็นกรณีในทางกลับกัน จึงควรยืนหลักเดียวกัน
“อย่างไรก็ตามมติของ กทค. ถือเป็นที่สิ้นสุดของกระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของ กสทช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้พยายามทำหน้าที่แล้ว ก็คงไม่โต้แย้ง แต่ในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านผู้บริโภค ดิฉันไม่เห็นด้วยกับมติ กทค. ซึ่งหากผู้บริโภคไม่พอใจในมติ ก็สามารถฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครองได้” น.ส.สารีแสดงความเห็น
นอกจากนี้ น.ส.ยังตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ ผู้บริโภคร้องเรียนกับสำนักงาน กสทช. ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2555 แต่กว่าที่สำนักงานจะเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ก็คือเดือนสิงหาคม ปี 2556 และใช้ระยะเวลาอีกกว่า 8 เดือนถึงมีการพิจารณาในที่ประชุมบอร์ด กทค. ซึ่งถือว่าล่าช้ามาก ดังนั้น กสทช. จึงควรปรับปรุงการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ซึ่งไม่ควรล่าช้ามาก ถ้าหากล่าช้าก็ควรมีช่องทางพิเศษในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือมีการนัดประชุมพิเศษ รวมทั้ง กทค. ควรให้หลักกับสำนักงานเพื่อลดขั้นตอนในการแก้ไขเรื่องร้องเรียน เช่นเรื่องร้องเรียนที่มีลักษณะแบบเดียวกัน ก็ให้สำนักงานแก้ไขได้เลย ไม่จำเป็นต้องเสนอ กทค. ตัดสินทุกกรณี เพราะถ้าแก้ปัญหาเป็นรายๆ ไป ก็จะล่าช้าและแก้ปัญหากันไม่จบ
“แม้การร้องเรียนจะฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ส่วนใหญ่ความเสียหายมีมูลค่าไม่มากนัก หรือไม่กี่ร้อยบาท เมื่อการแก้ไขเรื่องร้องเรียนมีความล่าช้า ทำให้ผู้บริโภคไม่อยากร้องเรียน หลายคนอาจมองว่าเป็นความเสียหายคนละไม่มาก แต่เมื่อรวมกันก็เป็นจำนวนมหาศาล” นางสาวสารีกล่าวในที่สุด