Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

เสวนา: วาทกรรมสื่อในประเด็นกระบวนการสันติภาพภาคใต้ และความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

$
0
0

Media Inside Out นำเสนองานวิจัยวาทกรรมสื่อประเด็นภาคใต้ ชี้เจรจาสันติภาพชะงักเพราะปัญหาการเมืองไทยส่วนกลาง, ส่วนประเด็นไทย-กัมพูชา สื่อสร้างวาทกรรมใหม่ ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านคือปฏิปักษ์ต่อประโยชน์ของชาติ

28 มีนาคม 2557 มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ นำเสนองานวิจัยวาทกรรมสื่อประเด็นคดีความปราสาทเขาพระวิหารและกระบวนการสันติภาพการชายแดนใต้ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวสื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย

โดยรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระด้านการจัดการความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้กล่าวถึงกระบวนการสันติภาพ โดยฝ่ายคู่เจรจานั้นไม่มีความไว้วางใจต่อรัฐบาลไทย  เธอชี้ว่าข้อเสนอหลักของ BRN ไม่ได้เรียกร้องการแบ่งแยกดินแดน แต่เรียกร้องการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ ตั้งข้อสังเกตว่าฝ่าย BRN นั้นทำการบ้านมาดีกว่าฝ่ายไทย

อย่างไรก็ตาม การเจรจาสันติภาพต้องพบกับอุปสรรคใหญ่ คือ การขยายตัวของการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอันเนื่องจาก พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ความรุนแรงในกรุงเทพฯ ทำให้การพูดคุยสันติภาพได้รับผลกระทบไปด้วย

จนถึงตอนนี้ก็ไม่มีการพูดคุย และเลขาธิการ สมช. ก็เปลี่ยนคนไปแล้ว โดยนายถวิล เปลี่ยนศรี กลับมาสู่ตำแหน่งและไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะส่งผลอย่างไรต่อกระบวยการเจรจาสันติภาพ แต่โดยความเห็นของเธอนั้น คิดว่าเป็นการกลับสู่ตำแหน่งเพียงชั่วคราว เพราะนายถวิลจะเกษียณในเดือน ตุลาคมที่จะถึง จึงคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก

รุ่งรวีชี้ว่าการที่รัฐบาลไทยยอมพูดคุยกับฝ่าย BRN นั้นมีผลเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญมาก เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีท่าทีที่จะเจรจากับกลุ่มติดอาวุธในภาคใต้เลย แต่ปัญหาการเมืองไทยส่วนกลางจะส่งผลกระทบต่อไปต่อการเจรจาสันติภาพในภาคใต้
รุ่งรวีวิเคราะห์ต่อไปว่า BRN มีแนวทางในการเจรจาและประนีประนอม และการที่ BRN เข้ามาเจรจาจะลดท่าทีที่แข็งกร้าวจากทางฝ่าย BRN แม้จะมีหลายฝ่าย แต่ฝ่ายฮาร์ดไลน์หรือสายเหยี่ยวจะลดท่าทีที่แข็งกร้าวลง เพราะ BRN จะต้องเผชิญกับการเมืองระดับชาติและระดับนานาชาติ ที่มีแรงกดดันลงมายัง BRN โดยเฉพาะอย่างยิ่ง OIC

ประการถัดมาคือ BRN ต้องการการสื่อสารต่อสาธารณะ ไม่สามารถตัดสินใจไปเองได้โดยไม่ฟังเสียงสาธารณะ การเปิดตัวทำให้ BRN มีความรับผิดชอบต่อมวลชนที่สนับสนุนตัวเอง

และข้อสังเกตสุดท้าย สถิติความรุนแรงในเดือนรอมฎอนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญนั้นแสดงให้เห็นว่า BRN สามารถควบคุมคนที่ติดอาวุธในพื้นที่ แม้ว่าจะมีคนที่แตกแถวออกไปบ้าง

สมัชชา นิลปัทม์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มอ. ปัตตานี กล่าวถึงข้อสรุปจากงานวิจัยบทบาทและวาทกรรมสื่อต่อการเจรจาสันติภาพภาคใต้ โดยงานวิจัยดังกล่าวศึกษาสองกรณี คือช่อง 3 และ ไทยพีบีเอส

สมัชชาชี้ว่า ช่องสาม มีสมดุล มีแหล่งข่าวหลายฝ่าย มีแหล่งข่าวบางส่วนที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่น ไทยพุทธกลุ่มน้อย โรดแมปภาคประชาสังคม

ในส่วนของการเจรจาสันติภาพพบว่าก่อนหน้านี้ไม่ได้สนใจประเด็นนี้มาก่อน แหล่งข่าวที่เข้าถึงได้มากคือฝ่ายทหาร และภาคประชาสังคม ซึ่งเข้าถึงได้มาก และน่าสนใจว่าสื่อเชิงพาณิชย์กลับสนใจภาคประชาสังคมมาก

กรณี ไทยพีบีเอส เกาะติดเรื่องภาคใต้อย่างสม่ำเสมอ ให้พื้นที่ข่าวค่อนข้างมาก ใช้ผู้สื่อข่าวหลายคนหลายรายการ จับประเด็นภาคใต้ในประเด็นที่เหลื่อมกับช่องสาม อธิบายหลายมุม แต่ก็มีท่าทีของนักตรวจสอบ ลังเลสงสัยต่อกระบวนการสันติภาพ และภาษาที่ใช้เป็นภาษาแบบนักข่าวฝ่ายความมั่นคง มีการนำเสนอหลายรูปแบบ ผ่านผู้สื่อข่าวหลายคน ทั้งทางคุณภาพชีวิต ความมั่นคง

ในส่วนของแหล่งข่าว นอกเหนือจากแหล่งข่าวสายความมั่นคงและฝ่ายประชาสังคมแล้ว ไทยพีบีเอสให้ความสนใจนักวิชาการค่อนข้างมาก

ในส่วนของภาษาที่ใช้ พบว่าสื่อทั้งสองแห่งมีความระมัดระวังมาก

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือการใช้สื่อทางเลือก สื่อโซเชียลมีเดีย เกิดปรากฏการณ์นักแปลอิสระ เกิดสะพานเชื่อมสังคมชายแดนใต้กับภาคส่วนอื่นๆ ทำให้เกิดการสื่อสารกันมากขึ้น เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนผ่านเว็บบล็อก

อย่างไรก็ตาม การสื่อสารของรัฐต่อกลุ่มต่างๆ ยังน้อย และมีความระมัดระวัง , มีการแถลงข่าวน้อยมาก ว่ามีข้อคิดเห็นหรือความคืบหน้าอย่างไร ขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐยังมีท่าทีแข็งกร้าว ยืนยันจุดยืน

เขาเห็นว่า ต้องจับตาดูต่อไปว่า สื่อใหม่ๆ จะเป็นพื้นที่ให้เกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยนมากกว่าแค่แสดงจุดยืนได้อย่างไร

สุนัย ผาสุก นักวิจัยอาวุโส องค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ให้ความเห็นว่าการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับชายแดนใต้ของไทยพีบีเอสน่าสนใจเพราะเป็นสองส่วนที่วิ่งคู่ขนานไปภายในสถานี ด้านหนึ่งก็คือ อุดมคติ โรแมนติก พูดเรื่องการกระจายอำนาจในหลายๆ โมเดล อีกด้านหนึ่งคือสายความมั่นคง ที่วิเคราะห์ว่าภาคประชาสังคมเป็นปีกการเมืองของบีอาร์เอ็น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นภาคใต้ที่หายไปจากสื่อทั้งสองแห่ง ไม่ว่าจะเป็นไทยพีบีเอส หรือช่องสามคือ การตั้งคำถามว่าอะไรเป็นปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้กระบวนการพูดคุยดำเนินไปไม่ได้ แต่สื่อกลับไปเน้นที่ความจริงใจของบีอาร์เอ็น ตัวจริงหรือเปล่า ความสงสัยต่อบทบาทของมาเลเซีย แต่ไม่ตั้งคำถามต่อโครงสร้างใหญ่ของทหารไทยที่เป็นรากฐานของปัญหาความไม่ไว้วางใจจากทางขบวนการในภาคใต้

ทั้งนี้เขามีความเห็นเพิ่มเติมว่า กรณีถวิล เปลียนศรี กลับมารับตำแหน่งเลขาธิการ สมช. อาจจะส่งผลต่อนโยบายการดำเนินคดีอาญามาตรา 112 มากขึ้น

วาทกรรมสื่อไทยเรื่องปราสาทพระวิหาร-วาทกรรม ไทยรบไทย

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นำเสนอการวิจัยวาทกรรมสื่อในการนำเสนอประเด็นปราสาทเขาพระวิหาร โดยเขาศึกษาจากสื่อเครือผู้จัดการ ข่าวสามมิติ และสื่อโซเชียลมีเดีย คือ เพจสายตรงภาคสนาม ขณะที่ศึกษาสื่อจากกัมพูชา คือ สำนักข่าวเดลอัมเปิล ภาษากัมพูชา (www.dep-news), สำนักข่าว Cambodia Express News- CEN (wwwcen.com.kh) และ The Cambodia Herald (www.thecambodiaherald.com)

เขาตั้งข้อสังเกตวาทกรรมสื่อหลักไทยที่เขาทำการศึกษา พบว่าความสัมพันธ์ที่ดีของประเทศเพื่อนบ้านเป็นปรปักษ์ต่อประโยชน์ของประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ร้าย ในเชิงข่าวเอาเรื่องเทคนิคมาเป็นพาดหัวได้อย่างน่าประหลาดใจ เช่น รายละเอียดทางเทคนิคเรื่องแผนที่ แนวสันปันน้ำ เป็นต้น

กระทรวงการต่างประเทศ ถูกสื่อมวลชนเอาไป วิพากษ์วิจารณ์ทุกเรื่องทุกบรรทัด เช่นวิจารณ์ว่ากระทรวงการต่างประเทศบิดเบือนความจริง กระทรวงการต่างประเทศไม่มีความสามารถจะเปลี่ยนแปลงความรับรู้เกี่ยวกับข่าวปราสาทเขาพระวิหารได้เลย ขณะที่ทหารเป็นคนที่ผูกขาดความรักขาติมานาน แต่ทหารเป็นกลุ่มแรกที่ไม่รักชาติก่อนใครเพื่อนเลยในประเด็นไทย-กัมพูชา

โดยสรุป เขาพบว่า ประเด็นประสาทเขาพระวิหารนั้น สื่อนำเสนอวาทกรรมนักการเมืองฉ้อฉล นักการเมืองขี้ขลาด ชาวบ้านบางระจันถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ภาพพจน์ของเพื่อนบ้านเป็นพวกขี้ฉ้อ ขี้โกง โกงเอาแผ่นดินไทยไป และประเด็นสุดท้ายที่เขาถือเป็นเรื่องใหม่ คือวาทกรรมที่ชี้ว่าความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านนำไปสู่การสูญเสียผลประโยชน์ของชาติ

ในส่วนของสื่อกัมพูชาเสนคือสันติภาพ สันติสุข ผลประโยชน์ทางการค้า อาจจะเพราะกัมพูชาเห็นว่าปราสาทเป็นของเขาอยู่แล้ว ส่วนสื่อไทยนั้น เรื่องนี้ตกอยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองไทยอยู่แล้วตั้งแต่ต้น  แม้ในช่วงเริ่มการวิจัยเขาคาดว่าจะพบวาทกรรมไทยรบเขมร แต่สิ่งที่พบคือ ไทยรบไทย คือไทยรักชาติกับไทยไม่รักชาติ

อัครพงษ์ ค่ำคูณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ชี้ว่า ปัญหาใหญ่ของการนำเสนอข่าวสารทั้งในประเด็นสันติภาพชายแดนใต้ และประเด็นปราสาทพระวิหารคือ อุดมการณ์ชาตินิยม ขณะที่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยมีแต่ประวัติศาสตร์สงคราม ไม่มีมิติด้านอื่น มองว่าคนไทยคือทหารขอชาติ ไม่มีประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ไม่มีประวัติศาสตร์สันติภาพ

 

คลิกเพื่ออ่านรายงานการวิจัย 'วาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2556'
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles