องค์กรนโยบายสาธารณะของสหรัฐฯ เผยงานวิจัยเทียบอัตรารายได้ระหว่างปี 2543 ถึง 2556 พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีล่าสุดของผู้บริหารระดับสูงบริษัทฟาสต์ฟู้ดมากถึง 23.8 ล้านดอลลาร์ ขณะที่พนักงานเต็มเวลาได้ปีละ 19,000 ดอลลาร์ ช่องว่างรายได้นี้ยังส่งผลถึงปัญหาและความเสี่ยงต่อบริษัทในอนาคต
26 เม.ย. 2557 องค์กรเดโมส์ ซึ่งเป็นองค์กรด้านนโยบายสาธารณะของสหรัฐฯ เปิดเผยผลการวิจัยว่า มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้อย่างมากระหว่างพนักงานทั่วไปและประธานบริหารในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ด โดยความเหลื่อมล้ำนี้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม
เดโมส์เปิดเผยผลการวิจัยเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่าในหลายๆ กรณีคนทำงานในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดมีความแตกต่างด้านรายได้ในในอัตราส่วน 1 ต่อ 1,000 เปรียบเทียบระหว่างรายได้ของผู้บริหารระดับสูงกับพนักงาน ซึ่งเรื่องนี้ไม่เพียงทำให้พนักงานฟาสต์ฟู้ดนับล้านคนในสหรัฐฯ อยู่ในภาวะยากจนเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย
งานวิจัยของเดโมส์ศึกษารายได้เปรียบเทียบตั้งแต่ช่วงปี 2543 ถึง 2556 ทำให้ทราบว่าประธานบริหารในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ทำการศึกษามากถึง 4 เท่าโดยเฉลี่ย และในปี 2556 ประธานบริหารฟาสต์ฟู้ดทำรายได้โดยเฉลี่ย 23.8 ล้านดอลลาร์ (ราว 760 ล้านบาท) เทียบกับเงินรายชั่วโมงของพนักงานที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.3 ตั้งแต่ปี 2543 และยังคงเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ดอลลาร์ (ราว 290 บาท) ต่อชั่วโมง
เดโมส์ชี้ว่าความต่างของรายได้สูงมากนี้สร้างความเสี่ยงต่อบริษัทฟาสต์ฟู้ดเองด้วย โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการประท้วงของพนักงานเพื่อเรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและประท้วงเรื่องสภาพการทำงานที่ย่ำแย่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้บริษัทฟาสต์ฟู้ดต้องจัดการปัญหาเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย การตรวจสอบ และความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน
แคเธอรีน รุตชลิน นักวิเคราะห์นโยบายจากเดโมส์ผู้เขียนรายงานการวิจัยชิ้นนี้กล่าวว่า "อุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดเป็นผู้นำด้านความต่างชั้นของรายได้ในสหรัฐฯ และผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาคือเรื่องการปฏิบัติงาน การฟ้องร้องกันทางกฎหมาย คนทำงานที่ลดลง และความพึงพอใจของผู้บริโภคที่ลดลงด้วย"
"แม้กระทั่งผู้นำอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดอย่างแมคโดนัลด์ยังตระหนักว่าความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ที่ห่างกันมากขึ้นได้สร้างความเสี่ยงต่อพวกเขาในเรื่องสำคัญ ประเด็นเรื่องสมรรถภาพการทำงานที่ลดลงทำให้ผู้ถือหุ้นของพวกเขาลดลงไปด้วย แต่ความเสี่ยงก็ขยายตัวจากแค่อุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดไปยังระบบเศรษฐกิจทั้งหมด"รุตชลินกล่าว
กรณีของแมคโดนัลด์ที่รุตชลินกล่าวถึง คือเมื่อช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาแมคโดนัลด์ได้กล่าวในรายงานประจำปีที่ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ว่า การจัดตั้งรณรงค์ด้านแรงงานสามารถทำให้เกิดภาพลักษณ์ทางลบต่อแบรนด์ โดยจัดไว้ในประเภท "ความเสี่ยง"ด้านกำไร
รายงานวิจัยของเดโมส์ระบุอีกว่า "ค่าธรรมเนียมด้านกฎหมายหลายล้านดอลลาร์ การที่ลูกค้าใช้เวลารอมากขึ้น รวมถึงการต่อต้านจากแรงงาน เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงปัญหาเชิงระบบที่มาจากความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ด"
อีกเรื่องหนึ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ค้นพบคือ หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2552 มีการเติบโตของการจ้างงานจำพวกงานรายได้ต่ำเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจฟาสต์ฟู้ด และยังติดอันดับ 1 ใน 5 ของจำพวกงานที่คาดว่าจะมีการจ้างงานมากที่สุดจนถึงปี 2565
รายงานวิจัยระบุว่า การต้องพึ่งพิงการจ้างงานจำพวกที่มีรายได้ไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก จะยิ่งทำให้ประชาชนคนทำงานทั่วไปได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยลงเนื่องจากรายได้จำนวนมากกระจุกตัวอยู่แค่กลุ่มคนส่วนยอดสุด
เดโมส์ระบุในงานวิจัยอีกว่าค่าจ้างพนักงานทั่วไปของงานฟาสต์ฟู้ดน้อยในระดับที่ทำให้ครอบครัวคนสามคนมีรายได้ในระดับต่ำกว่าเส้นความยากจนตามที่กำหนดโดยทางการกลางสหรัฐฯ แม้ว่าพนักงานดังกล่าวจะทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานปกติของระบบอุตสาหกรรมมาก และเมื่อคำนวนเงินรายได้ต่อชั่วโมงของพนักงานจ้างเต็มเวลาแล้วก็พบว่าพวกเขาได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่า 19,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 600,000 บาท) แต่คนงานฟาสต์ฟู้ดส่วนใหญ่ถูกจ้างแบบพาร์ทไทม์ทำให้ค่าจ้างเฉลี่ยต่อปียิ่งน้อยกว่า
เดโมส์สรุปว่า การวิจัยนี้ประเมินแนวโน้มให้เห็นการเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ในอีก 10 ปี ข้างหน้า ขณะที่โอกาสการจ้างงานจำพวกที่สร้างรายได้ในระดับชนชั้นกลางมีลดลงในสหรัฐฯ
เรียบเรียงจาก
Super-Sized Inequality: Fast Food CEO Millionaire Pay Outpaces Workers by 1000 to 1, Common Dreams, 23-04-2014
http://www.commondreams.org/headline/2014/04/23-4
http://www.demos.org/publication/fast-food-failure-how-ceo-worker-pay-disparity-undermines-industry-and-overall-economy
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai