เวทีสาธารณะ ‘1 ปีสันติภาพใต้’ ในมาเลย์ครั้งแรก BRN, PULO,BIPP ร่วมฟัง ดาโต๊ะซัมซามิน ยันพูดคุยสันติภาพต้องเดินต่อ ชี้ทั้งฝ่ายไทยและขบวนการยังต้องการคุย แต่สถานการณ์ไม่เอื้อ ยก7ข้อเสนอ IPP เดินหน้าสร้างสันติภาพ ครูจากปัตตานีชี้ต้องมีเสียงจากประชาชน
2 เมษายน 2557 เวลา 09.00 น. (ตามเวลาในประเทศมาเลเซีย) ที่ห้องประชุม Dawan Convension Hall มหาวิทยาลัยอูตารามาเลเซีย (Universiti Utara Malaysia ; UUM ) รัฐเคด้าห์ ประเทศมาเลเซีย ดาโต๊ะ เสรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม (Datuk Seri Ahmad Zamzamin Hasyim) ผู้อำนวยความสะดวกฝ่ายมาเลเซียการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ ได้เดินทางมาปาฐกถาพิเศษ ในงานเสวนา 1 ปี กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในภาคใต้ แนวทางการพูดคุยและทิศทางในอนาคต โดยมีกลุ่มนักวิชาการ นักศึกษาจากประเทศไทย นักศึกษาในประเทศมาเลเซีย ตัวแทนจากกลุ่มขบวนการพูโล(PULO) ขบวนการบีอาร์เอ็น(BRN) และบีไอพีพี(BIPP) ซึ่งไม่เปิดเผยรายชื่อ เข้าร่วมวงสัมมนา รวมกว่า 100 คน
ดาโต๊ะซัมซามิน ยันพูดคุยสันติภาพต้องเดินต่อ
ดาโต๊ะ ซัมซามิน กล่าวในการปาฐกถาโดยสรุปว่า การพูดคุยสันติภาพจะต้องมีการดำเนินต่อไป ถึงแม้จะมีปัญหาอุปสรรคจากการเมืองของประเทศไทย ที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทย ที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีก็ได้มีการพบปะอย่างไม่เป็นทางการมาแล้วในสมัยพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีไทย แต่เป็นความกล้าหาญของนายกรัฐมนตรีนางสางยิ่งลักษณ์ที่ให้มีการลงนามการพูดคุยสันติภาพอย่างเปิดเผยและเป็นทางการ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่กล้าหาญยอมจะให้มีการพูดคุยสันติภาพนับเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทย
ดาโต๊ะ ซัมซามิน กล่าว ส่วนปัญหาในพูดคุย 1 ปีที่ผ่านมา คือ ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ในเรื่องของความเชื่อมั่นและมีกลุ่มองค์กรต่อต้านการพูดคุย รวมทั้งปัจจุบันรัฐบาลรักษาการของไทยก็ไม่สามารถดำเนินการต่อได้
ดาโต๊ะ ซัมซามิน กล่าวต่อไปว่า การพูดคุยนับว่ามีอุปสรรคหลายๆอย่าง อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือ ความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลไทยของฝ่ายขบวนการ และฝ่ายรัฐบาลไทยก็ไม่เชื่อมั่นในตัวนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็นว่าจะสามารถคุมกองกำลังในพื้นที่ได้จริงๆหรือไม่ จึงเกิดข้อตกลงในเดือนรอมฎอนที่จะไม่ให้มีการก่อเหตุ ซึ่งเมื่อดูสถิติการก่อเหตุในช่วงนั้นนับว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยลง แต่เมื่อฝ่ายรัฐบาลไทยละเมิดข้อตกลงที่วางไว้ทำให้ฝ่ายขบวนการตอบโต้
ดาโต๊ะ ซัมซามิน กล่าวต่ออีกว่า ผลที่ได้จากการพูดคุยสามารถทำให้เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลไทยได้ขอให้ขบวนการเปลี่ยนการโจมตีจากเป้าหมายอ่อนเป็นเป้าหมายแข็ง และเป็นผลการพูดคุยที่เป็นทางการก่อนที่จะมีการยุบสภาของรัฐบาลไทย และตามด้วยเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามมาเลเซียพร้อมที่จะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยต่อไปถึงแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ตาม
พร้อมดึงทุกฝ่ายเข้าร่วม
ดาโต๊ะ ซัมซามิน กล่าวอีกว่า ทางมาเลเซียก็พร้อมที่จะสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ส่งผลกระทบกับประเทศมาเลเซียโดยตรง ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกัน ความสงบในพื้นที่ 3 จังหวัด ก็จะส่งผลดีให้กับมาเลเซียด้วย ดังนั้นการพูดคุยที่จะมีขึ้นต่อไปแม้ยังไม่รู้เมื่อไร ก็จะต้องมีตัวแทนทุกองค์กรเข้ามาร่วมไม่เพียงแต่ขบวนการจับอาวุธเท่านั้น ต้องมีกลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้นำศาสนา กลุ่มนักศึกษา กลุ่มเยาวชน ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด
ดาโต๊ะ ซัมซามิน กล่าวว่า ความสำเร็จของการเจรจาที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ใช้เวลา 13 ปีและ 5 ปีเป็นการพูดคุยเชิงลับ โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย นับเป็นการสร้างความเชื่อมั่น พอผ่านไป 5 ปีก็ออกมาแถลงข่าว แต่การพูดคุยสันติภาพของปาตานีเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพียงเท่านั้น
ทั้งสองฝ่ายยังต้องการคุย แต่สถานการณ์ไม่เอื้อ
ดาโต๊ะ ซัมซามิน เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นปาฐกถาพิเศษถึงการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ตนมองว่าการพูดคุยครั้งนี้เป็นโครงการที่นายกรัฐมนตรีไทยแต่งตั้งเจ้าหน้าที่มาเป็นตัวแทนของนายกรัฐมนตรี ตราบใดที่นายกรัฐมนตรียังมีอำนาจ ผู้แทนฝ่ายต่างๆก็ยังคงมีหน้าที่ดำเนินการต่อไป ส่วนทิศทางจะไปทางไหนก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งตนเข้าใจว่า พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ยังคงทำหน้าที่ตรงนี้ต่อไป จนกว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพมหานครจะคลี่คลาย
“ผมได้รับแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียให้ทำหน้าที่นี้ 2 ปี การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตราบใดที่ยังไม่ได้รับเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลไทยว่าการพูดคุยสันติภาพต้องยุติลง ก็จะดำเนินการพูดคุยต่อไป ซึ่งไม่จำเป็นผมต้องทำหน้าที่นี้ต่อไปหรือไม่ เพราะหากผมพ้นจากตำแหน่งนี้ ก็จะมีคนอื่นมาดำเนินการต่อ” ดาโต๊ะ ซัมซามิน กล่าว
“ในขณะที่ยังไม่มีฝ่ายใดถอนตัว ก็ต้องมีการพูดคุยกันต่อไป ที่สำคัญคือถ้าทั้งสองฝ่ายยังต้องการให้มีการพูดคุยต่อ กระบวนการพูดคุยก็จะดำเนินการต่อไป” ดาโต๊ะ ซัมซามิน กล่าว
ดาโต๊ะ ซัมซามิน กล่าวอีกว่า เมื่อย้อนไปดูปัญหาของมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ปัจจุบันถือว่าเกิดความสงบสุขแล้ว เมื่อเทียบกับการพูดคุยสันติภาพปาตานีก็เพิ่งดำเนินการได้เพียง 1 ปี ซึ่งมีปัญหามากมายที่เข้ามาเป็นอุปสรรค ที่สำคัญคือจะต้องมีความต้องการทางการเมืองร่วมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อมานั่งคุยกันบนโต๊ะ
“ผมเห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีสิ่งนี้(ความต้องการทางการเมือง)อยู่ เพียงแต่สถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวยที่จะนำทั้งสองฝ่ายมานั่งพูดคุยกันอีกครั้ง ประเด็นสำคัญคือทั้งสองฝ่ายยังมีความต้องการ ต้องหาทิศทางเดินไปสู่การพูดคุยกันอีกครั้ง” ดาโต๊ะ ซัมซามิน กล่าว
ชี้ความสำคัญของบทบาทเยาวชน-นักศึกษา
ดาโต๊ะ ซัมซามิน กล่าวด้วยว่า ตนมองว่ากลุ่มเยาวชนและนักศึกษาในพื้นที่เป็นอนาคต เพราะจะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญ หากกระบวนการนี้ดำเนินการไป 15 ปี วันนี้กลุ่มเยาวชนและนักศึกษาที่มีอายุ 30 ปี ในวันนั้นเขาก็จะมีอายุ 45 ปี ซึ่งจะมีภาวะความเป็นผู้นำในช่วงนั้นพอดี ดังนั้นเยาวชนคือกลุ่มที่มีความสำคัญเท่าเทียมกับกลุ่มที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้
“ผมไม่ทราบว่า กลุ่มกองกำลังในพื้นที่ของฝ่ายขบวนการรับทราบว่ามีการพูดคุยสันติภาพกันหรือไม่ แต่เชื่อว่าแกนนำของกลุ่มต่างๆ มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับกลุ่มที่ก่อเหตุในพื้นที่ เพราะแกนนำก็จะต้องนำการพูดคุยลงไปบอกกล่าวกับกลุ่มในพื้นที่ด้วย” ดาโต๊ะ ซัมซามิน กล่าว
สื่อจากพื้นที่ย้ำทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
ส่วนในวงเสวนา มีนายอัศโตรา ชาบัต อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์อูตุซันมาเลเซีย นายตูแวดานียา มือรีงิง ผู้สื่อข่าว TV3 มาเลเซีย ในฐานะสื่อมวลชนจากชายแดนใต้ และรศ.ดร.อับดุลราฮีม บิน อันวาร์ จาก UUM เป็นวิทยากร
โดยนายอัศโตรา กล่าวถึงความต้องการที่หลากหลายของคนในพื้นที่ รวมทั้งภาคประชาสังคมและสังคมในพื้นที่จนไม่มีทิศทางในการแก้ปัญหา ซึ่งแม้จะมีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาถึง 3 แนวทาง ได้แก่ การกระจายอำนาจก็มีคนไม่กี่คนที่กำลังขับเคลื่อนแนวทางนี้อยู่ แนวทางที่สองคือออโตโนโนมี และแนวทางที่สามคือเอกราช ซึ่งประชาชนส่วนมากต้องการแต่ก็ไม่กล้าเปิดเผย จึงเลือกแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการพ่นสีและทำป้าย รวมทั้งการไม่มีผู้นำที่แท้จริงของคนในพื้นที่ เพราะไม่มีใครกล้าพอ แต่อย่างไรก็ตามแนวทางทั้งหมดถ้าไม่มีกลุ่มที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ตอนนี้ก็อาจไม่ได้อะไรเลย ดังนั้น ทุกกลุ่มทุกฝ่ายควรร่วมมือกันช่วยเหลือกัน ไม่ว่าใครจะมีความต้องการอย่างไรก็ตาม
ยก7ข้อเสนอ IPP เดินหน้าสร้างสันติภาพ
ส่วนนายตูแวดานียา ได้ยกข้อเสนอ 7 ข้อของคณะทำงานสร้างพื้นที่สันติภาพจากคนใน (Insider Peacebuilders Platform : IPP) ต่ออนาคตการพูดคุยสันติภาพดังกล่าว ได้แก่ 1.คณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายและผู้อำนวยความสะดวกควรพิจารณาตั้งสำนักเลขาธิการเพื่อสันติภาพ 2.ควรตั้งคณะทำงานร่วมในประเด็นต่างๆ 3.ควรขยายเวลาพูดคุยแต่ละครั้งให้มากขึ้น 4.ควรมีข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการสื่อสาร 5.ควรยกระดับการพูดคุยสันติภาพไปสู่การเจรจาสันติภาพ 6.แต่ละฝ่ายควรต้องพูดคุยและสื่อสารภายในระหว่างกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างความคิดเห็นร่วม
และ 7.ควรผลักดันให้เกิดการสร้างและพัฒนาช่องทางการพบปะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อเปิดพื้นที่ในการแสวงหาหนทางประนีประนอมเมื่อเผชิญอุปสรรค พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นเครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ หรือ safety net ให้กับกระบวนการพูดคุย/เจรจาสันติภาพในช่องทางที่เป็นทางการให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
นายตูแวดานียา ยังเสนอเพิ่มเติมด้วยเรื่องการตรวจสอบเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ว่าเพื่อให้มีความเป็นธรรม เพราะเมื่อไม่มีการตรวจสอบก็ทำให้ผู้บริสุทธิ์ถูกกระทำ ถ้าฝ่ายขบวนการฆ่าผู้บริสุทธิ์ก็นับว่าเป็นการทำลายกระบวนการสันติภาพ เพราะการต่อสู้จะต้องยึดหลักมนุษยธรรมที่ผู้กระทำไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่กระทำนั้นและการที่ใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่รัฐกับคนในพื้นที่ก็ถือว่าเป็นการทำลายกระบวนการสันติภาพด้วยเช่นกัน
ขณะที่ รศ.ดร.อับดุลราฮีม บิน อันวาร์ กล่าวว่า ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากความรุนแรงในภาคใต้ เช่น การตกต่ำของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนของนักท่องเที่ยวลดลงโดยเฉพาะในพื้นที่สุไหงโก-ลกและตากใบ จ.นราธิวาส ทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปเที่ยวทางด่านเบตงและด่านนอกแทน แต่ข้าพเจ้าคาดหวังว่ากระบวนการสันติภาพจะประสบความสำเร็จและจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นมาอีกครั้ง
ครูจากปัตตานีชี้ต้องมีตัวแทนประชาชน
นางนาซีเราะห์ บินมูฮำหมัด ครูชาวปัตตานี หนึ่งในผู้ร่วมฟังเสวนา กล่าวว่า ความหวังของตนคือ กระบวนการสันติภาพต้องครอบคลุมทุกกลุ่มไม่ยึดติดกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ต้องให้ประชาชนเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งเป็นความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการให้มีตัวแทนของประชาชนจริงๆ เข้าร่วมเพื่อจะทำให้ประชาชนได้รับรู้ว่า มีอะไรบ้างที่สามารถนำเข้าไปพูดคุยและได้รับการตอบสนองอย่างไร
นางนาซีเราะห์ กล่าวด้วยว่า การพูดคุยจะมีข้อตกลงอย่างไรก็แล้ว แต่ต้องเป็นสิ่งที่จริงจังและจริงใจอย่างชัดเจน และเมื่อมีข้อตกลงอย่างไรก็จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น และตนในฐานะครูคนหนึ่ง ไม่ได้มาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหวังว่าสถานการณ์ในภาคใต้จะดีขึ้น
ครั้งแรกบีอาร์เอ็น พูโล บีไอพี ร่วมเวทีสาธารณะ
การเสวนาดังกล่าว จัดขึ้นโดยสถาบันอินโดนีเซีย ไทยแลนด์ สิงคโปร์ของ UUM เป็นเจ้าภาพ โดยการสนับสนุนของฝ่ายเลขานุการคณะทำงานการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีตัวแทนขบวนการต่อสู้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเข้าร่วมเวทีสาธารณะอย่างเปิดเผย โดยมีตัวแทนทั้ง 3 ขบวนการดังกล่าวเข้าร่วมเกือบ 20 คน และมีกลุ่มผู้สื่อข่าวจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง
ส่วนในการจัดเสวนาหรือเวทีสาธารณะครั้งต่อๆไป ฝ่ายจัดงานจะเชิญตัวแทนกลุ่มต่างๆในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสตรี ผู้นำนักศึกษา กลุ่มเยาวชน ฯลฯ มาร่วมแลกเปลี่ยนกับกลุ่มผู้นำเยาวชนและนักศึกษาในประเทศมาเลเซียมากขึ้น โดยเชิญตัวแทนกลุ่มต่างๆเข้าร่วมด้วย เพื่อให้ทั้งคนในพื้นที่และคนที่อยู่ในมาเลเซียรับรู้และเข้าใจสถานการณ์ระหว่างกันอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สำหรับการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติภาพต่อไป
อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
เอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย “เราจะทำให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร?
เอกสารประกอบงานมหกรรมวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 2014 [PPP101]