9 เม.ย. 2557 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า จากการเปิดเผยล่าสุดของ เอ็ดเวิร์ด สโนวเด็น ในที่ประชุมสภายุโรป เมืองสทราซบูร์ ประเทศฝรั่งเศส ระบุว่า ทางการสหรัฐฯ สอดแนมเจ้าหน้าที่องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงอย่างฮิวแมนไรท์วอทช์และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล
สโนว์เดน กล่าวผ่านวิดีโอลิงก์จากกรุงมอสโกว่าสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ซึ่งเขาเคยร่วมทำงานด้วยพยายามสอดแนมคนทำงานในองค์กรสิทธิมนุษยชนดังกล่าว รวมถึงผู้นำหรือสมาชิกขององค์กรเอ็นจีโอที่อยู่ภายในสหรัฐฯ ซึ่งสโนว์เดนไม่ได้เปิดเผยรายชื่อองค์กรที่ถูกสอดแนมอื่นๆ นอกจากนี้
ในที่ประชุมได้สอบถามว่าทางการสหรัฐฯ ได้สอดแนมข้อมูลการสื่อสารที่มีความอ่อนไหวหรือไม่ควรเปิดเผยของกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ บ้างหรือไม่ สโนว์เดนตอบว่า "คำตอบของเรื่องนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ใช่แน่นอน"
สโนว์เดนยังได้ตอบโต้ข้ออ้างของ NSA ที่กล่าวให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่าสโนว์เดนได้นำเอกสารขององค์กรออกไปมากราว 1.7 ล้านฉบับ โดยบอกว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นแค่การกล่าวจำนวนมากๆ ให้ดูน่าแตกตื่น ซึ่งเป็นจำนวนข้อมูลดิจิตอลที่เขาพบเจอตลอดชีวิตการทำงาน
"เจ้าหน้าที่ทุกคนรู้ดีว่าผมไม่ได้มีเอกสารมากถึง 1.7 ล้านฉบับ แต่พวกเขาจะพูดอะไรได้ สิ่งที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์กรจะไปรายงานต่อหน้ารัฐสภาสหรัฐฯ คือ 'พวกเราไม่รู้ว่าเขามีข้อมูลอะไรบ้าง เพราะระบบตรวจสอบของ NSA ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลของชาวอเมริกันหลายร้อยล้านมีการปล่อยปละละเลยมากถึงขนาดคนที่ลาออกจากโรงเรียนกลางคันยังนำมันเดินออกประตูไปได้'"สโนว์เดนกล่าว
ในที่ประชุมสภายุโรป สโนว์เดนยังได้กล่าวในรายละเอียดถึงสาเหตุว่าทำไมโครงการสอดแนมของ NSA จึงถือว่าผิดกฎหมายสิทธิความเป็นส่วนตัวของสหภายยุโรป เช่น โปรแกรมที่ขื่อ XKeyscore ที่สามารถดักข้อมูลการสื่อสารส่วนบุคคลได้จำนวนหลายล้านล้านข้อมูล ซึ่งสโนว์เดนบอกว่าเทคโนโลยีตัวนี้เป็นภัยต่อเสรีภาพพลเมืองในยุคสมัยใหม่
สโนว์เดนกล่าวในที่ประชุมสภายุโรปอีกว่าปัญหาของการสอดแนมเช่นนี้คือการที่ผู้วิเคราะห์ข้อมูลสามารถหยิบ 'นิยามข้อมูล' (metadata) ของบุคคลหนึ่งๆ มาใช้ได้โดยไม่ต้องอาศัยคำสั่งศาลหรือการประเมินใดๆ ทำให้สามารถสอดแนมได้กระทั่งคนที่ไม่มีพิษมีภัย เช่น เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปหรือพลเมืองทั่วไปที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการก่อการร้ายหรือการกระทำผิดอื่นๆ
สโนว์เดนยังได้ยกตัวอย่างผู้ที่มีโอกาสถูกสอดแนมอื่นๆ อีกเช่น ผู้ที่คลิกลิงก์หรือดาวน์โหลดไฟล์ที่มีความเสี่ยงในอินเทอร์เน็ต ผู้ที่เข้าชมหน้าเว็บบอร์ดที่พูดเรื่องเพศ พลเมืองชาวฝรั่งเศสที่ลงทะเบียนเข้าใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่น่าสงสัย สโนว์เดนกล่าวอีกว่าทาง NSA ยังได้สอดแนมการสื่อสารของประชาชนชาวสวิตเซอร์แลนด์ผ่านทางช่องทางเฉพาะ
สิ่งที่สโนว์เดนเปิดเผยให้ทราบในที่ประชุมยังมีเรื่องของความเสี่ยงที่ผู้สามารถเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมาก เช่น เรื่องความเชื่อทางศาสนา รสนิยมทางเพศ รสนิยมทางการเมือง ข้อมูลการเงินการติดต่อธุรกิจต่างๆ อาจนำไปสู่การนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดหรือการลุแก่อำนาจได้
สโนว์เดนยังได้วิจารณ์องค์กรความมั่นคงของสหรัฐฯ GCHQ ในเรื่องโครงการสอดแนมที่ชื่อออปติคเนิร์ฟ ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลภาพการสนทนาผ่านยาฮูเว็บแคมแชท ซึ่งหลายภาพเป็นภาพที่ "มีความเป็นส่วนตัวสูง"เช่นภาพที่มีการเปลือยร่างกายบางส่วน และมักจะเป็นภาพที่ถ่ายจากห้องนอนหรือพื้นที่ส่วนตัวในบ้าน และผู้ถูกถ่ายเป็นคนทั่วไปซึ่งไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยกระทำผิดแต่อย่างใด และข้อมูลจำนวนมากไม่ได้เป็นประโยชน์ต่องานข่าวกรองแต่อย่างใด
ในเรื่องงานข่าวกรอง สโนว์เดนยืนยันว่าตัวเขายังเชื่อในเรื่องปฏิบัติการข่าวกรองที่ถูกต้องชอบธรรม เขายังยืนยันอีกว่าไม่ได้ต้องการสร้างความเสียหายต่อรัฐบาลสหรัฐฯ หรือทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสื่อมเสียไป โดยสโนว์เดนคิดว่าองค์กรความมั่นคงควรหันไปใช้วิธีการสอดแนมแบบเดิมคือการตั้งเป้าหมายชัดเจน เช่น เกาหลีเหนือ ผู้ก่อการร้าย อาชญากรอินเทอร์เน็ต
สโนว์เดนเสนอให้สมาชิกของสภายุโรปทำการเข้ารหัสข้อมูลเวลาที่มีการสื่อสารระหว่างบุคคล เนื่องจากจะสามารถป้องกันการสอดแนมและการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตได้บางส่วน
ทางสภายุโรปได้ชวนสโนว์เดนเข้าร่วมให้การในการประชุมโดยให้เหตุผลว่า "สโนว์เดนทำให้เกิดการถกเถียงเป็นวงกว้างในเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวในยุคอินเทอร์เน็ต พวกเราต้องการสอบถามสโนว์เดนว่าการเปิดโปงของเขามีความหมายอย่างไรต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยทั่วไปและพวกเขาจะสามารถปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวของตนเองได้อย่างไร รวมถึงสหภาพยุโรปควรมีมาตรการอย่างไรเพื่อจำกัดการสอดแนมของรัฐ"
ทั้งนี้ ทางสภายุโรปได้เชิญให้ทางการสหรัฐฯ ร่วมแสดงหลักฐานแต่ก็ถูกปฏิเสธ
เรียบเรียงจาก
Edward Snowden: US government spied on human rights workers, The Guardian, 08-04-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/apr/08/edwards-snowden-us-government-spied-human-rights-workers