21 มีนาคม 2557 คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัด “ประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนร่างกฎหมายจังหวัดปกครองตนเองเพื่อการปฏิรูปประเทศ” ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)เพื่อระดมความคิดเห็นและการสนับสนุนประชาชนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในด้านการกระจายอำนาจ และผลักดันร่างพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. ... ตามกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยมี 9 หน่วยงานประกอบด้วย สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สถาบันการจัดการทางสังคม สำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาและสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนร่างกฎหมายจังหวัดปกครองตนเองเพื่อการปฏิรูปประเทศ
ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนขับเคลื่อนเพื่อจังหวัดปกครองตนเอง (คปป.) ได้ออกแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครอง พ.ศ. ....ใจความว่า วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองตามที่ปรากฏในปัจจุบัน เกิดจากโครงสร้างการรวมศูนย์อำนาจ งบประมาณ และการตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้ระบบการบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพ เกิดการแย่งชิงอำนาจจนกลายเป็นวิกฤตของชาติ การพัฒนาไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชนท้องถิ่น การตรวจสอบโดยประชาชนกระทำได้ยาก ประชาชนขาดอำนาจในการจัดการพื้นที่ตนเองไม่สามารถ “เป็นเจ้าของ”ทรัพยากรในท้องถิ่น โดยโครงการของรัฐที่เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ ส่งผลทำให้เกิดการขัดแย้งและแย่งชิงทรัพยากร สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่ผ่านมาเครือข่ายประชาชนทั่วทุกจังหวัดได้ดำเนินการเคลื่อนไหวในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการรวมศูนย์อำนาจมาโดยตลอด รูปธรรมคือรณรงค์และให้ความรู้การกระจายอำนาจให้จังหวัดจัดการตนเอง มีข้อเสนอให้มีการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่ การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ได้ส่งผลให้เกิดกระบวนการของทุกฝ่ายทั้งชุมชนท้องถิ่นและทุกภาคส่วนซึ่งถือว่าเป็นพลังของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของประเทศ
อีกทั้งวิกฤตการเมืองในปัจจุบันการ”ปฏิรูปประเทศไทย” ได้กลายมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของหลายฝ่าย เครือข่ายประชาชนขับเคลื่อนเพื่อจังหวัดปกครองตนเอง จึงเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในทางการเมืองที่เกิดขึ้นครั้งนี้ 6 แนวทาง ดังนี้
1. เครือข่ายประชาชนขับเคลื่อนเพื่อจังหวัดปกครองตนเอง (คปป.) ขอสนับสนุนและจะร่วมกันขับเคลื่อน (ร่าง) พ.ร.บ. การบริหารจังหวัดปกครองตนเองที่ยกร่างโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและเครือข่ายฯ ให้ประกาศใช้โดยเร็ว
2. ต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ลดอำนาจรัฐส่วนกลาง คืนอำนาจให้กับชุมชนท้องถิ่นปกครองตนเอง ให้ประชาชนเป็นเจ้าของพื้นที่ มีอำนาจในการตัดสินใจบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเอง ในลักษณะจังหวัดปกครองตนเอง มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด สภาท้องถิ่นและให้มีสภาพลเมืองเป็นองคาพยพหนึ่งในจังหวัดปกครองตนเองทั้งในท้องถิ่นระดับบนและระดับล่างในทุกจังหวัด
3. ต้องปฏิรูประบบการเงินการคลังของประเทศ ให้ประชาชนและจังหวัดปกครองตนเอง ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่และเจ้าของภาษี เป็นผู้จัดเก็บภาษีโดยตรงในสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ไว้ในพื้นที่และ 30 เปอร์เซ็นต์ส่งให้ส่วนกลาง
4. ต้องปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยโอนอำนาจบริหารจัดการทรัพยากร เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองท้องถิ่น ให้ชุมชนท้องถิ่นปกครองตนเอง
5. ให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ตำรวจ การศึกษา สุขภาวะ และวางแผนพัฒนาท้องถิ่นด้วยตนเอง รวมทั้งสามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่นและมีระบบการบริหารของตนเอง
6. ในวันที่ 24 มิถุนายน 2557 เครือข่ายฯ และภาคีจะร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมเคลื่อนไหวปักธง “หนึ่งล้านรายชื่อเปลี่ยนประเทศไทย” เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเองพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai