สำนักงาน กสทช. เล็งสุ่มตรวจ เซ็ตท็อปบ็อกซ์ มือถือ นำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต แจงกรณีมีผู้แอบอ้างรับจัดหากล่องทีวีดิจิตอล กสทช.ไม่เคยแต่งตั้งใครดำเนินการ ด้านสุภิญญาเตรียมเสนอทบทวนนโยบายคูปอง ระวังขัดกฎหมายและเงื่อนไขการประมูล
1 พ.ค. 2557 ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ปคบ.) เตรียมออกสุ่มตรวจ เซ็ตท็อป บ็อกซ์ (SET TOP BOX) เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์เสริม ที่นำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ตรวจสอบอุปกรณ์เสริมโทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์แปลงไฟสำหรับเซ็ตท็อปบ็อกซ์ (SET TOP BOX) อุปกรณ์แปลงไฟสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ผลิตในประเทศ ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งหากตรวจพบว่าเซ็ตท็อปบ็อกซ์ (SET TOP BOX) โทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่วางจำหน่ายเป็นของที่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่าย ตรวจพบอุปกรณ์เสริมโทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์แปลงไฟสำหรับเซ็ต ท็อปบ็อกซ์ (SET TOP BOX) อุปกรณ์แปลงไฟสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ผลิตในประเทศ ไม่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานจะส่งดำเนินคดีทันที โดยโทษสูงสุดตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 คือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
การออกสุ่มตรวจดังกล่าว เพื่อเป็นการตรวจสอบและป้องกันพวกที่ฉวยโอกาสนำสินค้า เซ็ตท็อปบ็อกซ์ (SET TOP BOX) เถื่อน ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงาน กสทช. เครื่องแปลงสัญญาณไฟที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุสาหกรรม (มอก.) และเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงอุปกรณ์เสริม ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากสำนักงาน กสทช. สำหรับเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงอุปกรณ์เสริมที่นำเข้าจากต่างประเทศ หรือไม่ได้มาตรฐาน มอก. สำหรับเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงอุปกรณ์เสริมที่ผลิตในประเทศ มาจำหน่ายให้กับประชาชนผู้บริโภค ซึ่งหากผู้บริโภคซื้อสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ผ่านการรับรองไปใช้ อาจใช้งานไม่ได้ หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินในอนาคต
ฐากร กล่าวว่า ในส่วนของประชาชนที่ต้องการซื้อเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์รุ่นใหม่ที่มีภาครับสัญญาณดิจิตอล หรือIntegrated Digital Television (iDTV) และ เซ็ตท๊อปบ๊อกซ์ (SET TOP BOX) เพื่อทดลองรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลที่มีการทดลองออกอากาศคู่ขนานไปกับโทรทัศน์ระบบแอนาล็อกในขณะนี้ แนะนำให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีตรารับรองมาตรฐานจากสำนักงาน กสทช. (Hologram กสทช. Class A Broadcast) และให้สังเกตสติ๊กเกอร์น้องดูดีที่ผลิตภัณฑ์ เพื่อความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้มาตรฐานและสามารถรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้จริง สำหรับประชาชนที่รอคูปองของ กสทช. เพื่อนำไปแลกซื้ออุปกรณ์ที่ช่วยในการรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ซึ่งสามารถใช้แลกซื้อได้ทั้งอุปกรณ์แปลงสัญญาณในระบบดิจิตอล คือ เซ็ตท็อปบ็อกซ์ (Set Top Box) พร้อมสายอากาศ (Antenna) หรือใช้เป็นส่วนลดในการซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ขอให้อดใจรอสักหน่อย เมื่อเรื่องของการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กสทช. ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ก็จะเข้านำเข้าพิจารณาในที่ประชุม กสทช. วาระพิเศษทันที หลังจากนั้นจะสามารถแจ้งประชาชนได้อย่างชัดเจนถึงรายละเอียดการแจกจ่ายคูปองทั้งมูลค่าและขั้นตอนการแจกจ่ายให้กับประชาชน คาดว่า กสทช. จะสามารถเริ่มแจกคูปองสู่ครัวเรือนประชาชนได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนต่อเดือนกรกฎาคม 2557 ในพื้นที่ที่พร้อมรับชมได้ตามกำหนดเดิม
เลขาธิการ กล่าวว่า สำหรับกรณีมีผู้แอบอ้างกับประชาชนว่าเป็นตัวแทนจาก กสทช. มาอำนวยความสะดวกในการจัดหากล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ (Set Top Box) ให้ โดยให้ประชาชนถ่ายสำเนาบัตรประชาชนพร้อมรับรองสำเนาให้ทางผู้แอบอ้างแล้วทางจะนำกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ (Set Top Box) มาแจกให้เลยโดยที่ประชาชนไม่ต้องนำคูปองจาก กสทช. ไปแลกซื้อกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ (Set Top Box) เอง นั้น สำนักงาน กสทช. ขอยืนยันว่า กสทช. ไม่เคยแต่งตั้ง พรรคการเมือง บุคคล หน่วยงาน บริษัท เป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเลย
“ผมขอย้ำเตือนประชาชนว่า อย่าเชื่อผู้ที่มาแอบอ้างว่าเป็นตัวแทนของ กสทช. มาขอสำเนาบัตรประชาชนของท่านไป โดยอ้างว่าจะนำไปอำนวยความสะดวกในการจัดหากล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ให้ กสทช. ไม่เคยแต่งตั้ง พรรคการเมือง บุคคล หน่วยงาน บริษัท เป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว คูปองแลกซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิตอลที่ กสทช. จะแจก ท่านจะได้รับทุกครัวเรือน ครัวเรือนละ 1 ใบแน่นอน เพื่อให้ท่านนำไปแลกซื้ออุปกรณ์ที่ช่วยให้ท่านสามารถรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้เองตามต้องการ” ฐากร กล่าว
สุภิญญาเล็งเสนอทบทวนนโยบายคูปอง เตือนระวังขัดกฎหมายและเงื่อนไขการประมูล
วันเดียวกัน สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ 2 พ.ค. 57 ในที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ตนเองเตรียมเสนอวาระ จากข้อเสนอแนะขององค์กรผู้บริโภคเรื่องการทบทวนนโยบายการแจกคูปองกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล ในการประชุม กสท.ครั้งนี้ด้วย ตามที่ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้ส่งจดหมายถึงในเรื่องข้อคำถามอันส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค รวมทั้งข้อเสนอแนะขององค์กรผู้บริโภค โดยเฉพาะประเด็นการดำเนินการที่ขัดต่อประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ที่กำหนดให้นำเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในส่วนของราคาขั้นต่ำจะนำไปใช้เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลอย่างทั่วถึง
โดยองค์กรผู้บริโภคมีข้อเสนอให้ กสทช.และคณะกรรมการกองทุนวิจัยฯ ทบทวนนโยบายโดยเร่งด่วน เนื่องจากเห็นว่าเป็นกรณีที่ทำให้รัฐเสียหาย และการดำเนินการของ กสท.อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 ในอันที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น จากกรณีเงื่อนไขของโครงการฯ ที่จะทำให้สามารถรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้เพียง 36 ช่อง รวมทั้งความโปร่งใสในกระบวนการแจกคูปองส่วนลดฯ ภายใต้การดำเนินโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ตลอดจน นโยบายดังกล่าวเป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคและเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการ จึงขอให้ กสท.ทบทวนขั้นตอนในการแจกคูปองส่วนลดฯ และการประชาสัมพันธ์
สุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอแนะและวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรที่ดำเนินการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความโปร่งใสในการกำหนดมาตรการส่งเสริมสนับสนุนอุปกรณ์รับสัญญาณในระบบดิจิตอล และการดำเนินการที่อาจขัดต่อข้อกฎหมายทั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและในระดับประกาศของ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนอาจเป็นเหตุให้คณะกรรมการ และสำนักงาน กสทช. ถูกร้องเรียนหรือฟ้องร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณไปสู่ระบบดิจิตอลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงเห็นว่าเป็นกรณีที่การประชุม กสท. ควรนำมาพิจารณาหารือและทบทวนการกำหนดกระบวนการและมาตรการที่เหมาะสม เปิดเผยต่อสาธารณะ และป้องกันขั้นตอนดำเนินการที่อาจขัดต่อข้อกฎหมายและประกาศที่ กสทช. ได้กำหนดไว้