Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

‘ศอ.รส.’ แถลง 7 ข้อเรียกร้องทุกฝ่ายร่วมแก้ไขปัญหา- 'ปชป.'จ่อเอาผิดฐานกบฏ

$
0
0
ศอ.รส.ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรื่อง ข้อเรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย ด้าน ‘ชวนนท์’ เตรียมเอาผิด แถลงการณ์ ศอ.รส.ยกชุด ชี้เข้าข่ายฐานกบฏ 8 ข้อ ล่วงอำนาจตุลาการ จี้ ‘ยิ่งลักษณ์’ เร่งเอาผิด
 
17 เม.ย. 2557 เว็บไซต์ thaigov.go.thรายงานว่า เวลา 13.00 น.ที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รองผู้อำนวยการ ศอ.รส. พร้อมด้วย นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขาธิการ ศอ.รส. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ ผกก.ฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 1 รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะทำงานเลขาธิการ ศอ.รส. แถลงการณ์ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ฉบับที่ 1 เรื่อง ข้อเรียกร้องต่อฝ่ายต่าง ๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย ดังนี้
 
ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. เป็นหน่วยงานพิเศษที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดย ศอ.รส. มีภารกิจสำคัญในการสนธิกำลังทั้งข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต่างๆ เพื่ออำนวยการและปฏิบัติการให้เกิดความเรียบร้อยในทุกๆ มิติ ทั้งในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และสังคมในภาพรวม
 
ตลอดเวลา 30 วันที่ได้มีการจัดตั้ง ศอ.รส. ให้ทำหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการทั้งปวงให้เกิดความสงบเรียบร้อยได้ตลอดมาในระดับหนึ่งนั้น ขณะนี้มีข้อมูลอย่างเพียงพอที่ได้บ่งชี้ว่าจะเกิดความรุนแรงและเหตุร้ายขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบของศอ.รส. โดยเฉพาะการระดมจัดมวลชนให้มีการชุมนุมใหญ่ทั้งของ กปปส. และ นปช. และกลุ่มอื่น ๆ ในลักษณะท้าทายและแข่งขันกัน ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือการวินิจฉัยขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ 2 องค์กร คือคณะกรรมการ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ
 
กล่าวคือคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำลังจะวินิจฉัยว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้รัฐเสียหาย กรณีโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ ซึ่งหากวินิจฉัยว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีมูลแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ซึ่งกรณีเช่นนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่านายกรัฐมนตรีจะต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 181 หรือจะให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเข้าปฏิบัติหน้าที่แทนเพื่อให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้โดยไม่เกิดสุญญากาศทางการบริหารประเทศ
 
ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญนั้นกำลังจะมีคำวินิจฉัยว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกระทำการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ตามมาตรา 266 แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 266 ดังกล่าว รัฐมนตรีทั้งคณะก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 180 ซึ่งแม้มาตรา 181 จะบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ก็มีการคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญจะได้วินิจฉัยเกินจากรัฐธรรมนูญ คือวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งโดยจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 181 อีกไม่ได้
 
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดสุญญากาศตามที่ กปปส. และกลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มต้องการเพื่อนำไปสู่การทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งมีการอ้างมาตรา 3 และมาตรา 7 ในขณะที่กลุ่ม นปช. และกลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มก็จะไม่ยอมรับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกินจากรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ตลอดจนการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ดังกล่าวข้างต้นด้วย ซึ่งขณะนี้ก็ได้ปรากฏเป็นข้อมูลและข้อเท็จจริงของการเผชิญหน้าและการท้าทายที่จะจัดการชุมนุมใหญ่ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย และจะนำไปสู่การปะทะกันและก่อเหตุร้ายต่อกันและกันแล้ว
 
ศอ.รส. มีความกังวลและห่วงใยต่อสถานการณ์ในขณะนี้เป็นอย่างมากเพราะขณะนี้ความขัดแย้งและการจัดแนวร่วมของแต่ละฝ่ายขยายตัวในวงกว้างมีกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนและคัดค้านแต่ละฝ่ายจำนวนมาก และมีการกล่าวหาว่าองค์กรอิสระบางองค์กรเป็นแนวร่วมกับบางกลุ่มด้วย ตลอดจนมีความพยายามจัดการเลือกตั้งให้เนิ่นช้าออกไปเพื่อให้ปัญหาลุกลามและเกิดสุญญากาศตามแนวทางของบางฝ่าย
 
เพื่อบรรลุภารกิจของ ศอ.รส. ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาความไม่สงบอันเกิดจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงในขณะนี้ ศอ.รส. โดยมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศอ.รส. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานที่ปรึกษา ศอ.รส. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษา ศอ.รส. นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศอ.รส. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศอ.รส. พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอ.รส. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ในฐานะเลขาธิการ ศอ.รส. และหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้แทนซึ่งรวมเป็นฝ่ายบริหาร และที่ปรึกษา ศอ.รส. อันประกอบด้วยทหารทุกเหล่าทัพ ตำรวจ พลเรือน และหน่วยงานด้านความมั่นคงทุกหน่วย ซึ่งได้ร่วมประชุมปรึกษากันแล้ว เห็นสมควรออกแถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อเรียกร้องต่อองค์กรกลุ่มบุคคล คณะรัฐมนตรี และกลุ่มแกนนำผู้ร่วมชุมนุมตลอดจนพี่น้องประชาชน ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการสร้างสถานการณ์หรือแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือรักษาความสงบเรียบร้อยโดยขอให้แต่ละฝ่ายดำเนินการดังต่อไปนี้
 
1. คณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้วยความเคารพต่อองค์กรและเห็นถึงบทบาทอันสำคัญ แต่มีความกังวลในตัวคณะกรรมการบางคน ศอ.รส. จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินคดีและมีคำวินิจฉัยต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในกรณีโครงการรับจำนำข้าวอย่างตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติเป็น 2 มาตรฐานที่แตกต่างกันระหว่างคนของพรรคฝ่ายค้านและกับพรรคฝ่ายรัฐบาล โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องปฏิบัติตามจริยธรรมอันเป็นมาตรฐานสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
 
2. ศาลรัฐธรรมนูญด้วยความเคารพต่อองค์กรและเห็นถึงความสำคัญ แต่มีความกังวลในตัวตุลาการบางคน ศอ.รส. จึงขอเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและมีคำวินิจฉัยต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในกรณีการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อย่างตรงไปตรงมา เพราะเมื่อเป็นการกระทำในอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีแล้วก็ไม่อาจเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงได้ และประการสำคัญอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไม่วินิจฉัยเกินเลยไปถึงขนาดว่าหากความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้ว รัฐมนตรีทั้งคณะจะต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามมาตรา 180 โดยจะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามมาตรา 181 อีกไม่ได้ ซึ่งจะเป็นการวินิจฉัยเกินกว่ารัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิบัติตามจริยธรรมและคำถวายสัตย์อันเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องยึดถือในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
 
3. คณะรัฐมนตรีศอ.รส. ขอเรียกร้องว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินกว่ารัฐธรรมนูญตามที่กล่าวมาในข้อ 2 แล้ว คณะรัฐมนตรีจะต้องแก้ไขปัญหามิให้เกิดสุญญากาศเพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเสียเอง คณะรัฐมนตรีก็ชอบที่จะทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากการอยู่ในตำแหน่งตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินจากรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะคณะรัฐมนตรีได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง การจะพ้นไปก็สมควรที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พ้นไป มิใช่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ชี้ขาดเสียเองโดยฝ่าฝืนมาตรา 181 ดังกล่าว โดยในระหว่างทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยนั้นให้กราบบังคมทูลด้วยว่าคณะรัฐมนตรีจะคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 181 การทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยเช่นนี้ก็เพื่อให้เกิดข้อยุติอันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของบ้านเมืองโดยมิต้องเกิดการใช้กำลังของกลุ่มคน 2 กลุ่มเข้าก่อเหตุร้ายต่อกัน และป้องกันมิให้คณะรัฐมนตรีกระทำผิดตามมาตรา 181 ด้วย
 
ศอ.รส. เห็นว่ามาตรา 181 เป็นหลักการอันสำคัญของการบริหารประเทศที่ป้องกันไม่ให้เกิดสุญญากาศหรือช่องว่างโดยจะไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้เป็นอันขาดในทุก ๆ กรณี ซึ่งในอดีตรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็บัญญัติไว้ทำนองเดียวกับมาตรา 181
 
อนึ่ง ข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้นนั้นรวมถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้วินิจฉัยว่าข้อกล่าวหาต่อนายกรัฐมนตรีมีมูล และนายกรัฐมนตรีต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 272 ด้วย
 
4. คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ศอ.รส. ขอเรียกร้องให้รับผิดชอบในการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว เพื่อจะได้มีรัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ และการชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ จะยุติลงทันที และการแสดงพฤติกรรมของ กกต. บางคนที่ประกาศชัดเจนว่าจำเป็นต้องเอนเอียงเข้าข้างบางฝ่ายนั้น เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรอย่างยิ่งและเข้าข่ายผิดต่อกฎหมายด้วย
 
5. แกนนำของ กปปส. และ นปช. ศอ.รส. ขอเรียกร้องให้ยุติการชุมนุมและไม่ปลุกระดมเรียกคนเข้าร่วมชุมนุมใหญ่เพราะจะเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อการกระทบกระทั่ง และก่อเหตุร้ายต่อกันและกัน หากแกนนำยังคงฝ่าฝืนจนเกิดเหตุร้าย แกนนำทุกคนทุกกลุ่มจะต้องรับผิดชอบต่อการทำผิดกฎหมายทั้งทางอาญาและทางแพ่งอย่างถึงที่สุด
 
6. หัวหน้าส่วนราชการ ศอ.รส. ขอเรียกร้องต่อหัวหน้าส่วนราชการระดับสูง อันได้แก่ ปลัดกระทรวง เลขาธิการ อธิบดี และหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออื่น ๆ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในราชการอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะการบริหารจัดการให้ส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สามารถปฏิบัติงานให้บริการประชาชนได้อย่างดีตามปกติ โดยไม่ถูกบุกรุกหรือปิดล้อมจนไม่สามารถให้บริการได้ รวมถึงการกำชับ ตักเตือน และดูแลให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกับกิจกรรมใด ๆ ที่อาจเข้าข่ายสนับสนุนแกนนำของกลุ่มเรียกร้องที่กระทำผิดกฎหมายและอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี เช่น กลุ่ม กปปส. และกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งหัวหน้าส่วนราชการจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีและเหมาะสมด้วย
 
7. พี่น้องประชาชน ศอ.รส. ขอเรียกร้องให้งดเว้นการเข้าร่วมชุมนุมไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม กปปส. และกลุ่ม นปช. หรือกลุ่มอื่นใด เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและเหตุร้ายที่จะรุนแรงขึ้นแล้วยังเป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของผู้เข้าร่วมชุมนุมด้วย และขณะนี้แกนนำของทุกฝ่ายได้พยายามใช้การปลุกระดมในลักษณะสงครามทางจิตวิทยาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อฝ่ายตนและเพิ่มความเกลียดชังฝ่ายอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องประชาชนจะต้องมีสติ และใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบให้มากที่สุดก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อตามคำยุยงแล้วกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ศอ.รส. มีความมั่นใจอย่างไรว่าแถลงการณ์ฉบับนี้จะลดระดับความร้อนแรงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ได้ นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รองผู้อำนวยการ ศอ.รส. กล่าวว่า คิดว่าตอนนี้ไม่มีใครที่จะตอบได้ว่ามั่นใจแค่ไหน แต่ ศอ.รส. พยายามที่จะทำให้ดีที่สุด การที่มีแถลงการณ์วันนี้เพื่อจะเตือนทุกฝ่ายให้เห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมือง ไม่ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง เรื่องความมั่นใจนั้นยังตอบไม่ได้ แต่จะทำให้ดีที่สุด
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเรียกร้องข้อที่ 3 ต่อคณะรัฐมนตรีนั้น รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องทำตามหรือไม่ นายชัยเกษมกล่าวว่า แถลงการณ์ของ ศอ.รส. ออกมาจากการปรึกษาหารือกันใน ศอ.รส. ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับรัฐบาล เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่รัฐบาล ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เห็นว่าจะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายที่เห็นต่างกับรัฐบาลก็มองว่าเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ นายชัยเกษมกล่าวว่า ที่ ศอ.รส. แถลงการณ์ออกมา เป็นการเตือนทุกฝ่ายในส่วนที่ทุกฝ่ายควรจะทำเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในความคิดเห็นของ ศอ.รส. ฉะนั้นคนที่เห็นต่างย่อมจะมีได้ แล้วแต่จะวิพากษ์วิจารณ์กันไป อยากจะให้ทุกฝ่ายที่ ศอ.รส. ได้กล่าวถึง ได้ทำในสิ่งที่ ศอ.รส. ได้ระดมสมองและแนะนำว่าควรจะเป็นอย่างนี้ เพราะน่าจะเป็นหนทางที่จะช่วยให้มีความสงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองได้
 
“แนวความคิดของผม ถ้าไม่มีทางที่จะทำอะไรประการอื่นได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินนอกกฎหมาย นอกรัฐธรรมนูญ ไม่มีทางใดทำได้เราก็มีอย่างเดียว ต้องพึ่งพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นี่คือแนวความคิด ซึ่ง ศอ.รส. เห็นพ้องด้วยว่าถ้าดำเนินไปอย่างนั้น อย่างน้อยบ้านเมืองก็ไม่เป็นสุญญากาศ และไม่เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างบุคคลที่ไม่เห็นด้วย” นายชัยเกษมกล่าว
 
 
 
'ปชป.'จ่อเอาผิด 'ศอ.รส.'ฐานกบฏ ปมแถลง 7 ข้อเรียกร้อง
 
ในวันเดียวกัน (17 เม.ย. 2557) ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแถลงการณ์ของ ศอ.รส.ตั้งคำถามว่าเป็นมติของ ศอ.รส.จริงหรือไม่ เนื่องจากเป็นการแถลงก่อนการประชุม โดยมีนายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม กับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดนายชัยเกษมก่อนหน้านี้ แต่หลายครั้งที่อ้างว่าเป็นมติ ศอ.รส.ที่ผ่านมา เป็นการแอบอ้างว่าที่ประชุมมีมติ เพราะแถลงการณ์ ศอ.รส.ครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำลายประเทศไทยในภาพรวมยับเยิน เพราะพาดพิงการทำงานขององค์กรอิสระ และชี้นำให้กระด้างกระเดื่องสั่งการให้ ครม.ปฏิเสธคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
 
รวมทั้งแนะนำให้มีการขอพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งขัดกฎหมายถึงเข้าข่ายกบฏ หากกรรมการ ศอ.รส.คนใดมีส่วนร่วมในการออกแถลงการณ์ครั้งนี้ ก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย โดยพรรคจะตรวจสอบจริงจังเพื่อดำเนินคดีกับผู้คิดเป็นกบฏต่อประเทศ และขอให้กำลังใจองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุล ทั้งป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ ให้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อรักษาความถูกต้องให้กับบ้านเมือง
 
นายชวนนท์ กล่าวต่อว่า แถลงการณ์ของ ศอ.รส.ครั้งนี้ เข้าข่ายผิด 8 ข้อ คือ 1. เป็นการทำงานเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ศอ.รส. 2. บิดเบือนข้อเท็จจริง ให้ร้ายองค์กรอิสระอย่างไม่เป็นธรรม 3. เป็นการข่มขู่องค์กรถ่วงดุลของระบบตรวจสอบและข่มขู่กระบวนการยุติธรรม 4. ตั้งตนเป็นศาลรัฐธรรมนูญเสียเอง เป็นกระบวนการยุติธรรม วินิจฉัยเองว่าอะไรเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ทั้งก้าวล่วงอำนาจตุลาการอย่างร้ายแรงของฝ่ายบริหาร
 
5. ปฏิเสธกระบวนการตามรัฐธรรมนูญของประเทศ 6. แถลงการณ์โจมตีโครงสร้างอำนาจอย่างร้ายแรงจึงอาจเข้าข้อหากบฏ ผู้ที่มีส่วนร่วมในการออกแถลงการณ์นี้จึงมีความผิดด้วย ส่วนข้าราชการยังเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรง
 
ส่วนฝ่ายการเมืองจะมีความผิดตามมาตรา 157 ของกฎหมายอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งทีมกฎหมายพรรคจะดำเนินคดีต่อไป 7. มีการกดดันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำปัญหาของรัฐบาลไปเป็นภาระของพระองค์ท่านซึ่งไม่บังควรอย่างยิ่ง
 
และ 8. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กอ.รมน. ต้องดำเนินคดีกับ กรรมการ ศอ.รส. ที่ปฏิบัติหน้าที่เกินขอบเขตทั้งทางวินัยและอาญา หากไม่ดำเนินการกับบุคคลเหล่านี้ เท่ากับรู้เห็นเป็นใจกับแถลงการณ์นี้ ที่สอดรับกับการขอขยายเวลาในการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในคดีการสิ้นสภาพความเป็นนายกรัฐมนตรี กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกไปอีก 15 วัน
 
นายชวนนท์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ระบุเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้งนั้น ขอให้นายสุรพงษ์ออกมาขอโทษประชาชนก่อน และแถลงการณ์ ศอ.รส. ที่กระด้างกระเดื่องต่อระบบปกครองของประเทศ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้กำลังทำการปฏิวัติเพื่อกระชับตัวเอง โดยการไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรศาล ขอให้ใช้พระบรมราชวินิจฉัยเพื่อเลือกนายกฯ เอง เป็นการปฏิวัติเงียบเพื่อคงสถานะในการอยู่ในอำนาจต่อไป โดยแสดงบทบาทความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ชัดเจน ทั้งที่เป็นรัฐบาลรักษาการ ซึ่งหากนายสุรพงษ์มีส่วนร่วมในการออกแถลงการณ์นี้ก็ต้องร่วมรับผิดในทางกฎหมายด้วย
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles