Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 9-15 เม.ย. 2557

$
0
0
 
หมดวีซ่าไม่ต้องรอ 3 ปี จ่อแก้ MOU ช่วยแรงงานต่างด้าว ทำเอกสารวันเดียวกลับเข้าไทยได้ทันที
 
(9 เม.ย.) นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดโครงการให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ด้านการนำเข้าแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย ภายใต้ MOU ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กทม. โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมกว่า 200 คนว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวทั้งพม่า กัมพูชา และลาว รวมถึงสัญชาติอื่นๆ อยู่ในประเทศไทยหลายกลุ่ม ทั้งเข้าเมืองแบบถูกกฎหมายกว่า 2.1 ล้านคน และยังมีแรงงานต่างด้าวกลุ่มอื่นๆ เช่น แรงงานที่ขึ้นทะเบียนไว้และรอพิสูจน์สัญชาติกว่า 1.8 แสนคน โดยแรงงานต่างด้าวได้เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 มีใบ ทร.38/1 อนุญาตให้อยู่ในไทยได้ชั่วคราวซึ่งมี 2 ประเภท คือ กลุ่มที่รอพิสูจน์สัญชาติแยกเป็นลาวกว่า 6 หมื่นคน กัมพูชากว่า 9 หมื่นคน และพม่ากว่า 3 หมื่นคน รวมทั้งกลุ่มประมงทะเลที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่ง กกจ. ได้แก้ไขโดยการเปิดจดทะเบียนปีละ 2 ครั้ง ขณะนี้กำลังเปิดจดทะเบียนในรอบที่สอง
       
รองอธิบดี กกจ.กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มที่ 2 แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยและทำงานในไทยตั้งแต่ปี 2552-2554 โดยวีซ่ากำลังจะหมดอายุ และกลุ่มที่มีวีซ่าหมดอายุแต่อายุพาสปอร์ตยังอยู่ในไทยได้เกิน 2 ปี โดยมีกว่า 3 แสนคน ซึ่งแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ ครม. ได้ผ่อนผันให้ไม่ต้องเสียค่าปรับและออกใบอนุญาตทำงานให้ตามระยะเวลาที่หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) หรือหนังสือเดินทางชั่วคราว (เท็มโพลรารี่ พาสปอร์ต) เหลืออยู่เพื่อแก้ปัญหาชั่วคราว ช่วยนายจ้างไม่ให้ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน และกลุ่มที่ 3 นำเข้าผ่านระบบเอ็มโอยู 230,360 คน ซึ่งในจำนวนนี้ได้อนุญาตตามบัญชีรายชื่อ 137,897 คน และออกใบอนุญาตทำงานแล้ว 132,970 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานสัญชาติกัมพูชา รองลงมาเป็นพม่า และลาว ในจังหวัดชลบุรี มากที่สุด รองลงมาเป็นปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยกลุ่มนี้มีใบอนุญาตทำงาน 4 ปี และต้องเดินทางกลับประเทศ 3 ปี แล้วจึงจะสามารถกลับเข้ามาใหม่ได้
       
“กกจ. หนักใจกับแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ 3 เพราะหากไม่แก้ไขจะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างมาก ก่อนหน้านี้ กกจ. เตรียมจะเสนอ ครม. ขอแก้ไขเอ็มโอยูเป็นให้แรงงานต่างด้าวไปดำเนินการด้านเอกสารเพียง 1 วัน และกลับเข้ามาไทยได้เลย แต่มีการยุบสภาไปก่อน ทำให้เรื่องหยุดชะงักและต้องรอรัฐบาลใหม่พิจารณา แต่ได้แก้ปัญหาเบื้องต้นโดยเมื่อเร็วๆ นี้ ครม. ได้เห็นชอบตามที่ กกจ. เสนอขอผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในไทยได้ชั่วคราวเป็นเวลา 180 วันนับตั้งแต่วันที่ ครม. เห็นชอบหรือจนกว่ารัฐบาลใหม่มาดำเนินการ ซึ่ง กกจ. ได้ตั้งศูนย์ให้บริการดำเนินการด้านเอกสารรับรอง 5 แห่ง ได้แก่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย อ.แม่สอด จ.ตาก จ.ระนอง และเตรียมจะตั้งเพิ่มอีก 2 แห่งที่ จ.สมุทรสาคร และ จ.สมุทรปราการ ในเดือน พ.ค.นี้ และทั้งสองแห่งนี้ดำเนินการเฉพาะแรงงานพม่าโดยนายจ้างของแรงงานต่างด้าวที่วีซ่าหมดอายุหรือใกล้จะหมดอายุมายื่นเอกสาร เช่น หนังสือแสดงความต้องการแรงงาน สัญญาจ้างแรงงาน บัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าวได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดในพื้นที่ได้ตั้งแต่บัดนี้” นายประวิทย์ กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 9-4-2557)
 
สปส.แนะฉลองสงกรานต์เจ็บป่วยฉุกเฉินเข้ารักษา รพ. ได้ทุกแห่ง
 
นายอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แสดงความห่วงใยลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวในวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นจำนวนมาก ขอให้เดินทางด้วยความระมัดระวัง พร้อมย้ำให้พกบัตรรับรองสิทธิฯ ติดตัวขณะเดินทางด้วย หากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้น ซึ่งหมายถึงการได้รับอุบัติเหตุหรือมีอาการเจ็บป่วยกะทันหัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือการทำงานของอวัยวะสำคัญในร่างกาย มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือเกิดอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทันที โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ประกันตน ทั้งนี้ ให้รีบแจ้งโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ทราบในทันที เมื่อโรงพยาบาลได้รักษาผู้ประกันตนให้พ้นภาวะวิกฤติแล้วจะได้ประสานส่งต่อโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ทำการรักษาผู้ประกันตนต่อไป โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อโรงพยาบาล/สิทธิประกันสังคมได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506 บริการ 24 ชั่วโมง
 
ทั้งนี้ ในวันที่ 13 เมษายนของทุกปีได้กำหนดให้เป็นวันผู้สูงอายุ นับเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ที่มีอาชีพอิสระมีอายุตั้งแต่ 65 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจะได้มีเงินออมและหลักประกันที่มั่นคงกับประกันสังคมในยามวัยชรา สปส. เชิญชวนประชาชนทั่วไปที่มีอาชีพอิสระสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (ทางเลือกที่ 3 ) ได้ทันที โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพแต่อย่างใด
 
(สำนักข่าวไทย, 10-4-2557)
 
กกจ.ประกาศยกเลิกใบอนุญาต3บริษัทจัดหางานต่างประเทศ
 
นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ทางกกจ.ได้ประกาศให้ใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศสิ้นสภาพ 2 บริษัท คือ บริษัทจัดหางานเวิลด์ คอนโทรล จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 250/41 ซอยจันทร์สว่าง 3 ถนนอุดรดุษฎี ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี และบริษัทจัดหางานแฮม.พี.เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 2 ซอยประชาชื่น 9/2 ถนนประชาชื่น ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากไม่ขอต่ออายุใบอนุญาตจัดหางานฯ 
 
พร้อมประกาศยกเลิกใบอนุญาตจัดหางานฯ ของบริษัทจัดหางานแกรนด์ เซอร์วิส (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 191 ซอยสหกรณ์ 1 (รามคำแหง 50) ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกระปิ กรุงเทพฯ เนื่องจากแจ้งความประสงค์ขอยกเลิกใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ 
     
ทั้งนี้หากผู้ใดมีเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับการจัดหางานของบริษัทดังกล่าว สามารถแจ้งนายทะเบียนจัดหางานกลาง หรือที่สายด่วนกกจ.1694 เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
 
(มติชน, 10-4-2557)
 
เครือข่ายแรงงานยื่นข้อเสนอ 14 เรื่อง เนื่องในวันกรรมกรสากล
 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วยนายอำพล ทองรัตน์ รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์  และตัวแทนสมาชิก ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม2557 "สามัคคีกรรมกร ด้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ประชาธิปไตยประชาชน"ว่า ปีนี้ยังคงแยกจัดงานกับกระทรวงแรงงานเช่นเดิม เพื่อความเป็นเอกเทศของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำสถานการณ์แรงงานในปัจจุบัน ที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยจะจัดที่หน้ารัฐสภาและจะมีการรวมตัวกันที่ลานหน้าพระราชวังดุสิต ตั้งแต่เวลา 09.00-14.00น. พร้อมเปิดเผยข้อเรียกร้องต่อสาธารณะทั้งการปราศรัย และกิจกรรมบันเทิง โดยไม่นำเสนอต่อรัฐบาล เนื่องจากมองว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรม
 
โดยแบ่งเป็นข้อเรียกร้องเร่งด่วนดังนี้ 1. ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง 2. ยุตินโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงาน ที่ขัดต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 เช่น กรณีผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย 13 คน 3. สร้างระบบสวัสดิการสังคม เช่น มีมาตรการควบคุมราคาสินค้า ลดค่าครองชีพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 4. ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ ยุติการแทรกแซงการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ โดยขาดความเป็นธรรม และ 5. ต้องเร่งปฏิรูประบบประกันสังคม ประกันสุขภาพคนทำงานถ้วนหน้า ให้โครงสร้างเป็นอิสระตรวจสอบได้ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม 6.ขอให้งดนำเข้าและยกเลิกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบแร่ใยหินและไคโซไทล์
 
ส่วนข้อเรียกร้องติดตาม 1. ต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม รวมถึงทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2554 ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี 57 และ 58 2. แก้กฎหมายเลือกตั้งทุกระดับ ให้แรงงานที่ทำงานในสถานประกอบการในพื้นที่ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้น ๆ 3. เร่งพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ อย่างจริงจัง 4. จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง 5. สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็ก ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม 6. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสวัสดิการสังคมของแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ 7.รัฐต้องยกเว้นภาษีกรณีเงินก้อนสุดท้ายของแรงงานที่เกษียณอายุ
 
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แช่เตีย รองประธาน คสรท.กล่าวถึงข้อเรียกร้องวันแรงงาน 14 ข้อ ที่เตรียมเปิดเผยต่อสาธารณชน ว่า ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ยังเป็นข้อเรียกร้องเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล พร้อมมองว่าร่างกฎหมายต่างๆ ของผู้ใช้แรงงานถูกมองข้าม จนไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยเฉพาะร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับผู้ใช้แรงงาน ทั้งนี้หากข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานไม่ได้รับการแก้ไข ก็ยังจะยื่นข้อเรียกร้องเหล่านี้ในทุกปี และเปิดเผยต่อสาธารณชนให้ได้รับทราบปัญหาของผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้รับการแก้ไข
 
ทั้งนี้เครือข่ายแรงงานยังเดินหน้าล่ารายชื่อแรงงาน เพื่อเสนอกฎหมายประกันสังคม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาอีกครั้ง หากมีรัฐบาลใหม่ หลังที่ผ่านมาเคยมีการเสนอกฎหมายดังกล่าวเมื่อรัฐบาลที่แล้วแต่ตกไป ส่วนกฎหมาย พ.ร.บ. ส่งเสริมผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวะอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ที่มีผลบังคับใช้แล้วแต่ยังไม่มีการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยฯตามที่กำหนดไว้
 
(สำนักข่าวไทย, 10-4-2557)
 
แรงงานพม่าใน จ.ระนอง นับหมื่นร่วมเล่นสงกรานต์คึกคัก
 
บรรยากาศการเล่นน้ำสงกรานต์ที่ จ.ระนอง วันนี้เป็นไปออย่างคึกคัก มีแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่ทำงานอยู่ใน จ.ระนอง กว่า 10,000 คน ออกมาร่วมเล่นน้ำสงกรานต์ โดยเฉพาะบริเวณถนนเรืองราษฏร์ในเขตเทศบาลเมืองระนอง ซึ่งเป็นโซนการเล่นสงกรานต์ รถติดยาวเหยียดกว่า 2 กม. เนื่องจากมีประชาชนทั้งในพื้นที่ จ.ระนอง นักท่องเที่ยว และแรงงานต่างด้าวมารวมตัวเล่นสาดน้ำกันเป็นจำนวนมาก
 
นอกจากนี้ที่บ่อน้ำร้อนรักษะวาริน ซึ่งเป็นโซนการเล่นสงกรานต์ด้วยน้ำแร่ศักดิ์สิทธิ์ ก็มีประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งแรงงานต่างด้าว เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
 
(สำนักข่าวไทย, 13-4-2557)
 
 
       

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles