ศาลปกครองกลางมีมติพิพากษาเพิกถอนประกาศ กสทช.ที่ให้ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายผ่านฟรีทีวีครบทั้ง 64 คู่ ชี้อาร์เอสซื้อลิขสิทธิ์มาก่อนประกาศมีผลบังคับใช้ และการให้อาร์เอสต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ถือว่าไม่เป็นธรรม ด้าน กสทช. เตรียมยื่นอุทธรณ์ ระบุประชาชนต้องได้ดูโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
31 มี.ค. 2557 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งพิพากษา กรณี บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นเนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด ในเครือบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (มัสต์ แฮฟ) เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 เนื่องจากการออกประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการออกประกาศดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และผู้ฟ้องคดี ในการใช้สิทธิเผยแพร่การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายผ่านสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งเป็นกิจการของผู้ฟ้องคดีเป็นจำนวน 64 คู่ และในฟรีทีวี 22 คู่
โดยตุลาการศาลปกครองกลางมีมติพิพากษาเพิกถอน ประกาศเรื่อง มัสต์ แฮฟ ที่กำหนดให้การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายต้องถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีครบทั้ง 64 คู่ โดยทาง อาร์เอสได้ทำการเซ็นสัญญาซื้อลิขสิทธิ์มาก่อนตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2548 ก่อนที่ประกาศมัสต์ แฮฟ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มกราคม 2556 ซึ่งเป็นกระทบกระเทือนต่อลิขสิทธิ์จึงถือเป็นการกระทำที่เกินความจำเป็น รวมถึงขัดต่อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แม้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จะอ้างสิทธิ์ในการรับชมของประชาชนอย่างเท่าเทียมก็ตาม แต่การอ้างของ กสท. นั้นก็เป็นเพียงกรอบกว้างๆ และยังไม่ได้กระทบกับสิทธิของประชาชนจนศาลต้องคุ้มครองหรือเยียวยา ซึ่งแม้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ แต่ทางอาร์เอสต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จึงถือว่าไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด
ด้าน พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า เบื้องต้น กสท. น้อมรับคำพิพากษาของศาลปกครอง แต่ส่วนตัวขอยืนยันว่า การออกประกาศ กสทช. เรื่อง มัสต์ แฮฟ เพื่อประโยชน์และคุ้มครองสิทธิของประชาชนและผู้ด้อยโอกาสหรือมีรายได้น้อย เพราะเดิมการดูฟุตบอลโลกครบทุกนัดผ่านฟรีทีวี ประชาชนก็สามารถเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม กสท. จะพิจารณาอุทธรณ์ โดยเร็วที่สุดภายหลังพิจารณาคำสั่งศาลที่ออกมาโดยละเอียด พร้อมขอความเห็นเพิ่มเติมจากบอร์ด กสท. อีก 4 คน และฝ่ายกฎหมายของ กสทช. ซึ่งประเด็นที่จะอุทธรณ์เบื้องต้น คือการที่ประกาศดังกล่าว มีขึ้นเพื่อพิทักษ์สิทธิของประชาชน ทั้งนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำตัดสินออกมาก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกจะเริ่มต้นขึ้นหรือไม่
พอ.นที กล่าวด้วยว่า คำพิพากษาดังกล่าวเป็นเฉพาะในกรณีของฟุตบอลโลก 2014 เท่านั้น ซึ่งประกาศมัสต์ แฮฟยังคงบังคับใช้ได้ต่อไป คาดว่าในอนาคตฟุตบอลโลกอีก 4 ปีข้างหน้าจะไม่เกิดปัญหา ส่วนกรณีการขายกล่อง เวิลด์คัพ เพื่อรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกให้ฝ่ายกฎหมายไปดูเนื่องจากคำสั่งศาลในขณะนี้ยังไม่สิ้นสุด
ด้าน ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช. ฝ่ายกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) แสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนประกาศกสทช.ที่บังคับ RS ต้องนำฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่เพิ่งประมูลมา ต้องมาออกในฟรีทีวีเท่านั้น ก็ถือว่าเหมาะสมแล้ว ประกาศ กสทช.เรื่องฟุตบอลโลกจากมุมมองเศรษศาสตร์เป็นการให้สิทธิพิเศษ (exclusive) แก่ฟรีทีวีเท่านั้น จึงจำกัดการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มมากเกินไป
ธวัชชัย ระบุว่า ต่างประเทศใช้วิธีที่ตรงข้ามคือห้ามมีสิทธิพิเศษหรือห้ามผูกขาด (non-exclusive) สำหรับรายการกีฬาที่สำคัญ เพื่อให้ช่องทางอื่นๆ ได้นำไปออกได้ด้วย อย่างไรก็ดีกรณีฟุตบอลโลก ศาลใช้หลักการไม่ให้บังคับย้อนหลังเนื่องจาก RS เพิ่งไปประมูลลิขสิทธิ์มาได้ กสทช.ก็ต้องระวังมากขึ้นในการออกประกาศ
ธวัชชัย ระบุว่า เรื่องห้ามการมีสิทธิพิเศษหรือห้ามผูกขาด (non-exclusive) ในรายการกีฬาที่สำคัญ (มีไม่มาก) ต่อประชาชนในประเทศนี้ได้พูดมานานแล้วแต่ดูยังไม่เข้าใจกัน 1. เมื่อ 2-3ปีที่แล้วในต่างประเทศก็มีคดีฟ้องร้องกัน โดย UEFA และ FIFA ได้ฟ้องกสทช.ของอังกฤษ (Ofcom) ในเรื่องคล้ายกันกับไทยแต่สององค์กรนั้นแพ้ 2.ที่ต่างกันระหว่างอังกฤษกับไทยคือ 1) ไม่บังคับย้อนหลัง 2) ประกาศของอังกฤษเป็นแบบไม่ให้ผูกขาด(non-exclusive)ไม่ใช่แบบสิทธิพิเศษแบบ must-have 3) อังกฤษฉลาดในการออกแบบประกาศ (ที่ถ้าอ่านไม่ดีอาจเข้าใจผิดได้) โดยกำหนดให้รายการกีฬาพิเศษที่กำหนดต้องให้คนได้ดูไม่น้อยกว่า 95% มากกว่าไม่เป็นไร 4) แต่กสทช.อังกฤษก็ไม่บังคับให้ฟรีทีวีนำรายการพวกนี้ไปออก (..not obliged) ไม่ออกก็ไม่เป็นไร (..may not be shown by...) 5) อังกฤษจึงเพียงให้โอกาสฟรีทีวีเลือกไปออกได้เท่านั้น และไม่ปิดกั้นช่องทางอื่น ไทยออกแบบกำหนด % ขั้นสูง มากกว่าไม่ได้ (ห้ามออกในช่องทางอื่น)
สำหรับประกาศมัสต์ แฮฟ กำหนดให้มีการถ่ายทอดกีฬา 7 ชนิดผ่านฟรีทีวีได้แก่ ได้แก่ 1.การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือกีฬาซีเกมส์ 2.การแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการอาเซียนพาราเกมส์ 3.การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในทวีปเอเชียหรือเอเชียนเกมส์ 4.การแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการเอเชียนพาราเกมส์ 5.การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 6.การแข่งขันกีฬาสำหรับคนพิการหลายประเภทจากทั่วโลกหรือกีฬาพาราลิมปิก และ 7. การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์และมติชนออนไลน์