ที่ประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญนัดแรก ได้ข้อสรุปตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติ “สุภา ปิยะจิตติ” เป็นกรรมการ ป.ป.ช.ให้เสร็จทันวันที่ 9 พ.ค. ไม่พิจารณาถอดถอน “นิคม ไวยรัชพานิช” เลือก 'ปธ.-รองปธ.'พร้อมตั้ง กมธ.22 คณะ 9 พ.ค.นี้
2 พ.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าเมื่อเวลา 13.45 น. การประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญนัดแรก ได้ข้อสรุปในการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ และการตั้งกรรมาธิการ เพื่อตรวจสอบประวัติ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช. โดยใช้สัดส่วน ส.ว.สรรหา และเลือกตั้ง อย่างละครึ่ง ชุดละ 24 คน ซึ่งคณะกรรมาธิการชุดตรวจสอบประวัติ กรรมการ ป.ป.ช.จะมีระยะเวลาเพียง 7 วัน นับตั้งแต่วันนี้ (2 พ.ค.) เนื่องจากกรอบการสรรหา กรรมการ ป.ป.ช. แทนนายใจเด็ด พรไชยา ที่เกษียนอายุราชการ จะครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ ส่วนคณะกรรมาธิการพิจารณา เสนอรายชื่อตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ จะมีเวลาทำงาน 30 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณา 2 วาระสำคัญเสร็จสิ้น สมาชิกได้หารือวาระการพิจารณาอื่นๆ โดยนายประสงค์ นุรักษ์ ส.ว.สรรหา ได้สอบถามที่ประชุมถึงการพิจารณาถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ นายนิคม ไวยรัชพานิช รวมถึงตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณาเพียง 2 วาระ ฝ่ายนิติบัญญัติถูกฝ่ายบริหารครอบงำการทำงาน หรือไม่ ทำให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา ชี้แจงว่า ไม่สามารถพิจารณาถอดถอนได้ เพราะพระราชกฤษฎีกาไม่ได้กำหนดไว้ อีกทั้งยังมีความเห็นเรื่องข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน
เลือก 'ปธ.-รองปธ.'พร้อมตั้ง กมธ.22 คณะ 9 พ.ค.นี้
ด้านแนวหน้ารายงานว่าในช่วงเย็น สมาชิกในที่ประชุมยังคงสลับกันลุกขึ้นอภิปรายในประเด็นที่ว่าจะสามารถพิจารณาวาระอื่น เช่น การเลือกประธาน รองประธานวุฒิสภา และการตั้งกรรมาธิการวุฒิสภา 22 คณะ ซึ่งนอกเหนือจากที่ตราไว้พระราชกฤษฎีกา ได้หรือไม่
โดย นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า การประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ เป็นสิ่งที่รัฐบาลได้กำหนดรายละเอียดที่ชัดเจน และเป็นเรื่องเฉพาะ ดังนั้น การเสนอญัตติเพื่อพิจารณาตั้งกรรมาธิการฯ ไม่สามารถทำได้ ตนจึงขอให้พิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้มีผู้นำเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นการฟ้องร้อง ว่าวุฒิสภากระทำการโดยมิชอบต่อพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2557 หรือไม่
ทำให้ ส.ว.อีกส่วน ได้ลุกขึ้นอภิปรายถึงข้อกฎหมาย อาทิ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา ที่อภิปรายว่า การทำหน้าที่ของวุฒิสภาไม่ได้ทำให้แผ่นดินหรือราชการเสียหาย การกำหนดรายละเอียดใน พ.ร.ฎ.เรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาโดยรัฐบาลนั้น ตนมองว่ารัฐบาลเป็นเพียงทางผ่านให้วุฒิสภาได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์เท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ปิดกั้นการทำงานของวุฒิสภา หากมีการตีความกฎหมายว่าวุฒิสภาไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เกินกว่าเรื่องที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.เรียประชุมสมัยวิสามัญ อาจมีผู้ตีความว่าการกล่าวคำปฏิญาณตนต่อ ส.ว.ใหม่ ไม่สามารถทำได้เช่นกัน
เช่นเดียวกับ นายคำนูน สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ที่เห็นว่า การเลือกประธานวุฒิสภา ถือเป็นความจำเป็นของการประชุมวุฒิสภา หากไม่มีอาจจะทำให้การทำงานสะดุด รวมถึงมีข้อจำกัดและเกิดช่องว่างตามรัฐธรรมนูญได้ อาทิ กรณีที่ประธานวุฒิสภาต้องทำหน้าที่เป็นรองประธานรัฐสภา จากนั้นที่ประชุมยังคงใช้เวลาหารือนานกว่า 3 ชั่วโมง
จนกระทั่งนายมนตรี ด่านไพบูลย์ ส.ว.ลำพูน ได้เสนอญัติต่อที่ประชุมให้มีการเลือกประธาน รองประธานวุฒิสภา และการตั้งกรรมาธิการวุฒิสภา 22 คณะ โดยแยกทั้ง 2 ประเด็นเป็น 2 ญัตติ
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา แสดงความเห็นคัดค้าน โดยเห็นว่า ควรที่จะยึดบัญทัดฐานเดียวกันจึงควรรวมทั้ง 2 ประเด็นเป็นญัตติเดียว ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา ลุกขึ้นเสนอญัตติรวมทั้ง 2 เรื่องเป็นญัตติเดียว
ทำให้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา รักษาการประธานวุฒิสภา ต้องวินิจฉัยให้ที่ประชุมลงมติว่า จะมีการแยกหรือรวมญัตติดังกล่าว ท้ายที่สุดสมาชิกในห้องประชุม จำนวน 129 คน ลงมติเห็นด้วยกับญัตติของนายวันชัยที่ให้มีการรวมทั้ง 2 ประเด็นเป็นญัตติเดียว ด้วยคะแนน 65 ต่อ 23 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
จากนั้น นายสุรชัย จึงแจ้งต่อที่ประชุมว่า จะนำญัตติดังกล่าวไปบรรจุในวาระการประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ เวลา 13.00 น.จากนั้นจึงสั่งปิดประชุมในเวลา 17.30 น.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai