27 มี.ค.2557 ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ คดีหมายเลขดำ อ.5099/2554 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนายกระมล ทองธรรมชาติ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ กับอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 12 คน ประกอบด้วย นายจิระ บุญพจนสุนทร, นายจุมพล ณ สงขลา, นายผัน จันทรปาน, นายมงคล สระฏัน, นายมานิตย์ วิทยาเต็ม, นายศักดิ์ เตชาชาญ, นายสุจิต บุญบงการ, นายสุธี สุทธิสมบูรณ์, พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช, นายสุวิทย์ ธีรพงษ์, นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ และนายอุระ หวังอ้อมกลาง เป็นจำเลยที่ 1-13 ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
ทั้งนี้อัยการโจทก์ได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2554 โดยระบุว่า เมื่อระหว่างวันที่ 22 มิ.ย.-30 ก.ย. 2547 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1-13 และนายปรีชา เฉลิมวณิชย์ (เสียชีวิตแล้ว) ซึ่งทั้งหมดเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ร่วมกันให้ความเห็นชอบร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการ อนุกรรมการ และค่าตอบแทนบุคคล หรือคณะบุคคล พ.ศ. 2547 และมีมติให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญปรับปรุงค่าสมนาคุณในลักษณะเหมาจ่ายรายเดือนของประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมาได้มีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนประจำเดือน ก.ค.-ก.ย. 2547 ให้แก่พวกจำเลย และนายปรีชา เฉลิมวณิชย์ คนละ 60,000 บาท ซึ่งเป็นการออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตนเอง อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษตามความผิด จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์แล้วคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า พวกจำเลยมีอำนาจออกระเบียบเพื่อขึ้นค่าตอบแทนหรือไม่ เห็นว่าการออกระเบียบขึ้นค่าตอบแทนนั้นพวกจำเลยไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการ หากจะมีการพิจารณาขึ้นค่าตอบแทนและเงินเดือนจะต้องพิจารณาออกเป็นพระราชบัญญัติ แต่การออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นการตีความเรื่องบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งตุลาการไม่ทราบมาก่อนว่าไม่สามารถออกระเบียบดังกล่าวได้ ขณะที่ก่อนที่จะพิจารณาออกระเบียบขึ้นเงินเดือน พวกจำเลยได้มีการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการที่มีตัวแทนจากสำนักงานงบประมาณและกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งไม่ปรากฏว่าระหว่างการประชุมนั้น ผู้แทนสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางดังกล่าวได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่า ศาลรัฐธรรมนูญและพวกจำเลยไม่มีสิทธิที่จะออกระเบียบ อีกทั้งเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการออกระเบียบขึ้นค่าตอบแทนแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ยกเลิกการออกระเบียบดังกล่าว นอกจากนี้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติให้คืนเงินค่าตอบแทน และจำเลยได้คืนเงินค่าตอบแทนแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีจึงยังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งหมดมีเจตนาที่จะกระทำผิดที่จะทำให้เกิดความเสียหาย พิพากษายกฟ้อง
หลังฟังคำพิพากษา นายกระมลกล่าวว่า ที่ผ่านมายืนยันว่าได้ปฏิบัติตามกฎและข้อบังคับของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่อัยการยื่นฟ้องเรื่องนี้ก็ถือเป็นการทำหน้าที่ ตนไม่ได้ติดใจอะไร และจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ก็เป็นหน้าที่ของอัยการพิจารณา
ขณะที่ นายอำนาจ ศักดิ์ชัชวาล ทนายความ กล่าวว่า อัยการจะอุทธรณ์หรือไม่นั้นตนไม่ทราบ แต่คำพิพากษาของศาลในประเด็นสำคัญได้ชี้ชัดแล้วว่าเราไม่มีเจตนาที่จะกระทำผิด
เรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย