Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 ก.พ. - 4 มี.ค. 2557

$
0
0

สั่งระงับก่อสร้าง รามาฯ บางพลีถล่ม มุ่ง 3 ชนวนสาเหตุ

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 26 ก.พ.57 นายคณิต เอี่ยมระหงษ์ ผวจ.สมุทรปราการ  กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้บาดเจ็บ 15 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 11 ราย โดยเป็นคนไทย 3 ราย ชาวกัมพูชา 8 ราย ซึ่งหลังจากนี้ทางกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่อยู่ในสังกัด เช่น ประกันสังคม และสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะเข้าดำเนินการช่วยเหลือทั้งเรื่องค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพแรงงานที่เข้าถูกต้องตามกฎหมาย จะดูแลได้สิทธิ์เหมือนคนไทย โดยลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานกองทุนเงินทดแทนจะดูแลค่ารักษารายละ 45,000-300,000 บาท และลูกจ้างที่ผู้เสียชีวิตจะได้รับเงิน 3 หมื่นบาท และร้อยละ 60 ของค่าจ้างอีก เป็นระยะเวลา 8 ปี เมื่อคำนวณคร่าวๆ ตามค่าแรงขั้นต่ำ 300 จะได้ 460,000 บาท สูงสุดถึง 1 ล้าน 1 แสนบาท ขึ้นอยู่กับค่าจ้างที่แรงงานได้รับ

"ส่วนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้น ทาง บริษัท อิตาเลียนไทยฯ และ รพ.รามาธิบดี ได้แสดงความรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งหมด และจากการประชุม ทราบว่า ต้นเหตุเกิดจากปล่องลิฟต์ จึงให้ชะลอการก่อสร้างทั้งหมดและให้บริษัท นำเหล็กมาทำเป็นคานไปยึดระหว่างแท่งปูนให้มั่นคงแข็งแรงเรียบร้อย ส่วนบริเวณนั้น ให้ระงับการก่อสร้างชั่วคราวในพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุ จนกว่าทางคณะกรรมการตรวจสอบจะพบสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ และรอดูผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบว่า จุดไหนต้องทุบทิ้ง หรือแก้ไขอย่างไร ส่วนที่มีข่าวว่ามีผู้สูญหายอยู่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวน แต่ขณะนี้ทางมูลนิธิได้ยุติการค้นหาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว"ผวจ.สมุทรปราการ กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.ยงยุทธ เดชะรัฐ รอง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ กล่าวถึงในส่วนของคดีว่า ขณะนี้ได้ตั้งไว้ 3 ประเด็นหลักคือ เกิดจากความประมาท หรือเกิดจากวัสดุในการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานหรือไม่และรูปแบบการก่อสร้างผิดไปจากแบบที่ขออนุญาตหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องรอข้อมูลตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วน ก่อนให้พนักงานสอบสวน ประสานขอข้อมูลมาประกอบสำนวน และหากพบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุนั้นเกิดจากส่วนงานใด ก็จะแจ้งความเป็นรายบุคคลและส่วนงานอีกครั้ง

(ไทยรัฐ, 26-2-2557)

นายจ้าง บ.สยามโภชนากร ยอมรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน 450 คน

นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาข้อพิพาทแรงงานระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง บริษัท สยามโภชนากร จำกัด จ.สมุทรปราการ เมื่อวานที่ผ่านมา ที่โรงแรม เดอะเรสซิเด้นส์ แอร์พอร์ต แอนด์ สปา กรุงเทพฯ ว่า การเจรจาใช้เวลานานกว่า 7 ชั่วโมง 30 นาที ได้ข้อสรุปว่าลูกจ้างจะได้กลับเข้าทำงานตามกรอบระยะเวลาที่นายจ้างเสนอ และได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดิม โดยจะรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานเป็น 6 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกจำนวน 100 คน ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ กลุ่มที่สองจำนวน 100 คน ในวันที่ 7 มีนาคม กลุ่มที่สามจำนวน 80 คน ในวันที่ 15 มีนาคม กลุ่มที่สี่จำนวน 60 คน ในวันที่ 22 มีนาคม กลุ่มที่ 5 จำนวน 60 คน ในวันที่ 29 มีนาคม และกลุ่มสุดท้ายจำนวน 50 คน ในวันที่ 15 เมษายน รวมทั้งสิ้น 450 คน ทั้งนี้ ตัวแทนลูกจ้างเห็นด้วยตามกรอบระยะเวลาข้างต้น แต่มีข้อเสนอให้นายจ้างจ่ายเงินลูกจ้างที่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมไปจนถึงวันที่รับกลับเข้าทำงาน ในอัตราวันละ 150 บาท แต่ตัวแทนบริษัทได้เสนอว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือวันละ 100 บาท เว้นวันอาทิตย์ ซึ่งในเรื่องนี้ตัวแทนลูกจ้างขอรับกลับไปพิจารณาและจะกลับมาเจรจากันอีกครั้งในวันที่ 5 มีนาคม เวลา 10.00 น.ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เชื่อว่าในวันดังกล่าวจะได้ข้อยุติเป็นที่น่าพอใจทั้งสองฝ่าย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-2-2557)

"รองผบช.สตม."ห่วงปัญหาแรงงานพม่า หลังหมดสัญญา MOU

เมื่อวันที่ 26 ก.พ.พล.ต.ต.ชิษณุพงศ์ ยุกตะทัต รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (รองผบช.สตม.) พร้อมด้วยคณะได้เดินทางไปที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก โดยมีพ.ต.อ.พงษ์นคร นครสันติภาพ ผกก.ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก ให้การต้อนรับและนำพาคณะเข้าห้องประชุม โดยในที่ประชุมมีผู้แทนฝ่ายจัดหางานจังหวัดตาก ร่วมประชุมด้วย

ทั้งนี้ คณะได้ให้ความสำคัญเรื่องแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ที่เข้าเมืองตามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-พม่า (เอ็มโอยู. ) เป็นเวลา 4 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี และขณะนี้ได้สิ้นสุดระยะเวลาลงไปแล้ว จึงถือว่าแรงงานพม่าเหล่านี้ผิดกฎหมาย เพราะยังไม่มีการผ่อนปรนเรื่องระยะเวลาที่อาศัยอยู่ นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงกลุ่มแรงงานสัญชาติพม่า ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยที่ใช้หนังสือเดินทางแรงงานและเข้ามาอยู่ประเทศไทยครบ 4 ปี ซึ่งจะต้องกลับไปและทำหนังสือเดินทางเข้ามาใหม่

ขณะที่การตั้งจุดตรวจบัตรพิจราณาแรงงานต่างด้าว สัญชาติพม่า ยังมีปัญหาเรื่องบุคลากร ซึ่งบริเวณด่านพรมแดนไทย-พม่า (เมียวดี-แม่สอด ) เชิงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า บ้านริมเมย ตำบลท่าลวด อำเภอแม่สอด เป็นอีกแห่งที่ต้องมีจุดตรวจ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้ยังไม่มีแรงงานต่างด้าวไปใช้บริการแต่อย่างใดนอกจากนี้ ในที่ประชุมปัญหาของแรงงานต่างด้าว สัญชาติพม่าขณะนี้ ยังมีปัญหาแรงงานพม่าที่อยู่เกิน 4 ปี จะต้องถูกปรับวันละ 500 บาท ไม่เกิน 20,000 บาท นายจ้างจะแบกรับภาระได้หรือไม่ ส่วนการแก้ไข ต้องอยู่ที่คณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ปัญหาค่าธรรมเนียมในการทำหนังสือเดินทาง ที่สูงมาก ก็ยังไม่ได้รับกรแก้ไ   

พล.ต.ท.ชิษณุพงศ์ กล่าวว่า งานของตรวจคนเข้าเมืองนั้น นอกจากงานบริการแล้ว ยังมีงานด้านความมั่นคง ที่ต้องดูแลไปด้วย เช่น เรื่องยาเสพติด ซึ่งที่แม่สอด มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยการทำประชาคมข่าว ซึ่งถือว่า เป็นแบบอย่างที่ดี ส่วนเรื่องการบริการแรงงานต่างด้าวที่กลับมาใหม่นั้น ทางเจ้าหน้าที่มีความพร้อมเต็มที่

(เนชั่นทันข่าว, 26-2-2557)

ตร.เร่งทำเอกสารให้บริษัทรับศพคนงานเหตุลิฟต์ ร.พ.ถล่ม

ความคืบหน้าเหตุอาคารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ถล่มลงมาทับคนงานนั้น ล่าสุดตำรวจบางพลีได้เรียกสอบปากคำคนงานก่อสร้างชาวกัมพูชา โดยกล่าวว่าสาเหตุนั้นเกิดจากผนังปูนช่องลิฟท์ล้มกระแทกพื้นปูน บริเวณรอยต่อเชื่อมตัวอาคารที่เพิ่งจะเทปูนเสร็จ และปูนยังไม่เซ็ทตัวดี จึงทำให้พื้นอาคารพังถล่มลงมา

ทั้งนี้ ตำรวจได้เร่งทำเอกสาร เพื่อให้บริษัทนำไปรับศพคนงาน ที่โรงพยาบาลตำรวจ

ญาติผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ขอให้บริษัทติดต่อกุงสุล เพื่อส่งศพคนงานทั้งหมด ซึ่งเป็นชาวกัมพูชากลับไปบำเพ็ญกุศล ที่ประเทศบ้านเกิด

ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บที่ถูกเหล็กแทง เป็นคนงานหญิง 2 คน ขณะนี้อาการปลอดภัยแล้ว แต่ว่าต้องพักรักษาตัวอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ ส่วนผู้เสียชีวิตทั้งหมดมี 11 คน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27-2-2557)

'DSI'เตือนหญิงไทยระวังถูกตุ๋นค้าแรงงานต่างประเทศ

วันที่ 27 ก.พ.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สนามบินสุวรรณภูมิ  พ.ต.ต.จตุพร อรุณฤกษ์ถวิล ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปราม 2 ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และ น.ส.พัชรี แนวพานิช ผู้อำนวยการส่วนคุ้มครองและช่วยเหลือเหยื่อคนไทยฯ เดินทางมารับตัว นางสายันต์ สารินา อายุ 37 ปี ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งถูกชักชวนจากนายหน้าในประเทศไทย โดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ตให้ไปทำงานเป็นหมอนวดแผนไทย ในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ กลับประเทศไทยตามคำร้องขอของอดีตสามีที่อยู่ในประเทศไทย โดยเดินทางมากับเที่ยวบิน EK 384 สายการบินเอมิเรตส์แอร์ไลน์

พ.ต.ต.จตุพร กล่าวว่า ขณะนี้หญิงไทยคนดังกล่าวยังอยู่ในอาการตกใจ เบื้องต้นทราบว่า ไปทำงานร้านนวดแผนไทยที่ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ได้ประมาณ 1 ปี 4 เดือน และหลังจากที่ DSI ได้ฝากเตือนไปยังประชาชนให้ระมัดระวังในการเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ สามีของนางสายันต์ ก็ได้ติดต่อมาให้ทาง DSI ให้การช่วยเหลือภรรยา ที่อยู่ที่ร้านนวดแห่งนั้น เนื่องจากไม่ได้รับเงินค่าจ้างและยังมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ภรรยามีความกดดัน และต้องการกลับเมืองไทย จึงประสานการช่วยเหลือกับกรมการกงสุลและสถานทูต เข้าให้การช่วยเหลือก่อนส่งกลับพร้อมประสานมายัง บก.ตม.2 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าประเทศด้วย โดยในขั้นตอนต่อไป กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะดำเนินการประสานทีม สหวิชาชีพ เพื่อร่วมกันสัมภาษณ์คัดแยกผู้ที่เดินทางกลับมาว่า จะอยู่ในข่ายการค้ามนุษย์หรือไม่ อย่างไร ซึ่งจะต้องติดตามผลการดำเนินการในส่วนนี้ต่อไป และขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ อยู่ในขั้นตอนที่สรุปผลการสืบสวน เพื่อขอรับเป็นคดีพิเศษตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ การช่วยเหลือหญิงไทยนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมการกงสุล กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมการปกครอง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้เคยประสานการช่วยเหลือหญิงชาวไทยเดินทางกลับไทยมาเรียบร้อยแล้วจำนวน 1 คนเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา ชื่อ นางรุ่งรัศมี ศรีดีเอี่ยม ตามคำร้องขอ จากนางภาวินี ศรีดีเอี่ยม พี่สาว ให้ช่วยประสานการช่วยเหลือน้องสาว ซึ่งถูกชักชวนจากนายหน้าในประเทศไทย เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2556 โดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ตให้ไปทำงานเป็นพนักงานนวดแผนไทย ใน ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ แต่เมื่อไปถึงกลับถูกหญิงไทยที่เป็นเจ้าของร้านกับพวกเก็บหนังสือเดินทาง และแจ้งว่าเป็นหนี้สินเจ้าของร้านจำนวนหนึ่ง แต่หากจะเดินทางกลับจะต้องชดใช้เงินหรือทำงานชดใช้หนี้สินให้หมดก่อน จึงได้ร้องขอผ่านกรมการกงสุล เพื่อช่วยเหลือให้น้องสาวจนกระทั่งสามารถเดินทางกลับมาประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีหญิงไทยที่เสียชีวิตในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้นั้น ได้มีการประสานจนสามารถนำศพกลับมาประเทศไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. 2557 และอยู่ระหว่างประสานสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อทราบผลการพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิตตามที่ญาติได้ร้องขอไว้

(ไทยรัฐออนไลน์, 27-2-2557)

รัฐตั้งเป้าปี 58 ปลดล็อก “อ้อย-เครื่องนุ่งห่ม” 2 ใน 5 สินค้าห้ามนำเข้าในอเมริกา

นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้หารือกับผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เกี่ยวกับมาตรการดำเนินการเพื่อถอดสินค้าไทยที่ถูกสหรัฐอเมริการะบุว่า มีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับใน 5 รายการ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม กุ้ง อ้อย สื่อลามก และปลา ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานเฉพาะขึ้นมาแต่ละกลุ่มสินค้าประกอบ ด้วยตัวแทนหน่วยงานรัฐ เอกชนและภาคประชาชนเพื่อทำหน้าที่จัดทำแผนปฏิบัติงาน ดำเนินงานและสรุปผลเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์เพื่อเสนอไปยังสหรัฐอเมริกาให้ถอด รายการสินค้าแต่ละรายการออกจากการถูกระบุว่าการใช้แรงงานเด็กและแรงงาน บังคับให้ได้ในอนาคต

รัฐตั้งเป้าปี 58 ปลดล็อก “อ้อย-เครื่องนุ่งห่ม” 2 ใน 5 สินค้าห้ามนำเข้าในอเมริกา

อธิบดี กสร.กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของคณะทำงานเฉพาะแต่ละกลุ่มรายการ สินค้าโดยให้ไปสำรวจว่าแต่ละกลุ่มสินค้ามีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ในพื้นที่ใดบ้างและจ้างบริษัทต่างชาติมาเป็นที่ปรึกษาเพื่อหาข้อมูลว่าสหรัฐอเมริกากล่าวหาในประเด็นใดบ้างและช่วยชี้แจงทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ แก่สหรัฐอเมริกา และภาคธุรกิจในอเมริกา ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมแรกที่ไทยตั้งเป้าหมายจะเสนอปลดล็อกสินค้าใน 2 รายการก่อนคือ อ้อย และเครื่องนุ่งห่มโดยจะเสนอปลอดล็อกให้ได้ภายในปี พ.ศ.2558 เนื่องจากขณะนี้การแก้ปัญหามีความคืบหน้าไปมาก      

“หลังจากนี้คณะทำงานเฉพาะแต่ละกลุ่มสินค้า จะเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไปโดยในส่วนของสินค้าอ้อยและเครื่องนุ่งห่ม จะเชิญมหาวิทยาลัย 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ทำวิจัยเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย และมหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) ทำวิจัยการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรม เครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) มาเป็นที่ปรึกษาคณะทำงานฯเพื่อ วางแผนการดำเนินงานและลงพื้นที่สำรวจว่าพื้นที่ใดที่มีปัญหาการใช้แรงงาน เด็กและแรงงานบังคับ ส่วนกรณีอเมริกาต้องการให้ไทยเร่งดำเนินคดีใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ นั้น เวลาที่พนักงานตรวจแรงงานลงพื้นที่ไปตรวจสถานประกอบการ หากพบว่ามีการกระทำผิดตามขั้นตอนทางกฎหมายจะต้องออกหนังสือเตือนก่อน หากไม่แก้ไขจึงจะดำเนินคดีตามกฎหมายซึ่งต้องชี้แจงเรื่องนี้ให้อเมริกาเข้า ใจในเรื่องนี้” นายพานิช กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-3-2557)

กกจ.ยืดเวลาต่างด้าววีซ่าหมดอายุยื่นหนังสืออยู่ไทยต่อ ไม่ถูกจับ

(3 มี.ค.)นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหารงาน (กกจ.) กล่าวภายหลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ถึงกรณีปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการอนุญาตให้พักอาศัยและทำงานในไทยระยะเวลา 4 ปี (วีซ่า) หมดอายุ ว่า ในเรื่องนี้ได้ข้อสรุปถึงแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของแรงงานข้ามชาติและนายจ้าง เราจึงจะให้ลูกจ้างยื่นเอกสารต่อสำนักงานจัดหางานพื้นที่และจังหวัดในแต่ละแห่ง เพื่อยื่นเอกสารหลักฐานในการขออนุญาตเข้ามาทำงานต่ออีก ซึ่งในการยื่นหลักฐานนี้จะเป็นการแสดงตนและหลักฐานที่จะไม่ถูกจับกุมหรือเอาผิด กรณีที่อยู่เกินระยะเวลาที่อนุญาตให้อยู่ (over stay) โดย กกจ.จะทำหนังสือถึง สตม.และ สตช.เพื่อขอให้ผ่อนปรนการจับกุมแรงงานเหล่านี้ ซึ่งในเรื่องนี้ถือเป็นความร่วมมือในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนระหว่างรอรัฐบาลใหม่ ทั้งนี้จะมีการเรียกประชุมของคณะกรรมการในการพิจารณาลดโทษปรับกรณีที่อยู่เกินระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเดิมมีโทษปรับวันละ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่นายจ้างและลูกจ้าง      

นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องนี้ถือเป็นการหาทางออกโดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการยื่นเอกสาร โดยให้ยื่นเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่จะได้เสนอประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ ในการแก้ไขบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศ (เอ็มโอยู) เพื่อยกเว้นการบังคับใช้ในเรื่องที่กำหนดให้แรงงานที่หมดสัญญาจ้าง 4 ปี ต้องกลับประเทศต้นทางไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงจะขอกลับมาทำงานได้ใหม่อีก โดยจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ลดระยะเวลา หากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนอย่างไรแล้ว แรงงานที่ยื่นเอกสารไว้จะสามารถยื่นเรื่องกลับมาทำงานได้โดยทันที     

“ส่วนเรื่องของสิทธิและเรื่องของประกันสังคมของลูกจ้างยังคงได้รับเช่นเดิม เพราะนายจ้างยังจ้างงานอยู่ เพียงแต่อยู่ระหว่างการดำเนินการต่อเอกสารเท่านั้น” นายประวิทย์ กล่าว     

นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์วันสตอปเซอร์วิส ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย และ จ.ระนอง เพื่อให้บริการทางด้านเอกสารในการขอกลับเข้ามาทำงานในไทย และการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องสำหรับแรงงานกลุ่มใหม่ รวมทั้งการพิสูจน์สัญชาติในกรณีที่เป็นแรงงานที่ตกค้างการพิสูจน์สัญชาติ นอกจากนี้กระทรวงแรงงานยังได้เตรียมนำเสนอต่อ ครม.ในเรื่องการขออนุญาตใช้แรงงานเข้าชาติประเภทเช้าไปเย็นกลับ ที่อนุญาตให้เข้ามาทำงานครั้งละไม่เกิน 7 วัน และแรงงานที่เข้ามาทำงานตามฤดูกาลในภาคการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดน โดยจะอนุญาตให้เข้ามาครั้งละ 3 เดือน ทั้งนี้แรงงานเหล่านี้ก็ต้องตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทางการดำเนินการเปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวภาคประมงใน 22 จังหวัดพื้นที่ชายทะเล ระหว่างวันที่ 3 มีนาคม - 31 พฤษภาคม นี้ ซึ่งขอเตือนไปยังนายจ้างให้นำลูกจ้างที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง หากไม่ดำเนินการจะมีโทษตามกฎหมาย      

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ในเรื่องนี้ผู้ประกอบการขอบคุณและพึงพอใจต่อแนวทางการแก้ปัญหา เพราะถือเป็นการทุเลาปัญหาในช่วงที่รัฐบาลรักษาการไม่พร้อมดำเนินการ ซึ่งในเรื่องนี้เราก็จะติดตามดูผลที่เกิดจากการตกลงในวันนี้ ทั้งนี้เรื่องนี้ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ จึงอยากให้ทุกฝ่ายเห็นใจแรงงานและผู้ประกอบการ เนื่องจากไม่ใช่ความผิดของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-3-2557)

รง.เผยแรงงานไทยบาดเจ็บ-ตาย ที่เกาหลี ลักลอบไปทำแบบผิดกฎหมาย

(3 มี.ค.) นายสมบัติ นิเวศรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีแรงงานไทยเสียชีวิตจากเหตุการณ์ก๊าซระเบิดในสาธารณรัฐเกาหลีเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลให้แรงงานไทยเสียชีวิต 1 รายและได้รับบาดเจ็บ 1 รายว่า จากการรายงานของทูตแรงงานในสาธารณรัฐเกาหลี พบว่าแรงงานไทยทั้ง 2 คน เดินทางไปทำงานแบบผิดกฎหมาย ด้วยการใช้วีซ่าท่องเที่ยวเข้าไปทำงาน และในช่วงเกิดเหตุกำลังอยู่ระหว่างการรอส่งกลับประเทศไทยในช่วงเช้า ทั้งนี้แรงงานทั้ง 2 คน จึงไม่ได้รับสิทธิจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานของประเทศไทยเนื่องจากแรงงานที่เดินทางไปทำงานอย่างถูกกฎหมายจะต้องสมัครเป็นสมาชิก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิอื่นๆ ของทางสาธารณรัฐเกาหลีว่าจะได้รับสิทธิใดบ้างหรือไม่

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-3-2557)

เรือนจำกลางเชียงราย แจ้งผู้ประกอบการในการว่าจ้างแรงงานผู้ต้องขัง

นายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงราย เปิดเผยว่า ด้วยกรมราชทัณฑ์ มีนโยบายส่งเสริมและใช้ประโยชน์แรงงานจากผู้ต้องขังในการทำงานรับจ้างภายในเรือนจำ โดยเชิญชวนบริษัท ห้างร้าน หรือโรงงานอุตสาหกรรม บุคคลภายนอก ผู้ประกอบการ เข้ามาว่าจ้างแรงานของผู้ต้องขังเรือนจำกลางเชียงราย ซึ่งมีจำนวนแรงงานทั้งชายและหญิง มากกว่า 3,000 คน เพื่อร่วมผลิตสินค้า โดยแบ่งแรงงานออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 แรงงานที่มีทักษะฝีมือ เช่น งานตัดเย็บเสื้อผ้า งานช่างไม้ ช่างเฟอร์นิเจอร์ งานด้านเย็บปักถักร้อย ประเภทที่ 2 แรงงานที่มีทักษะฝีมือระดับกลาง เช่น งานกรอบรูป งานจักสาน งานถักอวน และประเภทที่ 3 แรงงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะฝีมือ เช่น งานพับถุงกระดาษ งานประกอบช่อดอกไม้ หรืองานที่ผู้ว่าจ้างกำหนดรูปแบบ

ทั้งนี้ ในการรับจ้างแรงงานผู้ต้องขัง นอกจากเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ต้องขังมีรายได้แล้ว ถือเป็นภารกิจด้านการฝึกวิชาชีพและการใช้แรงงานผู้ต้องขังอีกด้านหนึ่งให้สัมฤทธิ์ผลตามนโยบายกรมราชทัณฑ์อีกด้วย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนปฏิบัติการที่ 1 ฝ่ายฝึกวิชาชีพ เรือนจำกลางเชียงราย โทร. 053-170553 , 053-170557

(สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่, 4-3-2557)

ข่าวดี ! ตำแหน่งงานว่างแสนอัตรา เปิดปฎิทินตลาดนัดแรงงาน

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน    กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ว่างงาน นักเรียนและนักศึกษาที่จบการศึกษาในปี 2557 ให้มีงานทำในช่วงที่ยังมีเหตุการณ์ทางการเมืองว่า ขณะนี้ มีตำแหน่งงานว่างรองรับกว่า 100,000 อัตรา ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งงานด้านบริการ การผลิตและช่างฝีมือสาขาต่างๆ และได้มีการจัดงานนัดพบแรงงานทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่องโดยได้ประสานกับสถานประกอบการต่างๆให้ไปตั้งบูธรับสมัครงาน รวมทั้งขอความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดเพื่อขอความร่วมมือเข้าไปจัดงานนัดพบแรงงานภายในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียนและนักศึกษาจบใหม่ จะได้ไม่ลำบากในการหางานทำในช่วงนี้

ส่วนกิจกรรมนัดพบแรงงาน ที่จะจัดขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 อาทิ วันที่ 13-14 มีนาคมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)นครปฐม จ.นครปฐมและโรงเรียนบูญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง ,วันที่ 19-20 มีนาคม ที่มรภ.เทพสตรี จ.ลพบุรี , วันที่ 21-22 มีนาคม ที่ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ กรุงเทพฯ,วันที่ 20 เมษายน ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ , วันที่ 30 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยภาคกลาง วันที่ 30-31 พฤษภาคม ที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก จ.ขอนแก่น , วันที่ 10-11 มิถุนายน ที่มรภ.ภูเก็ต จ.ภูเก็ต ,วันที่ 12-13 มิถุนายน ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กทม. เป็นต้น

(มติชน, 4-3-2557)

10 ประเทศอาเซียน เตรียมประชุมคณะร่างตราสารสิทธิต่างด้าว

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้จัดประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมคณะร่างตราสารอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว ครั้งที่ 11 เพื่อจัดเตรียมท่าทีของไทยในการประชุม 11th ACMW-DT โดยได้มีการพิจารณาร่างตราสารอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าวในข้อที่ยังค้าง ได้แก่ บทที่ 3 สิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานต่างด้าว บทที่ 4 สิทธิเฉพาะของแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย บทที่ 5 ข้อผูกพันของประเทศผู้รับ และบทที่ 6 ข้อผูกพันของประเทศผู้ส่ง      

โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2557 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยตนเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และประธานการประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนี้นับเป็นเวทีแรกๆ ด้านแรงงานของอาเซียนที่มีการเจรจาต่อรองเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าวในอาเซียน โดยมีผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เข้าร่วมการหารือ อีกทั้งจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมตามความสมัครใจ ทั้งนี้กระทรวงแรงงานของไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะร่างตราสารอาเซียนฯ ครั้งแรก ในปี 2552 ณ กรุงเทพมหานคร

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4-3-2557)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles