เลขาธิการ ป.ป.ช. เผยมีมติไม่เข้าร่วมองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพราะ ป.ป.ช. ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต จึงไม่อาจร่วมเป็นองค์กรกลางในการเจรจาได้ แต่เห็นด้วยกับการหาทางออกประเทศ ขอให้กำลังใจทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาให้เข้าสู่ความสงบ
18 มี.ค. 2557 - ตามที่เมื่อวานนี้ (17 มี.ค.) 6 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีมติเสนอกรอบการเจรจาคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง และแผนที่ความสำเร็จ หรือ โรดแมป 6 ขั้นตอน และให้มี "คณะคนกลาง"ในการเจรจาซึ่งเป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย โดยมาจากการเสนอชื่อของรัฐบาล และ กปปส. ฝ่ายละ 10 คน หากมีรายชื่อตรงกันจะประสานให้บุคคลเหล่านั้นเป็นคณะคนกลาง จากนั้นให้รับฟังข้อเสนอของทั้ง 2 ฝ่าย หรือสร้างข้อเสนอใหม่ที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย ประสานเจรจาเพื่อปรับข้อเสนอทั้ง 2 ฝ่ายให้เข้าใกล้กันมากที่สุด จัดประชุมอย่างเป็นทางการเพื่อสร้างข้อยุติที่ยอมรับได้และการร่วมแถลงผลการเจรจาต่อสาธารณะนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มี.ค.สำนักข่าวไทยรายงานว่า นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ ป.ป.ช.มีมติว่า เนื่องจาก ป.ป.ช.เป็นองค์กรหลักที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต จึงไม่อาจร่วมเป็นองค์กรกลางในการเจรจาได้ อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช. เห็นด้วยกับการหาทางออกของประเทศ โดยวิธีการเจรจา และขอให้กำลังใจกับผู้ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแก้ไขปัญหาของประเทศไทยให้เข้าสู่ความสงบโดยเร็ว