5 มี.ค. 2557 ที่ห้องพิจารณาคดี 906 ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี คธา (สงวนนามสกุล) ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีโพสต์ข้อความไม่เป็นมงคล ในช่วงที่หุ้นตก ปี 2552 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น จากจำคุก 4 ปี เหลือ 2 ปี 8 เดือน
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่มีผู้โพสต์ข้อความลงในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน เมื่อปี 2552 เรื่องข่าวลือที่ทำให้หุ้นตกอย่างหนัก และการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายน 2552 ซึ่งเป็นข้อความที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างละ 1 ข้อความ รวมเป็นความผิด 2 กรรม คธาถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2552 แต่ได้รับการประกันตัว ในช่วงเวลาเดียวกัน ตำรวจยังได้จับกุมตัวผู้ต้องหาอีกรวมอย่างน้อย 5 คน รวมถึงผู้ที่แปลข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศซึ่งวิเคราะห์เรื่องหุ้นตกแล้วนำไปโพสต์ในเว็บบอร์ดด้วยแต่แยกดำเนินคดี ต่อมา 25 ธ.ค.2555 ศาลชั้นต้นตัดสินว่า คธามีความผิด ตามมาตรา 14 (2) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี 2 กรรมรวม 6 ปี จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาจึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 4 ปี
ศาลอุทธรณ์ระบุว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าจำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานโจทก์ นายอารีย์ จิวรรักษ์ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงไอซีทียืนยันว่าจำเลยสมัครเป็นสมาชิกเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันโดยใช้อีเมล xxx และจำเลยนำสืบว่าอีเมลดังกล่าวเป็นของจำเลย นอกจากนี้จากการตรวจสอบคอมพิวเตอร์ที่บริษัทของจำเลยพบว่าปรากฏร่องรอยการเข้าใช้งานเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน 214 ครั้ง พนักงานสอบสวนก็เบิกความว่าจำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่าใช้นามแฝงดังกล่าวและโพสต์ข้อความตามฟ้องจริง ดังนั้นการที่จำเลยต่อสู้ว่าคอมพิวเตอร์ที่บริษัทมีพนักงานคนอื่นใช้ร่วมด้วย และจำเลยรับสารภาพโดยไม่มีโอกาสปรึกษาทนายความ เพราะถูกพนักงานสอบสวนขู่เข็ญหลอกลวงว่าหากรับสารภาพจะให้ประกันตัวนั้น ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง นอกจากนี้พนักงานสอบสวนนั้นก็ทำการสอบถึง 3 ครั้งในช่วงเวลาห่างกันหลายเดือน ขณะให้การครั้งที่สามจำเลยได้ประกันตัวแล้ว จึงย่อมอยู่ในภาวะให้การปฏิเสธได้ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์เชื่อว่า จำเลยให้การรับสารภาพโดยสมัครใจ
กรณีที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จากการตรวจสอบคอมพิวเตอร์ของบริษัทก็ไม่พบข้อความตามฟ้องนั้น เห็นว่า ผลการตรวจสอบคอมพิวเตอร์พบอีเมล xxx ของจำเลย บ่งชี้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง ส่วนข้อมูลในคอมพิวเตอร์นั้นสามารถล้างหรือ format ได้ อุทธรณ์ไม่ส่งผลให้หลักฐานของโจทก์มีพิรุธ แต่อย่างใด
ศาลอุทธรณ์ยังวินิจฉัยข้อความตามฟ้องว่าทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนกหรือไม่นั้น พนักงานสอบสวนเบิกความว่าเมื่ออ่านข้อความที่หนึ่งแล้วพบว่าเป็นการกล่าวหาพาดพิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นความเท็จ นอกจากนี้พยานจำเลย สฤณี อาชวานันทกุล ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ก็เห็นว่าข้อความที่สองเรื่องข่าวลืออันไม่เป็นมงคลนั้นก็มีผลทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นในช่วงเวลาเกิดเหตุด้วย ศาลจึงเห็นว่าน่าจะเป็นข้อความที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยหนักเกินไป เห็นสมควรแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยกรรมละ 2 ปี รวม 4 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน
ล่าสุดเวลา 17.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์เดิมมูลค่า 500,000 บาท ศาลส่งศาลฎีกาพิจารณา จะทราบผลอย่างเร็วที่สุดวันจันทร์หน้า (10 มี.ค.) ระหว่างนี้ควบคุมตัวจำเลยที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ