เครือข่ายผู้เสียหายจากบริการรถโดยสารสาธารณะ เสนอวาระเร่งด่วนลดความสูญเสียในเทศกาลสงกรานต์ ยกเลิกการใช้บริการรถโดยสารสองชั้นในเส้นทางเสี่ยง และควบคุมการใช้ความเร็วอย่างเข้มงวดตามกฎหมายกำหนด
10 เม.ย. 2557 เมื่อวันที่ 9 เม.ย. เวลา 10.30 น. ที่กรมการขนส่งทางบก กำแพงเพชร 2 กรุงเทพมหานคร เครือข่ายผู้เสียหายจากบริการรถโดยสารสาธารณะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายนักวิชาการ เครือข่ายทนายความอาสาเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จังหวัดสระบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอ่างทอง และกรุงเทพมหานคร เข้ายื่นข้อเสนอและร่วมสนับสนุนมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัยของผู้โดยสาร ต่อนายนายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก โดยเน้นประเด็นแก้ไขปัญหาเร่งด่วนคือ ยกเลิกการใช้รถโดยสารสองชั้นในเส้นทางเสี่ยง ต้องควบคุมการใช้ความเร็วของรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ตามกฎหมายกำหนด รวมทั้งเร่งประกาศใช้ แบบมาตรฐาน และเร่งใช้ระบบทดสอบ เช่น โครงสร้างความแข็งแรงของรถ เก้าอี้ที่นั่ง และการทดสอบพื้นเอียง ในรถสองชั้น โดยเฉพาะรถที่สูงกว่า 3.6 เมตร
นางสาวสวนีย์ ฉ่ำเฉลียว ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุครั้งใหญ่จากรถทัวร์โดยสารจนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 97 ศพ และพบว่า เป็นรถทัวร์โดยสารสองชั้น 2 ครั้ง คือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 รถทัศนศึกษา จากนครราชสีมา ชนท้ายรถพ่วง สาย 304 อ.นาดี ปราจีนบุรี เสียชีวิต 16 ศพ ถัดมา วันที่ 24 มีนาคม 2557 เป็นคณะทัวร์ เทศบาลท่าสายลวด ตกเหวบริเวณดอยลวก อ.เมือง จ.ตาก เสียชีวิต 30 ศพ ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตถึง 46 ศพ ในระยะเวลาห่างกันไม่ถึงเดือน
“ข้อเสนอของผู้บริโภค คือ ต้องไม่ใช้รถโดยสารสองชั้นในเส้นทางเสี่ยง ที่มีผลการศึกษาว่า เกิดอุบัติเหตุบ่อย และรุนแรง เพราะอุบัติเหตุและความไม่ปลอดภัยไม่ได้มีปัจจัยมาจากมาตรฐานของตัวรถเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับถนน พื้นที่ ความชำนาญในเส้นทางของคนขับ และการใช้ความเร็ว ซึ่งควรมีการควบคุมการใช้ความเร็วอย่างอย่างเหมาะสม เข้มงวด เคร่งครัด ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด หรือ ป้ายเตือนที่แสดงไว้ตามจุดต่างๆ” นางสาวสวนีย์ กล่าว
นางชุติกานต์ นันตะนะ ตัวแทนเครือข่ายผู้เสียหายจากบริการรถโดยสารสาธารณะ กล่าวว่า ครอบครัวของตนเองเป็นผู้เสียหายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะต้องสูญเสียสามีที่เป็นเสาหลักของบ้านไปกับเหตุการณ์อุบัติเหตุในคืนวันที่ 12 เมษายน 2553 จากการโดยสารรถทัวร์เสริม บันทึกประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา ได้รายงานว่า พนักงานขับรถใช้ความเร็วสูงและประมาท เมื่อมาถึงถนนสายมิตรภาพนครราชสีมา มุ่งหน้าไปทางจังหวัดขอนแก่น ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 213-214 ตำบลโนนตาเถร อำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา รถได้เสียหลักตกถนน พุ่งเฉี่ยวชนต้นไม้ข้างทาง และพลิกคว่ำ เป็นเหตุให้ผู้โดยสารเสียชีวิตคาที่ 2 คน และได้รับบาดเจ็บอีก 23 คน ส่วนคนขับหลบหนีไปในช่วงชุลมุน
“รถโดยสารคันนี้เป็นรถผี หรือรถโดยสารเถื่อน ที่ส่งคนของตัวเองไปขายตั๋ว และเข้าไปเรียกคนในบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต โดยบอกกับผู้โดยสารว่าเป็นรถเสริมของ บขส. สายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทำให้ผู้โดยสารเข้าใจผิด ซึ่งปัญหานี้มีทุกปี อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลอย่างเข้มงวด ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ผ่านมา 4 ปี คดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ของจำเลยอยู่ ต่อสู้มายาวนานมาก เขาบอกว่า ได้จากประกันภัยไปแล้วจะเอาอะไรอีก แต่เราอยากจะบอกว่า ได้เงินมาเท่าไรมันก็ไม่คุ้มกันหรอกกับการที่ต้องเสียพ่อที่ดีของลูกไป เพราะถ้าเขาอยู่ เขายังหาได้มากกว่านี้อีก มันไม่คุ้มกันหรอกเลย ถ้าแลกได้ไม่เอาหรอกเงินแค่นี้ ขอแลกชีวิตตัวเองที่เป็นคนตายไปยังดีกว่า” นางชุติกานต์ กล่าว
นายแพทย์ธนะพงษ์ จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ให้ข้อมูลว่า ประเด็นที่น่ากังวลคือ การนำรถเสริมมาใช้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากเป็นรถโดยสารที่ไม่มีคุณภาพ สภาพชำรุดบกพร่อง คนขับไม่ชำนาญเส้นทาง หรือมีคนขับเพียงคนเดียว ก็จะเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ และความรุนแรงได้
“สำหรับมาตรการเร่งด่วน เพื่อหยุดความสูญเสีย ในมุมของนักวิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มีอยู่ 5 ประการ ประกอบด้วย ประการแรก เร่งประกาศใช้ “แบบมาตรฐาน” และเตรียม ระบบทดสอบ คือ โครงสร้างความแข็งแรง (roll over test) การยึดเกาะเก้าอี้/เข็มขัด ทดสอบพื้นเอียง (รถที่สูงกว่า 3.6 เมตร) ประการที่สอง ผู้ประกอบการ และ กรมการขนส่งฯ มีระบบตรวจสอบ /กำกับ “ความเสี่ยงหลัก” คือ คนขับที่มีใบขับรถสาธารณะ และ “ชำนาญเส้นทาง” การกำกับ “ความเร็ว” เช่น ติดตั้ง GPS หลีกเลี่ยง การใช้รถ 2 ชั้น วิ่งในเส้นทางลาดชัน ผ่านภูเขาสลับซับซ้อน หุบเหว และติดตั้งและกำกับให้มีการใช้ “เข็มขัดนิรภัย” ประการที่สี่ ปรับปรุง “เส้นทาง/จุดเสี่ยง” ให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน ประการสุดท้ายคือ เร่งทบทวน หลักเกณฑ์ความคุ้มครอง ดูแลผู้รับผลกระทบจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ” นายแพทย์ธนะพงษ์ กล่าว
นอกจากนี้ทางเครือข่ายผู้เสียหายจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะยังสนับสนุนมาตรการที่กรมการขนส่งทางบกประกาศใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของผู้โดยสาร เช่น การติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในรถโดยสารสาธารณะทุกที่นั่ง การควบคุมความเร็วของรถโดยสารให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด