เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ร้านหนังสือก็องดิด คลองสาน โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเพื่อสันติภาพ จัด "วงเสวนาตามหาความรุนแรงครั้งที่ 1: ความหมายระหว่างบรรทัดในวรรณกรรมไทยร่วมสมัย"ร่วมสนทนาโดย ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น นักวิจัยอเมริกันผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมืองของไทย และโช ฟุกุโตมิ นักวิจัยญี่ปุ่นผู้ศึกษาวรรณกรรมไทยร่วมสมัย ดำเนินรายการโดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนและอาจารย์ด้านการออกแบบสื่อ
ไทเรล กล่าวว่า การอธิบายหลายอย่างที่งานเขียนแบบอื่นทำไม่ได้ วรรณกรรมทำได้มากกว่า เวลาที่สอนหนังสือ ไม่ว่าด้านรัฐศาสตร์ หรือสิทธิมนุษยชน พบว่าแม้ว่าจะมีบทความวิชาการที่เขียนดีมาก แต่วรรณกรรม บทกวี ละคร หรือนวนิยาย จะทำให้เข้าถึงได้มากกว่า
ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงวรรณกรรมกับความรุนแรง ไทเรลบอกว่า เวลาที่อ่านจะนึกถึง 3 ประเด็น คือ หนึ่ง เวลา แบ่งเป็นเวลาของเรื่องเล่าและเวลาที่ถูกอ่าน วิธีการหาความหมายต่างกันอย่างไร สอง ความหมายของความรุนแรง โดยสนใจวิธีการเขียนเกี่ยวกับความรุนแรง ทั้งแบบที่เล่าโดยตรง โดยอ้อม หรือไม่พูดถึง แต่ใช้ความเงียบอธิบาย เช่น เรื่องพันเอก (The Colonel โดย Carolyn Forche) ที่เขียนในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกาใต้ บทกวีนี้เริ่มด้วยเรื่องเล่าชีวิตธรรมดา แต่ต่อมาก็เล่าถึงตัวพันเอกที่นำหูของคนที่ถูกสังหารเข้ามาในบ้าน บทกวีนี้เป็นการบันทึกเหตุการณ์สงคราม-ความขัดแย้งทางสังคมที่ชัดมาก หรือ หนังสือรักเอย หนังสืองานศพอำพลหรืออากงเอสเอ็มเอส นักโทษตามความผิดมาตรา 112 ที่เขียนโดยรสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของเขา เล่าถึงชีวิตคู่ระหว่างเธอกับอำพล แม้จะไม่ค่อยพูดถึงมาตรา 112 หรือเรื่องของสถาบันฯ แต่ก็เหมือนจะมีอยู่ในทุกหน้า
"การไม่พูดถึงเป็นการพูดถึงที่ดังมาก เป็นความเงียบที่ไม่ค่อยเงียบเท่าไหร่"ไทเรล กล่าว
ไทเรล กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สาม เธอสนใจฐานะของผู้เขียนกับผู้อ่าน ในฐานะผู้สังเกตความรุนแรง หลังจากได้บันทึกหรือสังเกต จะเปลี่ยนชีวิตยังไง ทำให้ผู้เขียนหรือผู้อ่าน เลือกจะต่อต้านความรุนแรง ทำงานเพื่อสันติภาพ หรือลดความรุนแรงอย่างไร เพราะสนใจพลังของวรรณกรรม และตั้งคำถามว่าวรรณกรรมควรจะมีบทบาทอย่างไร
"ในฐานะผู้อ่าน คิดว่าวรรณกรรมมีบทบาทเป็นพิเศษในการทำให้คนรู้สึกสะเทือนใจและลุกขึ้นเปลี่ยนโลก โดยส่วนตัวให้น้ำหนักกับบทบาทของวรรณกรรม เพราะประสบการณ์ของตัวเอง ที่ชีวิตและความต้องการความยุติธรรมมาจากนวนิยายที่อ่าน บทกวีที่อ่านโดยตรง"
ด้านอนุสรณ์ ติปยานนท์ แลกเปลี่ยนโดยเล่าถึงการเสวนากับนักเขียนซึ่งอยากจะรวบรวมวรรณกรรมไทยในช่วง 40 ปี คือ ตั้งแต่ 2516-2556 มีพัฒนาการไปอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย โดยได้รวบรวมวรรณกรรมงานซีไรต์ อาทิ คำพิพากษา แผ่นดินอื่น ขณะที่เขาเองมองว่านับแต่เหุตการณ์ในปี 2519 ก็ไม่มีวรรณกรรมจากผู้ถูกกระทำอีกเลย พอมาเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2553 นักเขียนก็อยู่ในภาวะกระอักกระอ่วนและชะงักงัน น้อยมากที่จะมีงานที่ตกผลึก
เขาชี้ว่า และเมื่อมาดู "รักเอย"พบว่าสะท้อนความคิดของผู้ถูกกระทำจากมาตรา 112 ได้ดี และยังเหมือนเป็นวรรณกรรมเหนือจริง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอากงนั้นเหนือจริงมาก ทั้งการส่งเอสเอ็มเอสยาวๆ ได้อย่างรวดเร็วของคนวัย 60 กว่าปีและผู้พิพากษาอยู่บนฐานอคติทางความรู้สึกในการตัดสินคดี
สำหรับสถานการณ์การใช้มาตรา 112 ในปัจจุบัน เขาชี้ว่า 112 ทำให้เกิดสุญญากาศทางความคิดที่อธิบายไม่ได้ ก่อให้เกิดการตีบตันทางวรรณกรรม เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง ถือเป็นความรุนแรงอย่างเงียบๆ คำหายไปทีละคำสองคำ โดยยกตัวอย่างวิวาทะเกี่ยวกับบทอาเศียรวาทของมติชน เมื่อปีที่แล้วที่ "ฟ้า"กลายเป็นคำที่ใช้อย่างอิสระไม่ได้ หรือ คงไม่มีใครใส่เสื้อ "พ่อมึงตาย"ไปเดินถนนได้อย่างปกติ
ในประเด็นความรุนแรงในวรรณกรรม เขาชี้ว่า เมื่ออ่านงานทำให้เห็นว่าเรามักลืมไปว่าหลังเหตุการณ์ความรุนแรงจบลง มีคนตายจริงเสมอ เช่น ในงาน "ปีนตลิ่ง"ของรงค์ วงษ์สวรรค์ เล่าถึงโสเภณีที่ถูกระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้เรานึกได้ว่า ไม่มีบันทึกเรื่องนี้อยู่เลยว่าคนเหล่านี้อยู่ที่ไหน ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรืออย่างเหตุการณ์ปัจจุบัน ช่วงความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เรื่องปราสาทพระวิหาร มีคนตายแต่ไม่ถูกบันทึก และเราก็พร้อมจะทะเลาะกันอีก ในช่วงการชุมนุม กปปส. มีคนตาย 20 กว่าคน ชวนตั้งคำถามว่าเรื่องของคนตายเหล่านี้หายไปไหน จะถูกบันทึกอย่างไรต่อไปในประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ อนุสรณ์ ชี้ว่าเหตุการณ์การเมืองปัจจุบันนั้นมีลักษณะเหนือจริง หรือเป็นเรื่องแต่งเข้าไปทุกที เช่น กรณี กกต.ของไทยโพสต์เฟซบุ๊ก 7-8 ครั้งต่อวัน เรื่องการท่องเที่ยวแทนเรื่องงาน กรณี 20 ล้านเสียงที่ไปลงคะแนนเลือกตั้งถูกทำให้โมฆะ กลายเป็นว่า ไม่ว่าเรื่องเขียน หรือวิธีเขียนจะดีขนาดไหน ก็ถูกความเลื่อนเปื้อนกลบไปพอสมควร หรือเมื่อกลับไปดูเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ที่มีเด็กยืนดูคนถูกเก้าอี้ทุบด้วยความสะใจ ก็ surreal มาก
ด้านโช ฟุกุโตมิ นักวิจัยญี่ปุ่น ผู้ศึกษาวรรณกรรมไทยร่วมสมัย เริ่มโดยบอกว่าเขาสนใจความรุนแรงจากอคติและค่านิยมในใจของผู้อ่าน เขาอ่านบทกวีสองชิ้น ก่อนเฉลยว่าชิ้นหนึ่งมาจากหนังสือราษฎรที่รักทั้งหลาย ของเพียงคำ ประดับความ อีกชิ้นเป็นของ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ จากหนังสือรวมบทกวี ชื่อ กวีภิวัตน์ ที่ขายในการชุมนุม กปปส.
"ตรงนี้เป็นอคติ จริงๆ แล้วตัวบทมีสาระจากอคติก่อน พออคติเข้ามา ตัวบทมันบิดเบี้ยวไปได้ ทั้งที่บทกวีทั้งสองบท พูดถึงการสู้ของประชาชนไม่ต่างกัน แต่พอได้ข้อมูลแล้ว อยากถามว่ารู้สึกอย่างไร"โชถาม พร้อมตั้งคำถามชวนคิดว่า เวลาที่อ่านวรรณกรรม อยากชวนให้ทบทวนว่าอ่านแล้วรู้สึกยังไง เพราะอะไร
สำหรับความรุนแรงในวรรณกรรม เขายกตัวอย่างงานเขียนของปราบดา หยุ่น ช่วงปี 2545 เช่น เรื่องอะไรในอากาศ ในหนังสือ ความน่าจะเป็น ที่พูดถึงหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่มีเซ็กส์บนดาดฟ้าทั้งที่มีคนถูกป้ายโฆษณาหล่นลงมาทับตาย และเมื่อถูกตำรวจเรียกก็มีการกล่าวโทษอีกฝ่าย โดยโชชี้ว่า ความเป็นปัจเจกทำให้คนไม่สนใจเรื่องของคนอื่น ทำแต่เรื่องที่ตัวเองอยากทำ ไม่เห็นใจใคร และส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่แตกสลายในที่สุด