เสวนาว่าด้วยความเป็นมืออาชีพกับจรรยาบรรณ สมเกียรติ อ่อนวิมล ระบุต้องเคารพความจริง ตรวจสอบความจริงและภักดีต่อประชาชน ขณะใบตองแห้งชี้วิกฤตของสื่อคืออยากเป็นผู้ชี้นำสังคมขณะที่สังคมไม่ต้องการพหูสูตมาชี้ถูกผิดแล้ว
วงเสวนาหัวข้อ “สื่อมืออาชีพกับจรรยาบรรณ....เรื่องที่สังคมอยากรู้” ซึ่งมีเดียอินไซด์ เอาท์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2556 เชิญสื่อมืออาชีพระดับอาวุโสจากหลายสำนักมาร่วมกันแสดงความเห็นต่อประเด็น สื่อมืออาชีพกับจรรยาบรรณ...เรื่องที่สังคมอยากรู้ โดยวิทยากรประกอบด้วย สมเกียรติ อ่อนวิมล จากสปริงนิวส์, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ เครือมติชน, อธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง จากวอยซ์ทีวี และ จักร์กฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ ดำเนินรายการโดย จอม เพชรประดับ
จอมเปิดประเด็นเรื่องความรู้สึกขัดแย้งระหว่างความเป็นมืออาชีพ กับจรรบาบรรณว่าเป็นสิ่งเดียวกันหรือเปล่า จากประสบการณ์ของเขาที่ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองโดยถูกอ้างเหตุผลเรื่องจรรยาบรรณ พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นสื่อกับจรรยาบรรณนั้นดูจะเป็นเรื่องน่าเบื่อและเป็นเรื่องอุดมคติ และน่าตั้งคำถามด้วยว่า สื่อทุกวันนี้กำลังเป็นมืออาชีพแบบไทยๆ อยู่หรือไม่
สมเกียรติ อ่อนวิมล: หน้าที่สื่อ จงรักภักดีต่อความจริง ตรวจสอบความจริง และภักดีต่อพลเมือง
สมเกียรติ อ่อนวิมล ตอบประเด็นความเป็นสื่อมืออาชีพ และจรรยาบรรณว่าเป็นสองเรื่องที่ไม่ใช่ประเด็นเดียวกัน
“ความเป็นมมืออาชีพ คือขีดความสามารรถ ทักษะในการทำงานตามความต้องการของอาชีพนั้นๆ เมื่อเราเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ก็ต้องรู้ว่าจะเขียนข่าว ผลิตข่าว กระบวนการออกแบบให้เป็นมืออาชีพ หรือถ้าทำโทรทัศน์ก็ต้องรู้เรื่องกล้อง มุมกล้อง แสง การลงเสียง การออกเสียง การมิกซ์ภาพเสียง ลำดับเรื่องให้สั้นยาวตามความเหมาะสมที่จะเอามาใช้ในข่าว คือทำอะไรให้ดีที่สุดตามที่เงื่อนไขของการผลิตงานนั้นๆ เขาทำ ไม่ใช่ทำอิเหละเขระขระ แต่ส่วนหนึ่งของการเป็นมืออาชีพ ก็มีกรอบการดำเนินชีวิต คือจรรยาบรรณหรือจริยธรรมวิชาชีพ
สำหรับจรรยาบรรณสื่อนั้น เขาให้ความสำคัญกับหลักใหญ่ 3 ประการคือ สื่อมวลชนจะต้องจงรักภักดีต่อความจริง สองต้องตรวจสอบความจริง สามต้องภักดีต่อพลเมือง นอกนั้นคือต้องตรวจสอบผู้มีอำนาจในสังคม มีอิสระในการคิด และประชาชนมีส่วนร่วม
เขาบอกว่าสิ่งหนึ่งที่เขาทำและประสบการต่อต้านมากในการทำงานที่ผ่านมาคือ การพยายามสลายโต๊ะข่าว เพื่อให้ผู้สื่อข่าวทำข่าวได้หลากหลาย ไม่ยึดติดกับประเด็นเฉพาะเรื่องของตัวเอง และสลายหัวหน้าโต๊ะข่าว เพื่อไม่ให้เกิดลำดับชั้นทางความคิด
สมเกียรติ อ่อนวิมลกล่าวถึงข้อสังเกตเรื่องความคลุมเครือระหว่างการโฆษณาประชาสัมพันธ์กับข่าว เขากล่าวว่าจะพยายามไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับสริงนิวส์ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำได้นานแค่ไหน แต่เขาจะทำให้ชัดเจนว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์
สำหรับประเด็นสื่อเลือกข้างที่เลือกแล้วบอกชัดเจนนั้นเขาเห็นว่เป็นเรื่องดี แต่ถ้าเลือกข้างแล้วไม่บอกเป็นประเด็นของความรู้ทันทันสื่อ (Media Literacy) แต่เขาเห็นว่าถ้าสื่อเลือกข้างควรจะบอกเลยว่าเลือกข้าง ตัวเขาเองอยากทำสปอต 1 นาทีเปิดเผยว่าใครถือหุ้นสปริงนิวส์ เพื่อให้คนอ่านได้พิจารณาว่าเป็นฝ่ายไหน
อย่างไรก็ตาม แม้สื่อจะเผชิญกับวิกฤตความเชื่อมั่นและกำลังถูกท้าทายในด้านการปรับตัวให้อยู่รอดทางธุรกิจ และถูกตั้งคำถามด้านความเป็นมมืออาชีพและจรรยาบรรณ แต่เขาเชื่อว่าอาชีพสื่อจะไม่หายไปไหน
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์: สื่อหมกมุ่นกับความดี แต่คำถามคือสื่อเคารพความจริง และพลเมืองแค่ไหน
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ จากเครือมติชน แสดงความเห็นต่อเนื่องจาก สมเกียรติ อ่อนวิมล โดยเธอเห็นว่าสื่อต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แต่ต้องประกอบด้วยจริยธรรมมืออาชีพ ไม่ใช่นึกจะด่าก็ด่า ต้องรู้ว่ามืออาชีพต้องทำงานอย่างไร แต่เมื่อนึกถึงสามข้อหลักที่สมเกียรติ อ่อนวิมลให้ความสำคัญ เธอตั้งคำถาทมว่า เวลาสื่อไทยให้ความสำคัญกับจริยธรรมเรามักจะหมกมุ่นกับเรื่องความเป็นคนดี ไม่รับอามิสสินจ้าง ไม่โกง จึงมีจริยธรรม แต่หลักเรื่องการตรวจสอบความจริง เคารพความจริง และเคารพพลเมืองนั้นได้รับความสำคัญแค่ไหน โดยตัวเธอเองเห็นว่าสื่อไทยไม่ได้ตระหนักในประเด็นหลังมากเท่ากับเรื่องโกงหรือไม่โกง ซึ่งกลายเป็นความหมายที่สำคัญของความมีจริยธรรมไปเสียแล้ว
เธอกล่าวว่าประเด็นสำคัญของสื่อในตอนนี้ที่ควรต้องทำคือประเด็น 112 ถ้าอยู่กันด้วยความกลัวไม่อาจจะเรียกได้ว่ามีเสรีภาพ สื่อเองก็เซ็นเซอร์ตัวเอง เสรีภาพไม่ได้หมายความว่าอยู่ๆ ก็ลุกมาด่ากัน แต่หมายถึงอยากมีความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ก็แลกเปลี่ยนกันได้
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ วิพากษ์ว่าสื่อตามโลกไม่ทัน คือโลกเป็นทุนนิยมแล้ว สื่อต้องทำความเข้าใจว่าสื่อก็เป็นธุรกิจ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีจริยธรรมไม่ได้ เธอกล่าวด้วยว่าคนไทยไม่เข้าใจเรื่องผลประโยชน์ พอพูดเรื่องผลประโยชน์กลายเป็นเรื่องโลภ เลว ทุกคนต้องทำธุรกิจต้องทำมาหากิน ก็ต้องมีจริยธรรมของการทำธุรกิจที่จะไม่เอาเปรียบผู้บริโภคของตัวเองมากเกิน ธรรมชาติธุรกิจต้องการกำไร แต่ไม่ใช่ว่าไปเอาเปรียบคนหรือขูดรีดคน
เธอกล่าวว่าสิ่งที่สื่อต้องตระหนักคือ หนึ่ง คนอ่านจะไม่อ่านข่าวห่วยๆ เพราะทุกวันนี้คนอ่านก็เป็น Gate Keeper เหมือนสื่อ ประการต่อมาคือ ยอมรับว่าสื่อทำธุรกิจ และประการที่สาม จริยธรรมทำได้ แต่ประเด็นสำคัญคือ สื่อเสนอความจริงหรือเปล่า ถ้าเสนอห่วยก็ล้มเหลว คนอ่านเขาจะบอกว่าเขาเขียนเองดีกวา
นิธินันท์กล่าวว่าเห็นด้วยกับสื่อเลือกข้าง ซึ่งเธอเห็นว่าไม่ใช่ความผิด สื่อมืออาชีพก็เลือกข้างได้ แต่ประเด็นสำคัญคือการเเลือกแล้วต้องไม่เห็นอีกข้างเป็นศัตรูต้องฟาดฟันให้ตายคามือคาเท้า ไล่ออกนอกประเทศ ไล่ไปอยู่คนละฟาก ต้องให้มีการเลือกข้างได้แต่ไม่โกรธกัน หรือฆ่ากัน
อธึกกิต แสวงสุข: สื่อที่จะเป็นพหูสูตไม่มีแล้ว เพราะโลกไม่ได้ต้องการพหูสูต
อธึกกิต แสวงสุข เจ้าของนามปากกาใบตองแห้ง กล่าวว่า ประเด็นผลประโยชน์ในสื่อของไทยมีมานานแล้ว แต่ได้รับการแก้ไขมาก่อนในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาโดยเครือผู้จัดการ ซึ่งผู้งบริหาร คือสนธิ ลิ้มทองกุล ปรับฐานเงินเดือน ยกระดับครั้งใหญ่ แต่มีปัญหาตามมา สื่อหลักเงินเดือนสูง เปิดที่ให้คนมีอุดมการณ์ แต่ก็เข้าไปสู่ธุรกิจโฆษณา และเข้าไปพัวพันผลประโยชน์โฆษณา เขากล่าวด้วยว่าปัญหาปัจจุบันปัญหาผลประโยชน์ในวงการสื่อแพร่หลายไปกว้าง ในขณะที่นักข่าวการเมืองถูกจับตามาก แต่นักข่าวสายอื่นพัฒนาไปค่อนข้างหนัก เช่นสายอาชญากรรม ต้องไปกินเหล้ากับตำรวจ แต่ที่เป็นปัญหาคือ การทำข่าวเป็นผู้ช่วยตำรวจ ปรักปรำ หลายคดีน่าสงสัยว่าทำไมไปตามตำรวจ เป็นปัญหาความรับผิดชอบ”
เขากล่าวว่าปัญหาอีกประการคือ ผลประโยชน์ คือเส้นแบ่งที่เลือนลางระหว่างการชวนทำข่าวพีอาร์ และการสร้างพื้นที่ให้แหล่งข่าวที่ตัวเองเกี่ยวข้องซึ่งเป็นปัญหาทั้งสายข่าวธุรกิจ อาชญากรรม
อธึกกิตย้ำประเด็นเรื่องสื่อเลือกข้างว่าไม่ผิด ความเป็นกลางคือความเสแสร้ง โดยเขายกตัวอย่างสมเกียรติ อ่อนวิมลที่ประกาศตัวว่าเลือกประชาธิปัตย์ แต่คนเชื่อถือว่าเวลาทำงานไม่ได้เอาส่วนที่เลือกข้างมาเกี่ยวข้อง การเลือกข้างต้องอธิบายเหตุผลได้ ที่ผ่านมาสื่อไม่เลือกข้างแต่ปล่อยให้มีการทำข่าวแบบไม่รับผิดชอบในแง่ที่จะไปหาความจริงโดยอ้างว่าตัวเองไม่เลือกข้าง ปล่อยให้เป็นข่าวปิงปอง แต่อะไรคือความจริงสื่อก็ไม่บอก หรือถ้าบอกก็บอกด้วยข้อมูลที่เลือกข้าง
สำหรับวิกฤตการเมืองนั้นมีความไม่รับผิดชอบของสื่อคือการสร้างกระแสอารมณ์ก่อนที่จะล้มรัฐบาลทักษิณ ทั้งที่สื่อมีหน้าที่ต้องแยกแยะเหตุผลให้เห็น แต่สื่อกลับช่วยกระตุ้นอารมณ์ และสำหรับเขาสื่อเลือกข้างที่ร้ายแรงที่สุดมาเกิดเมื่อปี 2549 สื่อที่เลือกไล่รัฐบาลทักษิณและเลือกรัฐประหารคือสื่อที่คิดว่าตัวเองเป็นคนดี และเชื่อว่าตัวเองกำลังทำสิ่งที่ดีคือการโค่นล้มทำลายรัฐบาลทักษิณเสีย ซึ่งตอนแรกเขาเห็นด้วย แต่เมื่อมีการรัฐประหารเขาเห็นว่ามาผิดทางแล้ว จรรยาบรรณของสื่อ บทบาทสื่ออันดับแรกสุดสื่อเกิดมาพร้อมกับประชาธิปไตย จึงมีบทบาทหน้าที่ที่จะต้องปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ
อธึกกิต วิจารณ์ว่าปัจจุบันนี้สื่อไม่ได้แค่กระโดดเข้าไปเป็นนักการเมือง แต่สื่อส่วนหนึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง บางช่วงสื่อไปอยู่กับมัชชาคนจนแล้วก็คิดว่าต้องต่อสู้กับสมัชชาคนจนจนกว่าจะชนะไปด้วยกัน สื่อไปทำหน้าที่เป็นมากกว่ากระจก แต่ก้าวไปเป็นตะเกียง เป็นผู้ชี้นำทางการเมือง สื่อไม่สามารถจะต้องเป็นตะเกียงอีกต่อไปแล้ว ควรจะเป็นเพียงกระจก เพราะสังคมนั้นพัฒนาความรู้ไปหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ความรู้ของสื่อไม่ได้ทันกับสังคมแล้ว สื่อที่จะเป็นพหูสูตไม่มีแล้ว เพราะโลกไม่ได้ต้องการพหูสูตเพราะโลกไปสู่ประเด็นผู้เชี่ยวชาญที่มีเยอะมากในโซเชียลมีเดีย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้คือสื่อกระแสหลักกำลังดิ้นในแง่ที่ตัวเองควรจะมีอำนาจชี้นำสังคม ในความขัดแย้งเรื่องสี สื่อต้องการรักษาสถานภาพความเป็นตะเกียง
จักร์กฤษ เพิ่มพูน: สื่อทางเลือกเล็กๆ ที่ไม่ต้องอาศัยทุนใหญ่ จึงจะประคับประคองจรรยาบรรณไปได้
จักร์กฤษ เพิ่มพูน ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ พูดในฐานะคนทำสื่อมายาวนานกว่าสิบสิบปีว่าได้เห็นพัฒนาการของสื่อมายาวนานพอสมควร จริยธรรมและจรรยาบรรณนั้นในธรรมนูญหรือข้อบังคับของสภาการหนังสือพิมพ์มีการระบุถึงสิ่งที่ต้องทำ หรือควรต้องทำ แต่ถ้อยคำตามตัวอักษรไม่ได้ปรากฏเป็นสาระตามที่เป็นจริงในสังคม สภาพการบังคับหรือการยึดมั่นในจรรยาบรรณนั้นเปลี่ยนไป เพราะสื่อก้าวเข้าสู่อุตสหากรรมสื่อซึ่งต้องหวังผลกำไร
“ผมคิดไปว่าต่อไปรูปแบบของสื่อจะเปลี่ยนไป จะเป็นจริงหรือไม่ยังไม่แน่ใจ คือมันต้องเป็นสื่อที่เป็นสื่อทางเลือกมากขึ้น คือไม่ต้องลงทุนใหญ่ เป็นสื่อออนไลน์อะไรต่างๆ ที่ไม่ต้องมีทุนใดทุนหนึ่งเป็นทุนใหญ่ อย่างนั้นผมคิดว่าน่าจะพอรักษาสถานภาพในเรื่องของจรรยาบรรณไว้ได้”
อย่งไรก็ตาม สื่อที่เป็นมืออาชีพอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต้องมีความไม่ลำเอียง และความรับผิดชอบ นึกถึงใจเขาใจเราและเปิดโอกาสให้คนที่ถูกพาดพิงได้แก้ต่าง
เขากล่าวว่า ในเรื่องจริยธรรมนั้นต้องหาทางออกหรือช่องทางของสื่อโดยที่ไม่ต้องอิงแอบกับระบบทุนอย่างที่เป็นอยู่
สำหรับประเด็นสื่อเลือกข้าง เขาคิดว่าต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ สังคมต้องแยกแยะได้
จักกฤษณ์ กล่าวในท้ายสุดว่าสิ่งที่อยากเห็นในองค์กรสื่อปัจจุบัน คือนอกจากจุดยืนชัดเจนแล้วต้องใจกว้าง ยอมรับความเห็นอย่างหลากหลาย “คนฉลาดขึ้น โครงสร้างสังคมเปลี่ยนไป แต่คิดว่ามีสื่อจำนวนไม่น้อยที่ยึดอัตตาว่าฉันจะต้องเป็นคนชี้ผิดชี้ถูก สื่อเป็นอาชีพหนึ่งไม่ใช่อาชีพอภิสิทธิ์ ไม่มีอีกแล้ว 18 อรหันต์ที่จะมาบอกว่าฉันเท่านั้นที่ถูกต้อง” ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ทิ้งท้าย