วันที่ 8 กันยายน 2556 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้นที่ บ้านหัวนา ตำบลนาโป่ง จังหวัดเลย
แต่มีการปิดกั้นเวทีโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรักษาความสงบรวม 750 คน
นานมาแล้วจากปมสังหาร ครูประเวียน บุญหนัก อดีตนายกสมาคมครูจังหวัดเลย หน้าสถานีตำรวจ สภ.อ.วังสะพุง โดยมือปืนชื่อ นายเลข กัตติยะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านขอนแก่น อำเภอวังสะพุง เมื่อ 19 ปีก่อน
ในตอนนั้น ครูประเวียน เป็นแกนนำเคลื่อนไหวต่อต้านตั้งแต่ระดับท้องที่ ตำบลผาน้อย จังหวัด จนถึงกระทรวงมหาดไทย ให้มีการยกเลิกสัมปทานโรงโม่หิน 3 แห่ง ที่มีการระเบิดหินนอกเขตสัมปทานและสร้างผลกระทบอย่างหนักต่อชาวบ้านในพื้นที่
โรงโม่หินแห่งแรก คือ บริษัท สุรัตน์ การศิลา จำกัด ของนายสุรัตน์ ทิมสุวรรณ (อดีต) สมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) ในเขตอำเภอวังสะพุง และประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดังที่ข่าวระบุว่า นายเลข มือปืน เป็นคนใกล้ชิดของ นายสุรัตน์ ทิมสุวรรณ เจ้าของโรงโม่
ส่วนโรงโม่หินอีกสองแห่งเป็นของ บริษัท สหศิลาเลย จำกัด ของนายสมศักดิ์ แสงเจริญรัตน์ สส.เขต 1 ประชาธิปัตย์ จ.เลย และ โรงโม่หินห้างหุ้นส่วนจำกัด บุญยงค์กิจ (เลย)
เหตุการณ์ก่อนหน้าที่ครูประเวียนจะถูกฆ่า ก็มีการข่มขู่คุกคามอย่างอุกอาจจากกลุ่มสนับสนุนโรงโม่หินหลายครั้ง
ครั้งหลังสุดนำโดยผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และสมาชิกสภาจังหวัด ได้ใช้รถ 10 ล้อออกมาปิดถนนบริเวณสี่แยกอุดร อำเภอวังสะพุง ดักทุบทำลายรถยนต์ของครูประเวียน และรถของกลุ่มคัดค้านโรงโม่หินที่กำลังมุ่งหน้ากลับบ้านหลังจากเดินทางไปเข้าพบ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่สนามม้านางเลิ้ง เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้ปิดโรงโม่เป็นการถาวร และให้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจากส่วนกลางไปรักษาความปลอดภัย รวมถึงให้ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปรักษาชาวบ้านที่ป่วยจากฝุ่นโรงโม่ โดยหลังเหตุการณ์ตำรวจได้เรียกครูประเวียนมาสอบปากคำ ซึ่งเป็นเหตุให้ครูประเวียนถูกยิงขณะที่กำลังจะเดินทางออกจากสถานีตำรวจในวันนั้นเอง
แม้ว่ามือปืนถูกจับได้ทันทีในที่เกิดเหตุ พร้อมพยานและหลักฐาน คือ ปืน .357 แม็กนั่ม และปลอกกระสุน แต่ความพยายามของตำรวจในการสาวไปถึงผู้บงการที่อยู่เบื้องหลัง พอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ปรากฏว่าอัยการสั่งไม่ฟ้อง คดีนี้จึงไม่ปรากฏความคืบหน้าไปมากกว่าการจับมือปืนที่ต่อมาได้รับการประกันตัวและเพียงลงโทษทางวินัยเท่านั้น และเขายังคงเดินอยู่บนเส้นสายของอำนาจในท้องถิ่นอย่างเปิดเผย
หลังจากครูประเวียนถูกฆ่าตายมีความพยายามในการเชื่อมโยงปมสังหารโดยสื่อต่างๆ ไปถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเลย เขต 2 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2538
กล่าวกันว่า การที่ครูประเวียนลงสมัครในนาม พรรคมวลชน และได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 4 นั้น เป็นการดึงคะแนนเสียงของ นายทศพล สังขทรัพย์ พรรคชาติไทย สส.เก่า ซึ่งเป็นทั้งบุตรบุญธรรมของนายสุรัตน์ ทิมสุวรรณ และเป็นเลขานุการส่วนตัวของนายเสนาะ เทียนทอง เลขาธิการพรรคชาติไทย แต่กลายเป็น สส. สอบตกได้เพียงที่ 3 โดยผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง คือ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข สส. พรรคกิจสังคม และนายพินิจ สิทธิโห สส. พรรคชาติพัฒนา ได้คะแนนเสียงไปมากกว่านายทศพล เพียง 2,000 กว่าคะแนน
อย่างไรก็ตาม ความตายบนสายสัมพันธ์ที่โยงใยและเกี่ยวข้องกับกลุ่มผลประโยชน์จากเหมืองแร่หลายฝ่ายด้วยชีวิตของครูประเวียน เพียงทำให้กิจการโรงโม่หินในอำเภอวังสะพุงหยุดดำเนินกิจการได้ชั่วคราว มิใช่ถาวร มิหนำซ้ำทั้งเหมืองปูนและเหมืองแร่ชนิดต่างๆ ยังคงได้รับประทานบัตรและขยายพื้นที่ให้ดำเนินกิจการมาถึงปัจจุบัน
ในเวลาต่อมา ประเด็นปัญหาเหมืองแร่ในจังหวัดเลยกลับมาปรากฎเป็นข่าวอีกครั้ง ในปี 2547 เมื่อชาวบ้านซำม่วง ตำบลผาสามยอด กิ่งอำเภอเอราวัณ ร่วมกันชุมนุมคัดค้านการประกอบกิจการโรงโม่หินของ บริษัท ศิริทรัพย์ เหมืองแร่หินอุตสาหกรรม จำกัด ของนางสาวศิริวรรณ ธนาสิริวงศ์ โดยปักเต้นท์ขวางถนนไม่ให้รถสิบล้อของบริษัทฯ ขนหินออกจากเหมือง เพราะได้รับความเดือดร้อนจากการที่เหมืองไม่ได้ทำตามข้อตกลงว่าเหมืองจะไม่ใช้ถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านและถนนภายในหมู่บ้านในการขนส่งลำเลียงหิน เป็นเหตุให้บริษัทฯ ฟ้องร้องชาวบ้าน 33 คนในข้อหาละเมิด โดยเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 30 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของเงินต้น
ครั้งนั้น นายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียว ที่ได้รับมอบหมายจากสภาทนายความเพื่อมาดูแลคดี โดนยิงข่มขู่กลางวงประชุมชาวบ้านระหว่างที่กำลังเจรจากับกลุ่มสนับสนุนโรงโม่ นำโดย นายบุดดา พานอ่อนตา และนายสมนึก โสภารักษ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซำม่วง ที่ถือปืนลูกซองยาวเข้ามาในบริเวณที่ประชุม และเปิดเครื่องขยายเสียงหอกระจายข่าวเรียกประชุมชาวบ้านโดยกล่าวโจมตีกลุ่มของนายคุ้มพงษ์ว่าเป็นพวกก่อกวน
กระสุนที่ลอบยิงนัดนั้นถูกกระจกรถยนต์ของนายคุ้มพงษ์ ซึ่งจอดอยู่ห่างจากนายคุ้มพงษ์เพียง 1 เมตร
โกดังเก็บแร่ทองแดง ถ่ายเมื่อต้นปี 2557 ปัจจุบันเหมืองทองไม่สามารถขนส่งแร่ทองแดงโดยใช้
รถบรรทุกใหญ่นำลงมาจากเหมืองเพื่อนำไปขายได้
ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่แหล่งแร่ทองคำในจังหวัดเลย ความรุนแรงได้ก่อตัวอย่างเงียบๆ มาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
นับตั้งแต่มีการเปิดโปงเอกสารลับเรื่องการใช้อิทธิพลใต้ดินด้วยแผนปฏิบัติการที่เรียกว่า “ชุดควบคุมภูผ่อง” ในปี 2555
แผนการได้วางชุดปฏิบัติงาน 3 ชุด เพื่อปฏิบัติภารกิจในพื้นที่รอบๆ เหมืองและพื้นที่เป้าหมาย 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงคาน อำเภอเมืองเลย อำเภอวังสะพุง และ อำเภอภูหลวง เพื่อจัดตั้งเครือข่ายมวลชนในแต่ละหมู่บ้านให้สนับสนุนและไม่คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ เพื่อให้สามารถขยายพื้นที่ขอประทานบัตรที่นายทุนกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนั้น
เอกสารลับฉบับดังกล่าวตอกย้ำพฤติกรรมของกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอิทธิพล และกลุ่มการเมืองในจังหวัดเลย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่ามีการสร้างอิทธิพลและแสวงหาความมั่งคั่งจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ให้ชัดเจนขึ้น
ความรุนแรง การคุกคาม การฟ้องคดี และการสังหารครูประเวียน จึงอาจจะเป็นวงจรวนกลับ โดยเฉพาะแรงคัดค้านเหมืองทองคำเลยของชาววังสะพุง 6 หมู่บ้าน ซึ่งสะท้อนภาพประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชนที่ขวางผลประโยชน์อย่างเข้มแข็ง ไม่อ่อนข้อ ไม่เจรจา และไม่ยอมสมประโยชน์
ซึ่งหากวิเคราะห์จากลำดับเหตุการณ์ ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 เมื่อทนายของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยื่นขอเจรจาผ่านศาล เสนอจะถอนคดีที่ฟ้องชาวบ้านทั้งหมดแลกเปลี่ยนกับให้ชาวบ้านทำลายกำแพงใจ เจรจาล่มเพราะชาวบ้านไม่ยอม
4 กุมภาพันธ์ 2557 นายปราโมทย์ ปันสิทธิ์ กรรมการ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอนอกรอบผ่านนายวสันต์ พานิช ทนายของชาวบ้าน โดยจะแบ่งหุ้นให้กับชาวบ้าน 20% จะผลิตทองคำโดยไม่ใช้ไซยาไนด์ จะให้ชาวบ้านเข้าตรวจสอบการดำเนินกิจการเหมืองแร่ได้ตลอดเวลา และจะแบ่งผลกำไรให้กับชาวบ้านในรูปแบบกองทุน ซึ่งชาวบ้านร่วมกับทีมทนายได้จัดโต๊ะแถลงข่าวหน้าศาล จังหวัดเลย ตอบโต้ โดยปฏิเสธข้อเสนอ 4 ข้อ จากเหมืองทองคำ ให้คำตอบ "ไม่เจรจา แต่จะต่อสู้ต่อไปเพื่อปิดเหมือง พื้นฟู”
ส่วนอีกด้านหนึ่ง ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นต้นมา นายธนาวุธ ทิมสุวรรณ นายก อบจ. เลย พยายามติดต่อ นายสมัย ภักมี หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดหลายครั้ง เพื่อขอนัดพบพูดคุยเรื่องเหมืองทองคำ
ถุงใส่แร่ทองแดง ถ่ายเมื่อปี 2555 โดย เริงฤทธิ์ คงเมือง
19 กุมภาพันธ์ 2557 สมัย ภักมี พร้อมกับชาวบ้าน 7 คน พบกับ นายธนาวุธ ทิมสุวรรณ โดย นายธนาวุธ ยื่นข้อเสนอให้ชาวบ้านเปิดกำแพง แลกกับค่าหัวคิว 5% จากการที่นายกฯ จะรับซื้อหรือเป็นนายหน้าหาผู้ซื้อแร่ทองแดงที่กองอยู่ในเหมืองทุ่งคำกว่า 20,000 ตันออกมาขาย
วิธีการ คือ จะขนแร่วันละ 10 คัน โดยจะส่งทะเบียนรถทุกคันให้ชาวบ้าน อีกทั้งยังยืนยันว่า ถ้าขนทองแดงลงมาขายได้แล้วยินดีจะมาก่อกำแพงของชาวบ้านให้เหมือนเดิมด้วยตัวเอง
ส่วนคำตอบที่นายก อบจ. ได้รับจากนายสมัยและชาวบ้าน คือ นายกฯ ต้องมาคุยกับชาวบ้านเอง ขึ้นอยู่กับชาวบ้าน แต่ก็น่าจะรู้ว่าชาวบ้านไม่ยอม ขนาดทุ่งคำให้หุ้น 20% ชาวบ้านยังไม่เอาเลย
กำแพงใจที่บุกรื้อทำลาย เป็นครั้งที่ 2 โดย นายก อบต. เขาหลวง นำกำลังตำรวจและอส. 100 นาย
เข้ารื้อถอน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2556
และหากนำลำดับเหตุการณ์หน้าฉากเหล่านี้มาเชื่อมโยงกับ การฟ้องแพ่งอาญาชาวบ้านที่คัดค้านเหมืองทองคำ 7 คดี
การแสดงตัวที่ นายก อบต.เขาหลวง นำกำลังตำรวจ 100 นายเข้ามารื้อถอนบล็อกคอนกรีต ที่ชาวบ้านสร้างขึ้นป้องกันไม่ให้รถบรรทุกแร่และสารเคมีอันตรายผ่านถนนของชุมชน พร้อมๆ กับการที่บริษัททุ่งคำ ร่วมกับ อบต. แจ้งความชาวบ้าน 22 รายข้อหาข่มขืนใจฯ
กองกำลังตำรวจ 50 นาย พร้อมอุปกรณ์ทำลายกำแพงเข้าพื้นที่หมายทำลายกำแพงใจ ครั้งที่ 3
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 แต่ชาวบ้านขัดขวางไม่ยินยอม
การที่ พล.ต.ต.ศักดา วงศ์ศิริยานนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย วางแผนและบัญชาการตามแผนกรกฎ ด้วยการนำกำลังตำรวจผสมทหารพลเรือนและพนักงานบริษัท 1,000 นาย ปิดกั้นชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดไม่ให้เข้าร่วมเวทีพับลิก สโคปปิง แปลงที่ 104/2538 (ภูเหล็ก) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 และเวทีพับลิก สโคปปิง แปลงที่ 76/2539 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 ด้วยกำลังตำรวจและพนักงานบริษัท 700 กว่านาย ด้วยตนเอง
และเหตุการณ์ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 ที่กองกำลังตำรวจประมาณ 50 นาย นำโดย พ.ต.ท. รัฐพล เพ็ญสงคราม รอง ผกก.ป.สภ.วังสะพุง และนาย วิษณุ ทวีวรรณ ในฐานะตัวแทนของนายกฯ อบต.เขาหลวง พร้อมรถขนแก๊ส แก๊สน้ำตาและรถไถ เดินทางมาในพื้นที่เพื่อทำลายกำแพงใจ โดยเข้าต่อรองกับชาวบ้านว่าจะขอเข้าไปดูพื้นที่ แต่ชาวบ้านยื่นข้อเสนอให้เข้าไปในพื้นที่ได้ 5 นาย ฝ่ายตำรวจไม่ยอมทำตามข้อเสนอ จึงยกกองกำลังกลับ ซึ่งในเวลากลางคืนของวันนั้น มีรถกระบะโตโยต้าไทเกอร์ป้ายทะบียนจังหวัดเลย วิ่งห้อเข้ามาที่ด่านตรวจของชาวบ้าน แล้วก็หักเลี้ยวออกในระยะประมาณ 10 เมตร ก่อนถึงตัวชาวบ้านที่เฝ้าด่าน ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในด่านต้องกระโดดหนีกันชุลมุน
ตลอดจนเหตุการณ์หลังฉากอีกหลายกรณีที่มีการข่มขู่คุกคาม เช่น การกลั่นแกล้งวางกล่องคล้ายระเบิด 2 จุดในหมู่บ้านเพื่อข่มขู่แกนนำ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าทางคดี การทำลายกำแพงใจโดยกลุ่มชายชุดดำติดอาวุธครบมือ การก่อกวนจากแก๊งค์มอเตอร์ไซค์และคนแปลกหน้าที่พกอาวุธปืนลูกซองและระเบิดปิงปองเข้าไปปรากฎตัวในพื้นที่ในยามวิกาล
ปรากฎการณ์ที่ผ่านมาของเหตุที่เกิดและความเคลื่อนไหวทั้งจากนักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการ ตำรวจ และอิทธิพลมืดเหล่านี้ ทำให้ชาวบ้านอดสงสัยและกังวลในความเกี่ยวพันของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเคยมีตำแหน่งเป็น กรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระ ของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทแม่ของบริษัททุ่งคำ แต่ลาออกจากตำแหน่งกรรมการไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา
ป้ายในหมู่บ้านนาหนองบง
รวมถึงท่าทีจาก ตระกูลทิมสุวรรณ ตระกูลที่ชาวจังหวัดเลยขนานนามว่า “บ้านใหญ่” ซึ่งนายก อบจ. เลย กำลังสำคัญของบ้านนี้ลงทุนติดต่อขอนัดคุยต่อรองกับแกนนำชาวบ้านด้วยตัวเอง
หรือแม้แต่ ตระกูลเร่งสมบูรณ์สุข ที่ชาวจังหวัดเลยขนานนามว่า “บ้านเล็ก” ซึ่งปัจจุบันทั้งหมดล้วนอยู่ในค่ายการเมืองของพรรคเพื่อไทย และยังคงเป็นสองตระกูลผู้ทรงอิทธิพล ที่เกี่ยวข้อง และมีสายสัมพันธ์กับกิจการเหมืองแร่ นักการเมืองท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐระดับต่างๆ มาเนิ่นนาน ในฐานะที่เป็นทั้งนายทุนทำเหมืองแร่เอง เป็นนายหน้าซื้อขายแร่ และประกอบกิจการก่อสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับแร่
คำถามคาใจจากคนเมืองเลย คือ เขาทั้งหลายเท่านี้จะมีการต่อสายถึงกัน หรือรับรู้ แลกเปลี่ยน หรืออย่างไร กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้หรือไม่?
ยิ่งเมื่อฟังถ้อยคำจาก พลเอกกิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ อดีตประธานบริษัททุ่งคำเมื่อปี 2551 ในงานสัมมนา เรื่อง “ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตจากปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม : ศึกษากรณีจังหวัดเลย เหมืองทองคำ” 22 ตุลาคม 2556 ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่กล่าวว่า
“ตอนนี้บริษัทกำลังอยู่ในภาวะขาดทุน ผมพูดตรงๆ ถ้าปล่อยให้เขาทำต่อไปอีกหน่อยจนคืนทุน เขาจะได้ออกจากพื้นที่ของเราไป เพราะถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ ต่อไปที่นี่อาจจะเป็น สมรภูมิเลือด”
ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของขบวนการที่มีกลุ่มต่างๆ เข้ามารุมแบ่งปันผลประโยชน์จากการทำเหมืองแร่ร่วมกัน ทั้งในลักษณะเปิดเผย หรือด้วยความสัมพันธ์ที่มีต่อกันในทางลับ กับการต่อสู้คัดค้านของขบวนการภาคประชาชนในพื้นที่เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งปัจจัยการผลิตที่เป็นชีวิตของชุมชนแบบยอมหักไม่ยอมงอ
สถานการณ์ความขัดแย้ง แรงกดดัน การคุกคาม ที่ชาวบ้านต้องเผชิญจะยกระดับหรือเป็นไปอย่างไร?
‘เหมืองแร่ เมืองเลย’ หรือที่นี่ ความรุนแรงกำลังจะจู่โจม
เนื้อส่วนหนึ่งของบทความนี้อ้างอิงจาก
การลอบสังหารครูประเวียน บุญหนัก
ปฏิทินประวัติศาสตร์สามัญชน 11 กรกฎาคม 2537
ปลุกผี ?ครูประเวียน? โรงโม่ฟ้องชาวบ้านเรียก 30 ล้าน
สัมปทานเหมืองทองในเขตป่าสงวนจังหวัดเลย
ติดตาม ลำดับเหตุการณ์ และความคืบหน้าคดีเหมืองทองเมืองเลย (อัพเดททุกครั้งที่มีความเคลื่อนไหว) ได้ที่ http://loeiminingtown.org/2014/02/26/525
หรือ ติดตามสถานการณ์ เหมืองแร่ เมืองเลย ได้ที่ https://www.facebook.com/loeiminingtown