26 มี.ค.2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่าคำสั่งศาลอียิปต์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา เพื่อลงโทษประหารชีวิตบุคคลจำนวนมาก เป็นตัวอย่างที่พิลึกพิลั่นของความบกพร่องและการเลือกปฏิบัติของระบบยุติธรรมในอียิปต์
ตามรายงานข่าวจากสื่อของรัฐ ในการอ่านคำพิพากษาศาลอาญาจังหวัดมินยา (Minya) ลงโทษประหาร 529 คนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโมฮัมหมัด มอร์ซี (Mohamed Morsi) ในข้อหากระทำความรุนแรงภายหลังการโค่นเขาจากตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
ฮัสซีบา ฮัดจ์ ซาราอุย (Hassiba Hadj Sahraoui) รองผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงว่าการตัดสินนั้นเป็นคำสั่งที่อยุติธรรมที่สุด และเรียกร้องให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตบุคคลทั้งหมด การนำโทษประหารชีวิตมาใช้อย่างกว้างขวางในคดีเดียวกันเช่นนี้ ทำให้อียิปต์มีสถิติการใช้โทษประหารชีวิตสูงกว่าประเทศอื่นเกือบทั้งหมดภายในปีเดียวกัน
"นับเป็นการตัดสินลงโทษประหารครั้งใหญ่สุดในคราวเดียวกันที่เราได้เห็นในรอบหลายปีมานี้ ไม่เฉพาะในอียิปต์แต่ไม่ว่าในที่ใดของโลก ศาลอียิปต์เร่งรีบลงโทษผู้สนับสนุนนายโมฮัมหมัด มอร์ซีแต่กลับเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงของฝ่ายเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ในขณะที่ผู้สนับสนุนหลายพันคนของนายมอร์ซีต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในคุก แต่ที่ผ่านมาแทบไม่มีการสอบสวนการเสียชีวิตของผู้ประท้วงหลายร้อยคนเลย มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจนายเดียวที่อยู่ระหว่างการไต่สวนและอาจได้รับโทษจำคุกกรณีที่มีการเสียชีวิตของผู้ถูกควบคุมตัว 37 คน”
“หากไม่มีกระบวนการที่เป็นอิสระและมีความเป็นธรรม เพื่อสนับสนุนการค้นหาความจริงและความยุติธรรมสำหรับทุกคนแล้ว ย่อมทำให้คนจำนวนมากตั้งคำถามว่าระบบยุติธรรมทางอาญาในอียิปต์เกี่ยวข้องอย่างไรกับความยุติธรรม อย่างไรก็ดี การใช้โทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่อยุติธรรมโดยตัวของมันเอง ทางการอียิปต์ควรปฏิบัติตามข้อตกลงชั่วคราวที่ห้ามการประหารชีวิต และพยายามหาทางยกเลิกโทษนี้ในที่สุด” ฮัสซีบา ฮัดจ์ ซาราอุยกล่าว
ทางการอียิปต์ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขการลงโทษประหารชีวิตและการประหารชีวิต แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะร้องขอข้อมูลไปหลายครั้ง ทางหน่วยงานทราบว่าศาลอียิปต์สั่งลงโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 109 ครั้งในปี 2556 อย่างน้อย 91 ครั้งในปี 2555 และอย่างน้อย 123 ครั้งในปี 2554 ตามข้อมูลที่มีอยู่ การประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2554 โดยเป็นการแขวนคอชายผู้หนึ่งในข้อหาสังหารชาวคริสต์นิกายค็อปติกหกคน และตำรวจชาวมุสลิมหนึ่งคน โดยเป็นการขับรถไล่ยิงเมื่อเดือนมกราคม 2553
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม