กระทรวงแรงงาน ปรับเกณฑ์คำนวณจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จากจ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำคูณด้วย 365 วัน เหลือ 313 วัน ช่วยเหลือนายจ้างที่หาคนพิการเข้าทำงานไม่ได้
26 มี.ค.2557 นางปราณิน มุตตาหารัช รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ประชุมคณะทำงานพิจารณาทบทวน “กฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการและหน่วยงานของรัฐต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือสถานประกอบกิจการต้องนำส่งเข้ากองทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554” โดยที่ประชุมได้พิจารณาข้อกำหนดกฎกระทรวงแรงงานที่ให้สถานประกอบการจ้างงานคนพิการ โดยมีลูกจ้างปกติ 100 คน จะต้องรับคนพิการเข้าทำงาน 1 คน หากไม่จ้างงานคนพิการจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่วันละ 300 บาทคูณด้วยระยะเวลา 365 วัน รวมแล้วต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนในอัตรา 109,500 บาทต่อคนต่อปี
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ปรับสูตรการคำนวณเงินเข้ากองทุน โดยนำค่าจ้างขั้นต่ำคูณด้วย 313 วัน รวมแล้วจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนในอัตราที่ปรับสูตรการคำนวณอยู่ที่ 93,900 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งปรับกติกาการคำนวณวันทำงานและจำนวนเงินเพื่อให้ความเป็นธรรมกับนายจ้าง
นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการศึกษาวิจัยจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง เพื่อกำหนดมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับจำนวนผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านคนทั่วประเทศ การจ้างงานคนพิการนั้นรัฐจำเป็นจะต้องดูแลให้นายจ้างและคนพิการอยู่ได้ โดยรัฐจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ แม้ว่าจำนวนคนพิการที่มีการขึ้นทะเบียนในปัจจุบันจะยังไม่เพียงพอกับความต้องการของสถานประกอบการ
เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย