Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

เมื่อเด็กผู้หญิงไม่จำเป็นต้อง 'สีชมพู'โครงการต้านแบ่งแยกเพศจากปกหนังสือเด็กในอังกฤษ

$
0
0

กลุ่มผู้ปกครองในอังกฤษจัดโครงการรณรงค์เล็ทบุ๊คบีบุ๊ค เรียกร้องสำนักพิมพ์หนังสือเด็กเลิกใช้ชื่อหรือลักษณะปกแบ่งแยก "เด็กผู้ชาย"และ "เด็กผู้หญิง"หวั่นปิดกั้นความคิดและความชื่นชอบของเด็ก รวมถึงเป็นบ่อเกิดการข่มเหงรังแกในเด็ก

8 มี.ค. 2557 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า โครงการรณรงค์เล็ทบุ๊คบีบุ๊ค (Let Books Be Books) ในอังกฤษซึ่งต้องการหยุดการแบ่งแยกเพศในการตีพิมพ์หนังสือเด็ก ประสบผลสำเร็จโดยทันทีหลังจากประกาศเริ่มโครงการในวันเสาร์ที่ผ่านมาซึ่งตรงกับวันสตรีสากล โดยผู้จัดพิมพ์ประกาศว่าพวกเขาจะหยุดแปะป้ายชื่อหนังสือเด็กว่า "สำหรับเด็กผู้หญิง"หรือ "สำหรับเด็กผู้ชาย"

โครงการเล็ทบุ๊คบีบุ๊คเป็นโครงการหนึ่งของกลุ่มสมาคมผู้ปกครองซึ่งก่อนหน้านี้เคยเจรจากับร้านค้าต่างๆ เช่น ทอยอาร์อัส บูทส์และเทสโก้ เพื่อให้ขายของเล่นที่ไม่มีการแบ่งแยกทางเพศ โดยในโครงการเล็ทบุ๊คบีบุ๊คระบุในเว็บไซต์ว่าพวกเขาต้องการให้นำการแบ่งแยกว่าเป็นหนังสือของเด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิงออกเพื่อให้เด็กสามารถเลือกได้เองว่าพวกเขาสนใจเรื่องราวหรือหนังสือที่มีกิจกรรมแบบใด

"หนังสือเหล่านี้ส่งสารที่มีข้อจำกัดต่อเด็กมากในแง่ที่ว่าสิ่งใดเหมาะสมกับเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชาย"เป็นข้อความที่ระบุในเว็บไซต์โครงการ พวกเขายกตัวอย่างหนังสือปกสีน้ำเงินที่ระบุว่าสำหรับเด็กผู้ชายซึ่งมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับแอ็คชั่น การผจญภัย หุ่นยนต์ อวกาศ รถบรรทุก โจรสลัด ขณะที่หนังสือปกสีชมพูซึ่งระบุว่าสำหรับเด็กผู้หญิงมีลักษณะเป็นประกาย มีนางฟ้า เจ้าหญิง ดอกไม้ และผีเสื้อ

"แต่เด็กจริงๆ มีความหลากหลายและความน่าสนใจมากกว่านั้น"เว็บไซต์โครงการระบุ

เว็บไซต์โครงการระบุอีกว่าสาเหตุที่เรื่องนี้สำคัญเนื่องจากเด็กจะรับสารจากหนังสือ จากของเล่น จากการโฆษณา และจากผู้ใหญ่ของพวกเขาอย่างจริงจัง แต่ก็คิดว่าเราไม่ควรจำกัดเด็กด้วยเพศสภาพของเขา การที่เด็กผู้หญิงจะชอบหุ่นยนต์หรือเด็กผู้ชายจะอยากวาดรูปดอกไม้ไม่ถือเป็นเรื่องผิด การจำกัดเช่นนี้ทำให้เด็กหันเหออกจากสิ่งที่ชอบจริงๆ อีกทั้งยังกลายเป็นข้ออ้างในการข่มเหงรังแกกัน (bullying)

ทริเชีย เลาเธอร์ สมาชิกโครงการกล่าวว่าขณะที่ผู้คนพูดถึงหนังสือด้วยใจที่เปิดกว้างทำให้กลายเป็นเรื่องการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ สำหรับพวกเขา แต่หนังสือเด็กเหล่านี้เป็นไปในทางตรงกันข้าม

โครงการเล็ทบุ๊คบีบุ๊คเรียกร้องให้หยุดการแปะป้ายหนังสือว่าเป็นสำหรับเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชายไม่ว่าจะในชื่อหรือบรรจุภัณฑ์ มีผู้ลงนามสนับสนุนข้อเรียกร้องเกือบ 2,000 คนในวันเดียว

แอนน์ ไฟน์ อดีตนักเขียนหนังสือเด็กผู้ได้รับรางวัลกล่าวว่าการตั้งสมมติฐานผิดๆ ว่าเด็กในแต่ละเพศต้องการอะไรเป็นการจำกัดการมองโลกและความเป็นไปได้ของเด็กไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม ไฟน์บอกว่าการต่อสู้เรื่องนี้น่าจะได้รับชัยชนะมาตั้งแต่หลายสิบปีที่แล้ว แต่ทุกวันนี้ยังมีผู้ใหญ่ที่สติดีบางคนยังคิดว่าสีชมพูสำหรับเด็กผู้หญิงและสีน้ำเงินสำหรับเด็กผู้ชาย

"มีเด็กผู้หญิงอยู่หลายประเภทที่มีความสนใจทุกรูปแบบ มีเด็กผู้ชายอยู่หลายประเภทที่มีความสนใจทุกรูปแบบด้วย แค่ลองเจอกับเด็กไม่กี่คนก็รู้เรื่องนี้ได้ แต่แนวความคิดแบบโง่เขลาก็ยังคงเกิดขึ้นหลายครั้งจนกลายเป็นการควบคุมทางสังคมแบบเป็นไปตามแนวคิดนั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กของพวกเราเจ็บปวด"แอนน์ ไฟน์กล่าว

จากการณรงค์ดังกล่าวทำให้สำนักพิมพ์อัสบอร์นประกาศว่าพวกเขาได้วางแผนหยุดพิมพ์หนังสือที่มีการแปะป้ายแบ่งเพศมาสักพักหนึ่งแล้ว และทางสำนักพิมพ์ก็รับฟังความคิดเห็นเรื่องเพศสภาพอย่างจริงจังอีกทั้งในอนาคตจะไม่มีแผนการผลิตหนังสือที่มีการแปะป้ายว่า "สำหรับเด็กผู้หญิง"หรือ "สำหรับเด็กผู้ชาย"อีก

เลาเธอร์ จากโครงการเล็ทบุ๊คบีบุ๊คบอกว่าเธอรู้สึกยินดีกับการตัดสินใจของอัสบอร์นซึ่งถือเป็นการให้เด็กได้สามารถเลือกด้วยตนเอง

แต่ทางสำนักพิมพ์หนังสือเด็กอีกแห่งหนึ่งคือบัสเตอร์บุ๊คกลับมีความคิดเห็นตรงกันข้าม โดยไมเคิล โอมารา กล่าวว่าเรื่องนี้คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงง่ายๆ เนื่องจากหนังสือภาพระบายสีของพวกเขาขายดีขึ้น 3 เท่าเมื่อมีการแบ่งเป็นของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง รวมถึงคนที่ต้องการซื้อผ่านออนไลน์ก็มักจะระบุเพศของเด็กที่ต้องการจะให้เวลาค้นหาเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้สำนักพิมพ์ระบุเพศชายหรือหญิงลงในไปชื่อด้วย

อย่างไรก็ตาม โอมาราบอกว่าเขาเข้าใจสิ่งที่ผู้รณรงค์ต้องการและทางสำนักพิมพ์เองก็ไม่อยากให้เกิดการดูถูกเหยียดหยามกันโดยใช้การแบ่งแยกทางเพศ และจะพยายามระมัดระวังเรื่องที่มีความอ่อนไหว รวมถึงใช้การแบ่งเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายเพียงเท่าที่จำเป็น

เดิมทีกลุ่มผู้รณรงค์ตั้งเป้าไปที่สำนักพิมพ์เพียงอย่างเดียว แต่พวกเขากำลังวางแผนรณรงค์เรื่องการทำตลาดเด็กของกลุ่มผู้ค้าหนังสือและร้านหนังสือด้วย

"มันเป็นเรื่องที่ดีงามที่จะเห็นความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น และได้รับรู้ว่าความจริงแล้วเด็กๆ ต่างชอบหนังสือเรื่องราวสำหรับเด็กๆ โดยไม่จำเป็นต้องแบ่งแยก"เลาเธอร์กล่าว


เรียบเรียงจาก: Parents push to end gender division of boys' and girls' books, The Guardian, 07-03-2014
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles