Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียออกแถลงการณ์ถึงยูเอ็น กังวลเสรีภาพการแสดงออกในไทย

$
0
0

4 มี.ค.2557 ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย (Asian Legal Resource Centre) ออกแถลงการณ์ถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงความกังวลต่อการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย โดยเฉพาะการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 รวมถึงการใช้วิธีนอกกฎหมายคุกคามนักวิชาการกรณีทำร้ายร่างกายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ และยิงถล่มบ้านสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เมื่อเร็วๆ นี้

ในแถลงการณ์ได้เตือนให้รัฐบาลตระหนักถึง ข้อผูกพันของการเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ ซึ่งรัฐบาลไทยมีหน้าที่ต้องปกป้องหลักการสิทธิมนุษยชนตามกติกานี้

นอกจากนั้น ในแถลงการณ์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งสอบสวนกรณียิงบ้านและรถของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวผู้ที่ถูกลงโทษหรือถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างน้อยที่สุดให้ผู้ต้องขังในคดีดังกล่าวควรได้รับการประกันตัว รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางการเมืองอย่างเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

สำหรับศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย (Asian Legal Resource Centre: ALRC) นั้น เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนอิสระระดับภูมิภาค มีสำนักงานอยู่ที่ฮ่องกง มีสถานะเป็นที่ปรึกษาทั่วไปให้กับคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (The Economic and Social Council of the United Nations) และเป็นองค์กรพี่น้องกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเอเชีย (Asian Human Rights Commission) เน้นการทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมปฏิบัติการเชิงบวกในด้าน กฎหมายและสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศทั่วทั้งเอเชีย

 

..................................................


คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
สมัยประชุมที่ 25 วาระที่ 3 การอภิปรายทั่วไป

แถลงการณ์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชีย (Asian Legal Resource Centre) ถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ประเทศไทย:  การคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกด้วยวิธีทางกฎหมายและนอกกฎหมาย

1. ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกด้วยวิธีทางกฎหมายและนอกกฎหมายที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย การคุกคามในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกระทำโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ได้ทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา แถลงการณ์ฉบับนี้นับเป็นฉบับที่ 8 เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียได้ส่งถึงคณะมนตรีฯ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554 ในแถลงการณ์ที่ส่งสมัยประชุมที่ 17 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียเน้นว่ามีการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เพิ่มมากขึ้นทั้งในทางกฎหมายและอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและข่มขู่ประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ (A/HRC/17/NGO/27) ในแถลงการณ์ที่ส่งสมัยประชุมที่ 19 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการคุกคามทั้งด้วยวิธีทางกฎหมายและนอกกฎหมายต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และผู้ที่แสดงความห่วงกังวลต่อการคุกคามนี้ (A/HRC/19/NGO/55) ในแถลงการณ์ที่ส่งสมัยประชุมที่ 20 เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียแสดงความกังวลเกี่ยวกับพยานหลักฐานที่อ่อน ซึ่งถูกใช้เป็นหลักเพื่อตัดสินลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (A/HRC/20/NGO/37) รวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายอำพล ตั้งนพกุล ในเรือนจำเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ซึ่งในขณะนั้นนายอำพลถูกพิพากษาว่าละเมิดทั้งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 รวมทั้งหมดสี่กระทง โดยถูกตัดสินลงโทษจำคุก 20 ปี (A/HRC/20/NGO/38) ในแถลงการณ์ที่ส่งสมัยประชุมที่ 22 เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียเน้นวิเคราะห์คำพิพากษาลงโทษภายใต้มาตรา 112 ในคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน (A/HRC/22/NGO/44) ในแถลงการณ์ที่ส่งสมัยประชุมที่ 23 เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียเน้นย้ำถึงภาวะวิกฤตเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ และระบุว่าการจำกัดการพูดแสดงความคิดเห็นได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทางสังคมการเมืองในประเทศไทย (A/HRC/23/NGO/42) ในแถลงการณ์ที่ส่งสมัยประชุมที่ 24 เมื่อเดือนตุลาคม 2556 ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียเน้นย้ำถึงภัยอันตรายของการปล่อยให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์กลายเป็นเรื่องปกติ (A/HRC/24/NGO/35)

2. ในแถลงการณ์ต่อเนื่อง 7 ฉบับก่อนหน้านี้ เริ่มแรกศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียตั้งข้อสังเกตด้วยความแปลกใจว่ามีการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อจำกัดการพูดแสดงความคิดเห็น จากนั้นจึงสืบหาสาเหตุการขยายการใช้มาตรการดังกล่าว และการเพิกถอนเสรีภาพในการพูดแสดงความความเห็นในท้ายที่สุด  ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียนำประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกขึ้นสู่คณะมนตรีฯ อีกครั้ง เพราะกฎหมายดังกล่าวยังคงถูกใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อละเมิดสิทธิในการแสดงออก และการคุกคามด้วยวิธีนอกกฎหมายทั้งต่อเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิมนุษยชนในวงกว้างก็ปรากฏเรื่อยมาในประเทศไทย ในแถลงการณ์ที่ส่งให้คณะมนตรีฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2556 ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียได้เตือนว่า การปฏิเสธการประกันตัวที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและการใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่งคงของชาติอย่างคลุมเครือในการพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่คิดต่างได้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ในแถลงการณ์ฉบับนี้ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียต้องการกระตุ้นให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนตระหนักถึงพัฒนาการการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญเร่งด่วนและความยากลำบากที่เพิ่มสูงขึ้นในการพูดถึงวิกฤตการณ์ด้านเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย

3. ในประเทศไทยมีกฎหมายสองฉบับที่ถูกใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกด้วยวิธีทางกฎหมายและเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวสำหรับผู้คิดต่าง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กำหนดโทษให้การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เป็นอาชญากรรมชนิดหนึ่ง และระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ประกาศใช้ในฐานะที่รัฐบาลไทยเข้าร่วมเป็นภาคีรัฐต่ออนุสัญญาต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามประเทศ ถูกใช้โดยพุ่งเป้าไปที่บรรณาธิการเว็บไซต์และเว็บไซต์ที่ถูกระบุว่าวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์หรือแสดงความคิดเห็นไปในทางที่แตกต่าง  พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดโทษจำคุกไม่เกินห้าปีต่อความผิดหนึ่งกระทง กรณีที่ศาลตัดสินว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลอิเลคทรอนิกส์ หรือครอบครองข้อมูลสารสนเทศที่ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ โดยตามกฎหมายแล้วสถาบันพระมหากษัตริย์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของชาติที่สำคัญ แม้ว่ามาตรา 112 จะถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญานับตั้งแต่การชำระกฎหมายไทยครั้งใหญ่เมื่อปี 2500 แต่ข้อมูลทางสถิติชี้ว่าตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา การฟ้องร้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ จนกระทั่งปัจจุบันรัฐบาลไทยยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ว่า มีการฟ้องร้องจำนวนเท่าไรที่กลายเป็นคำฟ้องโดยอัยการและนำไปสู่การดำเนินคดีในชั้นศาล พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มักจะถูกนำมาใช้ควบคู่กับมาตรา 112 นับตั้งแต่ถูกประกาศใช้เมื่อเจ็ดปีที่แล้ว  และเช่นเดียวกับมาตรา 112รัฐบาลไทยไม่ยอมให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนเกี่ยวกับการใช้กฎหมายดังกล่าว การขาดการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและเงื่อนไขในการใช้กฎหมายทั้งสองฉบับนี้ต่อสาธารณะ เป็นเหตุแห่งการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัว และทำให้พื้นที่สำหรับเสรีภาพในการแสดงออกหดแคบลงด้วยการปิดเรื่องนี้เป็นความลับและสร้างความไม่แน่นอนให้เกิดขึ้น

4. นอกจากการใช้กฎหมายเพื่อจำกัดการพูดแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้ความรุนแรงนอกระบบกฎหมายต่อผู้คิดต่างเพิ่มมากขึ้น ในแถลงการณ์ที่ส่งสมัยประชุมที่ 19 (A/HRC/19/NGO/55) เมื่อเดือนมีนาคม 2555 ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียแจ้งเตือนคณะมนตรีฯ เกี่ยวกับการคุกคามสมาชิกคณะนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นกลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์หัวก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสนอการแก้ไขมาตรา 112  หลังการเสนอนี้ได้เกิดการตอบโต้อย่างรุนแรง มีการโพสกระทู้หลายร้อยข้อความที่มีลักษณะข่มขู่คุกคามบนเว็บไซต์ เรียกร้องให้ทำร้ายร่างกาย สังหาร ตัดหัว และเผาทั้งเป็น  ต่อมาหนึ่งในสมาชิกคณะนิติราษฎร์คืออาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ถูกชายหนุ่มสองคนทำร้ายร่างกายนอกห้องทำงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังผู้กระทำสารภาพกับตำรวจว่ากระทำไปเพราะไม่เห็นด้วยกับความคิดของอาจารย์วรเจตน์

5. เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 การบุกจู่โจมสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการก้าวหน้าและผู้วิเคราะห์วิจารณ์การเมืองวัฒนธรรมอย่างตรงไปตรงมาอีกคนหนึ่ง แสดงถึงการปล่อยให้บรรยากาศการคุกคามและใช้ความรุนแรงด้วยวิธีนอกกฎหมายต่อผู้คิดต่างเพิ่มสูงขึ้นและหวนกลับมาใหม่  คนร้ายได้กระหน่ำยิงเข้าไปในตัวบ้านขณะที่สมศักดิ์อยู่ข้างใน รวมทั้งทำเจตนาทำลายรถของอาจารย์สมศักดิ์ การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นในตอนกลางวัน ท่ามกลางเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก  แม้อาจารย์จะไม่ได้รับบาดเจ็บ ทว่าความเสียหายต่อบ้านและรถชี้ให้เห็นว่าการใช้ความรุนแรงครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะสังหารถึงตาย การจู่โจมเกิดขึ้นตอนกลางวันขณะที่อาจารย์สมศักดิ์อยู่ที่บ้าน ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าผู้กระทำต้องการให้อาจารย์บาดเจ็บหรือเสียชีวิตโดยไม่ห่วงว่าจะมีพยานเห็นเหตุการณ์หรือไม่

6. งานเขียนและงานสอนของอาจารย์สมศักดิ์สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากให้หันมาพินิจพิจารณาอดีต ปัจจุบัน และการทารุณกรรมคนไร้อำนาจโดยคนที่มีอำนาจในประเทศไทย การวิพากษ์วิจารณ์ของอาจารย์สร้างความไม่พอใจให้กับผู้มีอำนาจจำนวนมาก และมีความพยายามที่จะใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อจำกัดการพูดแสดงความคิดเห็นของอาจารย์มาโดยตลอด ในเดือนเมษายน 2554 ตำรวจเริ่มดำเนินการสอบสวนอาจารย์หลังจากมีการกล่าวหาว่าอาจารย์ละเมิดมาตรา 112 ในบทความที่เขียนวิจารณ์เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ เมื่อครั้งพระองค์ไปออกรายการทอล์คโชว์ คดีนี้ยังดำเนินอยู่แม้มาตรา 112 ไม่ได้ครอบคลุมถึงเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ซึ่งหมายความว่าในทางกฎหมายไม่มีข้อห้ามไม่ให้วิจารณ์ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 รองโฆษกกองทัพบกกล่าวว่า กองทัพบกมีแผนที่จะแจ้งความเพิ่มว่าอาจารย์สมศักดิ์ละเมิดมาตรา 112 เนื่องจากกระทู้ที่อาจารย์โพสในเฟซบุ้ค

7. ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งที่การจู่โจมอาจารย์สมศักดิ์เกิดขึ้นไม่นานหลังจากรองโฆษกกองทัพบกพูดในที่สาธารณะว่าจะดำเนินการฟ้องร้องอาจารย์สมศักดิ์ในข้อหาละเมิดมาตรา 112 ถึงแม้ว่าการชี้ตัวผู้กระทำผิดและมูลเหตุจูงใจเบื้องหลังจะยังอยู่ระหว่างการสืบสวนของตำรวจ ความเชื่อมโยงในเรื่องเวลาและการดำเนินการในทางกฎหมายของกองทัพบกต่ออาจารย์สมศักดิ์ก็เป็นเรื่องน่าสังเกตมาก นอกจากนี้ หากพิจารณาความแตกแยกในสังคมไทยที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกิดการประท้วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างยืดเยื้อตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556การคุกคามอาจารย์สมศักดิ์ด้วยวิธีนอกกฎหมายก็ถือเป็นสัญญาณอีกข้อหนึ่งของการทำลายหลักนิติธรรมในประเทศไทย

8. ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียอยากเตือนให้รัฐบาลไทยตระหนักว่าตนเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) และตามกติกานี้มีหน้าที่ต้องปกป้องหลักการสิทธิมนุษยชนตามที่ได้ลงนามไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องมาตรา 19 โดยเฉพาะวรรค 1 ที่ระบุว่า "บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง” และวรรค 2 ที่ระบุว่า "บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภทโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก” การปกป้องสิทธิที่ระบุไว้ในมาตรา 19 และการตระหนักว่าตนเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนั้น เป็นข้อบังคับที่รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติในเชิงรุกมากกว่ารับ  ในการปกป้องกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รัฐบาลไทยจำเป็นต้องปกป้องผู้ที่คิดต่างและรับประกันว่าพวกเขามีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างปลอดภัย  ความล้มเหลวในการทำหน้าที่นี้จะเปิดทางให้กับกลุ่มคนที่เล่นงานผู้คิดต่างในรูปของศาลเตี้ยเข้าใจไปได้ว่าการกระทำของตนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในระบบการปกครองของไทย

9. ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียต้องการเตือนให้รัฐบาลไทยตระหนักว่าตามมาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปได้ภายใต้กรณีเฉพาะสองกรณีเท่านั้น ได้แก่ “การเคารพสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น” และ “การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน”  แม้รัฐบาลไทยจะอ้างว่ามาตรา 112 เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติและอ้างถึงความจำเป็นในการปกป้องสถาบันกษัตริย์เพื่อตอบโต้ข้อวิจารณ์ว่ามาตรา 112 ไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แต่จนกระทั่งปัจจุบันรัฐบาลไทยก็ยังไม่สามารถอธิบายอย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุเป็นผลกันระหว่างมาตรา 112 กับความมั่นคงของชาติ  จนกว่ารัฐบาลไทยจะให้คำอธิบายดังกล่าวนี้ การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกด้วยการอ้างเช่นนี้ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจและมีส่วนสร้างบรรยากาศที่สวนทางกับการพัฒนาสิทธิมนุษยชน

10. ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียมีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกด้วยวิธีทางกฎหมายและนอกกฎหมายที่ยังดำเนินอยู่ในประเทศไทย รวมถึงผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และหลักนิติธรรมในประเทศไทย  การคุกคามด้วยวิธีนอกกฎหมายต่อสิทธิและชีวิตของพลเมืองที่คิดต่างซึ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังเช่นกรณีการจู่โจมอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แสดงให้เห็นวิกฤตการณ์อีกขั้นของบรรยากาศการจำกัดเสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทยที่มีมาอย่างยาวนาน

11. จากข้อพิจารณาข้างต้น ศูนย์ข้อมูลกฎหมายเอเชียจึงขอเรียกร้องให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

a. ร้องขอรัฐบาลไทยให้เร่งสอบสวนกรณีการจู่โจมอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อย่างรอบด้าน และนำตัวผู้ที่ยิงบ้านและรถของอาจารย์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

b. ร้องขอรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกลงโทษหรืออยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ทุกคน อย่างน้อยที่สุดผู้ต้องขังในปัจจุบันควรได้รับการประกันตัวทันทีในระหว่างที่คดียังอยู่ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์

c. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

d. กระตุ้นให้รัฐบาลไทยอนุญาตและสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางการเมืองอย่างเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights-UDHR) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคี และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี

e. ขอให้ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและแสดงออก (UN Special Rapporteur on the Right to Freedom of Opinion and Expression) ทำการตรวจสอบและศึกษาวิจัยต่อไปเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิด้านต่างๆ ในประเทศไทยทั้งในภาพกว้างและกรณีเฉพาะบุคคล และขอให้คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยอำเภอใจ (Working Group on Arbitrary Detention) ติดตามตรวจสอบและรายงานกรณีผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยอำเภอใจในคดีมาตรา 112 ต่อไป

 

Asian Legal Resource Center

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles