17 เม.ย.2557 ที่ห้องพิจารณาคดี 406 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นาย อ.วัย 65 ปีว่ากระทำความผิดโดยการขายหนังสือกงจักรปีศาจ (The Devil’s Discus) ในที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สวนลุมพีนีเมื่อ 2 พ.ค.49 โดยศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากยังมีเหตุแห่งความสงสัยว่า นายอ. ซึ่งเป็นเพียงผู้ขายหนังสือในลักษณะเร่ไปยังที่ต่างๆ จะรับทราบถึงข้อความ 6 ข้อความในหนังสือกงจักรปีศาจตามฟ้อง และในทางนำสืบของโจทก์ก็
ภาพจากวิกิพีเดีย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคำพิพากษาปรากฏการพิจารณาคดีนี้ใน 2 ประเด็น
ประเด็นแรกเป็นส่วนของเนื้อหาในหนังสือว่าผิดมาตรา 112 หรือไม่ โดยอัยการได้ส่งฟ้อง 6 ข้อความจากหนังสือซึ่งหนากว่า 622 หน้าว่าเป็นข้อความที่เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ประเด็นนี้ศาลได้อ้างถึงคำให้การพยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจสันติบาล, พยานผู้ให้ความเห็นซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์, ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม พยานโจทก์ทั้งหมดมีความเห็นว่าได้อ่านข้อความตามที่พนักงานสอบสวนสำเนามาให้ โดยไม่ได้อ่านทั้งเล่ม แต่เท่าที่อ่านเห็นว่าเป็นข้อความที่เข้าข่ายมาตรา 112 ส่วนนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ พยานจำเลยซึ่งเป็นพยานรายเดียวที่อ่านหนังสือทั้งเล่มเห็นว่าหนังสือเล่มนี้ไม่เข้าข่ายความผิดและบทสรุปของหนังสือนั้นระบุว่าเหตุแห่งการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 นั้นคือการปลงพระชนม์พระองค์เอง ท่ามกลางทฤษฎีต่างๆ ที่มีผู้สงสัย
ศาลชี้ว่า หากผู้เขียนต้องการพิสูจน์ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลปลงประชนม์พระองค์เองก็สามารถเขียนถึงความเชื่อโดยยกเหตุผลขึ้นมากล่าวอ้างได้โดยไม่ต้องกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และนำพระองกค์เข้ามาเกี่ยวข้องให้ต้องเสื่อมเสียพระเกียรติยศ อีกทั้งผู้เขียนก็ไม่มีหลักฐานมายืนยันหรือสนับสนุนความเห็นของตนเองด้วย เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้เขี
ประเด็นที่สอง จำเลยมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลระบุว่าเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยมีแผงขายของในที่ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งมีสินค้าหลากหลายทั้งเสื้อ หมวก กองหนังสือเก่า ตำรวจนอกเครื่องแบบอยู่บริเวณดังกล่าวในเวลาประมาณ 20.30 น.ของวันที่ 2 พ.ค.49 และเห็นว่าบนกองหนังสือด้านบนมีหนังสือฟ้าเดียวกันฉบับที่ถูกแบน ใต้หนังสือฟ้าเดียวกันมีหนังสือกงจักรปีศาจและหนังสือการเมืองสมัยท้าวสุรนารี จึงได้ซื้อหนังสือกงจักรปีศาจและการเมืองสมัยท้าวสุรนารี ในราคาเล่มละ 500 บาท ส่วนจำเลยระบุ มีอาชีพขายของตามที่ชุมนุม กรณีที่เป็นคดีนี้เพราะมีคนมาฝากขายหนังสือดังกล่าว 2 เล่มจึงรับไว้ โดยไม่ได้เปิดดูและไม่เคยอ่านหนังสือดังกล่าว การฝากขายหนังสือเป็นเรื่องปกติ ผู้ที่มาฝากจะมารับเงินหลังจากงานเลิก อย่างไรก็ตาม จำเลยไม่ใช่ผู้เขียน ผู้แปล การจะฟังว่าจำเลยมีความผิด จำเลยต้องรู้ข้อเท็จจริงว่ามีข้อความทั้ง 6 ข้อความในหนังสือ นอกจากนี้โจทก์ไม่ได้มีพยานยืนยันว่าจำเลยรู้ถึงข้อความในหนังสือมาก่อน ยังมีความสงสัยว่าจำเลยเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับ 6 ข้อความตามฟ้อง การที่จำเลยนำหนังสือมาวางขาย ยังถือไม่ได้ว่ามีเจตนากระทำความผิดตามมาตรา 112 คดีอาญา โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้สิ้นสงสัย กรณีนี้ยังมีความสงสัยจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
พิพากษายกฟ้อง และให้ริบหนังสือกงจักรปีศาจของกลาง ลงชื่อผู้พิพากษา นายวิรัตน์ กาญจนเลขา, นางสาวกฤษณา จิตวิริยะยิ่งยง
ภาพทนายและจำเลย (ซ้ายสุด) เดินทางกลับบ้านหลังฟังคำพิพากษา
นายยิ่งชีพ อัฌชานนท์ หนึ่งในทีมทนายจำเลย ให้สัมภาษณ์ภายหลังฟังคำพิพากษาว่า คำพิพากษาในคดีนี้ได้สร้างบรรทัดฐานบางประการเกี่ยวกับการพิจารณาเนื้อหาใดๆ ว่าอะไรหมิ่นหรือไม่ โดยศาลสั่งว่า แค่ข้อความบางส่วนก็สามารถชี้ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องอ่านข้อเขียนหรือหนังสือนั้นทั้งหมด ในกรณีนี้พยานโจทก์ทั้งหมดไม่มีใครได้อ่านหนังสือทั้งเล่มเลย มีแต่เพียงนายสุลักษณ์ ซึ่งเป็นพยานจำเลยคนเดียว ศาลน่าจะให้น้ำหนักกับปากที่อ่านหนังสือทั้งหมดทั้งภาคไทยและอังกฤษ แต่ศาลกลับชี้ว่าเป็นพยานที่ไม่มีน้ำหนัก ไม่น่าเชื่อถือ พร้อมหยิบยกพยานโจทก์ซึ่งได้อ่านเพียงสำเนาที่พนักงานสอบสวนนำไปให้ 10 กว่าหน้า
อย่างไรก็ตาม น่ายินดีที่ศาลพิจารณายกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามหลักการทางกฎหมาย เนื่องจากพยานโจทก์ทั้งหมดไม่มีใครนำสืบได้เลยว่าจำเลยรับรู้ถึงเนื้อหามาก่อน และจำเลยก็ได้ปฏิเสธมาตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ควรดำเนินคดีจนถึงชั้นพิจารณาคดี
เขาเห็นว่า แม้จำเลยในคดีนี้จะไม่ต้องติดคุกแต่คำพิพากษาก็ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ต้องการปรามและบอกแก่สาธารณะว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ผิดตามมาตรา 112
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการฟังคำพิพากษาในวันนี้ จำเลยเดินทางมาศาลเพียงลำพัง พร้อมกับทีมทนายความและจำเลยหลั่งน้ำตาหลังฟังพิพากษาเสร็จสิ้น
ทั้งนี้ นาย อ. เคยถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 1 คืนหลังอัยการสั่งฟ้องเมื่อ 27 ส.ค.56 โดยในวันรุ่งขึ้นได้รับการประกันตัว ใช้เงินสด 300,000 บาทจากเงินกองทุนยุติธรรมของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
หนังสือกงจักรปีศาจเคยเป็น ‘หนังสือต้องห้าม’ ตามคำสั่งที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้ามการขายหรือจ่ายแจกและให้ยึดสิ่งพิมพ์ โดยเจ้าพนักงานการพิมพ์ ลงวันที่ 31 พ.ค.49 ลงนามโดย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.ในขณะนั้น ก่อนจะมีการออก พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ฉบับใหม่ พ.ศ.2550
ส่วนข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดียระบุว่า กงจักรปีศาจตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2507 โดยสำนักพิมพ์แคสเซลล์ (Cassell) รัฐบาลไทยได้สั่งห้ามตีพิมพ์ในทันทีและตัวผู้เขียนเองก็ถูกห้ามเข้าประเทศไทยด้วยเช่นกัน จากนั้นหนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย ร.อ.ชลิต ชัยสิทธิเวช ในปี พ.ศ. 2517 และมีการหมุนเวียนขายอยู่ในตลาดมืดในประเทศไทย โรงพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือฉบับภาษาไทยโดนเผาทำลาย เนื้อหาของหนังสือเป็นแนวสืบสวนการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แบ่งเป็น 4 บท โดยบทท้ายมีข้อสรุปของผู้เขียนที่ว่าคำอธิบายที่น่าพอใจคือทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมปลงพระชนม์ตัวพระองค์เอง เขาสนับสนุนทฤษฏีความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและเพื่อนนักศึกษานิติศาสตร์ แมรีเลน เฟอร์รารี (Marylene Ferrari) ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับในกลุ่มสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ในสยาม