สำนักงานปฏิรูป ร่วมกับ 3 องค์กร จัดงานใหญ่ เวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ 28 เมษาฯ เปิดปราศรัยสาธารณะพลังพลเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลง ศาสนา-เยาวชน-ผู้หญิงและภาคประชาสังคมกับสันติภาพ ออกปฏิญญา 3 ข้อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ตั้งองค์การมหาชนพัฒนาชายแดนใต้
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานปฏิรูป (สปร.) เปิดแถลงข่าวเตรียมจัดงานเวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ใช้ชื่อ”เสียงเพรียกเพื่อสันติภาพชายแดนใต้” ในวันที่ 28 เมษายน 2556 ที่สนามกีฬาและอาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี
การแถลงข่าวดังกล่าว มีขึ้นหลังจากการประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556 ที่สนามกีฬาและอาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี โดยมีผศ.ดร.ชิดชนก ราฮิมมูลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี กรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปฯ นางโซรยา จามจุรี ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และนายมันโซร์ สาและ กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมแถลงข่าว
นายแพทย์พลเดช แถลงว่า การจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งที่ 2 ทางสำนักงานปฏิรูป สภาประชาสังคมชายแดนใต้และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เป็นเจ้าภาพหลัก ภายในงานประกอบด้วย การปราศรัยในหัวข้อต่างๆ ที่เป็นการปราศรัยสาธารณะพลังพลเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงและสันติภาพ ได้แก่ ศาสนากับสันติภาพ โดยนายอิบรอเฮม ยานยา ผู้หญิงกับสันติภาพ โดยนางสุไบดะห์ ดอเลาะ เยาวชนกับสันติภาพ และบทบาทของภาคประชาสังคมต่อกระบวนการสันติภาพ โดยนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ
นายแพทย์พลเดช แถลงต่อไปว่า จากนั้นจะเป็นการประกาศปฏิญญาสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ รวม 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1.เรื่องร่วมมือกันสร้างบรรยากาศสันติภาพ ฉบับที่ 2.เรื่องการสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรมหาชน เสริมพลังพลเมืองท้องถิ่น สร้างสันติสุขยั่งยืน และฉบับที่ 3.เรื่องการกระจายอำนาจต้องฟังเสียงประชาชนทุกหมู่เหล่าในพื้นที่
“ปฏิญญาทั้ง 3 ฉบับ จะมีการยื่นให้เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ นำไปเพื่อพิจารณาเนื่องจากเป็นข้อเสนอส่วนหนึ่งจากพื้นที่ที่จะแสดงความมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ซึ่งรัฐต้องฟังเสียงจากพื้นที่” นพ.พลเดช กล่าว
นายแพทย์พลเดช แถลงอีกว่า นอกจากนี้จะมีการนำเสนอสาระสำคัญจากการจัดเวทีนโยบายสาธารณะ “ชายแดนใต้จัดการตนเอง” หรืองาน 200 เวที ที่ลงไปรับฟังเสียงจากประชาชนในพื้นที่ต่อรูปแบบการเมืองการปกครองในพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ รวมทั้งเวทีเฉพาะกลุ่มประมาณ 200 เวที
จากนั้นจะมีการมอบข้อเสนอและรายชื่อผู้สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมและการฟื้นฟูละพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์การมหาชน) ต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้
นายแพทย์พลเดช กล่าวว่า คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 5,000 คน และขอเชิญกลุ่มอื่นๆที่ต้องการแสดงออกว่า เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ ให้มารวมตัวกันในโอกาสนี้ด้วย
นายแพทย์พลเดช กล่าวอีกว่า เหตุผลที่เลือกวันที่ 28 เมษายนในการจัดสมัชชาดังกล่าว เนื่องจากเป็นวันสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ความรุนแรงที่กระทำทั้งสองฝ่าย หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์กรือเซะ เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ที่ต้องการยุติความรุนแรง โดยตั้งชื่อวันงานว่า “เสียงเพรียกเพื่อสันติภาพ”
นายมันโซร์ สาและ กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ แถลงว่า สภาประชาสังคมได้ลงพื้นที่ถามความต้องการของประชาชนถึงรูปแบบการเมืองการปกครองที่ประชาชนต้องการ ซึ่งจะนำเสนอผลการสอบถามดังกล่าวในวันงานด้วย
“คนสามจังหวัดเป็นกลุ่มคนที่ต้องเตรียมตัวเองในฐานะผู้เชื่อมสองกลุ่มประเทศหลักในภูมิภาคอาเซียน คือ โลกประเทศสุวรรณภูมิที่เป็นคนพุทธเป็นหลัก และ โลกประเทศมลายูที่มีมลายูมุสลิม เป็นประชากรหลัก และประชากรสำคัญของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพราะเป็นคนสำคัญในการจะเชื่อมต่อสองโลกดังกล่าว และการพัฒนาจะเกิดขึ้น สันติภาพจะยั่งยืน” นายมันโซร์กล่าว
นางโซรยา จามจุรี จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ และกรรมการจัดงานดังกล่าว กล่าวว่า 9 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้หญิงเสียชีวิตกว่า 400 คน เป็นหญิงหม้ายกว่า 5,000 คน ซึ่งทำให้เห็นว่า ผู้หญิงได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ฉะนั้นผู้หญิงจึงชอบธรรมในการเรียกร้องให้สันติภาพเกิดขึ้นในพื้นที่และขอให้ยุติความรุนแรง
“ผู้หญิงสามารถก้าวข้ามจากเหยื่อสู่ผู้ขับเคลื่อนสันติภาพได้ ส่วนหนึ่งคือการเข้าร่วมสภาประชาสังคมที่เข้ามาร่วมผลักดันนโยบายที่กระทบผู้หญิงในสภาประชาสังคม เพราะลำพังผู้หญิงคนเดียวไม่สามารถต่อรองได้ แต่สภาประชาสังคมเป็นพื้นที่รวมตัวของผู้หญิง ผู้ชาย ที่มีพลังในการต่อรอง ซึ่งกลุ่มผู้หญิงได้ใช้การรวมตัวนี้ในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายมาตลอด” นางโซรยา กล่าว
ผศ.ดร.ชิดชนก แถลงว่า เข้าร่วมจัดงานครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคณะรัฐศาสตร์ไม่ควรจะอยู่เฉย เพียงรับรู้เหตุการณ์อย่างเดียว แต่ควรให้ความร่วมมือทางการเมืองเพื่อให้เกิดพลังในการยุติความรุนแรงได้จริงด้วย โดยจะมีองค์กรที่ทำงานในพื้นที่ เครือข่ายสภาซูรอ 41 ตำบล เครือข่ายชุมชนศรัทธา 110 ชุมชน ซึ่งจะพาองค์กรร่วมจัด 45 องค์กร เข้าร่วม