หลังกรณีชาวฮ่องกงถูกลูกจ้างอินโดฯ ฟ้องทารุณกรรมเป็นที่รับรู้ทั่วโลก รายงานจากบีบีซีเปิดเผยเรื่องแรงงานชาวอินโดนีเซียที่หนีความจนไปทำงานในบ้านของชาวฮ่องกง แต่มีการสำรวจพบว่าลูกจ้างจำนวนมากถูกดุด่า ถูกทุบตีทำร้าย หรือทารุณกรรมทางเพศ โดยมีสาเหตุบางอย่างที่ไม่กล้าฟ้องร้องต่างจากกรณีล่าสุดนี้
29 เม.ย. 2557 จากกรณีที่ศาลฮ่องกงตัดสินให้นายจ้างชาวฮ่องกงมีความผิด 7 ข้อหา รวมถึงทำร้ายร่างกายและข่มขู่ลูกจ้างชาวอินโดนีเซียที่ชื่อเออร์เวียนา สุลิสตยานิงสีห์ สำนักข่าวบีบีซีได้นำเสนอรายงานเกี่ยวกับสภาพการทำงานของแม่บ้านชาวอินโดนีเซียที่ไปทำงานในฮ่องกง
รายงานที่เขียนโดย จูเลียน่า ลิว นำเสนอลงในบีบีซีเริ่มต้นกล่าวถึงหญิงอายุ 26 ปีชื่อรอห์ยาตี ที่เป็นหนึ่งในผู้หญิงยากจนจากอินโดนีเซีย เดินทางไปที่ฮ่องกงเพื่อทำงานเป็นแม่บ้าน เธอเป็นลูกสาวชาวนาจากเกาะชวาในอินโดนีเซียซึ่งเคยทำงานในสิงคโปร์มาก่อน 2 ปี หลังจากพ่อของเธอเสียชีวิตเธอจึงตัดสินใจลองไปทำงานในฮ่องกงเพื่อเป็นค่าเลี้ยงดูน้องๆ ของเธออีก 3 คน
บีบีซีระบุว่าคนงานผู้ใช้แรงงานในครัวเรือนมักจะเดินทางไปทำงานในฮ่องกงเนื่องจากมีค่าแรงค่อนข้างสูง มีหลักประกันให้มีเวลาพักผ่อน 1 วันต่อสัปดาห์รวมถึงการคุ้มครองทางกฎหมายซึ่งไม่มีในที่อื่นๆ
อย่างไรก็ตามรอห์ยาตีก็ประสบเหตุการณ์ถูกทำร้ายร่างกายหลังจากเข้าไปทำงานในบ้านของนายจ้างเพียงสองสัปดาห์ เขาถูกแม่ของนายจ้างตบเนื่องจากคนสูงอายุจะสามารถพูดแต่ภาษากวางตุ้งทำให้หงุดหงิดเวลาไม่สามารถสื่อสารกับลูกจ้างได้ ทั้งนี้รอห์ยาตีก็เล่าอีกว่า ในอีก 2 เดือนต่อมาเธอก็ถูกเจ้านายของเธอตบ ชกต่อย และบีบคอเธอด้วย
อย่างไรก็ตามรอห์ยาตีบอกว่าก่อนหน้านี้นายจ้างของเธอดูเป็นห่วงเธอดี คอยถามเรื่องความเป็นอยู่ ว่าอยู่สบายไหม มีพอกินไหม เธอไม่เข้าใจว่าอยู่ๆ ทำไมถึงใช้ความรุนแรง รอห์ยาตีคาดเดาว่าคงเป็นเพราะเจ้านายเธอรู้สึกว่าทำงานหนักหรือรู้สึกกลัดกลุ้มเรื่องที่ตนเองเป็นโสด ในช่วงที่ให้สัมภาษณ์ต่อบีบีซีรอห์ยาตีอยู่ที่แหล่งพักพิงซึ่งสร้างจากการกุศล
สำนักงานจัดหางานระบุคุณสมบัติชาวอินโดฯ 'ว่านอนสอนง่าย'
ในเดือน ก.พ. ปีนี้ รอห์ยาตีก็แจ้งความกับตำรวจในเรื่องที่ถูกทำร้าย โดยได้แรงบันดาลใจจากกรณีของเออร์เวียนา สุลิสตยานิงสีห์ หญิงอายุ 23 ปีที่ตกเป็นข่าวดังจากกรณีถูกนายจ้างหญิงชาวฮ่องกงวัย 44 ปี ทุบตีจนอยู่ในอาการสาหัส ภาพข่าวเผยให้เห็นสุลิสตยานิงสีห์ขณะอยู่ที่โรงพยาบาล มือและเท้าของเธอมีรอยไหม้ซึ่งคาดว่ามาจากการเผาไหม้โดยสารเคมีกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก ทางด้าน หลอ วันตุง อดีตนายจ้างของสุลิสตยานิงสีห์ที่ถูกฟ้องร้องเพิ่งโดนตั้งข้อหา 7 ข้อ
กรณีนี้ทำให้มีคนให้ความสนใจกรณีการปฏิบัติต่อลูกจ้างทำงานในบ้าน 325,000 คน ที่อยู่ในฮ่องกง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นคนจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ แม้ว่าอธิบดีกรมตำรวจของฮ่องกงจะบอกว่ามีกรณีทารุณกรรมลูกจ้างทำงานในบ้านน้อยมาก แต่นักวิชาการ นักกิจกรรมและนักสังคมสงเคราะห์มองว่ากลุ่มลูกจ้างชาวอินโดนีเซียมักจะถูกทารุณกรรมมากเป็นพิเศษ
องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลเขียนรายงานเดือน พ.ย. 2556 ระบุว่าหญิงชาวอินโดนีเซียหลายพันคนที่ไปทำงานในฮ่องกงมีสภาพการทำงาน 'เยี่ยงทาส'โดยทั้งรัฐบาลอินโดนีเซียและทางการของเขตฮ่องกงไม่สามารถคุ้มครองพวกเขาจากการถูกทำร้ายหรือถูกกดขี่ได้ นอกจากนี้ยังชี้อีกว่าในบางกรณีถึงขั้นมีการหลอกลวงคนงาน
ทางด้านองค์กรการกุศลเพื่อแรงงานอพยพได้ทำการสำรวจคนงานทำงานในบ้าน 3,000 คน เมื่อเดือน เม.ย. 2556 พบว่าร้อยละ 58 รายงานเรื่องการถูกทำร้ายทางวาจา ร้อยละ 18 ถูกทำร้ายร่างกาย และร้อยละ 6 ถูกทารุณกรรมทางเพศ
ฮานส์ เลดการ์ด ศาตราจารย์มหาวิทยาลัยแบ๊บตีสต์ในฮ่องกงผู้ทำงานวิจัยเรื่องการทารุณกรรมแรงงานทำงานในบ้านตั้งแต่ปี 2551 กล่าวว่าการทารุณกรรมในฮ่องกงถือเป็นประเด็นจริงจังและเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายไปทั่ว โดยคนงานอินโดนีเซียมีความเสี่ยงมากกว่าชาวฟิลิปปินส์เนื่องจากมักจะมีอายุน้อยกว่า มีการศึกษาไม่ดีเท่า และพูดภาษาอังกฤษได้น้อยกว่า
เลดการ์ดกล่าวอีกว่าชาวฮ่องกงมักจะชอบจ้างคนงานชาวอินโดนีเซียมากกว่าเพราะพวกเขายอมรับค่าจ้างที่ต่ำกว่าชาวฟิลิปปินส์และสำนักงานจัดหางานก็ระบุว่าคนงานชาวอินโดนีเซีย "ว่านอนสอนง่าย"ซึ่งเลดการ์ดคิดว่าการที่องค์กรจัดหางานระบุคุณสมบัติเช่นนี้เป็นเหมือนการกล่าวอ้อมๆ อนุญาตให้กดขี่ข่มเหงและทำร้ายคนงานเหล่านี้ได้
คนงานมักเลือกทนเพราะกลัวค่าใช้จ่ายและกลัวไม่มีงาน
คนงานชาวอินโดนีเซียที่ถูกจ้างเริ่มแรกได้รับค่าแรงน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนของฮ่องกงซึ่งกำหนดไว้ที่ 4,010 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 16,700 บาท) จนกว่าพวกเขาจะได้รับการยอมรับจากการทำงาน
ในกรณีของรอห์ยาตี เธอเล่าว่าเธอต้องเข้ารับฝึกอบรมที่ศูนย์อบรมในเมืองเสมารังก่อนเดินทางไปฮ่องกงเพื่อเรียนรู้การทำอาหาร การเลี้ยงดูเด็กและคนชรา รวมถึงภาษากวางตุ้งพื้นฐาน เธอได้เงินเดือน 3,920 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 16,300 บาท) ซึ่งต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย โดยเธอยังต้องส่งเงิน 2,543 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 10,500 บาท) ให้กับสำนักงานจัดหางานทุกๆ 6 เดือน เพื่อเป็นค่าฝึกอบรมและค่าธรรมเนียมจัดหางาน
รอห์ยาตีเปิดเผยอีกว่าหลังจากที่เธอถูกตบครั้งแรกในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว เธอขอคำแนะนำจากสำนักงานจัดหางานในฮ่องกงแต่พวกเขาก็บอกให้เธออดทนทำงานต่อไปจนครบ 6 เดือนให้เธอสามารถจ่ายค่าธรรมเนียมได้ก่อนถึงค่อยเลิกทำงาน อีกสองเดือนหลังจากนั้นรอห์ยาตีพยายามแจ้งเหตุเรื่องถูกทำร้ายร่างกายแต่ก็ไม่มีใครรับเรื่อง ทำให้ต่อมารอห์ยาตีตัดสินใจแจ้งตำรวจและกำลังรอวันไต่สวนคดี
บีบีซีระบุว่าชาวอินโดนีเซียไม่เหมือนฟิลิปปินส์และประเทศอื่นๆ พวกเขาจะสามารถย้ายถิ่นได้จากสำนักงานจัดหางานซึ่งมีการจดทะเบียนกับรัฐบาลเท่านั้น
แอมเนสตี้เปิดเผยว่าสาเหตุที่คนงานชาวอินโดนีเซียปล่อยให้ตัวเองถูกกระทำต่อไปเนื่องจากกลัวว่าจะถูกเลิกสัญญาจ้าง กลัวว่าจะไม่สามารถหางานใหม่ได้หรือกลัวว่าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมจัดหางานซ้ำอีก
ทางการฮ่องกงเตรียมออกเตือนนายจ้างเรื่องผลทางกฎหมาย หากเกิดทารุณกรรม
เลดการ์ดบอกว่าคนทำงานในบ้านที่ถูกทำร้ายมักจะไม่ดำเนินคดีทางกฎหมาย แม้ว่าฮ่องกงจะมีกฎหมายคุ้มครองพวกเขาอยู่ซึ่งถือว่าล้ำหน้าไปกว่าหลายประเทศในเอเชียและตะวันออกกลาง แต่ก็ยังมีปัญหาอีกว่าหลายคดีไม่มีความคืบหน้า ในบางกรณีกระบวนการกฎหมายกินเวลาถึง 1 ปีหรือมากกว่านั้น ลูกจ้างบางคนก็กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายการดำเนินคดีกับศาลกลัวว่าจะไม่มีเงินเลี้ยงครอบครัว ทำให้โดยส่วนมากแล้วคนงานที่ถูกทารุณกรรมเลือกจะเดินทางออกจากฮ่องกง หรือเปลี่ยนนายจ้างมากกว่าจะร้องเรียน
อีกด้านหนึ่ง โดนัลด์ ตง กรรมาธิการแรงงานของฮ่องกงกล่าวว่าเขาไม่เห็นด้วยกับผลสำรวจที่บอกว่ามีการทารุณกรรมคนทำงานบ้านแพร่ไปทั่ว และบอกว่านายจ้างส่วนใหญ่ดูแลลูกจ้างดี
โดนัลด์ กล่าวอีกว่าทางกระทรวงแรงงานรู้สึกตกใจและประหลาดใจเมื่อได้ทราบเกี่ยวกับเรื่องของสุลิสตยานิงสีห์ ผู้ที่เดินทางออกนอกประเทศในเดือน ม.ค. โดยไม่บอกตำรวจแต่ได้เล่าเรื่องของตัวเองเมื่อกลับไปถึงอินโดนีเซียแล้ว จากกรณีนี้ทำให้กระทรวงแรงงานพยายามประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ที่มีคนงานอินโดนีเซียจำนวนมากให้พวกเขาทราบถึงสิทธิที่พวกเขามี
โดนัลด์บอกอีกว่าพวกเขาจะออกพูดคุยกับนายจ้างด้วยเพื่อให้เห็นความสำคัญของการดูแลลูกจ้างดีๆ และให้ทราบถึงผลตามกฎหมายอาญาเมื่อมีการทารุณกรรมเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่ารัฐบาลไม่มีแผนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายข้อที่ระบุให้ลูกจ้างต่างชาติต้องพักอาศัยกับนายจ้างของพวกเขา ซึ่งนักกิจกรรมมองว่ากฎหมายบังคับให้พักกับนายจ้างนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายร่างกายและการทารุณกรรมทางเพศ รวมถึงลูกจ้างอาจถูกใช้งานอย่างไม่จำกัดชั่วโมง
ในกรณีของรอห์ยาตี เธอบอกว่าเธอจะพยายามทำให้คดีจบเร็วที่สุดแล้วไปหานายจ้างใหม่ "ฉันไม่เชื่อว่านายจ้างในฮ่องกงทุกคนจะกระทำทารุณ แล้วฉันก็ยังมีความหวังจะทำงานที่นี่"รอห์ยาตีกล่าว
เรียบเรียงจาก
Are Indonesian maids safe in Hong Kong?, BBC, 28-04-2014
http://www.bbc.com/news/world-asia-china-27184521