ก.แรงงานเผย 3 เดือนเลิกจ้างกว่า 3 พันคน
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) เปิดเผยว่า จากการรายงานข้อมูลของศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการให้พร้อมจ่ายอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 5 เมษายน 2556 พบว่ามีสถานประกอบการเลิกจ้างลูกจ้างรวม 64 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 3,053 คน ในจำนวนนี้เป็นการเลิกจ้างและปิดกิจการเพราะผลกระทบการปรับค่าจ้าง 300 บาท จำนวน 3 แห่ง ในจำนวนลูกจ้าง 333 คน ทั้งหมดเป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก นอกจากนี้ ยังมีสถานประกอบการที่ยังไม่ปิดกิจการแต่เลิกจ้างจำนวน 38 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา 6 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 1,053 คน เพิ่มขึ้น 447 คน ส่วนการเลิกจ้างปิดกิจการอีก 23 แห่ง ลูกจ้าง 1,629 คน เกิดจากผลกระทบอื่นๆ
นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างว่า กรณีบริษัทมาสเตอร์ พีซ การ์เม้นท์ แอนด์ เท็กซ์ไทล์ จำกัด เขตบางขุนเทียน กทม. ซึ่งบริษัทประสบปัญหาขาดทุนสะสมและจะปิดกิจการอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 เม.ย.นี้โดยเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด 850 คน ขณะนี้กสร.ได้แก้ปัญหาใน 2 แนวทางควบคู่กันโดยเจรจาให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 จ่ายเงินเดือนที่ค้างอยู่และเงินชดเชยการถูกเลิกจ้างให้แก่พนักงานทุกคน ทันทีที่มีการเลิกจ้าง แต่บริษัทแจ้งว่าขณะนี้ยังไม่มีเงินจ่าย แต่อีก 2 เดือนจะได้เงินจากลูกค้า 9 ล้านบาทนำมาจ่ายได้
นายสุวิทย์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันในวันที่ 11 เม.ย.นี้ กสร.ได้ให้ลูกจ้างมาเขียนคำร้องคร.7 ที่กสร. หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็จะใช้เงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจ่ายเงินเดือนและเงินชดเชยให้แก่พนักงาน บริษัทมาสเตอร์ พีซฯไปก่อนและทวงคืนจากบริษัทภายหลัง รวมทั้งดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ.
(เนชั่นทันข่าว, 9-10-2556)
จนท.กู้ชีพร้อง ไม่ได้รับเงินกว่า 2 เดือน ลั่นหยุดทำหน้าที่ช่วงสงกรานต์นี้
วันนี้(10 เม.ย.) ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอุบลราชธานี นายศุภฤกษ์บุญเรือง หัวหน้าชุดกู้ชีพตำบลแจระแม อ.เมือง พร้อมสมาชิกในหน่วยรวม 6 คน ยื่นหันงสือกับน.ส.กมลชนก วิริยะ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กรณีไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่กู้ชีพมานาน 2 เดือน ประกอบด้วยเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม คิดเป็นเงินเกือบ 1 แสนบาท
เมื่อติดตามทวงถามจากฝ่ายการเงิน ได้รับคำตอบเพียงว่าส่งเรื่องเบิกไปแล้ว แต่เงินยังไม่ส่งมาจากกระทรวงสาธารณสุข
นายศุภฤกษ์ กล่าวว่า นอกจากหน่วยของตนแล้ว ยังมีหน่วยกู้ชีพประจำตำบลอีก 2 ตำบลในอ.เมือง ที่ยังไม่ได้รับเงิน แต่ไม่กล้าออกมาเรียกร้อง สำหรับหน่วยกู้ชีพอื่นอีก 110 หน่วย ที่โอนไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ก็ยังไม่ได้รับเงิน แต่อบต.จ่ายเงินสำรองของอบต.ให้ก่อน จึงไม่เดือดร้อน
"หากไม่ได้รับเงินภายใน 1-2 วันนี้ พวกผมต้องหยุดปฏิบัติงานช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะไม่สามารถนำรถไปเติมน้ำมันกับปั้มที่มีเครดิตไว้ได้ เนื่องจากไม่ได้จ่ายเงินค่าน้ำมันที่ติดค้างมานาน 2 เดือนแล้ว"
ขณะที่น.ส.กมลชนกรับเรื่องร้องเรียนไว้ และจะสอบหาตัวผู้เป็นนายจ้าง เพื่อเชิญมาพูดคุยหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10-4-2556)
ทีดีอาร์ไอแนะทำ ระบบโครงสร้างบำนาญแห่งชาติ
วันที่ 9 เมษายน นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านประกันสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงแรงงานเตรียมบูรณาการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เข้ากับกองทุนประกันสังคมมาตรา 40 โดยเสนอเป็นทางเลือกที่ 3 ของระบบประกันสังคมมาตรา 40 ว่ากระทรวงการคลังคงเห็นถึงศักยภาพของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่สามารถส่งเสริมและจัดเก็บเงินสมทบจากแรงงานนอกระบบซึ่งเข้าเป็นผู้ประกัน ตนมาตรา 40 ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีสำนักงานและเจ้าหน้าที่ ที่ครอบคลุมพื้นที่ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณและบุคลากร
นางวรวรรณกล่าวว่า หากจะให้การบูรณาการเงินออมของประเทศมีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ รัฐบาลควรบูรณาการระบบเงินออมของแต่ละกองทุน เช่น กองทุนชราภาพของ สปส. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มาอยู่ภายใต้โครงสร้างระบบบำนาญแห่งชาติ เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการและการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดผลตอบแทน และจัดตั้งหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระ คล่องตัว โดยมีคณะกรรมการบริหารซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงการคลังและกระทรวงแรง งาน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยดูแล ซึ่งจะต้องวางระบบบริหารที่มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ เนื่องจากเป็นเงินออมของคนไทยทั้งประเทศ
"การสร้างระบบบำนาญแห่งชาติ ให้เกิดขึ้นกับคนไทยทุกคนทั้งข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และผู้ใช้แรงงาน ที่แยกเป็นแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ที่รัฐบาลควรให้ความเท่าเทียมในการสนับสนุนร่วมจ่ายเงินสมทบในอัตราที่เท่า กัน"นางวรวรรณกล่าว
นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการ สปส. กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสังคมแห่งชาติขึ้นมาโดยแยกกองทุน ชราภาพออกมาจากกองทุนประกันสังคมและแยกการบริหารเงินชราภาพออกเป็นกองทุน มาตรา 33 และมาตรา 39 และกองทุนมาตรา 40 เพื่อให้มีความเป็นอิสระ คล่องตัวในการบริหารและการลงทุน ซึ่งในส่วนของมาตรา 40 ที่เป็นการส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบ เช่น เกษตรกร แม่ค้าออมเงินทั้ง สปส.และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลังจะต้องมาหารือกันว่า จะกำหนดให้แรงงานนอกระบบทั้ง 24 ล้านคน ต้องเป็นสมาชิกกองทุนและจัดเก็บเงินสมทบผ่านระบบภาษีได้หรือไม่ เพื่อให้กองทุนมีรายได้ที่แน่นอนและสามารถนำเงินไปลงทุนได้อย่างมี ประสิทธิภาพ รวมทั้งผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ด้วย
(ประชาชาติธุรกิจ, 10-4-2556)
เผยผลสำรวจความคิดเห็น ผลกระทบภาคอุตสาหกรรม 1 ไตรมาส หลังปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ
สืบเนื่องจาก รัฐบาลได้มีนโยบายปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งเป็นเวลาครบ 3 เดือน หรือ 1 ไตรมาส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นจากสมาชิกอุตสาหกรรม ทั่วประเทศ เกี่ยวกับผลกระทบที่ได้รับจากการปรับค่าจ้าง โดยจัดทำระหว่างวันที่ 3 เมษายน 2556 – 11 มิถุนายน 2556 พบว่าผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME ได้รับผลกระทบจนถึงธุรกิจประสบการขาดทุน คิดเป็นร้อยละ 80 ขณะที่ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 23.33 ขาดสภาพคล่อง และผู้ประกอบการร้อยละ 10.42 แจ้งว่าอาจจะต้องถึงขั้นปิดกิจการ ซึ่งหากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมอาจทำให้ต้องมีการลด ปริมาณการผลิต ซึ่งนำไปสู่การลดจำนวนพนักงาน/แรงงานรวมไปถึงการเลิกจ้าง (แต่การว่างงานในปีนี้คงไม่เห็นภาพชัดเจน เพราะแรงงานสามารถเคลื่อนย้ายไปในโรงงานขนาดใหญ่และโรงงานต่างชาติซึ่งกำลัง เข้ามาลงทุนในประเทศไทยตามการสนับสนุนของ BOI)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ซึ่งเป็น SME ซึ่งแจ้งว่าได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างครั้งนี้กว่าร้อยละ 58 ก็ยังคิดว่าสามารถประคองธุรกิจได้ ในด้านการปรับตัวของภาคเอกชนได้ให้น้ำหนักการลดจำนวนพนักงาน/แรงงาน รวมทั้งลดการทำงานล่วงเวลาและลดสวัสดิการ ขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพแรงงานและปรับปรุงกระบวนการผลิต เช่นการลดขั้นตอนการผลิตและการนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ การใช้วัสดุให้น้อยลงหรือวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำ ส่วนแนวคิดในด้านการลงทุนไปต่างประเทศ ส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 60 แจ้งว่าไม่เคยคิดที่จะย้ายฐานการผลิต แต่ผู้ประกอบการร้อยละ 26 มีแนวคิดจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศกัมพูชา พม่า และลาว
ทั้งนี้ เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐฯ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50 แจ้งว่าไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ มีเพียงร้อยละ 28 ที่เห็นว่ามาตรการของรัฐฯพอช่วยได้บ้างแต่น้อยมาก ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการที่รัฐฯช่วยได้มากที่สุดคือ การชดเชยส่วนต่างของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการช่วยเหลือสภาพคล่องด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่ง SME สามารถเข้าได้ถึงจริง
รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างในช่วง 1 ไตรมาสแรกของปี 2556 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ประเภทของธุรกิจที่ตอบแบบสอบถาม :
ผู้ที่ตอบแบบสอบถาม พบว่าเป็นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 85.54 และภาคธุรกิจให้บริการร้อยละ 13.46 โดยลักษณะธุรกิจของผู้ตอบแบบสอบถามพบว่า ขายในประเทศร้อยละ 47.83 เป็นผู้ประกอบการส่งออกร้อยละ 37.68 และเป็นธุรกิจรับจ้างการผลิต (OEM) ร้อยละ 14.49 นอกจากนี้พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กร้อยละ 66 และขนาดกลางซึ่งมีแรงงานอยู่ระหว่าง 300-500 คน คิดเป็นร้อยละ 26 และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่คิดเป็นร้อยละ 8.0
ด้านผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบการ :
1. ค่าแรงที่ปรับขึ้นมีผลกระทบต่อต้นทุนรวม (Total Cost)
พบว่าผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรง 300 บาท ส่งผลให้ต้นทุนรวมสูงขึ้นมากเกินกว่า 15% มีอยู่ร้อยละ 54 ผลกระทบปานกลางระหว่าง 7-10% คิดเป็นร้อยละ 24 และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบน้อยโดยมีต้นทุนรวมสูงขึ้นระหว่าง 3-5% คิดเป็นร้อยละ 18 สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบต่อการปรับค่าจ้างครั้งนี้คิดเป็นร้อยละ 4
2. ความสามารถในการปรับราคาสินค้าในช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. 56
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่แจ้งว่าไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ คิดเป็นร้อยละ 47.06 ส่วนที่สามารถปรับราคาได้ร้อยละ 52.94 โดยแบ่งเป็นปรับราคาได้น้อย 43.14% ปรับราคาได้ปานกลาง 7.84% และปรับราคาได้เท่ากับหรือมากกว่าต้นทุนที่สูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 1.96
3. ผลกระทบต่อสถานะ กำไร/ขาดทุน ของธุรกิจ
จากแบบสอบถาม พบว่าผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศจนทำให้ธุรกิจประสบปัญหาขาดทุนคิดเป็นร้อยละ 80 โดยแบ่งเป็น ขาดทุนน้อยจนถึงปานกลาง 52% และขาดทุนมาก 28% ส่วนผู้ประกอบการซึ่งธุรกิจยังคงรักษาระดับกำไรคิดเป็นร้อยละ 20 โดยแบ่งเป็น กำไรคงเดิม 12% และกำไรลดลง 8%
4. ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ขาดทุนต่อธุรกิจในอนาคต
ผู้ประกอบการซึ่งแจ้งว่าได้ผลกระทบต่อการปรับค่าจ้างครั้งนี้ พบว่าร้อยละ 58.33 สามารถประคองธุรกิจได้ ผู้ประกอบการร้อยละ 16.67 แจ้งว่าอาจต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ขณะที่ต้องถึงขั้นเลิกกิจการร้อยละ 10.42 และมีเพียงร้อยละ 6.25 เท่านั้นที่แจ้งว่าไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการประกอบธุรกิจ
5. แนวทางการแก้ไขและปรับตัวของธุรกิจ
จากแบบสอบถามในลักษณะเป็นคำถามเปิด ผู้ประกอบการได้แจ้งแนวทางการแก้ปัญหาและการปรับตัวของธุรกิจ เรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง ดังนี้
1. ลดจำนวนพนักงาน/แรงงาน คาดว่าจะลดลงเฉลี่ย 10-50% โดยเริ่มลดตั้งแต่ปลายปี 2555
2. เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน เช่น การอบรมทักษะแรงงาน สามารถทำงานได้หลายตำแหน่ง และเพื่อเพิ่มผลผลิต
3. ลดการทำงานล่วงเวลาและลดสวัสดิการ
4. ปรับปรุงกระบวนการผลิต เช่น การลดขั้นตอนการผลิต, ใช้เครื่องจักรทดเพื่อแทนแรงงาน
5. ลดต้นทุนการผลิต เช่น นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้, ใช้วัสดุน้อยลงหรือใช้วัสดุที่มีต้นทุนต่ำ
6. อื่นๆ เช่น เพิ่มหรือเปลี่ยนประเภทสินค้า, ย้ายฐานการผลิตไปยังกลุ่มประเทศ CLMV, และการปรับราคาขาย
6. แนวคิดในการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ
ในด้านการย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในต่างประเทศ พบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 59.18 ไม่มีแนวคิดในการย้ายฐานการผลิตไปในต่างประเทศ และร้อยละ 14.29 ตอบว่ามีแนวคิดแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นหรือดำเนินการอย่างไร
สำหรับผู้ที่แจ้งว่ามีแนวคิดและแผนงานที่จะไปลงทุนในต่างประเทศมีร้อยละ 26.53 โดยส่วนใหญ่มีแผนที่จะเริ่มไปศึกษาและลงทุนอย่างจริงจังในกลางปี 2556 โดยเกือบทั้งหมดมีแผนจะไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศที่น่าสนใจ เรียงลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้ 1.กัมพูชา 2.พม่า 3.ลาว 4.อินโดนีเซีย และ 5.เวียดนาม
มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ :
แบบสอบถามเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐสามารถช่วยเหลือเยียว ยาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการได้มากน้อยเพียงใด สามารถแบ่งได้ดังต่อไปนี้
1. ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลมากน้อยเพียงใด
ผู้ประกอบการร้อยละ 54.39 แจ้งว่าไม่ช่วยอะไร ขณะที่ตอบว่าช่วยได้น้อย คิดเป็นร้อยละ 28.07 และช่วยได้ปานกลางร้อยละ 3.51 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่แจ้งว่า ไม่รู้ว่ารัฐฯมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอะไร คิดเป็นร้อยละ 14.03 ซี่งการชี้แจงเช่นนี้ ทางรัฐบาลควรจะรับไปประกอบการพิจารณา
2. ผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม
จากแบบสอบถามของผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ หากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่เห็นชัดเจน พบว่าร้อยละ 42.05 จะมีการลดจำนวนคนงาน ร้อยละ 20.28 ลดปริมาณการผลิต ขณะที่ผู้ประกอบการร้อยละ 15.94 แจ้งว่าอาจต้องถึงขั้นเลิกจ้างงาน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่บอกว่าอาจต้องเลิกกิจการหรือย้ายฐานการผลิต คิดเป็นร้อยละ 13.04 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการร้อยละ 8.69 แจ้งว่าไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
3. ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลืออะไรมากที่สุด
จากแบบสอบถาม ผู้ประกอบการร้อยละ 23.33 ประสบปัญหาสภาพคล่อง อันเกิดจากผลประกอบการขาดทุน โดยมาตรการที่ภาคเอกชนต้องการจากรัฐฯ เรียงลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้
1. ชดเชยส่วนต่างค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นในระยะแรก, ลดภาษีต่างๆ และลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
2. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่สามารถเข้าถึงได้ และส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศในทุกๆ ด้าน
3. งบประมาณส่งเสริมประสิทธิภาพแรงงานและเครื่องจักร
(สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, 12-4-2556)
ทีดีอาร์ไอเสนอแก้ กม.ประกันสังคม ลดงบบริหารเหลือ 5%
ทีดีอาร์ไอระบุการที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับบูรณาการซึ่งภาคประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภา ถือเป็นการเสียโอกาสในการปฎิรูประบบประกันสังคม พร้อมเปิดเผยบทวิเคราะห์ และข้อเสนอแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายประกันสังคมให้มีระบบธรรมาภิบาลและการ ตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งควรลดค่าใช้จ่ายด้านบริหารเหลือร้อยละ 5
ในการเสวนาสาธารณะ เรื่อง “ติดตามร่างกฎหมายประกันสังคม” ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการเปิดเผยบทวิเคราะห์ร่างกฎหมายประกันสังคมของโครงการวิเคราะห์และติดตาม ร่างกฎหมาย (ThaiLawWatch)ของทีดีอาร์ไอ โดยระบุว่า ระบบประกันสังคมในปัจจุบันยังขาดแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าร่วมระบบ ประกันสังคมโดยสมัครใจ เนื่องจากเงินสมทบจากภาครัฐที่ให้แก่ผู้ประกันตนอยู่ในอัตราที่ต่ำ ขณะเดียวกันที่มาและหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมในปัจจุบัน ยังมีลักษณะที่ไม่ครอบคลุม ส่งผลให้ผู้ประกันตนจำนวนมากขาดตัวแทนที่จะเข้าไปเรียกร้องสิทธิและดำเนิน งานเพื่อผลประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ โครงการวิเคราะห์และติดตามร่างกฎหมาย ได้เสนอแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายประกันสังคม 4 ข้อสำคัญ คือ (1) รัฐบาลควรจ่ายเงินสมทบเท่ากับผู้ประกันตนในสิทธิขั้นพื้นฐาน (2) ผู้ประกันตนควรมีสิทธิเลือกตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนโดยตรง (3) ควรมีการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของสำนักงานประกันสังคมให้ มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปรับลดการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงาน เช่น จากไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินสมทบในแต่ละปี ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 5 เป็นต้น และ (4) ควรมีการออกแบบระบบตรวจสอบที่มีธรรมาภิบาล ได้แก่ การจัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ ผู้ตรวจสอบบัญชีและผู้ตรวจสอบภายในที่มีความเป็นอิสระ และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างโปร่งใสต่อสาธารณะ
ซึ่งจากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีจำนวนแรงงานนอกระบบอยู่ถึง 24.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานภาคเกษตร 15.1 ล้านคน ซึ่งไม่มีสิทธิเข้าสู่ระบบ จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าไทยมีแรงงานนอกระบบที่มีสิทธิเข้าสู่ระบบ ประกันสังคมจำนวน 9.5 ล้านคน แต่ตัวเลขของแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ที่รายงานโดยสำนักงานประกันสังคมปี พ.ศ. 2554 มีเพียง 590,046 คน หรือเพียงร้อยละ 6.21 ของจำนวนแรงงานนอกระบบที่มีสิทธิเท่านั้น เนื่องจากสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้รับเป็นสัดส่วนที่น้อย แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับคณะรัฐมนตรีได้แก้ไขเพิ่มเติมให้รัฐสมทบครึ่งหนึ่งของ เงินสมทบจากผู้ประกันตน แต่ยังสร้างแรงจูงใจไม่ได้มากนัก รัฐควรจ่ายเงินสมทบเท่ากับผู้ประกันตนในสิทธิพื้นฐานเป็นอย่างน้อย เพื่อสร้างแรงจูงใจ
ด้านนางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านประกันสังคม ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ปัญหาที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องเร่งแก้ไข คือ องค์กรขาดความเป็นอิสระเนื่องจากโครงสร้างองค์กรเป็นระบบราชการไม่มีความ เป็นอิสระ โดยเฉพาะการใช้เงินกองทุนประกันสังคมอย่างไม่มีประสิทธิภาพ จึงควรมีการปรับปรุง สปส.ให้เป็นองค์กรอิสระ มีการบริหารงานคล่องตัวโดยเฉพาะทางด้านการลงทุนที่จะต้องคำนึงถึงความมั่นคง ของกองทุนในระยะยาว เนื่องจากอัตราการจัดเก็บเงินสมทบในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับการจ่ายเงิน บำเหน็จและบำนาญชราภาพ
ผู้อำนวยการวิจัยด้านประกันสังคม ทีดีอาร์ไอ ยังกล่าวอีกว่า ตัวแทนของผู้ประกันตนในคณะกรรมการล้วนมาจากสภาองค์การลูกจ้างซึ่งเป็นแค่ตัว แทนของผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนไม่เกิน 3 แสนคนหรือร้อยละ 3 ของผู้ประกันตนเท่านั้น และถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบจำนวนผู้ประกันตนอีกกว่า 10 ล้านคนที่ไม่มีตัวแทนในคณะกรรมการเพื่อดูแลผลประโยชน์ของฝ่ายลูกจ้าง โดยจากบทวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ พบว่า ร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้มิได้กำหนดถึงคุณสมบัติและที่มาของผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่าย ผู้ประกันตนไว้ชัดเจน เพียงแต่เพิ่มจำนวนผู้แทนฝ่ายต่างๆ ให้มากขึ้นจากกฎหมายฉบับเดิมเท่านั้น รวมทั้งเสนอว่า ตัวแทนของผู้ประกันตนควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากผู้ประกันตนกว่า 10.5 ล้านคนในปัจจุบัน โดยผู้ประกันตนในมาตรา 33 สามารถเลือกตั้งผ่านสถานประกอบการที่ตนเองสังกัด และผู้ประกันตนในมาตรา 39 และ 40 สามารถเลือกตั้งได้ผ่านวิธีการที่เข้าถึงได้สะดวก เช่น เลือกตั้งผ่านเว็บไซต์ ผ่านจดหมาย หรือที่สำนักงานประกันสังคมประจำจังหวัด เป็นต้น นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดคุณสมบัติที่พึงปรารถนาและคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ที่จะลง สมัครรับเลือกเป็นผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม วงเสวนาเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงาน รวมถึงงบประมาณต่างๆของ สปส.พร้อมทั้งเสนอแนะให้ตั้งสำนักงานหลักประกันสังคมแห่งชาติ โดยดูแลเฉพาะผู้ประกันตนในมาตรา 40 ควบคู่ไปกับการศึกษาความเหมาะสมในด้านต่างๆด้วย
สำหรับผู้สนใจสามารถอ่านบทวิเคราะห์ร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับเต็มได้ ที่ http://thailawwatch.org/research-papers/social-security-analysis/
(เดลินิวส์, 12-4-2556)