Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

อภิสิทธิ์ชวนทุกพรรคพรุ่งนี้เจอกันอย่าทะเลาะกัน-ช่วยกันหาคำตอบให้ประเทศ

$
0
0

67 พรรคการเมืองหารือ กกต. เรื่องจัดวันเลือกตั้งใหม่ 'สมชัย'จะให้เวลาพรรคหนุนเลือกตั้งและพรรคที่ไม่ต้องการเลือกตั้งอภิปรายฝ่ายละ 30 นาที 'อภิสิทธิ์'ชวนทุกพรรคหาคำตอบให้ประเทศ หวังให้มีการเลือกตั้งที่เปิดสภาได้ ประชาชนยอมรับ ส่วน 'ชูวิทย์'บอกจะอยู่รดน้ำต้นไม้-ไม่ไปแสดงละครเป็นพระเอก ผบ.ทอ.ปฏิเสธเหล่าทัพร่วมแถลง ศอ.รส. 7 ข้อ

กกต. เผยมี 67 พรรคการเมืองตอบรับหารือเรื่องจัดเลือกตั้งใหม่

21 เม.ย. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่า นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงการเชิญพรรคการเมือง 73 พรรค เข้าหารือร่วมกันในประเด็นการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ใหม่ แทนการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดต่อรัฐธรรมนูญ(เป็นโมฆะ) ว่า จากการส่งหนังสือเชิญพรรคการเมืองทั้ง 73 พรรค ได้รับการตอบรับแล้ว 67 พรรค โดยในจำนวนนี้มีเพียง 3 พรรคที่ไม่สะดวกเข้าร่วมเพราะติดภารกิจ นอกนั้นยืนยันจะเข้าร่วมพูดคุยหารือเรื่องการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันพรุ่งนี้(22 เม.ย.) ตามคำเชิญของ กกต. รวมถึงพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะมีการหารือกันรอบด้าน เพื่อช่วยหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน

เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวย้ำว่า จะนำผลการหารือกับพรรคการเมืองทั้ง 64 พรรคในวันพรุ่งนี้(22 เม.ย.) ไปรวมกับข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานด้านความมั่นคง ที่ กกต.ได้หารือร่วมกันไปแล้วเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2557 เพื่อประมวลร่วมกับข้อมูลในการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองที่ กกต.ได้ร่วมกับฝ่ายความมั่นคงประเมินไว้ เพื่อให้ได้ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการจัดการเลือกตั้งที่สุด เพราะไม่ต้องการให้เกิดความผิดพลาดอีก เนื่องจากการเลือกตั้งในแต่ละครั้งต้องใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก

 

สมชัยเผยกติกาจะให้พรรคหนุนเลือกตั้งกับพรรคเลื่อนเลือกตั้งอภิปรายฝ่ายละ 30 นาที

อนึ่ง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานด้วยว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงแนวทางในการหารือกับพรรคการเมืองในวันพรุ่งนี้(22 เม.ย.) ว่า กกต. ไม่ได้กำหนดรูปแบบการหารือไว้ล่วงหน้า แต่จะใช้กระบวนการในที่ประชุมให้เสนอความเห็นเพื่อกำหนดรูปแบบร่วมกัน ซึ่งอาจเป็นการให้ทุกพรรคได้แสดงความเห็น หรือแบ่งช่วงเวลาให้มีการอภิปรายจากฝ่ายที่ต้องการเร่งให้มีการเลือกตั้ง กับฝ่ายที่เห็นว่ายังไม่ควรมีการเลือกตั้ง ฝ่ายละ 30 นาที จากนั้นจะถามความเห็นของแต่ละพรรค เพื่อหาข้อสรุป แต่จะไม่มีการลงมติ ทั้งนี้ กกต. จะเปิดโอกาสให้หารือเฉพาะกรณีการกำหนดวันเลือกตั้งที่จะประสบความสำเร็จ เพื่อให้ได้จำนวน ส.ส. ที่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เท่านั้น หากการหารือในวันพรุ่งนี้(21 มี.ค.) ไม่ประสบความสำเร็จ กกต. จะนัดหารือพรรคการเมืองครั้งใหม่จนกว่าจะได้ข้อสรุป ซึ่งในส่วน กกต.จะเสนอกรอบระยะเวลาการจัดการเลือกตั้ง ภายใน 90 วัน เพราะเป็นช่วงเวลาที่เร็วที่สุด ทางด้านธุรการ การออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการประเมินของเจ้าหน้าที่ กกต.

อย่างไรก็ตาม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กล่าวเชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เป็นโมฆะจากสาเหตุเดิมอย่างแน่นอน โดยเห็นว่าการคุกคามการลงพื้นที่ของ กกต. และการขัดขวางไม่ให้พรรคการเมืองลงพื้นที่หาเสียงได้ อาจเป็นสาเหตุให้มีการฟ้องร้องให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม นำไปสู่การเป็นโมฆะได้

ทั้งนี้นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. ระบุ้วยว่า ได้มีการประสานขอความร่วมมือไปยังสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เข้ามาช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่การหารือวันที่ 22 เม.ย. แล้ว

 

อภิสิทธิ์ชวนทุกพรรคหาคำตอบให้ประเทศ ในการหารือ กกต. 22 เม.ย. นี้

การแถลงข่าวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ที่มา: เพจ Abhisit Vejjajiva)

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์เผยแพร่คำแถลงของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรณี กกต. เชิญเข้าร่วมประชุมในวันที่ 22 เม.ย. โดยนายอภิสิทธิ์ระบุว่า

"ขอเรียนสื่อมวลชน และพี่น้องประชาชนว่าตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เชิญหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค หรือผู้แทนของพรรคการเมืองเพื่อไปร่วมหารือกันในวันพรุ่งนี้ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ผมกับท่านรองหัวหน้าพรรค คือคุณชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ก็จะไปร่วมประชุม ซึ่งเราหวังว่าในการประชุมในวันพรุ่งนี้จะเป็นกระบวนการที่ทุกพรรคการเมืองจะช่วยกันหาคำตอบให้กับประเทศ มากกว่าการหาคำตอบให้กับพรรคการเมือง หรือมาถกเถียงกันในเรื่องของความต้องการของพรรคการเมือง"

"ที่เรียนอย่างนี้ก็เพราะว่าเป้าหมายสุดท้ายของการหารือในส่วนของ กกต. ก็เพื่อที่จะไปหารือกับรัฐบาลในการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ที่จะต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกา แต่ประเด็นปัญหาของประเทศในขณะนี้ คงไม่ใช่การมาหาคำตอบว่าพรรคการเมือง ต้องการเลือกตั้งกันวันไหน แต่การหาคำตอบให้กับประเทศวันนี้คือ จะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ และมีการเลือกตั้งใหม่ที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ของการปกครองของในระบอบประชาธิปไตยและเป็นคำตอบให้กับประเทศได้อย่างไร"

"ผมขอยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าการเลือกตั้งต้องเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบของประเทศ และก็ประสงค์ที่จะเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว เพียงแต่ต้องเป็นการเลือกตั้งที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ยอมรับของประชาชน เป็นการเลือกตั้งที่เสรี สุจริต เที่ยงธรรม สิ่งที่เราจะได้นำเสนอในที่ประชุมก็คือว่า พรรคการเมืองต้องมาช่วยกันมาแก้ปัญหาที่เป็นปม หรือเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การเลือกตั้งในขณะนี้ไม่ประสบความสำเร็จ"

"แน่นอนที่สุดการจะไปออกกฎ ระเบียบ เพื่อที่จะแก้ปัญหาในทางปฏิบัติของปัญหาที่เกิดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. หรือก่อนหน้านั้น หลายฝ่ายอาจจะมองว่าเป็นคำตอบที่เพียงพอในการประชุมในวันพรุ่งนี้ แต่ข้อเท็จจริงนั้นผมคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดอย่างนั้น

ผมอ้างอิงนิดหนึ่งว่า กกต. ท่านหนึ่งเขียนบทความว่าการแก้กฎระเบียบเหล่านี้ก็คงจะทำให้เปิดรับสมัคร และจัดการเลือกตั้งได้ แต่ท่านก็ทิ้งท้ายว่า เลือกไปแล้วไม่รู้ว่าจะเปิดสภาได้หรือไม่ ผมเห็นว่าการเลือกตั้งแล้วเปิดสภาไม่ได้ ไม่ใช่คำตอบ ประชาธิปัตย์ต้องการจะเห็นการเลือกตั้งที่นำไปสู่การเปิดสภา และการมีรัฐบาลที่ประชาชนยอมรับ เพื่อเป็นคำตอบให้กับประเทศ"

"เพราะฉะนั้นในวันพรุ่งนี้อยากจะให้ทุกพรรคการเมืองนั้นเปิดใจกว้าง แล้วก็ต้องถกกันถึงปัญหาที่แท้จริงของประเทศ วันนี้ถ้าจะให้มีการเลือกตั้งที่เหมือนกับเป็นพิธีกรรม แต่ไม่เป็นทางออกให้กับประเทศ ไม่มีประโยชน์ เพราะความขัดแย้งก็จะยังดำรงอยู่ ความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าต่อความรุนแรงก็ยังจะมีอยู่ และที่สำคัญที่สุดก็คือ คนที่เดือดร้อนที่สุดก็คือประชาชน เพราะขณะนี้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่มีการมองได้ว่าจะมีข้อยุติอย่างไรนั้น ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ต่อความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง และประชาชนก็สะท้อนมาตลอดเวลาว่า มีความกังวลต่อสถานการณ์อย่างมาก แล้วก็ประสงค์ที่จะเห็นทุกฝ่ายนั้นมาร่วมกันหาคำตอบ"

"เพราะฉะนั้นก็อยากจะขอเชิญชวนทุกพรรคการเมืองนะครับว่า พรุ่งนี้เราคงไม่ไปทะเลาะกัน พรุ่งนี้เราคงไม่ไปพูดถึงความต้องการของแต่ละพรรค แต่ละฝ่าย แต่พรุ่งนี้เรามาช่วยกันหาคำตอบให้กับประเทศ ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้ ไม่มีการใช้ความรุนแรง ไม่มีการรบราฆ่าฟัน ไม่มีปฏิวัติรัฐประหาร แต่มีกระบวนการการเลือกตั้งซึ่งกลับมาเป็นที่ยอมรับของประชาชน เพื่อให้ได้คำตอบสำหรับประเทศในการเดินหน้า แล้วก็เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ครับ  นี่คือแนวทางที่เราได้วางไว้ในการที่จะไปร่วมประชุมในวันพรุ่งนี้"อภิสิทธิ์แถลงตอนหนึ่ง

 

ชูวิทย์ประกาศไม่ไปประชุม-จะอยู่บ้านรดน้ำต้นไม้ ที่ผ่านมาเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายจนถึงวันเลือกตั้งแล้ว

ขณะเดียวกัน ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ระบุในเพจของเขาด้วยว่าจะไม่ไปประชุม โดยมีรายละเอียดการชี้แจงดังนี้

"พรุ่งนี้ ผมไม่ไปประชุม

พรุ่งนี้ 22 เมษายน กกต. นัดหมายให้หัวหน้าพรรคการเมืองมาประชุมหารือและรับทราบความคิดเห็น ในประเด็นการกำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งใหม่ ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ผมตัดสินใจว่าจะไม่ไปร่วมประชุม เพราะไม่เห็นเหตุผลความจำเป็นต้องหารือ อย่าหาว่าไม่ให้ความร่วมมือ ด้วยมีเหตุผลดังนี้

1. พรรคการเมืองทุกพรรค ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความร่วมมือในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอย่างเต็มที่ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายตั้งแต่วันสมัครจนถึงวันเลือกตั้ง เพราะมีม็อบมาปิดล้อมจนเกิดเหตุการณ์รุนแรง มีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย

2. บรรดาพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายมากมาย แต่การเลือกตั้งกลับถูกสั่งให้เป็นโมฆะ

3. ไม่มีหลักประกันว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่มีการปิดกั้นขัดขวางจากม็อบสุเทพ ซ้ำร้ายยังประกาศอีกว่า หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็จะพาม็อบไปปิดล้อมเหมือนเดิม

4. การปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งแม้เพียงหน่วยเดียว ก็จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะทันที

5. กกต. ยังมิได้แสดงให้สังคมได้เห็นว่า สามารถจัดการเลือกตั้งจนจบสิ้นกระบวนการ กลับเป็นเงื่อนไขเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ

6. การดำเนินคดีต่อผู้ขัดขวางการเลือกตั้งยังไม่ได้ปรากฏชัด ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าใครเป็นผู้สนับสนุนการขัดขวาง แถมยังท้าทายการปิดกั้นการเลือกตั้งอยู่ทุกวี่ทุกวัน

พรรคการเมืองทุกพรรคยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ ได้ปฏิบัติตาม กกต. ในการลงเลือกตั้ง ไม่ใช่ผู้ที่ก่อให้เกิดปัญหา อีกทั้งการกำหนดวันเลือกตั้งก็ไม่ใช่หน้าที่ของบรรดาพรรคการเมือง การประชุมหารือจึงกลายเป็นเครื่องมือ "ตกแต่งความชอบธรรม"

ที่ กกต. ควรจะหารือด้วยคือ พรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียว คุณอภิสิทธิ์หัวหน้าพรรคคงจะไปร่วมประชุมพรุ่งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย แต่คงยืนยันว่าต้องปฏิรูปก่อนแล้วจึงเลือกตั้ง เพราะอย่างไรเสียก็ไม่สามารถทอดทิ้งคุณสุเทพเอาไว้เฝ้าถนนคนเดียวได้

คุณอภิสิทธิ์เป็นสุภาพบุรุษ จบการศึกษาจากมหาวิทลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จึงไม่มีทางที่จะผิดคำสัญญากับคุณสุเทพ

พรุ่งนี้ใครจะไปประชุมก็ไปเถอะครับ ผมขออยู่บ้านรดน้ำต้นไม้ ต้นไม้จะเจริญงอกงามเป็นประโยชน์ ดีกว่าไปแสดงละครให้ใครบางคนได้ดูเป็นพระเอกเป็นไหนๆ ทั้งๆที่ในชีวิตจริงนั้น เป็นผู้ร้ายชัดๆ"

 

ผบ.ทอ.ปฏิเสธข่าวเหล่าทัพร่วมออกแถลงการณ์ ศอ.รส. 7 ข้อ

ส่วนกรณีเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รองผู้อำนวยการ ศอ.รส. อ่านแถลงการณ์ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ฉบับที่ 1 เรื่อง ข้อเรียกร้องต่อฝ่ายต่าง ๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย มีข้อเรียกร้อง 7 ข้อ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)โดยมีการระบุว่าการออกแถลงการณ์ของ ศอ.รส. ผ่านการหารือร่วมกันกับหัวหน้าส่วนราชการ และที่ปรึกษา ศอ.รส. อันประกอบด้วยทหารทุกเหล่าทัพ ตำรวจ พลเรือน และหน่วยงานด้านความมั่นคงทุกหน่วยนั้น

ล่าสุดนั้นจากรายงานของ มติชนออนไลน์เมื่อวันที่ 20 เม.ย. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ได้ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธการออกแถลงการณ์ดังกล่าว โดยระบุว่า ผู้แทนเหล่าทัพทำหน้าที่เพียงให้ข้อมูล ข้อเสนอ หรือการแสดงความคิดเห็น แต่ไม่สามารถตกลงใจหรือปฎิเสธเรื่องใดๆ ในที่ประชุม ศอ.รส.ได้ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญ เพราะผู้แทนจะต้องทำรายงานในที่ประชุม ศอ.รส. เพื่อเสนอให้ ผบ.แต่ละเหล่าทัพ ได้รับทราบทุกครั้ง และถ้าเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ผบ.เหล่าทัพ ก็จะมาหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก่อนจะมีมติเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวทางเหล่าทัพยังไม่มีโอกาสหารือกันเลย ถ้าจะให้พูดเป็นการแจ้งให้ทราบโดยผ่านตัวแทนเหล่าทัพเท่านั้น

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวด้วยว่า การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวคงไม่ถึงกับมัดมือชก เพราะดูจากคำสัมภาษณ์ไม่ได้อ้างว่า ผ่านความเห็นชอบจาก ผบ.เหล่าทัพ แต่บอกว่าผ่านการหารือร่วมกันจากตัวแทนเหล่าทัพ ตรงนี้ต้องแยกแยะให้ออก เพราะการประชุมไม่ว่าจะเป็นการประชุมอะไรก็ตาม บางครั้งเป็นการขอมติที่ประชุม บางครั้งก็แค่แจ้งให้ทราบว่าจะดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ให้เหล่าทัพออกมาปฏิเสธนั้น พล.อ.อ.ประจินระบุว่า ต้องขอเวลาหารือกันในส่วนของเหล่าทัพก่อน เรื่องนี้คงต้องคุยกันอยู่แล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles