ประชุมพรรคการเมืองขนาดเล็ก 30 พรรค เสนอเลือกตั้ง 15 มิ.ย.นี้ เรียกร้องพรรคประชาธิปัตย์ร่วมหารือกับ กกต. ด้าน ปลัดกระทรวงยุติธรรม ชี้ถึงเวลาทุกฝ่ายต้องคุยกัน ก่อนกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ แนะแนวทางเลือกตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อการปฏิรูป ทำข้อตกลงกับรัฐบาลผสมหลังเลือกตั้ง หากไม่มีฝ่ายค้านยิ่งเป็นผลดีต่อการปฏิรูป
18 เม.ย. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ พรรคการเมืองขนาดเล็ก 30 พรรค รวมตัวกันโดยใช้ชื่อกลุ่มสหพรรคประชาธิปไตย จัดประชุมหารือหัวข้อ “ประชาชนปฏิรูป” โดยนายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ แถลงว่า ที่ประชุมเสนอทางออกประเทศไทย สนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้งในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ พร้อมเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ 3 คน ประกอบด้วย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายศุภชัย พานิชภักดิ์ และ นพ.บุญ วนาสิน แต่ทั้งนี้ บุคคลเหล่านี้ต้องเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งด้วย
ทั้งนี้ นายสุรทิน ยืนยันกลุ่มสหพรรคประชาธิปไตยจะเข้าร่วมหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 22 เมษายนนี้ และเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งและรูปแบบการรับสมัครผู้สมัคร ส.ส.
ปลัด ยธ.เสนอแนวคิดแก้ขัดแย้ง เลือกตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อการปฏิรูป
สำนักข่าวไทยยังรายงานว่านายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) อดีตคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เปิดเผยว่า ในช่วงเวลานี้ ที่ยังไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ และจะมีการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งกับพรรคการเมือง ในวันที่ 22 เมษายนนี้ ตนมองว่ายังเป็นเวลาที่ทุกฝ่ายคุยกันได้ก่อนที่เส้นทางจะตีบตัน ถ้าทุกพรรคเห็นปัญหาขัดแย้ง และเปลี่ยนกรอบความคิดเรื่องการช่วงชิงมาทำเพื่อบ้านเมือง โดยทุกฝ่ายร่วมกันกำหนดให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเป็นการเลือกตั้งรัฐบาลเพื่อการปฏิรูป ซึ่งรัฐบาลนี้จะอยู่ไม่นานและมีภารกิจเพื่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศเท่านั้น เท่าที่ตนได้ฟังจากทุกฝ่าย ก็พบว่าเวลานี้ทุกฝ่ายต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ กปปส.เท่านั้นที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง โดยหากกำหนดและประกาศชัดเจนเลือกเพื่อเป็นรัฐบาลเฉพาะเพื่อการปฏิรูป เชื่อว่าจะทำให้โฉมหน้าของผู้สมัครทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบเขตของทุกพรรคเปลี่ยนไป ใครที่เป็นคนที่มีปัญหาก็ถอยออกจากปาร์ตี้ลิสต์ และควรมีการตกลงกันก่อนที่จะกำหนดวันเลือกตั้ง เพราะถ้ากำหนดวันเลือกตั้งไปและนำมาซึ่งความขัดแย้งที่ยังมีอยู่ ก็ไม่เป็นประโยชน์
นายกิตติพงษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า รัฐบาลเพื่อการปฏิรูป จะเป็นรัฐบาลช่วงเวลาสั้นๆ ทำภารกิจเพื่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ระบบต่างๆ ของประเทศดีขึ้น ซึ่งเป็นตามวิถีทางประชาธิปไตยแบบสากล ที่มีตัวอย่างในหลายประเทศ โดยให้มีการเลือกตั้งก่อน และเมื่อได้เลือกตั้งมาแล้ว ก็ตั้งเป็นรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลผสม (Multiparty) จากทุกพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมา ถ้าไม่มีฝ่ายค้านเลยก็ยิ่งเป็นผลดีต่อการปฏิรูป เพราะมีอาเจนด้าเดียวกัน สำหรับการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ หากมีระยะเวลาทอดยาวถึง 90 วันก็อาจทำให้ได้ทำประชามติไปควบคู่ได้ด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai