Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

‘FTA watch’ โต้ ‘ยิ่งลักษณ์’ โพสต์ไทยส่อถูก ‘อียู’ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีสินค้าจากปัญหาการเมืองวุ่น

$
0
0
แจงไทยถูกตัด GSP เพราะมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ระบุการเร่งเจรจา FTA เพียงหวังต่อสิทธิ์ GSP ทำไทยเสียประโยชน์ไม่ต่ำกว่าปีละ 1.9 แสนล้าน ทั้งอาจเสียหายยาวนานข้ามรัฐบาล-ข้ามชั่วอายุคน เตือนรัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องคำนึงประโยชน์ของทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม

6 มี.ค. 2557 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA watch (เอฟทีเอ ว็อทช์) เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งข้อสังเกตต่อการโพสต์ข้อความของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่ใช้ชื่อว่า Yingluck Shinawatraเมื่อวานนี้ (5 มี.ค.2557) เรื่องไทยจะถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษอัตราภาษีศุลกากร หรือ GSP
 
โพสต์ข้อความในเพจ Yingluck Shinawatraตอนหนึ่งระบุว่า “เป็นที่น่าเสียดายที่ทางสหภาพยุโรปได้ระงับการเจรจาเอฟทีเอกับไทยเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองและความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งจะทำให้การเจรจาล่าช้าออกไป มีแนวโน้มที่จะไม่ทันการถูกตัดสิทธิ GSP ของไทยในปี 2558 ซึ่งนอกจากจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง เนื่องจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าแล้ว ยังอาจส่งผลให้บรรษัทข้ามชาติย้ายฐานการผลิต หรือตัดสินใจลงทุนในประเทศที่มีสิทธิพิเศษทางการค้าไม่ว่าจะเป็น GSP หรือ FTA แทนที่จะลงทุนหรือทำธุรกิจต่อเนื่องในประเทศไทย” 
 
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน มีข้อสังเกตดังต่อไปนี้ 1.การที่สิทธิพิเศษทางการค้า (Generalized System of Preferences: GSP) ที่ผู้ส่งออกไทยเคยได้รับอยู่และมีโอกาสจะถูกตัดสิทธินี้ในปลายปีหน้านั้น เป็นเพราะสิทธิพิเศษของประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมในประเทศด้อยพัฒนา แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น รายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง 3 ปีติดต่อกัน และสินค้าที่จะถูกตัดสิทธิพิเศษนั้นมีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 17.5% ไปแล้ว
 
นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่า แม้จะถูกตัดสิทธิ GSP ทั้งหมดจะส่งผลกระทบกับการสูญเสียรายได้จากการถูกแย่งตลาด ประมาณ 2,562 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 79,422 ล้านบาท) ไม่ใช่ทั้งหมดของมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยที่ใช้สิทธิ GSP มีมูลค่ากว่า 2.97แสนล้านบาทแต่อย่างใด
 
อย่างไรก็ตาม จากงานศึกษาชิ้นล่าสุดของคณะผู้แทนถาวรไทยในองค์การการค้าโลก เผยแพร่เมื่อ 9 ก.ค.55 ประเมินว่า ผลกระทบของการปฏิรูป GSP ของสหภาพยุโรปต่อการส่งออกของไทยอยู่ที่ 1,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 34,560 ล้านบาท) เท่านั้น
 
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่จะได้ผลกระทบ ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และ กุ้งแช่แข็งและแปรรูป
 
 
2.การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปซึ่งเจรจาไปแล้ว 3 รอบนั้น ถูกกำหนดโดยฝ่ายนโยบายให้เป็นไปด้วยความเร่งรีบเพื่อสามารถต่อสิทธิ GSP ได้ทันต้นปี 2559 จึงกำหนดร่วมกับทางสหภาพยุโรปให้เจรจาให้เสร็จเพียง 7 รอบ ใช้เวลาทั้งสิ้นปีเศษๆ เท่านั้น ทั้งที่เป็นเอฟทีเอที่มีเนื้อหาครอบคลุมกว้างขวางมากที่สุดเท่าที่ไทยเคยเจรจามา และมีหลายหัวข้อที่ไทยไม่เคยเปิดเจรจาในความตกลงอื่นมาก่อน เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา และความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการคุ้มครองการลงทุน
 
การเร่งเจรจาเพียงเพื่อหวังให้ได้ต่อสิทธิ GSP ทำให้ผู้เจรจาฝ่ายไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมาก และอาจถูกกดดันให้ต้องยอมตามประเด็นอ่อนไหวข้างต้น ซึ่งจะมีผลกระทบเสียหายยาวนานข้ามรัฐบาลและข้ามชั่วอายุคน ซึ่งจากการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพของทีมวิชาการโดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
 
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนระบุด้วยว่า ในส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจพบว่า หากไทยต้องยอมตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปให้มีการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้อง  ที่มากเกินกว่าความตกลงทริปส์และเป็นประเด็นที่สหภาพยุโรปต้องการมากที่สุด พบว่าในปีที่ 5 (พ.ศ.2556 โดยคำนวณจากปี พ.ศ.2550 ที่เป็นปีที่ทำการศึกษา) ถ้ามีการผูกขาดข้อมูลยา ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะสูงขึ้นอีก 81,356 ล้านบาท/ปี และหากต้องยอมการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี ซึ่งมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกเป็น 27,883 ล้านบาท/ปี
 
ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ หากไทยต้องยอมไปเป็นภาคีคุ้มครองปรับปรุงพันธุ์ (UPOV 1991) จะมีผลให้เกษตรกรต้องจ่ายพันธุ์พืช ในราคาที่แพงขึ้น จากงานวิจัยพบว่า ราคาพันธุ์พืชจะขึ้นอย่างต่ำ 2-3 เท่าจนถึง 6 เท่าตัว ตอนนี้มูลค่า 28,000 ล้านบาทจะเพิ่มเป็นอย่างต่ำ 84,000 ล้านบาท และอาจถึง 143,000 ล้านบาทต่อปี
 
ดังนั้น การเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปที่รวบรัด ไม่รอบคอบ อาจทำให้ไทยเสียประโยชน์อย่างมหาศาล ไม่ต่ำกว่าปีละ 193,239 ล้านบาทเทียบไม่ได้กับการได้ต่อสิทธิ GSP ที่ทางการไทยประเมินว่าจะสูญเสียแค่ 34,560 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น
 
 
3.การแก้ปัญหาการเมือง และการได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการถูกฉุดรั้งทางการเมืองดังที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวไว้จริง แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นพึงตระหนักว่า การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ต้องประกอบด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนอย่างมีความหมาย และคำนึงประโยชน์ของทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม มิใช่เมินเฉยต่อข้อเท็จจริงและความห่วงใยของภาคส่วนต่างๆ และมุ่งดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้ได้ประโยชน์ โดยที่คนจำนวนมากต้องแบกรับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ
 
ดังนั้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยจึงต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ดำเนินการเจรจาอย่างอย่างรอบคอบเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญกับผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย เจรจาด้วยข้อมูลความรู้ มิใช่อาศัยเพียงการวิ่งเต้นของกลุ่มทุน และที่สำคัญต้องยืนหยัดเจรจาที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประเทศที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม 
 
 
ทั้งนี้ ข้อความในเพจ Yingluck Shinawatraมีดังนี้
 
 
ได้รับการรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่าทางสหภาพยุโรปได้ประกาศเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการให้สิทธิพิเศษอัตราภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences - GSP) ในปี 2558 โดยจะยกเลิกการให้ GSP กับประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางระดับบน (Upper- Middle Income) ขึ้นไป ซึ่งจะรวมถึงประเทศไทยด้วยค่ะ

ในปัจจุบันสินค้าสินค้าไทยหลายรายการที่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว ได้แก่ กุ้งแปรรูป สัปปะรดกระป๋อง น้ำสัปปะรดกระป๋อง อาหารสุนัขหรือแมว มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ยังมี สินค้าอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น รถจักรยานยนต์ ถุงมือยาง ยางนอกรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เลนส์แว่นตา ซึ่งใน 2-3 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมประมาณปีละ 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปทั้งหมด 

สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป สินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีที่ได้ยกตัวอย่างในข้างต้น จะต้องเริ่มเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อราคาสินค้าที่จะต้องถูกปรับขึ้นตามอัตราภาษีที่จะต้องเสียเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และ อินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศในกลุ่ม Lower Middle Income ก็ยังจะได้รับสิทธิพิเศษ GSP จากสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี บางประเทศ เช่น มาเลเซียที่แม้จะถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ไปแล้ว แต่ได้มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA – Free Trade Agreement) กับสหภาพยุโรป จึงยังคงได้ลดภาษีนำเข้าเป็น 0 

เพื่อเป็นการรักษาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในตลาดสหภาพยุโรป ทางรัฐบาลได้เร่งดำเนินการเปิดการเจรจา FTA กับ สหภาพยุโรป หลังจากที่การเจรจามีการล่าช้ามานานจากความไม่สงบทางการเมือง โดยจากการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำของไทยและสหภาพยุโรป ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาทั้ง 2 ฝ่ายก็ได้มีการตกลงที่จะเร่งดำเนินการเจรจาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ทันต่อการระงับสิทธิพิเศษ GSP ของสหภาพตามหลักเกณฑ์ใหม่ ในปี 2558 

เป็นที่น่าเสียดายว่า ทางสหภาพยุโรปได้ระงับการเจรจาดังกล่าวไว้ก่อน เนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองและความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้การเจรจาล่าช้าออกไป มีแนวโน้มที่จะไม่ทันการถูกตัดสิทธิ GSP ของไทยในปี 2558 ซึ่งนอกจากจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงเนื่องจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าแล้ว ยังอาจส่งผลให้บรรษัทข้ามชาติย้ายฐานการผลิต หรือตัดสินใจลงทุนในประเทศที่มีสิทธิพิเศษทางการค้าไม่ว่าจะเป็น GSP หรือ FTA แทนที่จะลงทุน หรือทำธุรกิจต่อเนื่องในประเทศไทย 

ดิฉันขอให้คนไทยทุกคนก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมือง ร่วมมือ สนับสนุนให้กระบวนการการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเพื่อไม่ให้ปัญหาทางการเมืองมาฉุดรั้งประเทศจากการก้าวไปข้างหน้าค่ะ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles