หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่าหากศาล รธน. คว่ำ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน คนไทยก็ไม่ต้องเป็นหนี้ 50 ปี และมั่นใจว่าโครงการที่พร้อมสามารถดำเนินงานได้ตามงบประมาณรายปี และเกือบทุกโครงการต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดก่อน
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ที่มาของภาพ: เพจ Abhisit Vejjajiva)
12 มี.ค. 2557 - เมื่อวานนี้ (12 มี.ค.) ก่อนมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดี พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์รายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์รายการฟ้าวันใหม่ ทางสถานีโทรทัศน์ Blue Sky Channel ว่า หากกฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่าน กฎหมายก็ตกไป คนไทยก็ไม่ต้องเป็นหนี้ 50 ปี และมั่นใจว่าโครงการทั้งหลายที่จะดำเนินการก็สามารถดำเนินการได้ โดยไม่ล่าช้าไปมาก เพราะโครงการที่มีความพร้อมจริงๆ ก็สามารถจัดทำเป็นระบบงบประมาณได้
ทั้งนี้อภิสิทธิ์กล่าวถึงประเด็นกฎหมายตามที่มีการยื่นคำร้องว่า "ในคำร้องที่ยื่นไป แล้วก็ในการให้การ รวมทั้งการแถลงการปิดคดี มี 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือกระบวนการตรา ไม่ชอบ นี้ก็มีหลักฐานที่เราได้นำเสนอเป็นคลิปวิดีโอไปว่าในการลงมติ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีการใช้วิธีการกดบัตรแทนกันเช่นเดียวกันกับที่เคยมีการกระทำเช่นนี้ในกรณีของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องวุฒิสภามาแล้ว แล้วก็กรณีนั้นศาลก็ได้วินิจฉัยว่าเป็นการตราขึ้นมาโดยไม่ชอบ
ส่วนที่ 2 ก็เป็นเรื่องของตัวสาระของตัวกฎหมายที่เราได้ยื่นไปว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญนี้ก็จะเจาะจงไปตรงหมวดที่ว่าด้วยการเงินการคลัง แล้วก็มีประเด็นหลักๆ ที่ได้นำเสนอไป คือ 3 เรื่องหลักๆ เรื่องแรกก็คือเงินกู้ ซึ่งเมื่อต่อมาจะต้องเป็นภาระของประชาชนที่จะต้องไปชำระหนี้คืน เราก็ต้องถือว่าเป็นเงินแผ่นดิน เมื่อเป็นเงินแผ่นดิน ยกเว้นในกรณีจำเป็นเร่งด่วน รัฐธรรมนูญก็บอกว่า สามารถออกกฎหมายให้จ่ายได้เพียงตามระบบ ก็คือกฎหมายงบประมาณ กฎหมายวิธีงบประมาณ กฎหมายเงินคงคลัง แล้วก็กฎหมายหนี้สาธารณะ แต่กรณีนี้เป็นการตรากฎหมายพิเศษขึ้นมา อันนั้นก็คือประเด็นในเรื่องที่ว่าไม่เข้าข่าย
ทีนี้ถามว่าทำไมรัฐธรรมนูญกำหนดอย่างนี้เราก็ชี้ให้ชัดไปยิ่งขึ้นว่าที่ทำอย่างนี้ก็เพราะว่าต้องการที่จะหลบเลี่ยงกระบวนการตรวจสอบตามปกติ นั่นก็หมายความว่าแทนที่ผู้แทนปวงชนชาวไทย รัฐสภา จะได้เห็นรายละเอียดโครงการ ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ค่อนข้างเข้มงวดว่า เมื่ออนุมัติไปแล้ว จะไปโยกย้ายเปลี่ยนแปลงได้ยาก แล้วก็สามารถที่จะตรวจสอบความคุ้มค่าอะไรต่างๆ ได้ พอทำเป็นกฎหมายอย่างนี้แล้วก็เหมือนกับเป็นการให้เช็คเปล่า แม้แต่โครงการที่ยังไม่ปรากฎต่อหน้าสาธารณะ หรือต่อสภาเลยในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ก็สามารถผุดขึ้นได้มาได้ เพื่อใช้เงินก้อนนี้"
"ทีนี้ประเด็นสุดท้ายก็คือว่า ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายอันนี้ก็จะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องวินัยทางการเงินการคลังด้วย เพราะว่าการทำเช่นนี้ก็เหมือนกับเป็นการซุกหนี้เช่นเดียวกัน แล้วก็เราก็ยังได้หักล้างประเด็นที่ทางรัฐบาลพยายามต่อสู้ว่า ถ้าไม่ให้ทำเช่นนี้ ตัวโครงการก็เหมือนกับว่าจะมีปัญหา ทำไม่ได้ ซึ่งเราบอกว่าไม่จริง เพราะว่าทั้งกฎหมายวิธีงบประมาณ ทั้งในทางปฏิบัติที่ได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการต่างๆ เหล่านี้แล้ว มันเห็นได้ชัดว่าทำได้
ในการแถลงปิดคดีนั้น เราก็ได้อาศัยไม่ใช่เฉพาะความเห็นของพยานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมาพูด ก็ค่อนข้างจะเป็นไปในทางเดียวกันหมดว่าน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่เรายังอาศัยคำให้การของบรรดาพยานของรัฐบาลเอง ที่มีการมายอมรับว่า 1. เป็นเงินแผ่นดิน 2. โครงการต่างๆ เหล่านี้ที่ทำนี้ไม่ใช่โครงการเร่งด่วน 3. ถ้าไม่มีกฎหมายเงินกู้นี้ ก็ยังสามารถทำโครงการเหล่านี้ได้"
อภิสิทธิ์กล่าวถึงข้อสรุปในคำแถลงปิดคดีว่า "ประเด็นสุดท้ายที่เราได้สรุปเอาไว้ก็คือว่า ถ้าในกรณีกฎหมายแบบนี้ทำได้ วันข้างหน้าประเด็นในเรื่องของการจัดทำงบประมาณจะไม่มีความหมายอีกต่อไปเลย เพราะว่าผมก็สามารถที่จะทำงบประมาณที่มีแต่ค่าใช้จ่ายประจำ เงินเดือนอะไรต่างๆ แล้วเสร็จแล้วเงินที่ผมอยากจะใช้ในการลงทุนทั้งหมด ผมไม่อยากให้ผ่านกระบวนการงบประมาณ ผมก็ไปทำเป็น พรบ. เงินกู้ เพื่อการพัฒนาประเทศ และผมก็เขียนว่า ให้กู้เงินมาได้เท่านี้ แล้วก็ใช้เงินเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาประเทศ อาจจะเขียนยุทธศาสตร์อะไรสักเล็กน้อย สักหน้า 2 หน้ากระดาษ แล้วก็ต่อไปนี้ก็หมายความว่าเงินภาษีอากรของพี่น้องประชาชนที่จะต้องนำไปใช้หนี้ ในการทำโครงการเหล่านี้ ตัวแทนของพี่น้องประชาชนก็จะไม่มีทางทราบล่วงหน้าเลยว่า จะเอาเงินไปทำโครงการไหน จำนวนเงินเท่าไหร่ รายละเอียดเป็นอย่างไร"
ผู้ดำเนินรายการถามอภิสิทธิ์ว่า ถ้าศาลตัดสินออกมาว่าไม่ผ่าน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะเกิดอะไรขึ้น อภิสิทธิ์ตอบว่า "ถ้าไม่ผ่านกฎหมายก็ตกไป คนไทยก็ไม่ต้องเป็นหนี้ 50 ปี แต่ผมก็มั่นใจว่าโครงการทั้งหลายที่จะดำเนินการนี้ก็สามารถดำเนินการได้ และผมก็ไม่เชื่อด้วยว่าล่าช้าไปมาก เพราะว่าโครงการที่มีความพร้อมจริงๆ ก็สามารถจัดทำเป็นระบบงบประมาณได้ ที่ผ่านมาบางโครงการ ยกตัวอย่างเช่น รถไฟทางคู่ ซึ่งดูจะเป็นโครงการที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าเร่งด่วนที่สุด มีผลตอบแทนคุ้มค่า น่าทำที่สุด ก็มีการจัดงบประมาณ หรืออนุมัติในหลักการงบประมาณไปให้กับทางการรถไฟฯ แต่การรถไฟฯ เองยังไม่สามารถที่จะดำเนินการใช้เงินเหล่านั้นได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยซ้ำ"
จากนั้นผู้ดำเนินรายการถามว่า ถ้าไม่ผ่าน แล้วรัฐบาลแก้ไขงบประมาณกลางปี อภิสิทธิ์ตอบว่า "ประเด็นเรื่องการเอาไปสู่ระบบงบประมาณไม่ได้มีปัญหาเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นกรอบเพดานหนี้หรืออะไร แต่อันนี้ก็ต้องรอรัฐบาลชุดต่อไปที่มีอำนาจมาเสนองบประมาณเท่านั้นเอง"
ผู้ดำเนินรายการถามว่า ที่ผ่านมานั้น ฝ่ายค้านไม่ได้ค้านโครงการ แต่ต้องไปดูในรายละเอียด อภิสิทธิ์ตอบว่า "ถูกต้องครับ เพราะว่าข้อเท็จจริงก็คือเกือบจะทุกโครงการก็เป็นโครงการซึ่งต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้วอยู่แล้ว รัฐบาลก่อนหน้าอยู่แล้วครับ"
ผู้ดำเนินรายการถามต่อไปว่า แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบคำถามนักข่าววานนี้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญในวันนี้ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ อภิสิทธิ์ตอบว่า "ก็เสียโอกาสของพรรคพวกคุณยิ่งลักษณ์ เพราะว่าเงินที่เตรียมใช้นี้ก็คือเรื่องของการจ้างที่ปรึกษาหลายหมื่นล้าน"
ตอนหนึ่งผู้ดำเนินรายการถามว่า "ถ้าผิดทั้งกระบวนการการออกกฎหมาย และเนื้อหากฎหมาย แล้วจะมีผลอย่างไร"อภิสิทธิ์ตอบว่า "ผมเข้าใจว่ามีคนไปร้องที่ ปปช. ไว้แล้วก่อนหน้านี้ในเรื่องนี้ ตรงนั้นก็จะมีความชัดเจนขึ้นว่าผิด หรือไม่ผิดหรือไม่อย่างไร ส่วนว่าจะมีการดำเนินการอะไรเพิ่มเติมทางกฎหมายหรือไม่ ก็คงต้องรอดูคำวินิจฉัยของศาลเสียก่อน เพราะเรายังไม่รู้ศาลจะวินิจฉัยอย่างไร หรือแม้แต่ศาลวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้นก็ต้องลงไปดูในรายละเอียดว่า มีเรื่องเจตนาอะไรหรือไม่อย่างไร"