2 พ.ค.2557 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนาเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ในหัวข้อ ‘เสรีภาพ...บนความรับผิดชอบ-หยุดวาทกรรมความขัดแย้ง’ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิภพ พานิชภักดิ์ นักสื่อสารมวลชนอิสระ, สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ประจำประเทศไทย และไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักวิชาการกฎหมายคอมพิวเตอร์
ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักวิชาการด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์
ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักวิชาการด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า จากการสำรวจคดีความและงานวิจัยพบว่า ตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในปี 2550 จนถึงปัจจุบัน มีคดีความเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มากกว่า 10,000 คดี ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ อันดับหนึ่งเป็นคดีจากการโพสต์ข้อความที่เป็นเฮทสปีชผ่านเฟซบุค รองลงมาคือทวีตเตอร์ และอินสตาแกรม โดยกล่าวว่าแนวโน้มของเฮทสปีทในปัจจุบันค่อนข้างแย่ เนื่องจากเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่อยู่ในกรอบสิทธิเสรีภาพ แต่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น การใส่ความ การตัดต่อภาพ และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบัน ซึ่งสถิติของคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังปี 2549 เป็นต้นมา มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นของจำนวนคดีถึง 200 เปอร์เซ็นต์ โดยเกิดจากการใช้สื่อต่างๆ โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต
ไพบูลย์กล่าวว่า หลังการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ความรุนแรงของคดีเพิ่มมากขึ้น มีคดีที่ไม่เข้าเงื่อนไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญาปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเรียกรวบรวมพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการดำเนินคดีหรือแจ้งความได้ ก็จะมีการบิดเบือน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์โดยไม่ถูกต้อง เพื่อนำไปใช้กับฐานความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการปรับใช้กฎหมาย และแนวโน้มการฟ้องคดีเป็นการฟ้องร้องในคดีอาญามากขึ้น โดยเป็นคดีหมิ่นประมาทบวกกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ซึ่งส่งผลทำให้คดีคดีหมิ่นประมาทมีผลรุนแรงกว่าเดิม และเป็นคดีอาญาที่ยอมความไม่ได้
สำหรับการเพิ่มของเฮทสปีช ไพบูลย์กล่าวว่า เกิดจากความเชื่อที่ไม่ถูกต้องของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตว่า การใช้เฟซบุคหรือทวีตเตอร์ในชื่ออื่นจะทำให้ไม่สามารถติดตามตัวได้ ซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจสอบย้อนหลังการใช้เฟซบุคหรือทวีตเตอร์ได้ทั้งหมด โดยตาม IP address จากผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตและจากเฟซบุคในประเทศไทย
ไพบูลย์เสนอวิธีจัดการเฮทสปีชว่า ให้กลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียรวมตัวกันและทำหน้าที่กำกับดูแลกันเอง โดยยกตัวอย่างกรณีออสเตรเลีย และอังกฤษ ที่มีกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้อินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียเป็นผู้ควบคุมเฮทสปีช ซึ่งช่วยลดจำนวนเฮทสปีชลงได้มากกว่าวิธีการบังคับใช้กฎหมายอย่างสุดโต่งที่ใช้อยู่ในประเทศไทย
พิภพ พานิชภักดิ์ นักสื่อสารมวลชนอิสระ
พิภพ พานิชภักดิ์ นักสื่อสารมวลชนอิสระ มองประเด็นเรื่องเฮทสปีชว่า ไม่ได้มีเฉพาะในมิติทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีในประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น ผู้ต้องสงสัย เพศสภาพ ชาติพันธุ์ และการเลือกใช้ภาพในสื่อ การเลือกมุมภาพ การร้อยเรื่องราวก็สามารถสร้างความเกลียดชังได้ ถึงแม้จะมีการใช้ภาษาที่สุภาพก็ตาม
พิภพ กล่าวว่าควรให้สิทธิในการแสดงออกถึงความไม่พอใจ แต่ต้องไม่บิดเบือน สร้างความเกลียดชังโดยปราศจากฐานของข้อเท็จจริง และเห็นว่าทักษะการแยกแยะเฮทสปีชเป็นเรื่องสำคัญ ระหว่างการด่ากับคำพูดที่สร้างความเกลียดชังให้เกิดทัศนคติในเชิงเหมารวม และมองว่าสังคมควรให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตราบที่ยังไม่เป็นการละเมิดกฎหมาย
“อยากฝากว่าบางครั้งความเกลียดชังไม่ได้เกิดขึ้นจากภาษาที่เป็นภาษาพูดแต่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากภาษาภาพ ภาษาของการตัดต่อ ภาษาของการร้อยเรียง ไม่ใช่ตัดต่อเพื่อความขบขันหรือตัดต่อเพื่อบิดเบือน บางทีเราตัดเพื่อให้คนบางคนดูเป็นเทพ ให้บางคนดูเป็นมาร ก็เป็นการคัดสรรซึ่งเป็นทักษะหนึ่งในวิทยุโทรทัศน์” พิภพกล่าว
สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา ฮิวแมนไรท์ วอตช์ ประจำประเทศไทย
สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา ฮิวแมนไรท์ วอตช์ ประจำประเทศไทย อธิบายว่า เฮทสปีชมีลักษณะใหญ่ๆ คือ การแบ่งเขาแบ่งเราและการตอกย้ำสิ่งที่ต้องรักหรือยกย่องบูชากับสิ่งที่ต้องเกลียดชัง และการผลิตซ้ำเป็นวาทกรรมในรูปแบบต่างๆ ทั้งการพูดปากต่อปาก การกระทำเชิงสัญลักษณ์ การกล่อมเกลาภายในครอบครัวและภายในโรงเรียนทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยที่สื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกล่อมเกลาให้เกิดความรักบูชาและการเกลียดชัง จนฝ่ายที่ถูกเกลียดสูญเสียความเป็นมนุษย์ไป
สุณัยกล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้คือ สภาพการณ์ของสังคมไทยได้ก้าวไปไกลกว่าสมัยที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ที่นักศึกษาถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่คนไทย เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบันคนถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไปให้เป็นควายสารพัดสี เป็นแมลงสาบ และถูกลดทอนความเป็นมนุษย์จนถึงขั้นไม่ใช่คน แต่เป็นขยะ
“สโลแกนที่เสริมรับกับขยะ ใช้คำว่าการขจัดให้สิ้นไปจากแผ่นดิน ซึ่งคำภาษาอังกฤษในองค์กรสิทธิมนุษยชนใช้คำว่า ‘exterminate‘ ซึ่งคำนี้ใช้กับการกระทำของนาซีต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนยิว หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยเขมรแดงในขณะนั้น ซึ่งทั้งสองกรณีมีคนตายเป็นจำนวนล้าน นี่คือความสุดโต่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในสภาพสังคมไทย” สุณัยกล่าว
สุณัย กล่าวว่า การแสดงออกในทางเชิดชูสถาบันเป็นสิทธิที่จะทำได้ แต่ถ้ามองคนคิดต่างว่าไม่ใช่คนและเป็นขยะที่ต้องกำจัด ก็เป็นการล้ำเส้นไปมาก ซึ่งสื่อสามารถกดกริ่งเตือน ด้วยการย้อนประสบการณ์ของไทยกรณี 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35 และเทียบเคียงกับประสบการณ์ของต่างประเทศ เช่น กัมพูชา หรือรวันดา
“สื่อสามารถนำตัวอย่างเหล่านี้ มาเป็นข้อพิจารณาประกอบการกดกริ่งเตือนสังคมไทยว่า เราเริ่มตกหลุม และจะตกไปมากกว่านี้หรือไม่ หรือจะช่วยกันโยนเชือกให้กับสังคมที่เริ่มตกหลุมสาวตัวเองขึ้นมา เพราะตอนนี้ฟืนถูกโยนลงไปหลายแท่งมากแล้ว น้ำมันก็เริ่มราดกันแล้ว ถ้าเกิดมีไม้ขีดโยนลงมา ผมกลัวว่าระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น จะเป็นระดับความรุนแรงที่เรามองเหตุการณ์ยุคตุลากลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย” สุณัยกล่าว
สำหรับประเด็นเชื้อชาติ ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอตช์ กล่าวว่าสังคมไทยยังมีความหวาดระแวงต่อชาวโรฮิงยา และคนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่มีความเข้าใจมากนักเกี่ยวกับมุสลิม โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้
ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พิจิตรา สึคาโมโต้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจากการทำวิจัยเรื่องเฮทสปีชในสื่อสิ่งพิมพ์ พบเฮทสปีชมากที่สุดในประเด็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ในการวัดระดับความรุนแรงพบว่า ความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองมีความระดับรุนแรงสูงสุด แต่ยังไม่ถึงระดับการฆ่าหรือเป็นความรุนแรงทางร่างกาย ที่ปรากฏชัดเจนคือการพยายามไม่ให้อยู่ร่วมกันในสังคม คนที่ต่างกันไม่ควรมีพื้นที่อยู่ใกล้หรืออยู่ร่วมในพื้นที่เดียวกัน
พิจิตรา กล่าวว่า ในประเทศไทย เฮทสปีชจะทำงานได้ดีหากมีการอุปโลกน์คนที่รักให้อยู่ทางฝั่งของตนเอง โดยที่อีกฝั่งหนึ่งก็มีคนที่รักหรือเชิดชูในฐานะตัวบุคคลด้วย และเมื่อคนที่รักถูกดูหมิ่นเหยียดหยามก็จะเชื่อมโยงมายังกลุ่มที่ตนเองสังกัดอยู่ และเฮทสปีชจะทำงานได้ดี
“ในบางสังคมอย่างสหรัฐอเมริกา เชื่อในเสรีภาพในการสื่อสาร และเสรีภาพในการแสดงออก บัญญัติไว้เป็นข้อแรกในรัฐธรรมนูญของอเมริกา แนวคิดของอเมริกาเป็นลักษณะที่เป็นตลาดทางความคิด กลุ่มคู คลักซ์ แคลนในอเมริกาเกิดขึ้นได้ แต่ไม่มีทางเกิดในยุโรป เพราะยุโรปผ่านประสบการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซีมาแล้ว”
พิจิตรากล่าวถึงกรณีสหรัฐอเมริกาว่า อาจจะมีการแสดงออกซึ่งเฮทสปีชได้ว่าไม่ชอบกลุ่มคนหรือเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง แต่ย่อยลงไปในระดับกฎระเบียบขององค์กรหรือในมหาวิทยาลัย กลับมีข้อกำหนดในการป้องกันเฮทสปีชอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งงานวิจัยในอเมริกาพบว่ามีการออกกฎเกณฑ์จำนวนมากห้ามไม่ให้มีการเหยียดเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ในสื่อหนังสือพิมพ์ หรือการแสดงออกของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย
พิจิตรา มองว่า หากจะนำเฮทสปีชมาใช้ในเมืองไทย จำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างเฮทสปีชกับเสรีภาพในการสื่อสาร โดยต้องไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจกำกับดูแลสื่อ ซึ่งจะเป็นดาบสองคมในการทำร้ายเสรีภาพของสื่อ
สำหรับข้อเสนอในเรื่องเฮทสปีชที่ทำได้ทันทีและไม่กระทบต่อกลุ่มใด พิจิตรากล่าวว่าสื่อมวลชนควรนำเสนอข่าว สกู๊ป หรือรายงานต่างๆ ให้เห็นความเป็นมนุษย์ของคนที่กำลังตกเป็นเป้าของเฮทสปีช โดยจะต้องผลิตซ้ำเพื่อตอกย้ำ และต่อสู้กับเฮทสปีช นอกจากนี้ ด้วยความที่สังคมไทยประกอบสร้างข่าวสารข้อมูลต่างๆ บนฐานของอารมณ์มากกว่าเหตุผล สื่อมวลชนจึงต้องดำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณและความเที่ยงตรง เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและเป็นแหล่งอ้างอิงกับเฮซสปีชที่เกิดขึ้น
“ถ้าสังคมไหนเป็นสังคมที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล สังคมนั้นไม่มีทางเป็นประชาธิปไตย ไม่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยได้ ถ้าสังคมไหนเป็นสังคมที่มีเฮทสปีชเกิดขึ้น แล้วพยายามอ้างว่าอยู่บนโลกที่มีเสรีภาพ อยู่บนโลกที่เป็นประชาธิปไตยจะแสดงออกอะไรก็ได้ แต่ต้องถามว่าสารหรือเนื้อหาที่แสดงออกทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่หรือเปล่า ถ้าเป็นเนื้อหาที่ทำลายศักดิ์ความเป็นมนุษย์ แสดงว่าคุณกำลังใช้เสรีภาพตามอุดมการณ์ประชาธิปไตยเพื่อทำลายประชาธิปไตย ซึ่งคุณลดทอนความเป็นมนุษย์” พิจิตรากล่าว