เก็บตกประเด็นการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลและการเตรียมพร้อมหลังมีการคืนคลื่นทีวีอนาล็อก จากเสวนา "บทบาทของกสทช. ในอนาคตทีวีดิจิตอลไทย"เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2557 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดยโครงการวิจัย NBTC Policy Watch
ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการด้านโทรทัศน์ดิจิทัล นำเสนอกรณีศึกษาด้านนโยบายและการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงจากประเทศต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับทีวีสาธารณะและทีวีดิจิทัล
สิขเรศกล่าวว่า จากการศึกษา ไม่พบประเทศใดในโลกที่มอบหมายงานเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลไว้ที่หน่วยงานกำกับดูแลเพียงหน่วยงานเดียว ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศเดียวในโลก ที่มีเฉพาะ กสทช.ดูแลงานดังกล่าว จึงเป็นภาระงานที่หนัก
ในประเทศอื่น จะมีหน่วยงานจากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐ ธุรกิจ และประชาสังคม ร่วมกันทำงาน ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักรมี Digital UK ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร เกิดจากการรวมตัวของผู้ประกอบการทั้งที่เป็นช่องโทรทัศน์ต่างๆ และผู้ให้บริการโครงข่าย ทำงานในกรอบเวลา 7 ปี (2548-2555) เพื่อช่วยให้การเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด และมีอาสาสมัครมากกว่า 10,000 คน คอยช่วยเหลือและตอบคำถามผู้ชมในการเปลี่ยนผ่าน โดยครอบคลุม 26 ล้านครัวเรือน
ความน่าสนใจของ Digital UK ก็คือ ในตอนแรกตั้งงบค่าใช้จ่ายไว้ที่ประมาณ 230 ล้านปอนด์สำหรับทั้งโครงการ แต่สุดท้ายใช้ไปเพียง 150 ล้าน ประหยัดไปมากกว่า 30% เป็นกรณีที่ประเทศไทยควรศึกษา ว่าการให้เอกชนทำนั้นสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ เพราะเอกชนนั้นมีทรัพยากรที่พร้อมใช้อยู่แล้ว โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ยกตัวอย่างของไทย ถ้าผู้ประกอบการรวมตัวกัน แต่ละสังกัดซึ่งมีดาราของตัวเอง ปล่อยตัวดารามาช่วยประชาสัมพันธ์ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน
นอกจากนี้ในช่วงต้นของการนำเสนอและช่วงแลกเปลี่ยน สิขเรศได้พูดถึงการจัดสรรคลื่นหลังจากการเปลี่ยนผ่านเสร็จสิ้น ว่า กสทช.จำเป็นต้องมองภาพล่วงหน้า ว่าจะจัดการกับคลื่นที่ปัจจุบันใช้กับทีวีอนาล็อก ว่าเมื่อได้คืนมาแล้ว จะจัดการอย่างไร
ซึ่งความเป็นไปได้ในการใช้คลื่นเหล่านี้ก็มีหลายอย่าง เช่นใช้ในงานโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ต และโครงข่ายทีวีเคลื่อนที่ โดยประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศในแอฟริกาบางประเทศ ก็เริ่มมีการใช้คลื่นช่วง UHF ดังกล่าวแล้ว
อีกกรณีหนึ่งของการจัดสรรคลื่นในอนาคตก็คือ การใช้ "คลื่นกันชน"หรือ white space ซึ่งเดิมคลื่นกันชนนี้ต้องเว้นไว้เพื่อป้องกันการรบกวนสัญญาณระหว่างช่อง แต่เทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันทำให้ไม่จำเป็นต้องเว้นแนวกันชนอีกต่อไป ทำให้มีการนำคลื่นช่วงดังกล่าวมาใช้ในกิจการอื่นๆ โดยสิขเรศยกตัวอย่าง สกอตแลนด์ ว่ามีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือการนำ white space มาใช้เพื่อกิจการอินเทอร์เน็ตไร้สายในพื้นที่ชนบท ทำให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น เนื่องจากช่วงคลื่นโทรทัศน์สามารถเดินทางได้ไกลกว่า
ด้าน ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เมื่อมีการคืนคลื่น ไม่ว่าเดิมจะถูกใช้งานสำหรับโทรคมนาคมหรือกระจายเสียง การพิจารณาจัดสรรคลื่นในรอบใหม่จะต้องถูกพิจารณาโดยคณะกรรมการชุดใหญ่ทั้ง 11 คนของ กสทช. คือมีทั้งบอร์ดโทรคมนาคมและบอร์ดกระจายเสียงทั้งหมดมาพิจารณาร่วมกัน
ธวัชชัยตอบคำถามเรื่องอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลของ กสทช.ว่า เมื่อเทียบกับองค์กรกำกับดูแลในประเทศอื่น กสทช.ของไทยทำหน้าที่หลายอย่าง เนื่องจากประเทศไทยยังขาดกลไกที่จำเป็นต้องมี เช่นในสหรัฐอเมริกา มี Federal Communications Commission (FCC) หรือ คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร ซึ่งเทียบได้กับ กสทช.ของเรา ที่กำกับดูแลเรื่องใบอนุญาตและมาตรฐาน มี Federal Trade Commission (FTC) หรือ คณะกรรมการกลางด้านการค้า ซึ่งดูแลเรื่องข้อสัญญาที่เป็นธรรมและใน FTC ก็มี Bureau of Competition ซึ่งดูแลเรื่องการแข่งขัน
สำหรับประเทศไทยนั้น แม้จะมีคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ของกระทรวงพาณิชย์ ที่พอเทียบเคียงได้กับ FTC แต่ก็ "เสมือนไม่มี"เมื่อพิจารณาถึงกิจการกระจายเสียงและโทรคมนาคม กสทช.จึงจำเป็นต้องรับภาระหน้าที่ดังกล่าวมาทำด้วย ซึ่งในการทำงาน ก็จะเป็นการทำงานผ่านอนุกรรมการ ที่มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการมาทำงานด้วยกัน ก่อนจะเสนอไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่