สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เจาะระบบ 'หัวเว่ย'ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ในจีนและถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวพันใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน ทำให้ได้ข้อมูลอีเมลและซอร์สโค้ดเขียนโปรแกรมของบริษัทมาไว้ แต่ยังไม่รู้จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างไร
24 มี.ค. 2557 เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2557 สำนักข่าวเดอ สปีเกล รายงานว่าสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) มีความพยายามสอดแนมนักการเมืองและบริษัทในจีน โดยมีเป้าหมายใหญ่คือบริษัทหัวเว่ยซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของจีน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายการสอดแนมคือหูจิ่นเทา อดีตประธานาธิบดีจีน
จากเอกสารลับล่าสุดที่ได้มาจากเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตคนทำงานข่าวกรองของ NSA ระบุว่า NSA ได้สร้าง "ประตูหลัง" (back doors - ในแง่การแฮกคอมพิวเตอร์หมายถึงช่องทางที่แฮกเกอร์สร้างไว้เพื่อสามารถเจาะระบบได้โดยง่าย) เพื่อเข้าสู่ระบบเครือข่ายของหัวเว่ย
หัวเว่ยเป็นบริษัทที่มีพนักงาน 150,000 คน และทำรายได้ต่อปี 28,000 ล้านยูโร (ราว 1.2 ล้านล้านบาท) เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์และติดตั้งงานโครงสร้างพื้นฐานของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับสองของโลก อีกทั้งยังถือเป็นบริษัทคู่แข่งของซิสโก้ บรรษัทไอทีที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ
ในปี 2552 NSA เริ่มปฏิบัติการที่เรียกว่า "Shotgiant"หน่วยพิเศษขององค์กรข่าวกรองสหรัฐฯ สามารถแทรกซึมเครือข่ายของบริษัทหัวเว่ยและสามารถทำสำเนารายชื่อลูกค้า 1,400 ราย รวมถึงเอกสารภายในเกี่ยวกับการฝึกอบรมวิศวกรในการใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย และเอกสารอื่นๆ
จากเอกสารนำเสนอของ NSA ระบุว่า พวกเขาสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลอีเมล และคำสั่งในการเขียนโปรแกรมหรือซอร์สโค้ด (source code) ของผลิตภัณฑ์หัวเว่ย โดยซอร์สโค้ดถือเป็นสมบัติสำคัญของบริษัทคอมพิวเตอร์
เนื่องจากหัวเว่ยใช้วิธีการเดินข้อมูลอีเมลของพนักงานทั้งหมดให้ต้องผ่านสำนักงานหลักในเซินเจิ้น ทำให้ NSA ซึ่งแทรกซึมเข้าในระบบของสำนักงานเซินเจิ้น สามารถเข้าถึงอีเมลของพนักงานหัวเว่ยได้นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2552 รวมถึงอีเมลของประธานบริหาร เหรินเจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) และประธาน ซุนหยาฟาง (Sun Yafang)
เอกสารของ NSA ตอนหนึ่งระบุว่า "ในตอนนี้พวกเราสามารถเข้าถึงข้อมูลมากมายซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่รู้ว่าจะเอามาทำอะไร"ส่วนอีกตอนหนึ่งระบุว่า พวกเขาควรพยายามหาวิธีใช้ประโยชน์จากข้อมูลการผลิตที่ได้มาจากหัวเว่ย โดยทาง NSA ยังได้แสดงความกังวลว่าความแพร่หลายของโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตของหัวเว่ยอาจทำให้ทางการจีนมีความสามารถด้านข้อมูลข่าวกรองจากสัญญาณมากขึ้น
ฝ่ายประสานงานด้านข่าวกรองของทำเนียบขาวและสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอ (FBI) ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการในครั้งนี้ เอกสารฉบับหนึ่งระบุว่าหัวเว่ยเป็นภัยที่ "มีลักษณะเฉพาะ"
NSA ระบุในเอกสารว่าการเติบโตของบริษัทหัวเว่ยอาจส่งผลต่ออนาคต ทำให้จีนมีความสามารถควบคุมการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ซึ่งแต่เดิม สหรัฐฯ และชาติตะวันตกเป็นผู้นำด้านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต แต่การเติบโตของหัวเว่ยก็ทำให้อิทธิพลทางธุรกิจในด้านนี้ของชาติตะวันตกลดลง
บิล พลัมเมอร์ โฆษกของหัวเว่ย แถลงวิจารณ์การสอดแนมดังกล่าวนี้ โดยบอกว่าผู้สอดแนมคงนึกว่ารัฐบาลจีนดำเนินงานผ่านบริษัทหัวเว่ย แต่ทางบริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวพันกับรัฐบาลใดๆ
ทางด้าน เคทลิน เฮย์เดน โฆษกของ NSA กล่าวว่าการเก็บข้อมูลข่าวกรองขององค์กรเน้นทำเพื่อความมั่นคงในชาติเท่านั้น พวกเขาไม่ได้เก็บข้อมูลเพื่อนำไปให้กับบริษัทในสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในเวทีโลกแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ในรายงานของคณะกรรมการด้านข่าวกรองของสมาชิกสภาสหรัฐฯ เมื่อเดือน ต.ค. 2555 ระบุว่าบริษัทในสหรัฐฯ ควรหลีกเลี่ยงการทำธุรกิจกับบริษัทโทรคมนาคมในจีนสองบริษัทคือหัวเว่ยและแซดทีอี เนื่องจากบริษัทเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ
ทางการสหรัฐฯ ยังเคยอ้างว่าหัวเว่ยมีส่วนใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนมากแต่หัวเว่ยก็เคยปฏิเสธก่อนหน้านี้แล้ว ความกังวลอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ โดยในเดือน ก.พ. 2556 มีเหตุที่บริษัทในสหรัฐฯ บอกว่าตนเองถูกโจมตีทางไซเบอร์จากกองทัพจีน โดยเจมส์ เอ ลิวอิส ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์บอกว่า ประเทศจีนกระทำการจารกรรมทางไซเบอร์ (cyberespionage) มากกว่าประเทศอื่นๆ รวมกัน
เรียบเรียงจาก
Targeting Huawei: NSA Spied on Chinese Government and Networking Firm, Der Spiegel, 22-03-2014
http://www.spiegel.de/international/world/nsa-spied-on-chinese-government-and-networking-firm-huawei-a-960199.html
NSA targeted Chinese telecoms giant Huawei – report, The Guardian, 22-03-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/mar/22/nsa-huawei-china-telecoms-times-spiegel