ตัวแทนแรงงานเสนอ 12 ข้อเรียกร้องวันแรงงานสากล
กระทรวงแรงงานร่วมกับสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย โดยสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน ทำบุญถวายภัตตาหารเช้า พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ที่ลานพระราชวังดุสิต
วันแรงงานปีนี้ กระทรวงแรงงานร่วมกับสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย โดยสภาองค์การลูกจ้าง สภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน นำโดย นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการและตัวแทนสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ร่วมทำบุญถวายภัตตาหารเช้า พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ที่ลานพระราชวังดุสิต หลังเสร็จสิ้นพิธีก่อนการเคลื่อนขบวนเทิดพระเกียรติ 87 พรรษา โดยใช้ถนนศรีอยุธยา ผ่านหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ไปเลี้ยวขวาที่แยก พล.1 เข้าถนนราชสีมา ผ่านแยกวังแดง แยกประชาเกษม เข้าสู่ถนนประชาธิปไตย ผ่านแยกวิสุทธิกษัตริย์ แยกสะพานวันชาติ เข้าถนนดินสอ อ้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อด้วยถนนราชดำเนิน เพื่อเข้าสู่ปะรำพิธีท้องสนามหลวง เพื่อวางพานพุ่มหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โดยนายทวี ดียิ่ง ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2557 กล่าวปราศรัยเสนอข้อเรียกร้องวันแรงงานจำนวน 12 ข้อ เช่น ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 อย่างเร่งด่วน ให้รัฐบาลเร่งนำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของผู้ใช้แรงงาน เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว และให้รัฐบาลตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงลูกจ้างที่สถานประกอบการปิดกิจการ เพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงาน เป็นต้น ก่อนยื่นให้ปลัดกระทรวงแรงงาน นอกจากนี้มีกลุ่มแรงงานหลายกลุ่ม รวมตัวหน้ารัฐสภา ประกาศข้อเสนอวันกรรมกรสากลไปยังรัฐบาล
ด้านนายจีรศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องของแรงงาน กระทรวงรับจะไปเสนอรัฐบาลใหม่ ส่วนบางเรื่องที่ต้องแก้ข้อกฎหมายก็จะดำเนินการทันที ขณะที่การคืนสภาพให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ผู้ประกันตนที่หลุดจากระบบไปแล้วนั้นเห็นด้วย แต่ต้องออกเป็น พ.ร.บ. ซึ่งเป็นอำนาจสภาผู้แทนราษฎร
(ไทยรัฐ, 1-5-2557)
เสนอรัฐตั้งกองทุนช่วยแรงงานสร้างขวัญกำลังใจ
นางฝังใจ ฉิมกูล รองประธานสหภาพแรงงานจ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า หลังมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางต้องปรับลดการจ้างแรงงาน เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับการจ้างงาน ทำให้เกิดปัญหากระทบทั้งนายจ้างและแรงงาน จึงขอให้รัฐบาลได้ทบทวนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท พร้อมจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างในช่วงเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว เพราะผู้ประกอบการบางรายประสบปัญหาไม่มีเงินจ่ายชดเชยให้กับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง จึงเกิดการฟ้องร้องระหว่างแรงงานกับนายจ้าง ทำให้แรงงานต้องได้รับความเดือดร้อนประสบปัญหาขาดรายได้
ขณะที่นางสุรัส อนุนิวัฒน์ หนึ่งในสมาชิกสหภาพแรงงาน กล่าวว่า วันแรงงานปีนี้อยากให้รัฐบาลเงินสมทบประกันสังคมที่รับผิดชอบจ่ายร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล โดยการปรับลดการจ่ายเบี้ยประกันให้กับแรงงานให้ถูกลง เพราะที่ผ่านมาแรงงานต้องจ่ายเงินสมทบจำนวนที่สูงเกินควร ทำให้แรงงานบางรายที่มีเงินเดือนน้อยแต่รับภาระทางครอบครัวสูง ทำให้เกิดผลกระทบตามมา
ด้านนายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ พร้อมริ้วขบวนพาเหรดของกลุ่มนายจ้าง ผู้ประกอบการ และผู้ใช้แรงงานเดินเข้าสู่สนามกีฬาติณสูลานนท์ อำเภอเมือง เพื่อร่วมกิจกรรมแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ในโอกาสนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาแนะผู้ใช้แรงงานพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและความรู้ความสามารถให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 ซึ่งทุกประเทศสมาชิกจะเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานกันอย่างเสรีมากขึ้น ทำให้แรงงานมีโอกาสในการทำงานเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเน้นย้ำผู้ประกอบการดูแลความเป็นอยู่สิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ ให้ลูกจ้างตามความเหมาะสม โดยเฉพาะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนด
ส่วน จ.สตูล นายประยูร รัตน์เสนีย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด และนางเรณู สังข์ทองจีน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด เปิดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาสมานฉันท์แก่ผู้ใช้แรงงานร่วม 300 คน ที่สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดี ในระบบไตรภาคี รวมทั้งเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
(สำนักข่าวไทย, 1-5-2557)
สธ.พบแรงงานเกือบ 4 ล้านคนป่วยเรื้อรัง
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีในมาตรการดูแลสุขภาพผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ ที่สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ ให้มีสุขภาพดี สามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ เพื่อเป็นที่พึ่งพิงของคนในครอบครัว ทั้งเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 48 คนต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 2553 เป็น 60 คนต่อวัยแรงงาน 100 คนในอีก 15 ปีข้างหน้า และแนวโน้มประชากรสูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากประชากรวัยแรงงานเจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพไม่สามารถทำงานได้ จะเกิดผลกระทบต่อครอบครัว ขาดเสาหลักหารายได้ลี้ยงดู ตกอยู่ในสถานะรอรับการสงเคราะห์จากสังคม เป็นปัญหาระยะยาวของประเทศ
ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2557 ไทยมีประชากรที่มีงานทำประมาณ 38 ล้านคน โดยอยู่ในภาคเกษตรกรรม 13 ล้านคน ที่เหลือเกือบ 25 ล้านคน อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และอื่นๆ เช่นการผลิตต่างๆ การก่อสร้าง การขาย การขนส่ง เป็นต้น โดยมีสถานประกอบการทั่วประเทศกว่า 2 ล้านแห่ง ผลสำรวจภาวะสุขภาพของแรงงานในภาคเกษตรกรรมในปี 2554-2556 พบปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในเลือดประมาณร้อยละ 30 ส่วนผู้ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลล่าสุดในปี 2554 พบกว่าร้อยละ 10 ของแรงงานทั้งหมด หรือเกือบ 4 ล้านคน ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง มากที่สุดคือโรคหัวใจและหลอดเลือด รองลงมาคือเบาหวาน และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง นอกจากนี้ ยังพบว่าในปี 2555 มีผู้ได้รับอันตรายจากการทำงานถึงขั้นเสียชีวิต 717 ราย และพิการหรือสูญเสียอวัยวะบางส่วน 1,827 ราย จึงต้องเร่งให้การดูแล เน้นหนักที่การป้องกันควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคในสถานประกอบการ โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการแก้ไขและป้องกัน
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้จัดทำโครงการ วัยทำงานปลอดโรคปลอดภัย กายใจเป็นสุข โดยในภาคเกษตร ได้ขยายคลินิกดูแลสุขภาพเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะเร่งให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว ส่วนในภาคอุตสาหกรรม ได้พัฒนามาตรฐานสถานประกอบการและวิสาหกิจชุมชนซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของวัยแรงงาน ที่ต้องอยู่วันละ 8-9 ชั่วโมง ให้เป็นสถานที่ปลอดโรคปลอดภัย โดยในปี 2556 ดำเนินการแล้ว 228 แห่ง ส่วนในปี 2557 จะดำเนินการเพิ่มอีก 800 แห่งทั่วประเทศ และจะขยายเพิ่มอีกปีละ 10 แห่งต่อจังหวัด ประเด็นที่เน้นหนักประกอบด้วย ความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม สถานที่ทำงาน และการใช้อุปกรณ์ป้องกันขณะทำงาน รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย ลดความเครียด
(เนชั่นทันข่าว, 1-5-2557)
พ่อเมืองตากเปิดวันแรงงานแห่งชาติชายแดนแม่สอด แรงงานไทย-พม่า-กะเหรี่ยงร่วมงานคับคั่ง
(1 พ.ค.) นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิด “วันแรงงานแห่งชาติ” ประจำปี 2557 ที่สนามกีฬาเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เทศบาลนครแม่สอด โดยมีนายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนตัวแทนภาคเอกชนให้การต้อนรับ ท่ามกลางแรงงานไทย-พม่า และกะเหรี่ยง จากโรงงาน บริษัท ห้างร้านต่างๆ ที่มาร่วมงานจำนวนมาก
กิจกรรมวันแรงงานครั้งนี้มีการแสดงจากแรงงานทุกชนกลุ่ม ทุกเชื้อชาติภาษา การจัดนิทรรศการแรงงาน รวมทั้งการจัดตลาดนัดแรงงาน เพื่อให้คนที่สนใจที่จะทำงานมาสมัครงานได้ ตลอดจนการแข่งขันกีฬาทั้งฟุตบอล เซปักตะกร้อ วอลเลย์บอล ฯลฯ ตลอดทั้งวัน
ทั้งนี้ ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด ถือเป็นหัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญบนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor (EWEC) และเป็นเมืองเศรษฐกิจ-การค้า-การลงทุน ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่จำนวนมาก
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1-5-2557)
'ทีดีอาร์ไอ'ชี้ ศก.ชะลอตัว หวั่นเด็กจบใหม่ตกงาน 1.5 แสนคน
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย การพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัตราการว่างงานของประเทศไทย ณ สิ้นปี 2556 อยู่ประมาณ 0.8% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.6% โดยอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2556 หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยขยายตัวเพียง 2.9% ทำให้มีผู้ว่างงานประมาณ 3 แสนคน แต่หากเศรษฐกิจของไทยในปี 2557 ขยายตัวได้ต่ำกว่าในปี 2556 ตัวเลขการว่างงานก็จะเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ประเมินว่าจีดีพีในปี 2557 จะขยายตัวได้เพียง 2.5 - 2.7% มีความเป็นไปได้สูงที่อัตราการว่างงาน ของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.8% ในปี 2556 มาเป็นระดับ 1 - 1.2% ในปี 2557 หรือมีผู้ว่างงาน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 3 แสนคน เป็น 4.5 แสนคน ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ไม่เพิ่มขึ้น มีผลโดยตรงต่อการจ้างงานในตำแหน่งใหม่ที่จะลดลง ดังนั้น หากเศรษฐกิจในปี 2557 ไม่ขยายตัวได้มากกว่าปี 2556 ตำแหน่งงานใหม่ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเคยคาดการณ์ว่า จะมีเพิ่มขึ้นประมาณ 4 แสนตำแหน่งต่อปี จะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
"ดังนั้น สิ่งที่น่ากังวลก็คืออาจจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการจ้างงานใหม่โดยมีแนวโน้มว่าหากเศรษฐกิจขยายตัวได้น้อยอาจจะมีนักเรียน นักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่ประมาณ 1.5 แสนคนที่ว่างงาน ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาจบใหม่ระดับปริญญาตรีประมาณ 5 หมื่นคน และเป็นนักศึกษาวิชาชีพ หรือกลุ่มนักเรียนอาชีวะ ปวช. ปวส.ประมาณ 1 แสนคน"
สำหรับสถานการณ์ความต้องการแรงงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยนั้น ปรับตัวดีขึ้น โดยภาคเอกชนจำนวนมากระบุว่านักเรียน นักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่สามารถเข้ามาทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนและแรงงานที่ออกนอกระบบงาน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กหรือภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานในการผลิตสูง ซึ่งภาคอุตสาหกรรมบางสาขามีความต้องการแรงงาน ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยังขาดแคลนแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น บุคลากรเรื่องช่างยนต์
นอกจากนี้ มองว่า ใน 1-2 ปีนี้นักศึกษาจบใหม่ที่มีอัตราการทำงาน และเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นจำนวนมากเป็นคณะนิเทศศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดธุรกิจทีวีดิจิตอลหลายช่อง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีความต้องการบุคลากรที่มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้ ซึ่งสามารถถ่ายทอดความรู้ หรือจัดอบรมให้กับนักศึกษาใหม่ได้ เพื่อให้สามารถทำงานได้จริงเร็วที่สุด
(ไทยรัฐออนไลน์, 2-5-2557)
รง.มั่นใจไทยพ้นอันดับ 3 ถูกจับตาปัญหาค้ามนุษย์ภาคประมง
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนในฐานะผู้แทนกระทรวงแรงงาน รวมทั้งผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กต.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 3-9 พฤษภาคม 2557 เพื่อชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและความคืบหน้าการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในภาคประมงต่อหน่วยงานที่ดูแลด้านการค้ามนุษย์ของอเมริกา เช่น กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานดูแลและป้องกันการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศ รัฐสภา และสมาคมผู้ประกอบการภัตตาคารของอเมริกาซึ่งซื้ออาหารทะเลจากประเทศไทย หลังจากก่อนหน้านี้ไทยได้ส่งรายงานมาตรการป้องกันและความคืบหน้าแก้ปัญหาค้า มนุษย์ทั้งภาคประมงและการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับไปยังอเมริกาเพื่อพิจารณาให้ปลดประเทศไทยออกจากการเป็นประเทศ ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษด้านการค้ามนุษย์ซึ่งไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ 2.5 มาเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันและขณะนี้หลายฝ่ายกังวลว่าไทยจะถูกลดอันดับลงไปอยู่ที่ 3 ซึ่งจะทำให้ไทยถูกกีดกันในการส่งออกสินค้าและกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยอย่าง มาก
รองปลัด รง. กล่าวอีกว่า ก่อนที่จะเดินทางไปกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานต่างๆ ได้ประชุมร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมในการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมต่ออเมริกา โดยมี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมดังกล่าว ซึ่งนายพงศ์เทพได้กำชับให้ชี้แจงข้อมูลการป้องกันและแก้ปัญหาค้ามนุษย์ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน หากอเมริกามีข้อสงสัยสอบถาม หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมค่อยชี้แจงภายหลัง ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานจะชี้แจงถึงมาตรการป้องกันและความคืบหน้าการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ภาคประมง เช่น กระทรวงแรงงานได้ลงนามความร่วมมือกับสมาคมและผู้ประกอบการด้านอาหารทะเลขอความร่วมมือไม่จ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน ไม่ให้นำเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าไปในล้งกุ้ง ล้งปลา การจ้างงานแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากใช้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายก็ให้นำมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง
“การไปชี้แจงต่ออเมริกาในครั้งนี้กระทรวงแรงงาน กระทรวงต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามชี้แจงให้อเมริกาเข้าใจว่าไทย มีความนโยบาย แผนงาน และเดินหน้าแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคประมงอย่างจริงจัง เชื่อว่าไทยมีโอกาสที่จะไม่ถูกลดอันดับประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษด้าน การค้ามนุษย์ลงไปอยู่ที่อันดับ 3 เพราะช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องของไทยมีความร่วมมือกัน อย่างเข้มแข็งและพยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่” ม.ล.ปุณฑริก กล่าว
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5-5-2557)
ชี้เด็กอาชีวะเนื้อหอม! ตลาดแรงงานแห่ซื้อตัว
รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการร่วมเวทีเสวนากับผู้แทนสภาอุตสาหกรรม พบว่าแนวโน้มตลาดแรงงานมีความต้องการผู้ที่จบระดับปริญญาตรีประมาณ 10% ในขณะที่ต้องการผู้ที่จบสายอาชีวศึกษาถึง 50% ส่วนที่เหลือเป็นแรงงานที่ต่ำกว่ามัธยมศึกษา
ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันเด็กไทยยังมีค่านิยมเรียนปริญญาตรี ดังนั้นจากแนวโน้มความต้องการของตลาดแรงงานจะเห็นว่าโอกาสที่คนจบปริญญาตรีแล้วไม่มีงานทำจะสูงมาก ผู้ที่จบปริญญาตรีอาจต้องทำคือการมีธุรกิจส่วนตัว แต่จากข้อมูลทราบว่าคนที่ประกอบธุรกิจแล้วล้มเหลวมีมากถึง 70%
“จากกการสำรวจการมีงานทำระหว่างเด็กอาชีวะกับเด็กจบปริญญาตรี พบว่าเด็กปริญญาตรีมีอัตราการว่างงานสูงกกว่า จึงต้องผันตัวเองไปทำธุรกิจส่วนตัว แต่พบความล้มเหลวประมาณ 70% ดังนั้นคนที่จบปริญญาตรีถึงปริญญาเอกต้องกลับมาเรียนสายวิชาชีพโดยการเทียบโอนวิชาสามัญมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็พบแนวโน้มนี้บ้างแล้ว และยังพบด้วยว่าผู้ที่จบระดับปริญญาตรียอมใช้วุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในการสมัครงานอีกด้วย” รศ.ดร.จอมพงศ์กล่าว
ดังนั้น ในอนาคตคงต้องรับเทียบโอนคนที่จบปริญญาเพื่อให้มีคุณวุฒิทางวิชาชีพ โดยระบบทวิภาคี ซึ่งจะเป็นระบบการเรียนที่เหมาะสมที่สุด เพราะคนที่จบปริญญาจะมีคุณวุฒิทางวิชาการ แต่ภาคอุตสาหกรรมต้องการคนมีทักษะทางวิชาชีพ หากเรียนในระบบทวิภาคีก็จะได้เรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พัฒนาฐานสมรรถนะเพื่อแทรกเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน เมื่อผู้เรียนจบในสายวิชาชีพก็จะสามารถเทียบระดับกับคุณวุฒิวิชาชีพที่มีอยู่ได้
อย่างไรก็ตาม การปรับทิศทางการจัดการศึกษาสายอาชีพ ทางสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยจะเชิญผู้ที่จบระดับปริญญากลับมาเรียนในระบบทวิภาคีจะสามารถช่วยเพิ่มจำนวนแรงงานเพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาคนเรียนสายอาชีพจะไม่ค่อยตกงาน เพราะแม้ว่าจะไม่ได้ทำงานบริษัทก็สามารถประกอบอาชีพส่วนตัวได้ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเทียบโอนสายอาชีพสามารถติดต่อได้ที่ สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย หรือที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จะได้ประสานสถานศึกษาที่รับเทียบ
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 6-5-2557)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai