Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ทีดีอาร์ไอเตือนผู้ประกอบการไทยย้ายฐานการผลิตมีความเสี่ยง

$
0
0

 

12 มี.ค.2557 จากกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่สูงมากขึ้น  ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ “การย้ายหรือขยายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน” จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนแก่ผู้ประกอบการในระยะสั้น

เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอกล่าวถึงภาพรวมของการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น  อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศเมียนมาร์และเวียดนามว่า สาเหตุหลักๆ ของการย้ายฐานการผลิตมีด้วยกัน 3 ประการ ประการแรกค่าจ้างแรงงานสูงและแรงงานตึงตัว กล่าวคือผู้ประกอบการหาแรงงานยากมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล บวกกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านประการที่สอง ลูกค้า (Buyers) เรียกร้องให้ผู้ประกอบการย้ายหรือขยายฐานไปประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่าเพื่อคงความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และประการสุดท้าย ประเทศเพื่อนบ้านได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences) หรือ GSP จากตลาดสำคัญๆ ขณะที่ ประเทศไทยถูกตัดสิทธิ GSP เพิ่มเติมทั้งจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป 

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อต่างประเทศรายใหญ่มีโอกาสที่จะย้ายหรือขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า SMEs เนื่องจาก ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีเงินทุนสูงกว่าและความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่า SMEs

ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นนั้น ต้นทุนโดยรวมของการผลิตหน้าโรงงานที่ตั้งในกรุงเทพมหานครสูงที่สุด รองลงมาคือในโฮจิมินห์ และในย่างกุ้ง โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตหน้าโรงงานในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันคือ ต้นทุนค่าจ้างแรงงาน โดยย่างกุ้งมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ต่ำที่สุด อย่างไรก็ตามข้อควรระวังที่สำคัญคือ ย่างกุ้งมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงที่สุดเช่นกัน

แม้การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการ แต่การย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการไทยต้องระวังความเสี่ยงเรื่อง กฎระเบียบในต่างประเทศที่ยังไม่ชัดเจน และมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ค่อยพัฒนา โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิตไปเมียนม่าร์ ซึ่งเป็นประเทศที่ผู้ประกอบการจำนวนมากกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงการเปิดประเทศและยังได้รับสิทธิพิเศษ GSP จากประเทศคู่ค้าสำคัญ ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอยู่ในระหว่างการปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจเข้าไปตั้งฐานการผลิต หรือลงทุนผู้ประกอบการต้องพิจารณาว่าบริษัทจะสามารถรับความเสี่ยงดังกล่าวได้หรือไม่

นักวิชาการทีดีอาร์ไอยังกล่าวอีกว่า ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการไทยคือ ยังขาดการสนับสนุนเรื่องข้อมูลและการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐของไทย อาทิ การให้ข้อมูลเบื้องต้นและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประเทศที่จะไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายด้านแรงงาน สิทธิประโยชน์ทางการค้า สิทธิประโยชน์ทางภาษี ระบบสาธารณูปโภค ข้อมูลเชิงพื้นที่และอุตสาหกรรม และข้อมูลด้านการตลาดของต่างประเทศ ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งจัดตั้งหน่วยงานบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (one-stop service) เพื่อให้บริการข้อมูลและอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ และเร่งรัดการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณตะเข็บชายแดน ซึ่งอาจพิจารณาบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ยืนยันว่า การย้ายฐานการผลิตไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนนัก โดยเฉพาะการประสบกับภาวะแรงงานตึงตัวและค่าจ้างสูงขึ้น แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการและภาครัฐควรคำนึงถึงมากที่สุดคือ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในลักษณะการบูรณาการที่จะทำให้เกิดความมีประสิทธิภาพในด้านการผลิต การจัดหาวัตถุดิบ และการจัดส่งสินค้าหรือบริการจากผู้ผลิตสินค้าถึงผู้ซื้อหรือลูกค้า ตลอดจน การให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานสากลทั้งในด้านสวัสดิการแรงงานและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น โดยยกระดับผลิตภัณฑ์ และยกระดับสู่กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ การออกแบบ การวิจัยและพัฒนา การกระจายสินค้า การสร้างแบรนด์สินค้า และการทำการตลาด เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว

 

ที่มา: ทีมสื่อสารสาธารณะ ทีดีอาร์ไอ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles